Skip to main content

First Love เป็นซีรีส์ที่ได้แรงบันดาลใจจากบทเพลงของอุทาดะฮิคารุ พระเอกฮารุมิจิบอกกับยาเอะว่า “การที่คนเราจะพบคู่รักมีความน่าจะเป็นแค่ 1 ใน 6พันล้าน มันต้องเป็นพรหมลิขิตแน่ มันมหัศจรรย์มากใช่ไหม?” ในขณะเดียวกันในปี 1998 ทางฝั่งฮอลลีวูดเองก็มีภาพยนตร์เรื่อง the Truman Show คุณจะรู้สึกอย่างไรถ้าวันหนึ่งต้องรู้ความจริงว่า ความรักที่คุณคิดว่าเป็นพรหมลิขิตกลับกลายเป็นว่ามันคือ “การจัดฉาก” ความน่าจะเป็น 1 ใน 6 พันล้าน จะกลายเป็นความแน่นอนทันที Truman พระเอกของเรื่องที่นำแสดงโดย จิม แครี่ ต้องได้แต่งงานกับ เมอริล ซึ่งทรูแมนเข้าใจว่าเขามีเป็นคนเลือกเองที่จะแต่งงานกับเธอ แต่แท้จริงแล้วมันเป็นแค่ละครเรียลลิตี้โชว์ที่ผู้กำกับจัดฉากให้คู่รัก (ปลอมๆ) นี้ได้พบรักกัน

เมื่อถึงตอนนี้นักอ่านมีความเห็นอย่างไรบ้างครับ? ตกลงแล้วความรักเป็นเรื่องของพรหมลิขิต หรือความน่าจะเป็น? ความรักเป็นเรื่องส่วนตัว หรือเป็นเรื่องที่ถูกกำหนดจากปัจจัยภายนอก? นักอ่านทุกท่านรู้สึกอย่างไรบ้างครับ ที่เรื่องส่วนตัวอย่างความรัก กลับถูก “สอดส่อง กำหนด ควบคุม” จากอำนาจภายนอก?

 

การเกิดความรัก

ความรัก เป็นความรู้สึกของสิ่งมีชีวิตรวมถึงมนุษย์ที่เกิดขึ้นมา มีหลายรูปแบบ เช่น ความรักต่อพระเจ้า ความรักต่อเพื่อนมนุษย์ ความรักในครอบครัว ความรู้สึกอยากครอบครอง ฯลฯ การนิยามก็เป็นไปอย่างหลากหลาย ไม่มีนิยามใดที่สมบูรณ์และถูกต้องที่สุด ในบทความนี้จะขอไม่ลงนิยามความรัก แต่จะเริ่มต้นตั้งคำถามกับผู้อ่านว่า ความรักเกิดขึ้นมาจากเหตุผลใด? ความรักเกิดขึ้นจากสมอง หรือหัวใจ? ความรักเกิดจากความชอบส่วนตัว หรือมาตรฐานสังคม?

ทุกคนคงเคยได้ยินคำว่า “รักแรกพบ” ความรู้สึกรักทันทีเมื่อพบเจอคนๆ นั้นครั้งแรกโดยที่ไม่สามารถอธิบายสาเหตุได้ว่าอะไร บางคนก็เชื่อว่าเป็นเพราะชาติปางก่อนที่ส่งผลให้วิญญาณของทั้งคู่เชื่อมโยงต่อกันได้ในปัจจุบัน อย่างไรก็ตามคุณจะแน่ใจได้อย่างไรว่า ความรู้สึกรักแรกพบไม่ได้เกิดจากปัจจัยอื่นๆ ไม่ได้เกิดจากประสาทสัมผัสทั้งห้าของมนุษย์ (ตา หู จมูก ปาก สัมผัส) หรือประสบการณ์ข้อมูลข่าวสารที่คุณค่อยๆ สะสมมาโดยไม่รู้ตัว ซึ่งถ้าเราอยากจะยืนยันว่าความรักมันเป็นเรื่องความรู้สึก ไม่ใช่สมอง มันเป็นเรื่องการตัดสินใจโดยเจตจำนงค์เสรีของเราเอง ไม่มีอำนาจของพระเจ้า หรือคนอื่นใดๆ เราก็ต้องมีความสามารถตัดขาดการรับรู้จากประสาทสัมผัสทั้ง 5 ได้อย่างสมบูรณ์ หรือตัดขาดจากบรรทัดฐาน ข้อมูลภายนอกต่างๆที่ส่งมาถึงสมองของเรา

