Skip to main content

 

คนญี่ปุ่นในวัยทำงานมากกว่าร้อยละ 40 อยู่ในสภาพ “หมดไฟในการทำงาน” ขาดความกระตือรือล้น จำกัดการทำงาน และทำงานให้เสร็จไปวันๆ  

ผลการสำรวจเมื่อปลายปี 2024 โดย Mynavi บริษัทด้านการจัดการข้อมูลและการบริหารงานบุคคลของญี่ปุ่น ทำการสำรวจข้อมูลชาวญี่ปุ่นอายุระหว่าง 20 ถึง 59 ปีที่ทำงานเต็มเวลาจำนวน 3,000 คน พบว่า ร้อยละ 44.5 มีอาการ Quiet Quitting หรืออาการหมดใจ หรือหมดไฟในการทำงาน

Quiet Quitting ถูกใช้แพร่หลายในโซเชียลมีเดียในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ใช้เรียกลักษณะอาการของพนักงานที่ทำงานเท่าที่จำเป็นหรือเท่าที่ตกลงกันไว้เบื้องต้นกับบริษัท เพื่อรักษาตำแหน่งงานและเงินเดือนเอาไว้ เป็นการทำงานให้เสร็จไปวันๆ และรีบกลับบ้าน โดยไม่มีความกระตือรือล้น หรือแสดงความทุ่มเทความพยายามให้กับงาน รวมทั้งไม่มีส่วนร่วมใดๆ กับเพื่อนร่วมงาน กิจกรรมของบริษัท หรืองานอื่นๆ นอกเหนือจากหน้าที่ โดยแนวโน้มนี้เกิดขึ้นกับคนวัยทำงานทั่วโลก

ผลสำรวจพบว่า คนช่วงวัย 20 ปีของญี่ปุ่น มีสัดส่วนของคนที่หมดไฟทำงานมากที่สุดที่ร้อยละ 46.7 ขณะที่ภาวะหมดไฟเกิดขึ้นกับคนวัยทำงานของญี่ปุ่นทุกช่วงอายุในสัดส่วนที่สูงเกินกว่าร้อยละ 40 ซึ่งบ่งชี้ถึงอาการ Quiet Quitting ที่เกิดขึ้นสูงในคนวัยทำงานของญี่ปุ่นในทุกเจเนอเรชั่น

ร้อยละ 57.4 ของผู้ตอบแบบสอบถามที่ระบุว่า ได้รับผลดีบางอย่างจาก Quiet Quitting ขณะที่ร้อยละ 23 บอกว่า รู้สึกถึงการมีเวลาเป็นของตัวเองมากขึ้น และร้อยละ 13.3 บอกว่า รู้สึกว่าถูกต้องแล้วที่ทำงานในเพียงปริมาณที่เท่ากับจำนวนเงินเดือนที่ได้รับ

ร้อยละ 29.7 ของผู้ตอบแบบสอบถามบอกว่า ต้องการทำแบบนี้ไปตลอด และเมื่อรวมกับผู้ที่ตอบว่า จะทำให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ และอยากทำต่ออยู่บ้าง จำนวนของผู้ที่ตั้งใจ Quiet Quitting รวมแล้วมากถึงร้อยละ 70.4

อย่างไรก็ตาม ความตั้งใจในการ Quiet Quitting มีความแตกต่างกันตามช่วงอายุ คนวัย 40 ปีขึ้นไปร้อยละ 73.5 บอกว่าต้องการทำแบบนี้ต่อไป ขณะที่คนในวัย 20 กว่าร้อยละ 35.4 ตอบว่าพวกเขาไม่อยากทำแบบนี้อีกแล้ว ซึ่งสะท้อนถึงความไม่พอใจของรุ่นใหม่บางส่วนต่อระบบงาน

เมื่อถามถึงเหตุผลของการ Quiet Quitting ผู้ตอบแบบสอบถามจำนวนมากให้เหตุผลว่า พวกเขาไม่เห็นว่างานในปัจจุบันมีคุณค่าเพียงพอ หรือตอบว่า แม้จะพยายามทำผลงานมากแค่ไหน ก็ไม่เคยได้รับการประเมินที่ดีขึ้น หรือรู้สึกว่างานที่ทำไม่ได้รับการชื่นชม แม้จะพูดถึงในการประเมินผลงานก็ตาม ขณะที่บางคนให้ความสำคัญกับเรื่องความสมดุลระหว่างงานกับเงินเดือนที่ได้รับ หรือไม่รู้สึกสนใจความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน

เมื่อสอบถามผู้ที่ทำงานด้านสรรหาพนักงานระดับกลาง พบว่า ร้อยละ 38.9 เห็นด้วยกับการ Quiet Quitting ซึ่งมากกว่าผู้ที่ไม่เห็นด้วย อยู่ราวร้อยละ 6.8 โดยให้เหตุผลว่า ไม่ใช่ทุกตำแหน่งงานต้องเน้นเรื่องความก้าวหน้าเสมอ บางประเภทของงาน ก็ไม่สามารถทำได้หากขาดบุคลากรที่เต็มใจทำงานแบบเงียบๆ โดยไม่เน้นผลตอบแทนในเชิงตำแหน่ง

 

ที่มา
Quiet Quitting on the Rise in Japan