Skip to main content

ความรู้ทางวิทยาศาสตร์

ยุโรปได้เห็นข้อบกพร่องของรัฐศาสนาที่การใช้อำนาจรัฐไม่ได้วางอยู่ด้วยฐานของเหตุผล แต่กลับใช้ความเชื่อเพื่อรับมือกับภัยพิบัติธรรมชาติที่ถาโถมเข้ามา ในอีกด้านหนึ่งยุโรปก็ได้เห็นการทำงานของทุนที่สยายปีกจนทำลายสถาบันครอบครัวและสังคมจนราบเรียบในศตวรรษที่ 19 อย่างไรก็ตามรัฐในรูปแบบเดิมก็เป็นสถาบันที่ประดุจดังฝังความคิดควบคุมพฤติกรรมของผู้อยู่ใต้ปกครองให้เชื่อว่าชีวิตประจำวันที่ดำเนินอยู่นั้นเป็นธรรมชาติของมนุษย์อยู่แล้ว ความยากจนเป็นบททดสอบของพระเจ้าที่คริสต์ศาสนิกชนต้องทนแบกรับด้วยตนเอง เพื่อพิสูจน์ว่าตนเองมีคุณค่าพอจะผ่านเข้าสู่โลกนิรันดร์หลังความตาย ในขณะเดียวกันแนวคิดเศรษฐศาสตร์สำนักคลาสสิคก็ถูกชนชั้นบูรก์ชัวร์ตัดตอนบางส่วนเฉพาะที่เป็นคุณกับตน เพื่อหล่อหลอมให้นายทุนเชื่อว่าการลดต้นทุน ขูดรีดค่าจ้างแรงงานให้ถูกที่สุดจะสร้างกำไรได้มากที่สุด และเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่ต้องเห็นแก่ตัว

ขึ้นชื่อว่าความเชื่อของมนุษย์ ย่อมเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงยากที่สุด การที่ยุโรปจะเปลี่ยนผ่านไปสู่รัฐสวัสดิการได้ ก็ต้องใช้พลังของความรู้เข้าไปลบล้างความเชื่อเก่า และเสนอความรู้ใหม่เข้าไปแทนที่ ช่วงปลายศตวรรษที่ 18 ต่อเนื่องมาศตวรรษที่ 19 การศึกษาเทววิทยาเป็นการศึกษาในสถานศึกษาในมหาวิทยาลัย และคนทั่วไปที่มิใช่นักบวชก็ศึกษาได้ สำนักคิดเทวนิยมธรรมชาติได้สร้างรากฐานการตีความของพระเจ้าขึ้นมาใหม่ ถึงแม้ทุกคนไม่เคยเห็นและพิสูจน์ไม่ได้ว่าพระเจ้ามีจริงหรือไม่ แต่ก็เชื่อได้ว่ามีพระเจ้าหรือผู้สร้างธรรมชาติที่ประกอบด้วยกลไกอันซับซ้อน เครือข่ายปฏิสัมพันธ์ของวัตถุต่างๆ การศึกษาทำความเข้าใจธรรมชาติในด้านหนึ่งจึงเป็นการใช้วิทยาศาสตร์เพื่อช่วยในการเข้าถึงพระเจ้า

ทฤษฎีของฟอยบัคที่เป็นฐานในการพัฒนาวิชาจิตวิเคราะห์ก็ตีความการมีอยู่ของพระเจ้าใหม่ว่า พระเจ้าคือ ภาพฉาย (projection) ที่มาจากห้วงลึกภายในของมนุษย์ที่กังวลต่อความไม่มั่นคงในชีวิต พระเจ้ามิใช่อื่นใดแต่คือภาพสะท้อนของมนุษย์ ในด้านสำนักอรรถประโยชน์นิยมที่เชื่อว่าความพึงพอใจมนุษย์เป็นสิ่งที่วัดได้ มนุษย์สามารถหาความสุขในขณะที่มีชีวิตอยู่ มิใช่ชีวิตหลังความตาย และความสุขของสังคมทั้งหมดคือ ผลรวมของความสุขของสมาชิกในสังคมทั้งหมดรวมกัน สังคมควรจะลดคนจนให้น้อยลงเพื่อผลรวมของความสุขสังคมเพิ่มขึ้น

ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ดังกล่าวได้เป็นแรงผลักดันให้เกิดการแยกรัฐออกจากศาสนาในยุโรป ลบล้างความเชื่อคุณธรรมแบบเก่าของคริสตจักรที่ให้ทุกคนยอมรับความยากจน แล้วเปลี่ยนคุณค่าคุณธรรมใหม่ของมนุษย์ว่า การแสวงหาความสุขเป็นสิ่งที่ดีเป็นธรรมชาติของมนุษย์ พระเจ้าก็คือมนุษย์ด้วยกันเอง เปลี่ยนจากการรักพระเจ้าเป็นการรักเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