ซึ่งในการปฏิบัติจริงๆ ย่อมไม่มีวันทำได้เลย มนุษย์ไม่สามารถแยกส่วนของการนึกคิดออกจากโลกของวัตถุภายนอกร่างกาย ความรู้สึกต่างๆ รวมถึงความรักที่เกิดขึ้นมันจึงเป็นปฏิสัมพันธ์ที่ทำงานร่วมกันระหว่างสมองและหัวใจ เหตุผลและความรู้สึกข้างใน ความรักมิใช่เรื่องของคนๆ เดียว แต่เป็นเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างเรากับคนที่เรารัก และถ้าขยายวงขอบเขตกว้างกว่านั้น ครอบครัวและสังคมก็ย่อมมีอิทธิพลต่อความรักด้วยเช่นกัน

การที่แต่ละคนจะตัดสินใจรัก หรือคงความสัมพันธ์ความรัก มันจึงขึ้นอยู่กับโลกทางวัตถุนิยม เช่น รูปร่างหน้าตาของคู่รัก เสื้อผ้า การแต่งตัว นิสัยใจคอ ความเชื่อ ซึ่งโลกทางวัตถุนิยมเหล่านี้ก็ถูกครอบด้วยระบบเศรษฐกิจ ระบบสังคมวัฒนธรรมประเพณี ที่แปรเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ก็ถูกส่งไปยังสมองไปยังระบบการตัดสินใจส่วนบุคคล ตัวอย่างเช่น ถ้าคนๆ นั้นเป็นมนุษย์เศรษฐศาสตร์ผู้มีเหตุผลและตัดสินใจทุกเรื่องด้วยการประเมินผลได้ผลเสีย ร่วมถึงเรื่องความรัก และเขาอาศัยอยู่ในโลกทุนนิยมที่ให้ความสำคัญกับเรื่องการบริโภค ความมั่นคง ความแน่นอนแล้ว เขาย่อมจะเลือกหนทางที่เกิดอรรถประโยชน์สูงสุด สมมติมีทางเลือกระหว่างแต่งงานกับคู่รักที่มีทรัพย์สิน เงินทอง การงานอาชีพ มั่นคง กับอีกทางเลือกคู่รักมีฐานะยากจน ตกงาน คนที่เป็นมนุษย์เศรษฐศาสตร์ย่อมเลือกหนทางแรกอย่างไม่ต้องลังเล

คำถามที่ตามมา คือ แล้ววิธีการคิดของมนุษย์จะต้องเป็นมนุษย์เศรษฐศาสตร์ทุกคน และตลอดเวลาหรือไม่?

ในโลกความเป็นจริง เราจะพบว่ามนุษย์มีระบบการคิดที่ซับซ้อนมาก ไม่มีใครที่คิดคำนวณผลได้ผลเสียตลอดเวลา บ่อยครั้งที่มนุษย์ใช้การตัดสินใจจากความรู้สึก สัญชาตญาณ อารมณ์ มากกว่าเหตุผลด้วยซ้ำ เพราะมนุษย์แตกต่างจากหุ่นยนต์ และเพราะเป็นแบบนี้มนุษย์จึงมีความงดงามหลากหลาย ความรักของมนุษย์ก็มีความหลากหลาย งดงาม หวานขมปนกันไป ไม่มีตีกรอบตายตัวชัดเจนเช่นเดียวกัน

 

ความรักเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานหรือไม่?

เมื่อความรักในด้านหนึ่งเป็นมิติของโลกวัตถุนิยม การเข้าถึงวัตถุนิยมส่งผลต่อโอกาสประสบความสำเร็จด้านความรักไม่มากก็น้อย คำถามที่ตามมาคือ ความรักควรเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานหรือไม่? ถ้าเป็นแล้วสิทธิของความรักจะมีขอบเขตหรือไม่?

