ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มาเลเซียกลายเป็นจุดหมายปลายทางที่ได้รับความนิยมสูงขึ้นสำหรับบรรดาพ่อแม่ชาวเอเชียที่ต้องการส่งลูกๆ ไปเรียนในโรงเรียนนานาชาติหรือโรงเรียนอินเตอร์ที่ต่างประเทศ พ่อแม่ชาวญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และจีน ต่างมีข้อสรุปตรงกันในการหาโรงเรียนที่เก่งด้านวิชาการ มีความปลอดภัย และค่าเล่าเรียนอยู่ในราคาที่จ่ายไหว ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ มาเลเซีย
โรงเรียนอินเตอร์ในมาเลเซียได้รับการพูดถึงในแง่ของการเป็นตัวเลือกที่ฉลาด เพราะนอกจากค่าเทอมไม่สูงมากแล้ว ยังมีสภาพแวดล้อมโดยรวมที่ดี แวดล้อมไปด้วยคนที่พูดภาษาอังกฤษ มีหลักสูตรที่หลากหลาย และมีวัฒนธรรมแบบเอเชียที่คุ้นเคย
ข้อมูลของ กระทรวงการศึกษามาเลเซีย เผยว่า จำนวนของเด็กนักเรียนต่างชาติในโรงเรียนอินเตอร์ กลับมาเพิ่มสูงขึ้นหลังโควิด ในปี 2024 มีจำนวนของนักเรียนต่างชาติในโรงเรียนอินเตอร์ราว 30,000 คน โดยมาจากจีน 8,000 คน เกาหลีใต้ 4,000 คน และญี่ปุ่น 3,000 คน ขณะที่จำนวนของโรงเรียนนานาชาติยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจาก 160 โรงในปี 2019 มาเป็น 227 โรงในปี 2024
ลีนา ทาคาฮาชิ คุณแม่วัย 40 ปี เธอเป็นนักแปลอยู่ที่โตเกียว เริ่มแรกลีนาตั้งใจจะส่ง เอลิซา ลูกสาวไปเรียนในโรงเรียนที่ยุโรป แต่หลังจากที่พาลูกสาวเข้าค่ายของโรงเรียนทั่วทั้งภูมิภาค เธอตัดสินใจส่งลูกสาวไปเรียนในโรงเรียนนานาชาติที่มาเลเซีย
ลีนาเล่าว่า ตอนนี้เอลิซางอายุ 14 ปีแล้ว หลังจากไปเรียนที่มาเลเซียคนเดียวเป็นเวลา 5 ปี ก็ลงตัวกับชีวิตที่มาเลเซีย จนเป็นเหมือนบ้านหลังที่สอง เธอบอกว่าเอลิซามีความเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น มีอิสระ มีความอดทน และกระตือรือล้น
เฉิง เมียนหวี ผู้อำนวยการบริหาร โรงเรียนนานาชาติซันเวย์ กล่าวว่า มาเลเซียมีแต้มต่อในด้านภูมิรัฐศาสตร์ การเมืองที่มั่นคง และการมีความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาค รวมถึงมีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่ดีและมีวัฒนธรรมที่หลากหลาย
“เทียบกับที่จีน ที่มาเลเซียแรงกดดันต่ำกว่า แต่ไม่ได้หมายความว่ามาตรฐานการเรียนจะต่ำกว่าไปด้วย ชีวิตที่มาเลย์เครียดน้อยกว่า ความเร่งรีบก็ไม่มากเกินไป แถมยังมีชุมชนจีนที่เข้มแข็งอยู่ด้วย จะทำให้เขาปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมที่นี่ได้ง่ายขึ้น ค่าครองชีพเมื่อเทียบกันแล้วก็ต่ำกว่าที่กวางโจว” แม่ชาวจีนรายหนึ่งจากกวางโจว ซึ่งส่งลูกชายมาเรียนที่โรงเรียนอินเตอร์ในกัวลาลัมเปอร์กล่าว
โรงเรียนนานาชาติในมาเลเซีย แบ่งออกเป็น 4 ระดับ ระดับบนสุด เป็นโรงเรียนสำหรับลูกหลานชนชั้นสูง อย่างเช่น มาร์ลโบโรห์คอลเลจ หรืออลิซสมิธสคูล ในกัวลาลัมเปอร์ ซึ่งค่าเทอมแพงที่สุด หลักสูตรดีที่สุด และเป็นเส้นทางสู่มหาวิทยาลัย
ระดับที่ 2 เป็นโรงเรียนนานาชาติที่ยังคงมาตรฐานทางวิชาการในระดับมาตรฐาน แต่ค่าเล่าเรียนต่ำลงมา และครูผู้สอนจะผสมผสานกันระหว่างเจ้าของภาษากับครูต่างชาติ ส่วนระดับที่ 3 และ 4 มีเป้าหมายที่ตลาดต่างประเทศ มีการผสมผสานหลักสูตรท้องถิ่นกับนานาชาติในค่าเรียนที่ไม่สูง ทำให้โรงเรียนอินเอตร์กลุ่มนี้ได้รับความนิยมจากบรรดาพ่อแม่ชนชั้นกลางที่อยากให้ลูกมาเรียนโรงเรียนนานาชาติในมาเลเซีย รวมถึงครอบครัวชาวมาเลย์ที่มองหาโรงเรียนอินเตอร์สำหรับลูกในราคาที่ไม่แพง
ค่าใช้จ่ายสำหรับโรงเรียนอินเตอร์ระดับบนสุด ตกที่ปีละ 250,000 ริงกิต หรือราว 1.9 ล้านบาท ส่วนราคาเฉลี่ยค่าเทอมของโรงเรียนนานาชาติในมาเลเซีย ที่ยะโฮร์บาห์รู จะตกปีละ 6,237 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 2 แสนบาทเศษ ซึ่งใกล้เคียงกับที่สิงคโปร์ แต่ค่าครองชีพที่นี่จะต่ำกว่าราว 30 เปอร์เซ็นต์
“ฉันอยากให้ลูกชายมีความทรงจำวัยเด็กที่มีความสุข เต็มไปด้วยประสบการณ์ที่มีความหมาย และมีความฝันที่ยิ่งใหญ่สำหรับอนาคต นักเรียนเกาหลีส่วนมากต้องเรียนหนักสุดๆ และมักตั้งเป้าที่จะเป็นอันดับท็อปของมหาวิทยาลัย” คิม อลิซ ครูชาวเกาหลี ที่ส่งลูกชายวัย 15 ปีมาเรียนที่มาเลเซียกล่าว เธอเสริมด้วยว่า เด็กๆ ควรมีสมดุลระหว่างเรื่องทางวิชาการกับประสบการณ์เรียนรู้การเป็นมนุษย์
คิมกล่าวว่า ภาษาอังกฤษลูกชายของเธอพัฒนาก้าวหน้าไปมาก และยังมีทักษะชีวิตเพิ่มขึ้น ไม่ใช่แค่เรียนเพื่อสอบเอาคะแนน นอกจากนี้เรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น ค่าเรียนพิเศษ ค่าใช้จ่ายประจำวัน และค่าเครื่องบิน ที่มาเลเซียยังถูกกว่าสิงคโปร์ ออสเตรเลีย แคนาดา หรือสหรัฐอเมริการาวครึ่งหนึ่ง และยังปลอดภัยจากสภาพแวดล้อมที่ปลอดยาเสพติดและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากกว่า
ที่มา
Malaysia wins over East Asians seeking safer, cheaper international schools