Skip to main content

 

เรื่องราวการเดินทางของซากุระสายพันธุ์ใหม่ จากเกาะฮอกไกโดไปเติบโตยังซีกโลกตะวันตกที่เกาะอังกฤษ จากฝีมือครูโรงเรียนประถมชาวญี่ปุ่นผู้ชิงชังสงคราม และต้องการสร้างสิ่งสวยงามเพื่อชดใช้ความเลวร้ายนั้น ด้วยพัฒนาซากุระสายพันธุ์ใหม่ขึ้นมากกว่า 100 สายพันธุ์ จนได้การขนานนามว่า “ผู้ปกป้องซากุระ”

“มัทสึมาเอะเชอรี่” หรือ ซากุระสายพันธุ์ใหม่จากเกาะฮอกไกโดของญี่ปุ่น เดินทางข้ามโลกไปบานสะพรั่งบนแผ่นดินสหราชอาณาจักรเมื่อราว 30 ปีที่แล้ว เป็นผลงานของ มาซาโตชิ อาซาริ ผู้ที่ได้รับสมญานามว่า “ผู้ปกป้องซากุระ”

มาซาโตชิ อาซาริ เป็นผู้เชี่ยวชาญในการผสมพันธุ์ต้นเชอรี่หรือซากุระ เขาเกิดเมื่อปี 1931 ในเมืองมัทสึมาเอะ ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของเกาะฮอกไกโด และเป็นครูโรงเรียนประถมที่โรงเรียนฮาโกดาเตะ

วัยเด็กของมาซาโตชิถูกปกคลุมด้วยสงครามโลกครั้งที่ 2 จากการที่พี่ชายที่ไปเป็นอาสาสมัครที่ค่ายเชลยสงครามใกล้กับฮาโกดาเตะในฮอกไกโด มาซาโตชิและครอบครัวจึงเกลียดชังสงครามและวิธีที่กองทัพปฏิบัติกับเชลยสงคราม เขาต้องการสร้างสิ่งที่สวยงามเพื่อเป็นการไถ่บาปให้กับช่วงเวลาอันมืดมิดนั้น

หลังสิ้นสุดสงครามโลก เขาเริ่มการผสมพันธุ์ต้นซากุระในสวนสาธารณะตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1960 เรื่อยมา จนสามารถรักษาสายพันธุ์และผสมพันธุ์เกิดซากุระสายพันธุ์ใหม่ๆ ถึง 116 สายพันธุ์ซึ่งส่วนใหญ่ไม่พบในโลกตะวันตก และนำไปปลูกที่สวนสาธารณะของเมือง ซากุระทุกสายพันธุ์ที่มาซาโตชิสร้างขึ้น จะมีคำนำหน้าว่า "Matsumae" เพื่อเป็นการระบุว่า เป็นสายพันธุ์ที่มาจากเมืองมัทสึมาเอะ

 

มาซาโตชิ อาซาริ ผู้ที่ได้รับการขนานนามว่า “ผู้ปกป้องซากุระ”

 

ย้อนไปในปี 1922 การพัฒนาสายพันธุ์ซากุระบนเกาะฮอกไกโด เริ่มขึ้นเมื่อ คาเนะซุกิ คามาคูระ ทำการศึกษาดอกของต้นซากุระในสวนสาธารณะฮาโกดาเตะ และต่อมาได้นำมาปลูกที่เมืองมัทสึมาเอะ ในปี 1937 ศาสตราจารย์มิซาโตะ ทาเตวากิ ทำการวิจัยที่มีความสำคัญยิ่งสำหรับต้นซากุระมัทสึมาเอะ และได้กลายเป็นพื้นฐานของการจัดทำทะเบียนสายพันธุ์ซากุระในเวลาต่อมา ซึ่ง มาซาโตชิ อาซาริ เป็นผู้สืบทอดต่อ

ช่วงปลายทศวรรษ 1920 ดอกซากุระเคยถูกนำไปใช้โดยระบอบทหารนิยมของญี่ปุ่น และเป็นสัญลักษณ์ของดินแดนที่ญี่ปุ่นรุกรานและผนวกไว้ เช่น เกาหลี แมนจูเรีย และจีน ทำให้ดอกซากุระกลายเป็นสิ่งที่ไม่ได้รับความนิยม ช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 สถานที่ชมซากุระชื่อดังหลายแห่งถูกทำลายเสียหาย จนหลังสิ้นสุดสงครามโลก เทศกาลชมดอกซากุระจึงได้เริ่มฟื้นกลับมาอีกครั้งในปี 1951

ต่อมาในช่วงทศวรรษ 1950 มีการทำวิจัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับต้นซากุระในเมืองมัทสึมาเอะ โดย ศาสตราจารย์ชิเงโสะ สุงาฮาระ เพื่อรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสายพันธุ์ซากุระในพื้นที่ของฮอกไกโด ซึ่งภายหลังงานวิจัยนี้ได้รับการสานต่อโดย มาซาโตชิ อาซาริ

ในปี 1961 สวนสาธารณะของเมืองมัทสึมาเอะ กลายเป็นสถานที่แรกของญี่ปุ่นถูกออกแบบให้มีการนำต้นซากุระหลากหลายสายพันธุ์มาปลูกไว้เป็นจำนวนมาก รวมถึงมีการแลกเปลี่ยนต้นซากุระกับพื้นที่อื่นๆ ทั่วทั้งญี่ปุ่น