การค้นพบทฤษฎีวิวัฒนาการของดาร์วินในศตวรรษที่ 19 ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างยิ่งใหญ่ของยุโรป ทฤษฎีนี้ยังมีอิทธิพลต่อนักคิดทั้งฝ่ายสนับสนุนทุนนิยม และต่อต้านระบบทุนนิยม ฝ่ายแรกใช้ทฤษฎีการคัดเลือกโดยธรรมชาติ เพื่ออธิบายว่าการแข่งขันเป็นธรรมชาติของสิ่งมีชีวิต ผู้ที่แข็งแกร่งกว่าย่อมชนะผู้อ่อนแอกว่า การแข่งขันทำให้สิ่งมีชีวิตพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องเพื่อต่อสู้กับข้อจำกัดทางธรรมชาติ

แต่ฝ่ายซ้ายกลับเห็นต่างกัน พวกเขาเชื่อว่าสิ่งมีชีวิตมีการสร้างคอมมูน สร้างความร่วมมือระหว่างกัน อยู่อาศัยแบบ mutualism ความร่วมมือเห็นได้ทั้งในรูปแบบเผ่าพันธ์เดียวกัน เช่น เครือข่ายของมด หรือ ความร่วมมือระหว่างเผ่าพันธุ์ รวมถึงสังเกตความสัมพันธ์ภายในฝูงลิง ที่เด็กเล็กอ่อนแอกว่าจะได้รับการดูแลจากสมาชิกลิงอื่นๆที่โตกว่า ทั้งนี้เพื่อจุดประสงค์ในการเอาชนะขีดจำกัดของธรรมชาติ ความคิดดังกล่าวส่งผลต่อความเชื่อเรื่องความขัดแย้งทางชนชั้นระหว่างนายทุนกับแรงงาน โดยเปลี่ยนใหม่เป็นว่า ทั้งสองชนชั้นต่างต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน มีผลประโยชน์ตอบแทนซึ่งกันและกัน เปลี่ยนความเชื่อเรื่องความจำเป็นของการขูดรีดในระบบทุนนิยม ให้กลายเป็นระบบทุนนิยมที่มีการแข่งขันไปพร้อมๆกับการสร้างความร่วมมือ ช่วยเหลือคนที่อ่อนแอกว่า

และแน่นอนว่าต้องใช้เวลาหลายศตวรรษในการเปลี่ยนความเชื่อเก่า ให้กลายเป็นรัฐสวัสดิการที่ขับเคลื่อนด้วยความมีเหตุผล จัดการความเสี่ยงสังคมด้วยวิทยาศาสตร์

 

ความรู้ทางเทคนิค

ความรู้ทางปรัชญาช่วยให้เราอภิปรายความจำเป็นของรัฐ ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ช่วยลบล้างความเชื่อเก่าแล้วสร้างรัฐสังคมในอุดมคติ แต่ความรู้ทางเทคนิคก็ขาดไม่ได้เช่นกัน เพราะมีส่วนสำคัญในการสร้างรัฐสวัสดิการให้เกิดขึ้นจริง ทำนโยบายสาธารณะด้านสวัสดิการให้เกิดขึ้นจริงได้

รัฐสวัสดิการเป็นรัฐที่ต้องใช้เทคนิคสูง จึงต้องการผู้ชำนาญการ ข้าราชการจำนวนมากเพื่อขับเคลื่อนรัฐได้ ความรู้ทางปรัชญาประสานกับวิทยาศาสตร์เปรียบเสมือนเข็มทิศเพื่อกำหนดทิศทางของนโยบายสาธารณะว่าจะไปในทิศทางใด ตัวอย่างเช่น เมื่อเราเชื่อว่ารัฐสวัสดิการที่ร่วมกันสร้างขึ้นมีหน้าที่ในการจัดการความเสี่ยงสังคม สร้างความมั่นคงให้สมาชิกทุกคนในรัฐ เราก็ต้องอาศัยวิชาความรู้ทางประกันความเสี่ยง วิชาประกันและเครื่องมือประกันแรกเริ่มเดิมทีมีไว้เพื่อภาคเอกชนประกันความเสี่ยงด้านการเงิน ประกันความเสี่ยงวินาศภัย และต่อมาก็ถูกพัฒนาเพื่อครอบคลุมความเสี่ยงอื่นๆ และขยายขอบเขตไปยังประกันภาคบังคับในระดับรัฐ

หรือเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ด้วยเครื่องมือทางภาษี ก็ต้องอาศัยความรู้จากนักเศรษฐศาสตร์สวัสดิการเพื่อพิสูจน์ว่าการถ่ายโอนความร่ำรวยจากคนรวยไปให้คนยากจนช่วยเพิ่มระดับสวัสดิการสังคมโดยรวมได้อย่างไร และนำไปสู่การพัฒนาการเก็บภาษีอัตราก้าวหน้า และภาษีชนิดอื่นๆ ซึ่งถ้าลงรายละเอียดเพิ่มเติม เช่น การเก็บภาษีอัตราก้าวหน้าควรเก็บที่อัตราเท่าใด ฐานภาษีเท่าใดถึงควรจะเพิ่มอัตราภาษีเหล่านี้เป็นต้น ล้วนต้องใช้แบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์เพื่อคำนวณคาดการณ์จำนวนภาษีที่เก็บได้ ผลกระทบจากการขึ้นอัตราภาษี และต้องมีการทดลองซ้ำๆ ในฉากทัศน์ที่แตกต่างกัน เพื่อหาชุดนโยบายหลักและทางเลือกสำรองไว้

