Skip to main content

 

Libertus Machinus
 

 

ในสังคมผู้สูงอายุ ในทางปฏิบัติสิ่งที่เกิดขึ้นจริงคือ ผู้สูงอายุจำนวนมากที่อยู่อย่างลำพัง ไม่ว่าจะโสดหรือคู่สมรสเสียชีวิตไปแล้ว ผู้สูงอายุเหล่านี้เชื่อมโยงกับคนรุ่นใหม่ๆ ยาก ดังนั้น ก็จะไม่ค่อยมีชีวิตทางสังคม ซึ่งผลรวมๆ คือ สิ่งที่เรียกภาษาชาวบ้านว่า "เหงา" โดยในปัจจุบัน ความเหงาก็ถูกเชื่อมโยงกับความเจ็บป่วยสารพัดตั้งแต่พวกโรคระบบไหลเวียน ไปจนถึงโรคระบบประสาทส่วนกลาง กล่าวคือ ความเหงาทำให้เกิดได้ทั้งโรคหัวใจและสมองเสื่อม

เลยทำให้ความเหงาไม่ใช่เรื่องส่วนตัวอีกต่อไป มันถูกมองเป็นปัญหาสาธารณสุข แต่คำถามก็คือ จะทำยังไงให้คนแก่ไม่เหงา?

นี่เป็นคำถามที่ท้าทายในยุคปัจจุบัน หลายสังคมมีคำตอบต่างกัน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นที่นิวยอร์กตอนนี้อาจเป็นบทเรียนที่ดี

“Life Story Club” เป็นองค์กรไม่แสวงกำไร หรือจะบอกว่าเป็นเครือข่ายก็ได้ กิจกรรมขององค์กรคือ ให้คนแก่อายุ 60 ปีขึ้นไปได้มา "แชร์เรื่องราวชีวิต" กัน โดยคำถามเปิดก็เช่น "ถ้าคุณนึกถึงครอบครัว คุณจะนึกถึงเรื่องอะไรในชีวิต" หรือ "เหตุการณ์ในประวัติศาสตร์เปลี่ยนชีวิตคุณ" นี่เป็นคำถามที่ "คนแก่" ทุกคนมักจะมีคำตอบในใจและมี "เรื่องราวดีๆ" มาเล่า

Life Story Club เริ่มจากโครงการให้คนแก่ที่บ้านพักคนชราในเขตบรูคลินมาเล่าเรื่องราวของตัวเองแก้เหงาในปี 2019 แต่เริ่มกิจกรรมไปไม่นาน โควิดก็ระบาด โครงการก็เลยย้ายไปออนไลน์ จับคนแก่มาคุยกันผ่าน Zoom แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือความประทับใจ เพราะพอมี Zoom มันดึงคนแก่จากหลายพื้นที่เข้ามาคุยกันได้ และเรื่องราวสนุกๆ มีเยอะ ซึ่งคนแก่หลายๆ คนเคยรู้จักบุคคลในประวัติศาสตร์ตัวเป็นๆ และเรื่องเล่าก็สร้างความครื้นเครงในวงสนทนาได้

เพราะคนแก่ทุกคนมีเรื่องราวจะมาเล่า และจริงๆ ถ้าเราเคยได้คุยกับคนแก่ ก็จะเข้าใจเลยว่าหลายคนมีเรื่องราวชีวิตตัวเองที่อยากเล่า และถ้าเราสงสัยหน่อย เรื่องราวสนุกๆ ก็จะพรั่งพรูเข้ามา โดยสิ่งที่ Life Story Club ไม่ได้ทำให้แค่คนแก่ได้เล่าเรื่องราวสนุกๆ ในชีวิตตัวเองให้คนอื่นฟัง แต่มันยังทำให้คนแก่เหล่านี้ไม่เหงา เพราะได้เพื่อนใหม่ โดยเรียกได้ว่าคนแก่เกือบ 100% ที่เข้าร่วมวงสนทนากับ Life Story Club ก็ประทับใจในประสบการณ์ทั้งสิ้น

ความน่าสนคือ Life Story Club มีการแยกวงสนทนาให้คนแก่แต่ละกลุ่มใด้แบ่งบันเรื่องราวตัวเองอย่างสะดวกใจ เช่น วงสนทนาไม่ได้มีแค่ในภาษาอังกฤษ แต่ในภาษาสเปนก็มี ภาษาจีนกวางตุ้ง หรือภาษาจีนแมนดารินก็มี ซึ่งหลักๆ ก็เป็นไปเพื่อให้คนแก่ได้รำลึกเรื่องราวและประสบการณ์ร่วม เช่น คนใช้ภาษาสเปนก็มักจะมีประสบการณ์การอพยพเข้าสหรัฐอเมริกาที่ต่างกันไป ส่วนคนใช้ภาษากวางตุ้งก็จะจะมีประสบการณ์แบบ "จีนๆ" แชร์กัน ซึ่งก็ต้องไม่ลืมว่าเอาจริงๆ คนแก่จำนวนมาก ใช้ภาษาอังกฤษไม่ได้ดีด้วยซ้ำ เพราะชุมชนคนใช้ภาษาสเปนและกวางตุ้งก็ใหญ่พอที่จะทำให้คนใช้ชีวิตได้แบบไม่ต้องใช้ภาษาอังกฤษ โดยเหนือกว่าการแยกกลุ่มด้วยภาษา มันยังมีการแยกกลุ่มด้วยอัตลักษณ์ทางเพศด้วย คือจะมีกลุ่ม LGBTQ+ ที่เป็นคนแก่ด้วย ให้ได้แชร์ประสบการณ์ในยุคที่อัตลักษณ์ทางเพศที่แตกต่างยังไม่ได้รับการยอมรับกว้างขวางแบบทุกวันนี้

ทั้งหมดนี้ไอเดียมันเข้าท่ามาก เพราะจริงๆ การให้คนแก่ได้เล่าเรื่อง ได้เจอผู้คน เป็นยาดีแก้ความเหงาอยู่แล้ว ซึ่งคีย์สำคัญของโครงการแบบนี้ มันทำในเมืองที่คนแก่จำนวนมากต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยวแบบเหงาๆ ถ้าเอาโครงการแบบเดียวมาทำในเมืองไทยนี่คำถามที่อาจตามมาคือ จะเวิร์คหรือไม่ เพราะอย่างน้อยๆ "คนแก่" ไทยในรุ่นปัจจุบัน ก็ยังเป็นรุ่นที่มีพี่น้องหลายคน ยังไม่ได้ "โดดเดี่ยวและเหงา" แบบคนแก่ในนิวยอร์ก

แต่แน่นอน ถ้ารอจนคน Gen Y ไทยแก่ โครงการแบบนี้น่าจะเวิร์ค เพราะคนรุ่นนี้เหงารอไปแล้วต้ั้งแต่วัยหนุ่มสาว ไม่ว่าจะด้วยโครงสร้างครอบครัวที่มีพี่น้องน้อยลง หรือด้วยป๊อปคัลเจอร์ที่โตมา ซึ่งเน้น "ความเหงา" กันเหลือเกิน


อ้างอิง
How an Anti-Loneliness Club Is Helping NYC Seniors Feel Seen Again
Inside NYC’s anti-loneliness club where seniors share their life stories — including getting told off by Princess Margaret and flirting with Colin Powell
เว็บไซต์ Life Story Club
  

อ่านบทความอื่นๆ ของผู้เขียน