ผลสำรวจพบ ความสามารถในการฟื้นตัวหลังเผชิญภัยธรรมชาติของประชากรทั่วโลกมีแนวโน้มลดต่ำลง ขณะที่มีจำนวนผู้ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติเพิ่มมากขึ้น
รายงานเรื่อง “ความสามารถในการฟื้นตัวในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง” ซึ่งจัดทำโดยมูลนิธิ Lloyd’s Register เผยถึงระดับความสามารถของประชาชนในการฟื้นตัวหลังผ่านพ้นภัยอันตราย เช่น พิบัติภัยจากธรรมชาติ หรือการสูญเสียอาชีพ พบว่า ในปี 2024 ประชากรใน 42 จาก 120 ประเทศทั่วโลก มีความสามารถในการฟื้นตัวในระดับตัวบุคคลลดต่ำลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับ 2 ปีก่อนหน้า
ประชาชนกลุ่มดังกล่าว คิดเป็นร้อยละ 43 ของประชากรทั่วโลก ซึ่งระบุว่า ไม่สามารถที่จะป้องกันตัวเองและครอบครัวจากหายนะภัยทางธรรมชาติได้เลย และเมื่อเทียบสัดส่วนของประชากรโลกที่ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติกับ 5 ปีก่อนหน้า พบว่า มีผู้ประชากรทั่วโลกประสบภัยธรรมชาติเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 จากร้อยละ 27 ในปี 2021 เพิ่มเป็นร้อยละ 30 ในปี 2023 โดยหลักๆ มีผู้ประสบภัยจากน้ำท่วมเพิ่มมากขึ้น
รายงานดังกล่าว รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ประชาชนจาก 142 ประเทศทั่วโลกราว 147,000 คนในปี 2023 ทั้งนี้ มูลนิธิ Lloyd’s Register จัดทำดัชนีผลสำรวจความสามารถในการฟื้นตัวทั่วโลก ออกเผยแพร่ครั้งแรกในปี 2022 โดยรายงานข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเพิ่มพูนความเข้าใจที่จะนำไปสู่การปรับปรุงวิธีที่ทำให้ประชาชนทั่วโลกมีความสามารถในการฟื้นตัวเองได้ดีขึ้น
รายงานเผยว่า ราวร้อยละ 30 ของประชากรทั่วทั้งโลกที่ประสบภัยพิบัติในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ระบุว่า ไม่เคยได้รับการแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าเลยแม้แต่ครั้งเดียว โดยเฉพาะคนที่อยู่ในพื้นที่ชนบท คนที่มีพื้นฐานทางเศรษฐกิจและสังคมต่ำ เป็นกลุ่มใหญ่ที่จะได้รับการแจ้งเตือนภัยพิบัติน้อยกว่า โดยร้อยละ 77 ของคนกลุ่มนี้ไม่ได้รับการแจ้งเตือนภัยผ่านทางโทรศัพท์มือถือ
ในจำนวนนี้รวมถึงประชากรในแอฟริกากลางและแอฟริกาตะวันตก โดยที่ร้อยละ 62 ขณะที่อนุภูมิภาคทั้ง 4 ของแอฟริกา มีคะแนนดัชนีความสามารถในการฟื้นตัวเองของประชาชนต่ำกว่า 50 จาก 100 คะแนนเต็ม สะท้อนถึงการเป็นภูมิภาคที่ประชาชนมีความสามารถในการฟื้นตัวจากภัยพิบัติต่ำที่สุดในโลก
ขณะที่โมร็อกโก ความสามารถในการฟื้นตัวเองและครอบครัวของประชาชนลดลงอย่างชัดเจนหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อปี 2023 ส่วนปากีสถานและนิวซีแลนด์ที่เคยเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ ความสามารถในการฟื้นตัวของชุมชนและสังคมลดลงอย่างมาก ขณะที่ระดับตัวบุคคลความสามารถในการฟื้นตัวคงเดิม
ผู้จัดทำรายงาน พบปัจจัยที่ส่งผลต่อความสามารถในการฟื้นตัวของประชากร โดยพบว่า สภาพการจ้างงาน มีผลมากที่สุด ส่วนรายได้ครัวเรือน ร้อยละ 20บุคคลหลักในการหารายได้ระบุว่า รู้สึกยากจนลง และพบด้วยว่า คนอายุ 15 ถึง 29 ปี จะเป็นช่วงวัยที่มีความสามารถในการฟื้นตัวได้สูงกว่าคนอายุ 50 ปีขึ้นไปอย่างมาก
รายงานเสนอว่า ควรมีนโยบายเพื่อทำให้ความสามารถในการฟื้นตัวของประชาชนดีขึ้นเมื่อต้องเผชิญภัยพิบัติ โดยรวมถึงการแจ้งเตือนภัยพิบัติล่วงหน้า โดยให้ความสำคัญกับกลุ่มคนที่ฐานะทางเศรษฐกิจสังคมต่ำ คนในพื้นที่ชนบท คนที่มีความสามารถฟื้นตัวด้านการเงินต่ำ จำเป็นต้องได้รับการแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าอย่างทั่วถึง
นอกจากนี้ ยังเสนอว่า ควรให้ความสำคัญกับผู้สูงอายุ และคนรายได้น้อย โดยให้การสนับสนุนเพื่อปรับปรุงความสามารถในการฟื้นตัวเอง รวมไปถึงการสร้างตาข่ายความปลอดภัยด้านการเงิน ให้ความสนับสนุนด้านการเงินโดยเฉพาะกับผู้หญิงในการเอาตัวรอดและให้สามารถฟื้นฟูตัวเองจากภัยพิบัติได้มากขึ้นในอนาคต
อ้างอิง
World Risk Poll 2024 Report: Resilience in a Changing World