ผลงานการสร้างสรรค์ของมาซาโตชิไม่เป็นที่รับรู้ จนกระทั่งปี 1982 เมื่อสมาคมดอกไม้แห่งญี่ปุ่นตีพิมพ์คู่มือต้นเชอรี่ญี่ปุ่น โดยรวบรวมสายพันธุ์ที่ปลูกในญี่ปุ่น และมีการรวบรวมเอาสายพันธุ์ใหม่ๆ ที่มาซาโตชิสร้างขึ้นเข้าไว้ด้วย ภายหลังถูกนำไปแปลเป็นฉบับภาษาอังกฤษโดย "แกรแฮม โธมัส" ผู้เชี่ยวชาญด้านพันธุ์พืชชาวอังกฤษ

คริส แซนเดอร์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องต้นเชอรี่ชาวอังกฤษ ซึ่งได้รับรางวัลจากสมาคมพืชสวนแห่งราชอาณาจักร (RHS) เดินมาพบกับแกรแฮม และสะดุดตาต้นฉบับแปลคู่มือต้นเชอรี่จากภาษาญี่ปุ่น เรื่องราวของการเดินทางของมัทสึมาเอะเชอรี่ ไปสู่เกาะอังกฤษจึงเริ่มขึ้น

“ผมตะลึงเมื่อได้เห็นว่า มันมีต้นเชอรี่ที่ผมไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อนเลย และไม่รู้ด้วยว่ามันมีอยู่ ไม่มีใครในประเทศนี้เคยเห็นหนังสือเล่มนี้วางขาย ผมเลยเขียนถึงผู้จัดพิมพ์ในญี่ปุ่นเพื่อนำไปตีพิมพ์” คริสกล่าว

หลังจากนั้น จอห์น บอนด์ ผู้ดูแลสวน Windsor Great Park ในลอนดอน ซึ่งเป็นเพื่อนกับคริส แซนเดอร์ ได้รับเชิญให้ไปบรรยายเรื่องสวนแบบอังกฤษที่ญี่ปุ่นในปี 1992 ในเดือนกุมภาพันธ์ปีถัดมา มีกิ่งตอนของมัทสึมาเอะเชอรี่จำนวน 58 กิ่ง ถูกส่งมายัง Windsor Great Park หลังจากได้รับกิ่งตอนต้นซากุระ จอห์น บอนด์ ได้ใช้เวลา 5-6 ปีในการคัดเลือกต้นที่มีลักษณะเหมาะสมที่สุดสำหรับปลูกในสวน แล้วทำการขยายพันธุ์ และบางส่วนไปปลูกยัง Windsor Great Park และ Kew Gardens ซึ่งเป็นสวนพฤกษศาสตร์ชื่อดังในลอนดอน

ในปี 2010 มาซาโตชิ เกษียณจากการทำงานด้วยวัย 79 ปี แต่เขายังคงทำหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับต้นซากุระต่อไป และได้รับการขนานนามว่า “ผู้ปกป้องต้นซากุระ”

 

 

ในปีเดียวกันนั้นเอง สมาคมพืชสวนแห่งราชอาณาจักร ได้เริ่มโครงการประเมินต้นซากุระนอกสถานที่ที่เรือนเพาะต้นไม้ของคริส แซนเดอร์ ซึ่งมีการเพาะต้นซากุระพันธุ์มัทสึมาเอะจำนวน 19 ต้น ทำให้เขาได้รับรางวัลสวนที่ได้รับการยกย่องจาก RHS ซึ่งเป็นรางวัลที่ส่งเสริมให้พ่อค้าไม้ประดับและนักจัดสวนหันมาสนใจปลูกซากุระมากขึ้น

หลังจากที่ต้นซากุระสายพันธุ์มัทสึเมะได้รับความนิยมในอังกฤษ ในปี 2014 คริส แซนเดอร์ติดต่อมาซาโตชิ เพื่อเล่าว่า เขามีส่วนร่วมในการขยายพันธุ์และเผยแพร่ซากุระสายพันธุ์ที่มาซาโตชิสร้างขึ้น

คริสเล่าว่า มาซาโตชินำจดหมายที่คริสเขียนถึงเขาไปโชว์ต่อผู้ที่มาร่วมงานสัมมนาเรื่องซากุระในญี่ปุ่น และรู้สึกดีใจมากที่ได้รู้ว่า ต้นซากุระสายพันธุ์ใหม่ของเขาได้ถูกนำไปขยายพันธุ์ในฝั่งตะวันตก และถูกนำไปปลูกในสวน Collingwood "Cherry" Ingram ในเมืองเบเนเด็น มณฑลเคนต์ ของอังกฤษ ซึ่งเป็นบ้านของ คอลลิงวูด อินแกรม นักปักษีวิทยาผู้มีชื่อเสียงในเรื่องซากุระ และเป็นผู้นำต้นซากุระจากญี่ปุ่นกลับมาปลูกยังเกาะอังกฤษตั้งแต่ปี 1907 รวมถึงเป็นผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับต้นซากุระ

ในที่สุด ในปี 2016 คริสและมาซาโตชิก็ได้พบกันในช่วงที่ดอกซากุระบานสะพรั่งเต็มต้น ขณะที่มาซาโตชิอายุล่วงเข้า วัย 85 ปี หลังจากนั้นมีการจัดงานฉลองมิตรภาพระหว่างญี่ปุ่น-สหราชอาณาจักรขึ้นที่สวนสาธารณะมัทสึมาเอะ โดยมีสื่อมวลชนและบุคคลสำคัญมาร่วมงาน ไฮไลต์ของงาน คือการเปิดตัวอนุสรณ์หินแกรนิต ที่มีรูปร่างเหมือน “หนังสือเปิด” สลักเรื่องราวการเดินทางของซากุระมัทสึมาเอะจากฮอกไกโดไปยังอังกฤษ เป็นภาษาญี่ปุ่นและภาษาอังกฤษ


อ้างอิง
The Japanese schoolteacher who created a whole new breed of flowering cherries
History of the Matsumae Cherries