เมืองอิมิซุ เมืองโทยามะ ริเริ่มความร่วมมือกับชาวประมงท้องถิ่น ในการนำ "ปูหิมะ" คุณภาพดีมาอยู่ในเมนูอาหารกลางวันของโรงเรียน และมีตัวแทนชาวประมงมาพูดคุยกับเด็กๆ เกี่ยวกับเรื่องปูชนิดต่างๆ รวมถึงวิธีการจับปูและวิธีการกิน ทำให้เด็กนักเรียนมีโอกาสลิ้มลองรสชาติอาหารขึ้นชื่อของภูมิภาคชูบุ ตอนกลางของเกาะฮอนชู และได้เรียนรู้เรื่องราวของปูและชาวประมงไปพร้อมกัน
ในศตวรรษที่ 21 ผู้ใหญ่ชาวญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับการให้ความรู้เรื่องอาหารการกินแก่เด็กๆ เพื่อทำให้เด็กๆ ได้เรียนรู้เรื่องอาหารท้องถิ่นผ่านการกินมื้อกลางวันที่โรงเรียน ที่ปรุงขึ้นโดยใช้วัตถุดิบจากภายในพื้นที่
ปัจจุบัน เป็นเรื่องยากที่ครอบครัวชาวญี่ปุ่นจะได้นั่งกินอาหารพร้อมหน้ากัน บางครอบครัวทั้งพ่อและแม่ออกไปทำงานนอกบ้านทั้งคู่ ทำให้อาหารฟาสต์ฟู้ดที่ทั้งรวดเร็วและง่าย เข้ามาแทนที่และเปลี่ยนแปลงวิธีการกินอาหารของคนจำนวนมาก และนำมาสู่ความกังวลในเรื่องการกินอาหารที่ไม่ครบตามหลักโภชนาการในหมู่เด็กๆ
หลังฟองสบู่แตกทางเศรษฐกิจแตกในปี 1991 รัฐบาลญี่ปุ่นเริ่มปฏิรูปงบประมาณด้วยการตัดลดค่าใช้จ่าย รวมถึงการตัดงบอาหารกลางวันของโรงเรียน ในปี 1997 คณะรัฐมนตรีลดขนาดของระบบการป้อนวัตถุดิบสำหรับอาหารกลางวันของนักเรียน ในปี 2000 รัฐบาลยกเลิกส่วนลดราคาข้าวสำหรับอาหารกลางวันในโรงเรียน ซึ่งส่งผลทำให้ระบบการส่งอาหารจากส่วนกลางที่มีมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ต้องยุติไป นับจากนั้น อาหารกลางวันที่โรงเรียนก็มีลักษณะเฉพาะที่สะท้อนภาพของแต่ละท้องถิ่นมากขึ้น
การเคลื่อนไหวเรื่อง “กินอาหารท้องถิ่น” เริ่มขึ้นเมื่อปี 1998 เมื่อคณะกรรมการการศึกษาของจังหวัดไซตามะ รับเอาสโลแกน “ของขวัญจากรสชาติของท้องถิ่น” นำไปใช้กับอาหารกลางวันในโรงเรียน ซึ่งในระยะแรกเริ่มประสบกับปัญหาและความไม่ราบรื่นเกี่ยวกับความเข้าใจผู้คนต่อแนวคิดใหม่นี้
“เราเจอความยากลำบากในการทำให้คนเข้าใจถึงแนวคิดของเรา เราจึงเริ่มจากการตรงไปหาชาวนา ไปชักชวนให้ชาวนาช่วยส่งข้าวมาให้พวกเราโดยตรง” คุณครูท่านหนึ่งเล่า
รัฐบาลญี่ปุ่นจัดการเรื่องปัญหาโภชนาการในเด็ก ด้วยการให้ความรู้เรื่องอาหารผ่านทางอาหารกลางวันของโรงเรียน โดยมีเป้าหมายที่จะสอนเด็กนักเรียนให้มีความรู้เรื่องอาหาร และพฤติกรรมการกินอาหารที่ดีเพื่อสุขภาพ เริ่มแรกในเดือนเมษายนปี 2005 มีการให้การศึกษาเรื่องโภชนาการกับครู จากนั้นในเดือนกรกฏาคมปีเดียวกัน มีการผ่านกฎหมายว่าด้วยการศึกษาเรื่องอาหารและโภชนาการ ในเดือนมิถุนายน ปี 2008 มีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนที่เน้นความสำคัญถึงการศึกษาเรื่องอาหารและโภชนาการ
ในการให้การศึกษาเรื่องอาหารกับเด็กนักเรียน มีการให้ความสำคัญในเรื่องต่างๆ ได้แก่ ความสำคัญของการกินอาหารตรงเวลา, ผลกระทบของการกินอาหารต่อร่างกายและจิตใจ, การเลือกกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ, การปลูกฝังจิตวิญญาณของความรู้สึกขอบคุณ และการส่งเสริมทักษะทางสังคม
