ภาคภูมิ แสงกนกกุล
GDH ส่งทีเซอร์หนังเรื่อง “หลานม่า” เป็นเรื่องแรกที่ “บิวกิ้น” ไอดอลรุ่นใหม่มากความสามารถแสดงนำ โครงเรื่องหนังเป็นเรื่องครอบครัวคนจีนในสังคมไทย วัฒนธรรมจีนในการดูแลคนชรา และมุมมองของคนรุ่นใหม่ต่อเรื่องความกตัญญู ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญของทุกครอบครัวโดยเฉพาะอย่างยิ่งปัจจุบันที่ไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
บทความนี้จึงอยากชวนผู้อ่านมาร่วมมองประเด็นปัญหาดังกล่าวก่อนที่ตัวหนังจะออกฉายในวันที่ 4 เมษายน
ประสิทธิภาพ การทำธุรกรรม และการใช้แทนกันของแรงงาน
ทุนนิยมเป็นระบบที่ต้องการประสิทธิภาพสูงเพื่อให้มีการใช้ทรัพยากรการผลิตอย่างประหยัดและได้ผลผลิตออกมาจำนวนมาก โดยเชื่อว่าเมื่อมีการบริโภคสินค้าและบริการมากขึ้นแล้วคุณภาพชีวิตของผู้คนก็ดีขึ้นตามมา
แรงงานซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยการผลิตที่สำคัญจึงต้องถูกจัดการให้มีประสิทธิภาพเช่นเดียวกัน อดัม สมิธ เสนอเรื่อง การแบ่งงานกันทำ (Division of labor) เป็นวิธีการเพิ่มความสามารถของแรงงาน โดยเปรียบมนุษย์เป็นฟันเฟืองส่วนหนึ่งของการผลิต เขาจะถูกฝึกซ้ำๆ จนเชี่ยวชาญเพื่อผลิตชิ้นส่วนสักอย่างทั้งชีวิต เช่น หน้าปัทม์นาฬิกา เป็นต้น แล้วก็ต้องนำชิ้นส่วนนั้นประกอบกับชิ้นส่วนอื่นที่แรงงานคนอื่นทำขึ้นมา
การเปลี่ยนวิถีการผลิตนี้ทำให้แรงงานไม่ต้องทำทุกสิ่งทุกอย่างด้วยตนเอง ขอให้ทำในสิ่งที่ตนเองเชี่ยวชาญที่สุดเพื่อได้เงินตอบแทน แล้วเอาเงินนั้นไปทำธุรกรรมจับจ่ายใช้สอยอาหาร สิ่งของต่างๆ แทน รวมถึงบริการด้วย ทุนนิยมเชื่อว่าแรงงานสามารถใช้แทนกันได้ ให้ผู้เชี่ยวชาญทำงานแทนเราในเรื่องที่เราไม่ถนัด เช่น เรื่องการศึกษา ครูซึ่งมีความชำนาญมากกว่ามาสอนหนังสือบุตรหลานแทน แล้วตัวพ่อแม่ก็ออกไปทำงานตามปกติ โดยละเลยว่าแท้จริงแล้ว ครูสามารถทดแทนพ่อแม่ได้ทุกเรื่องจริงหรือ?