ความรักก็เหมือนสิทธิมนุษยชน คือ เป็นธรรมชาติของมนุษย์ และขาดมันไม่ได้ แต่การจะเข้าถึงความรักและสิทธิมนุษยชนมันก็ซับซ้อนและมีข้อจำกัดที่ต้องการการถกเถียงเช่นเดียวกัน เพื่อให้ผู้อ่านเห็นภาพชัดเจน ผมขอยกตัวอย่างเช่น ถ้ามีคนคนหนึ่งรักคุณลิซ่า ถ้าความรักเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานแล้ว คนคนนั้นต้องได้แต่งงานกับคุณลิซ่า อย่างไรก็ตามมันจะยุติธรรมกับคุณลิซ่าหรือไม่ ถ้าคุณลิซ่าไม่ได้รักคนคนนั้น? ความซับซ้อนเพิ่มขึ้นอีก ถ้าไม่ได้มีคนคนเดียวชอบคุณลิซ่า มีคนจำนวนมากรักคุณลิซ่า เพื่อให้ทุกคนสมหวังในความรัก สังคมเราต้องแบ่งคุณลิซ่าให้ทุกคนเท่ากันอย่างนั้นหรือ? แบบนี้แล้วจะยุติธรรมกับคุณลิซ่าหรือไม่?

หรือกรณีเรื่องโลกวัตถุนิยมกับการสมหวังความรัก ถ้าคนที่หน้าตาดีจะมีโอกาสประสบความสำเร็จด้านความรักมากกว่าคนอื่น เมื่อความรักเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานแล้ว เราต้องทำศัลยกรรมเปลี่ยนใบหน้าให้ทุกคนหน้าตาดีอย่างนั้นหรือ? หรือกรณีเรื่องสมมติคนร่ำรวยมีโอกาสประสบความสำเร็จความรักมากกว่าคนยากจน คนที่มีรถสปอร์ตขับจะประสบความสำเร็จความรักมากกว่า คนที่ใช้เสื้อผ้าแบรนด์เนมจะประสบความสำเร็จความรักมากกว่า ดังนั้นสังคมควรจะให้รถสปอร์ต ของแบรนด์เนมกับทุกคนเป็นสิทธิพื้นฐานอย่างนั้นหรือ?

 

ความรักและรัฐสวัสดิการ

รัฐสวัสดิการไม่ได้หล่นลงมาจากฟ้า มันเริ่มต้นจากทฤษฎี ความรู้ กรอบแนวคิดที่ค่อยๆรังสรรค์มาจากนักปรัชญาสะสมต่อยอดมา ทฤษฎีรัฐสวัสดิการตั้งคำถามถึงว่ารัฐควรมีบทบาทหน้าที่อย่างไรในด้านสวัสดิการ ความสุขของประชาชน แนวความคิดนี้เริ่มเบ่งบานในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 และต้นศตวรรษที่ 20 ของยุโรป ซึ่งเป็นยุคที่วิทยาศาสตร์สมัยใหม่พัฒนาอย่างรวดเร็ว รวมถึงการแยกศาสนาออกจากรัฐ ทฤษฎีรัฐสวัสดิการจึงเป็นทฤษฎีที่มีแนววิเคราะห์ด้านวัตถุนิยมเป็นหลักเพื่อแก้ไขข้อบกพร่องของทุนนิยม และพยายามเปลี่ยนนิยามความรักที่ถูกครอบงำจากคริสตจักร เป็นความรักแบบรัฐสมัยใหม่มากขึ้น

คริสตจักรสอนให้มนุษย์รักพระเจ้าและรักคริสเตียนด้วยกัน ช่วยเหลือกันโดยรักที่ปราศจากเงื่อนไข แต่ทว่าความรักแบบนั้นเป็นรักแบบฝ่ายเดียว มนุษย์รักพระเจ้าทั้งๆ ที่ไม่เคยมีใครพิสูจน์ได้ว่าพระเจ้ามีจริงหรือไม่? การรักเพื่อนคริสเตียนโดยไม่มีเงื่อนไข กลับกลายเป็นว่าสอนให้รักเฉพาะพวกพ้องตนเอง แต่พร้อมที่จะทำลายคนที่มีความเชื่อแตกต่างกัน