รัฐสวัสดิการต้องการการวางแผนจากส่วนกลาง ดังนั้นข้อมูลทางสถิติเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยเช่นกัน ข้อมูลดังกล่าวทำให้รัฐรู้ว่ากลุ่มประชากรที่ไหนบ้างกำลังประสบปัญหา ทรัพยากรของรัฐมีอะไรบ้าง รัฐจะเก็บภาษีอย่างไรได้บ้าง เป็นต้น สถิติช่วยสร้างเสริมสมรรถนะของรัฐในการเข้าไปแทรกแซงสังคม รัฐเข้าไปสอดส่องประชาชนและสังคมได้อย่างละเอียดทั่วถึง ระบบเก็บข้อมูลสถิติที่ดีช่วยลดการตกหล่น ตกสำรวจ ดึงประชากรทุกคนให้เข้าร่วมในระบบรัฐ สถิติยังมีความจำเป็นในการตรวจสอบการทำงานของรัฐ ประสิทธิภาพของนโยบายสวัสดิการสังคม หรืออย่างน้อยก็ช่วยให้เราทราบว่า รัฐสวัสดิการประเทศไหนที่ประชากรมีความสุขมากกว่า

หรือถ้ารัฐสวัสดิการที่วางตามฐานแนวคิดสัญญาประชาคมก็จำเป็นอย่างมากที่ต้องใช้ความรู้ทางกฎหมายโดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายมหาชน ร่างกฎหมายต่างๆ ต้องอาศัยนักกฎหมาย ผู้ชำนาญการเพื่อกำหนดของเขตอำนาจความรับผิดชอบอย่างรัดกุม การเขียนร่างผิดหลักกฎหมายอาจส่งผลเสียหายต่ออำนาจของรัฐที่มากเกินไป หรือความรับผิดชอบของรัฐที่น้อยเกินไปก็ได้ รวมถึงอาจส่งผลต่อความขัดแย้งของสมาชิกในสังคมตามมา

หรือถ้าต้องการแก้ปัญหาความยากจน ก็ต้องอาศัยความรู้หลากหลายสหวิชาร่วมกัน เนื่องจากความยากจนมีหลากหลายมิติ สาเหตุหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นทางโครงสร้าง ทางวัฒนธรรม สาเหตุปัจเจกบุคคล สภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย สภาพแวดล้อมของครอบครัวชุมชน เป็นต้น และนำความรู้ต่างๆ เพื่อพัฒนานโยบายการต่อสู้กับความยากจน

เมื่อรัฐสวัสดิการต้องการความรู้เทคนิค ผู้ชำนาญการแล้ว มันไม่ได้หมายความว่ารัฐสวัสดิการเป็นเรื่องของคนบนหอคอยงาช้างตัดสินใจโดยกีดกันประชาชนคนธรรมดาเข้าร่วม กระบวนการผลิตนโยบายสวัสดิการสังคมจึงต้องสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน พัฒนาพื้นที่สื่อสารกันระหว่างผู้ออกแบบนโยบายและประชาชนทั่วไป สื่อมวลชนก็ต้องมีการพัฒนาคุณภาพเพื่อย่อยเนื้อหาที่มีความซับซ้อน เทคนิคสูง สื่อสารให้ประชาชนเข้าใจได้ง่ายขึ้น

สำหรับประชาชนไทยที่มีความฝันอยากร่วมสร้างรัฐสวัสดิการตามแนวทางของยุโรปแล้ว จึงจำเป็นต้องคิดทบทวนในหลายประเด็น เช่น ความคิดอยากช่วยคนจนเท่านั้นเพียงพอหรือไม่ที่จะสร้างรัฐสวัสดิการได้สำเร็จ? ความคิดเรื่องรัฐมีหน้าที่รับผิดชอบสวัสดิการประชาชนมันจะเพียงพอผลักดันการเปลี่ยนแปลงได้หรือไม่? การที่พุทธศาสนายังมีบทบาทสูงในรัฐไทยจะส่งผลต่อการพัฒนารัฐสวัสดิการไทยอย่างไร? ชุดคุณธรรมแบบใหม่ที่เราจะนำเข้ามาเป็นเข็มทิศนำทางรัฐสวัสดิการไทยในอนาคตจะเป็นอย่างไร? รวมถึงความรู้ทางเทคนิค ทรัพยากรบุคคล ทรัพยากรทางเศรษฐกิจ ของรัฐไทยต้องมีการปรับปรุงอย่างไร?