ทุนนิยมจึงให้ความสำคัญเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลด้านการทำธุรกรรม การบริโภค ซื้อขายแลกเปลี่ยนยิ่งทำให้เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเป็นพายุสร้างความมั่งคั่งขึ้นมา แต่ในขณะเดียวกันก็ค่อยๆ ลดความสำคัญของการมีปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์ในรูปแบบอื่นๆ ที่ไม่ใช้กลไกตลาดหรือการตีคุณค่าด้วยเงิน เช่น ความสัมพันธ์ระหว่าง พ่อแม่ลูกในช่วงเวลาอาหารเช้า เวลาล้างจานในช่วงอาหารเย็น หรือความสัมพันธ์ในการเลี้ยงดูลูก ดูแลพ่อแม่คนชราในครอบครัว เป็นต้น
มนุษย์เศรษฐกิจ และการวิเคราะห์ต้นทุน-ผลประโยชน์
มนุษย์เศรษฐกิจ (Homo economicus) เป็นกรอบแนวคิดที่นักเศรษฐศาสตร์ตั้งสมมติฐานไว้ในแบบจำลองเพื่อให้ง่ายต่อการวิเคราะห์โลกความเป็นจริงที่ซับซ้อน โดยสมมติว่ามนุษย์ทุกคนตัดสินใจอย่างมีเหตุผล และเพื่อผลประโยชน์ตนเอง มนุษย์สามารถคำนวณต้นทุนและประโยชน์ที่ได้ในแต่ละทางเลือก เพื่อเปรียบเทียบแล้วเลือกหนทางที่ดีที่สุด กรอบดังกล่าวใช้กันอย่างแพร่หลายในงานวิเคราะห์ทั้งการตัดสินใจระดับปัจเจก เช่น การเลือกซื้อสิ่งของบริโภคในงบประมาณจำกัด หรือระดับนโยบายที่มีการวิเคราะห์ ต้นทุน-ผลประโยชน์ (Cost-benefit analysis) ว่าทางเลือกแต่ละนโยบายมีต้นทุนกี่บาท และมีผลประโยชน์กี่บาท แล้วเลือกนโยบายที่คุ้มค่าที่สุด
นักเศรษฐศาสตร์ตระหนักถึงข้อสมมตินั้นเสมอว่า “ไม่ใช่ธรรมชาติของมนุษย์” ในโลกความเป็นจริงนั้น มนุษย์มีการตัดสินใจที่ซับซ้อน และปราศจากเหตุผลทางเศรษฐกิจบ่อยครั้ง อย่างไรก็ตามระบบทุนนิยมกลับสอนให้คนทั่วไปเชื่อว่าวิธีการคิดแบบนั้น คือ ธรรมชาติของมนุษย์ และมีความชอบธรรมเมื่อเราจะเลือกหนทางที่คุ้มค่าสุด การคิดแบบนั้นกลับส่งผลให้มนุษย์เสมือนเป็นหุ่นยนต์ที่ถูกทำนายการกระทำได้อย่างง่ายดาย การกระทำที่ไม่ส่งผลมูลค่าตามกลไกตลาดก็ถูกด้อยค่าลงไป หรือการกระทำเพื่อความถูกต้อง พิทักษ์คุณธรรมแต่ไม่ได้กำไรก็กลายเป็นเรื่องเหลวไหลโง่เง่า มนุษย์จะไม่กล้าทำอะไรแปลกใหม่ เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นมาเพราะต้องมานั่งคำนวณต้นทุนที่จะเสียก่อน
การดูแลคนชราในกับดักความคิดทุนนิยม
ถ้าเราทุกคนยังติดอยู่กับดักความคิดที่ทุนนิยมสร้างขึ้นมา การดูแลคนชราในบ้านก็จะเปลี่ยนจากคุณค่าทางจิตใจเป็นคุณค่าทางเงินทอง เราก็จะเลือกใช้เวลาทั้งหมดไปทำงานหาเงินเพื่อนำเงินนั้นไปให้พ่อแม่ และจ้างพยาบาลมาดูแลพ่อแม่เราแทน แต่เราก็ต้องกลับมานั่งคิดว่า การที่พยาบาลมาดูแลตามหน้าที่เพื่อได้ค่าตอบแทนมันสามารถสร้างความสัมพันธ์ทดแทนระหว่างเรากับพ่อ-แม่ได้จริงหรือ?
การที่เราอยากดูแลอาม่าเพราะหวังมรดกแต่ไม่ได้มาจากความตั้งใจอย่างนั้นหรือ? และถ้าอาม่าไม่มีมรดกผลประโยชน์ใดๆ ให้ เราก็จะทิ้งพวกเขาไว้ข้างถนน หรือปล่อยให้ทำการุณยฆาตอย่างนั้นหรือ?