ส่วนทุนนิยมก็สอนให้รักตนเองให้ความสำคัญต่อผลประโยชน์ตนเองเป็นหลัก แต่ทว่าความโลภอย่างไม่มีขอบเขตก็ทำลายผู้คนรอบข้าง สังคมได้ด้วยเช่นเดียวกัน

ความรักในรัฐสวัสดิการจึงพยายามเปลี่ยนความรักของมวลชนมากกว่าเปลี่ยนความรักในด้านความสัมพันธ์ของคนสองคน รัฐสวัสดิการเปลี่ยนความรักจากมนุษย์ที่มีต่อพระเจ้าเป็น ความรักระหว่างเพื่อนร่วมชาติด้วยกัน สมาชิกของรัฐทุกคนต้องเอื้ออาทรช่วยเหลือซึ่งกันและกัน พร้อมๆ กับการรักตัวเองให้พอดี ลดความเห็นแก่ตัวลง ให้ความสำคัญกับผลประโยชน์สาธารณะ คนเห็นแก่ตัวต้องออกมาช่วยเหลือกับเพื่อนร่วมชาติกับสังคม ส่วนคนที่มีจิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ (altruism) ก็จะได้รับการคุ้มครองไม่ให้เสียสละออกมาช่วยเหลือผู้อื่นมากเกินไปจนชีวิตตัวเองอยู่ไม่ได้

รัฐสวัสดิการจึงเข้ามาแทรกแซงเฉพาะด้านสวัสดิการในโลกวัตถุนิยมเท่านั้น เพื่อประโยชน์ของส่วนร่วมพร้อมๆ รักษาผลประโยชน์ส่วนบุคคล โดยไม่ก้าวล่วงเข้าไปในโลกส่วนตัวสิทธิส่วนบุคคล ความรู้สึกของประชาชน

ส่วนรูปแบบความรัก ไม่ว่าจะเป็นความรักของคนสองคน ความรักในครอบครัว หรือรูปแบบอื่นๆ เป็นเรื่องที่แต่ละคน แต่ละครอบครัว ชุมชน สังคมค่อยๆ สร้างมันขึ้นมา รัฐสามารถเข้าไปช่วยวัตถุภายนอกที่ส่งเสริมให้เกิดความรักขึ้น แต่จะสมประสงค์ตามเป้าหมายของแต่ละคนหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยส่วนบุคคลของแต่ละคนเอง เช่น ความรักของคู่รักหลากหลายเพศสภาพ พวกเขาพัฒนาความรักขึ้นมาได้ด้วยกันโดยรัฐไม่ต้องเข้าไปช่วยเหลือ เพียงแต่ติดล็อคกับโครงสร้างกฎหมายที่ไม่อนุญาตให้พวกเขาแต่งงานได้ รัฐสามารถเข้ามาช่วยได้ด้วยการออกกฎหมายแต่งงานเพศเดียวกัน เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อเพิ่มบทบาทหน้าที่ให้รัฐสวัสดิการมากขึ้น อำนาจของรัฐในการแทรกแซงโลกส่วนตัวแทรกแซงสังคมย่อมมากขึ้นตามมา การเพิ่มอำนาจรัฐจึงต้องมาพร้อมการตรวจสอบและควบคุมอำนาจรัฐเสมอ ถ้ารัฐเข้ามาแทรกแซงเรื่องความรักและสถาบันครอบครัวมากเกินไป ย่อมส่งผลดาบสองคมตามมาด้วยเช่นกัน ตัวอย่างเช่น ชีวิตของทรูแมนที่ดำเนินแต่ละวันด้วยความมั่นคง แน่นอน ในแต่ละวัน แต่ก็ต้องแลกมาด้วยการถูกแอบถ่าย ถูกสอดส่องจากรัฐ ถูกควบคุมการตัดสินใจทุกเรื่อง แม้กระทั่งเรื่องแต่งงานและความรัก

 

“ความรักที่มีมากเกินไปก็อาจทำร้ายตัวเองได้ อำนาจแทรกแซงจากรัฐสวัสดิการก็เช่นเดียวกัน”