เป้าหมายโดยรวมของการให้ความรู้เรื่องอาหารแก่เด็กนักเรียน คือ การให้เด็กๆ มีชีวิตที่ดีผ่านการกินที่ดี ซึ่งจะส่งต่อไปยังการมีชีวิตที่ดี และความพยายามใช้วัตถุดิบท้องถิ่นในการสร้างรายการอาหารที่มีความเป็นนานาชาติ ทั้งสองสิ่งรวมอยู่ในบริบทข้างต้นนี้
ทั้งนี้ อาหารกลางวันที่โรงเรียนในญี่ปุ่น แบ่งออกเป็น 3 แบบ คือ อาหารกลางวันที่ทำขึ้นจากครัวของโรงเรียน อาหารกลางวันที่ทำโดยศูนย์อาหารกลางและกระจายไปยังโรงเรียนต่างๆ ในพื้นที่ และอาหารกลางวันที่นักเรียนเตรียมมาเองจากบ้าน
ไม่ว่าอาหารกลางวันที่โรงเรียนจะทำขึ้นจากวิธีใด ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องความปลอดภัยเป็นหลัก อาหารของนักเรียนจะต้องสะอาดได้มาตรฐาน ซึ่งรวมไปถึงพื้นที่จัดเตรียมและปรุงอาหารต้องสะอาดถูกสุขอนามัย เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่ไม่คาดคิด เช่น การระบาดของโนโรไวรัส และอาการแพ้อาหารที่อาจเกิดขึ้นกับเด็กนักเรียน
ในปีที่ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬารายการสำคัญ เช่น ฟุตบอลโลกปี 2002, การแข่งขันรักบี้เวิลด์คัพปี 2019 หรือการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ปี 2021 มีการนำรายการอาหารหลากหลายเมนูมาเสิร์ฟเป็นมื้อกลางวันให้กับเด็กนักเรียน โดยรัฐบาลท้องถิ่นนำรายการอาหารของประเทศที่มีความสัมพันธ์กับญี่ปุ่นมาให้เด็กๆ ได้ลิ้มลอง เช่น ถั่วและมะเขือเทศจากสหรัฐอเมริกา มันฝรั่งจากเมนูอาหารของชาวยุโรป ซึ่งเป็นการให้โอกาสเด็กๆ ในการทดลองอาหารใหม่ๆ จากส่วนต่างๆ ของโลก ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากกับเด็กๆ
ส่วนเรื่องของค่าใช้จ่ายอาหารกลางวันในโรงเรียน โดยทั่วไป รัฐบาลท้องถิ่นกับพ่อแม่ผู้ปกครองของนักเรียนจะแบกรับร่วมกัน รัฐจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเรื่องเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ การซ่อมแซมอุปกรณ์ เรื่องค่าแรง และข้าวของ ส่วนพ่อแม่ผู้ปกครองรับผิดชอบค่าอาหาร แต่ด้วยปัจจัยเรื่องสงครามรัสเซียในยูเครน ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบและราคาอาหารสัตว์เพิ่มขึ้น ภาวะโลกร้อนและการระบาดของไข้หวัดนก ส่งผลกระทบให้วัตถุดิบแพงขึ้นกว่า 2 ถึง 3 ปีก่อน นอกจากนี้ ราคาข้าวในญี่ปุ่นที่เพิ่มสูงขึ้น ได้เพิ่มภาระเรื่องค่าใช้จ่ายอาหารกลางวันของเด็กๆ ที่โรงเรียนให้พ่อแม่ ซึ่งจำเป็นที่รัฐจะต้องมีมาตรการในการช่วยเหลือในเรื่องนี้
การสำรวจของกระทรวงการศึกษา วัฒนธรรม กีฬา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของญี่ปุ่น หรือ MEXT เมื่อเดือนกันยายน 2023 พบว่า ราวร้อยละ 30 ของเทศบาลเมือง หรือเทศบาลเมือง 547 แห่ง มีการเตรียมอาหารกลางวันฟรีให้กับนักเรียนโรงเรียนประถมและมัธยมต้นของรัฐ ซึ่งเพิ่มมากขึ้นถึง 7 เท่าเมื่อเทียบกับการสำรวจเมื่อปี 2017 สะท้อนถึงความพยายามจูงใจให้ชาวญี่ปุ่นมีลูก ด้วยการช่วยลดภาระทางการเงินในเรื่องอาหารกลางวันที่โรงเรียนให้กับพ่อแม่ และนับจากเดือนมกราคม 2025 เป็นต้นมา รัฐบาลมหานครโตเกียวมีการจัดเตรียมอาหารกลางวันให้กับโรงเรียนทั่วทุกแห่งที่อยู่ในเขตโตเกียว
ที่มา
Japan’s School Lunches: Learning Through Eating