ถ้านโยบายระดับชาติยังคงติดกับการวิเคราะห์ผลประโยชน์-ต้นทุนแล้ว นโยบายต่างๆ ที่เกี่ยวกับคนชราก็จะไม่ถูกอนุมัติเพราะไม่สามารถสร้างผลประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจ ไม่คุ้มค่ากับงบประมาณที่ลงทุนไป
ยิ่งไปกว่านั้นทุนนิยมจะเปลี่ยนความสัมพันธ์ในครอบครัวให้กลายเป็นสินค้าและบริการในตลาดมากขึ้น เราจะพบเห็นธุรกิจใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นรับจ้างส่งคนชราไปโรงพยาบาล ธุรกิจบ้านและที่พักอาศัยสำหรับคนชรา ธุรกิจดูแลคนชรา ธุรกิจประกันคนชรา ธุรกิจกิจกรรม สันทนาการเพื่อคนชรา เป็นต้น
เงินก็สำคัญ แต่ไม่ใช่ทั้งหมด
เมื่อเปรียบเทียบโลกก่อนทุนนิยม เราจะเห็นได้ว่าทุนนิยมทำให้มนุษย์โดยเฉลี่ยมีเวลามากขึ้น มนุษย์มีอายุขัยเฉลี่ยเพิ่มมากขึ้น แรงงานมีผลิตภาพมากพอที่จะผลิตอาหารและเหลือเวลาไปทำกิจกรรมอื่นๆ แต่ในขณะเดียวกันทุนนิยมก็ส่งมนุษย์เข้าไปอยู่กับดักของเวลาเช่นเดียวกัน เวลากลายเป็นสิ่งมีค่าในระบบทุนนิยม และเพื่อให้มีการใช้เวลาอย่างคุ้มค่า ทุนนิยมก็กำหนดตารางให้มนุษย์ในแต่ละวัน ตั้งแต่ตื่นเช้า ขับรถไปทำงาน ทำงาน กลับบ้าน เข้านอน จนสุดท้ายแล้วมนุษย์ก็แทบจะไม่เหลือเวลาในการสร้างปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ที่ไม่ใช่ปฏิสัมพันธ์ทางธุรกรรม
ในตัวอย่างหนังเรื่องหลานม่ามีการยกประเด็นเรื่อง “คนแก่ต้องการเวลา” ซึ่งสร้างเสียงออกมาทั้งผู้ที่เห็นด้วย และผู้ที่วิจารณ์ โดยฝ่ายหลังให้เหตุผลว่าด้วยระบบเศรษฐกิจย่ำแย่ ลูกๆ ทำงานจนไม่มีเวลา ส่วนรัฐก็ห่วยแตกไม่เคยมีสวัสดิการดีๆ มาให้ ถ้ามีเงินมากพอก็กตัญญูได้ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ถ้าเราเปลี่ยนมุมมองมาเป็นมุมมองของอาม่า เวลาในที่นี้ไม่ได้หมายถึงเวลาที่ลูกหลานให้ แต่สิ่งที่คนแก่ต้องการคือการมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง เพราะในแต่ละวันมนุษย์ทุกคนต้องการการมีปฏิสัมพันธ์ต่อผู้อื่นไม่มากก็น้อย มนุษย์อยู่ไม่ได้ถ้าปราศจากสังคม การที่เราพูดคุยทักทายเพียงเล็กน้อย มันก็ช่วยเป็นการยืนยันการมีตัวตนของเรา ยืนยันอัตลักษณ์ของเรา เมื่อขาดแคลนสิ่งนี้ไปอัตลักษณ์ของเราก็เริ่มค่อยๆ มลายหายไป ซึ่งในทางการแพทย์ก็มีการค้นพบว่าคนชราที่มีปัญหาการได้ยิน หรือแยกออกจากสังคมจะมีโอกาสสมองเสื่อมได้ง่ายกว่า
แน่นอนว่าเงินสำคัญมากในทุนนิยม มันช่วยเนรมิตเรื่องยากๆ ให้กลายเป็นเรื่องง่ายๆ มันไม่มีสูตรสำเร็จตายตัวว่า ลูกๆ ต้องแบ่งเงินให้พ่อมากี่เปอร์เซนต์ของเงินเดือน ต้องให้เวลาพ่อแม่กี่วันต่อเดือน หรือหน้าที่ดูแลพ่อแม่ต้องตกเป็นของลูกชายคนโตเท่านั้น ความกตัญญูการดูแลพ่อแม่ก็ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละครอบครัว ความพร้อม ความเหมาะสม ที่แตกต่างกันในแต่ละบ้าน แต่สิ่งสำคัญไม่แพ้เงินก็คือ ความตั้งใจที่จะดูแลคนชรา ความตั้งใจนั้นไม่จำเป็นที่จะต้องเกิดขึ้นมาทันที แต่มันค่อยๆ ถูกสร้างขึ้นมาได้ ค่อยๆ เรียนรู้เปลี่ยนมุมมองเดิมที่หวังแต่ผลประโยชน์ให้กลายเป็นเรื่องคุณค่าทางจิตใจได้ เหมือนประเด็นที่เรื่อง “อาม่า” อยากนำเสนอ
การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทุนนิยมเพื่อให้เรามีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น กับคนในครอบครัวให้ดีขึ้นอาจเป็นการแก้ปัญหาต้นตอทั้งหมด แต่ก็อย่าลืมว่าการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเป็นเรื่องยากและใช้เวลายาวนานเกินกว่าชีวิตเรา ผมเชื่อว่ามนุษย์สามารถทำทั้งเรื่องการแก้ปัญหาโครงสร้าง ไปพร้อมๆ กับการใช้ความพยายามส่วนตัวเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า
ผมมีโอกาสได้พูดคุยกับพี่น้องแรงงานไทยในต่างประเทศ สิ่งที่พวกเขารู้สึกเสียใจที่สุดคือ เขาไม่สามารถไปงานศพพ่อแม่ตัวเองได้ เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่ไม่ได้รับใบอนุญาตทำงาน ถ้าตัดสินใจกลับไทยแล้วย่อมหมายถึงจะไม่มีวันกลับไปทำงานต่างประเทศได้อีก แต่พวกเขาก็ต้องยอมห่างจากครอบครัวบ้านเกิดเมืองนอนเพื่อจะทำงานส่งเงินเลี้ยงอีกหลายปากท้องที่ไทย เมื่อดูแลคนในครอบครัวอย่างใกล้ชิดไม่ได้ พวกเขาก็ต้องหาวิธีอื่น เช่น โทรศัพท์ทางไกล ส่งจดหมาย ส่งเงิน ไหว้วานให้ญาติๆ เพื่อนบ้านมาช่วยดูแล
แรงกระเพื่อมจากหนัง “หลานม่า” อาจจะสร้างคำถามและการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยต่อเรื่องการดูแลคนแก่ และความกตัญญู มีหลายบริษัทประกาศให้วันที่ 4 เมษายนนี้เป็นวันหยุด เมื่อทุกคนมี “เวลา” เพิ่มมาหนึ่งวันแล้ว อย่าลืมแบ่งเวลาติดต่อพูดคุยถามไถ่สารทุกข์สุขดิบ เข้าไปดูแล หรือสร้างความสัมพันธ์กับสมาชิกในครอบครัวนะครับ
อ่านบทความอื่นๆ ของผู้เขียน
รัฐสวัสดิการสร้าง ‘ความสุข’ จริงหรือ?
The Square สะท้อนภาพยุโรปเลี้ยวขวา และความเสื่อมถอยของสมานฉันท์ทางสังคม
การกุศลและรัฐสวัสดิการ
รัฐสวัสดิการเกิดขึ้นเพราะความรู้
รัฐสวัสดิการเกิดขึ้นเพราะความรู้ ตอนที่ 2
ความรักและรัฐสวัสดิการ