Skip to main content

ภาคภูมิ แสงกนกกุล

ในฉากสุดท้ายของซีรีส์เกาหลีฮิตทล่มทลาย Squid Game ตาแก่เศรษฐีโออิลนัมท้าพนันกับพระเอกว่า ถ้าคนจรจัดที่นอนทนความเหน็บหนาวอยู่กลางถนนนั้นถูกทิ้งไว้โดยไม่มีใครมาช่วยจนข้ามคืนวันก่อนคริสต์มาสแล้ว ตาแก่จะเป็นฝ่ายชนะ ฉากนี้คือการปะทะกันระหว่าง ชายแก่ที่ผ่านโลกมาจนสิ้นหวังว่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลง หมดสิ้นศรัทธาในความเป็นมนุษย์ที่ละเลยและไม่ช่วยเหลือกันเมื่อเห็นคนลำบาก กับชายวัยกลางคนที่เพ้อฝันที่เชื่อมั่นและเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนยังมีจิตใจที่ช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้
    
ก่อนที่จะเริ่มเนื้อหาในบทความนี้ ผมขอให้ผู้อ่านลองจินตนาการว่า ถ้าคุณเดินไปพบคนจรจัดคนนั้น คนที่คุณไม่รู้จัก ไม่ใช่ญาติพี่น้อง คุณจะตัดสินใจอย่างไร
1. เดินผ่านไปไม่สนใจ 
2. เข้าไปช่วยเหลือด้วยตนเอง
3. เรียกเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาช่วย

เก็บคำตอบของท่านไว้ก่อน แล้วกลับมาคิดทบทวนอีกครั้งนะครับเมื่ออ่านบทความจบแล้ว

การช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์

นักวิชาการตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันได้ตั้งคำถามและพยายามแสวงหาคำตอบว่า “ทำไมมนุษย์ต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกัน” ในแนวทางหนึ่งก็ว่าเป็นสัญชาตญาณของสิ่งมีชีวิตเลี้ยงลูกด้วยนม ที่เห็นสิ่งมีชีวิตเหมือนตนเองแล้วจึงเป็นภาพสะท้อนตนเองเกิดเป็นความเข้าอกเข้าใจอยากช่วยเหลือ บ้างก็ว่าเป็นสัญชาตญาณเพื่อให้เผ่าพันธุ์ดำรงอยู่ได้ บ้างก็ว่ามนุษย์เป็นสัตว์สังคมต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันละกัน
    
ศาสนาหลักของอารยธรรมมนุษย์ทุกศาสนาล้วนมีคำสอนที่ตรงกันในเรื่องการช่วยเหลือผู้อื่นที่ลำบาก ศาสนาคริสต์เชื่อว่าพระเจ้าสร้างมนุษย์โดยใช้ต้นแบบจากตัวเอง การช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเปรียบเสมือนการแสดงความรักของมนุษย์ต่อพระเจ้า คำว่าการกุศล (Charity) มีรากศัพท์จากคำว่า chère ในภาษาละติน หรือ agape ในภาษากรีก ซึ่งก็คือ ความรัก การกุศลจึงเป็นการแสดงความรักอย่างไม่มีเงื่อนไขที่ผู้ให้มิได้หวังผลตอบแทนใดๆจากการกระทำนั้น การกุศลเป็นคุณธรรมของชาวคริสเตียน และเป็นข้อผูกมัดทางศีลธรรม (moral obligation) ที่คริสต์ศาสนิกชนทุกคนต้องประพฤติเป็นมรรควิธี
     
ในยุคกลางของยุโรปที่มีระบบการปกครองแบบศักดินา และมีวิถีการผลิตแบบเก่า หน้าที่รับผิดชอบเรื่องการจัดหาปัจจัยสี่ รวมถึงสวัสดิการอื่นๆ เป็นเรื่องของครอบครัวญาติพี่น้อง ชุมชนคอยช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ในมุมมองศาสนาคริสต์นั้นความยากจนความยากลำบากเปรียบเสมือนเป็นบททดสอบของพระเจ้าส่งมาแก่บุคคลนั้นๆ และเมื่อเขาอดทนต่อสู้จนผ่านพ้นแล้วเขาก็จะได้ไปอยู่สวรรค์ ดังนั้นความยากจนความยากลำบากมิใช่เป็นปัญหาสังคมที่ทุกคนต้องเข้ามารับผิดชอบ มิใช่ปัญหาที่ผู้ปกครองหรือรัฐต้องมาให้ความช่วยเหลือ ถ้าผู้ยากจนเร่ร่อน ขาดญาติมิตรคอยช่วยเหลือ ชุมชนทอดทิ้งมา จึงเป็นหน้าที่ของโบสถ์และศาสนจักรที่คอยเยียวยาจุนเจือด้วยการกุศล ซึ่งชนชั้นพระในสมัยนั้นก็เป็นชนชั้นอภิสิทธิ์ที่สามารถเก็บภาษีบุญจากไพร่ เพื่อนำมาใช้เพื่อการกุศล เช่น การสร้างโรงพยาบาล โรงทาน โรงแรมแก่พวกเร่ร่อน

จากการกุศลสู่สังคมสงเคราะห์

การเปลี่ยนผ่านสู่การผลิตการเกษตรจำนวนมากเพื่อการค้าขายส่วนเกินในศตวรรษที่ 15 ของยุโรป ทำให้เขตชนบทมีการทำเกษตรในพื้นที่ขนาดใหญ่ ใช้แรงงานมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรูปค่าจ้าง อย่างไรก็ตามมิใช่ชาวนาทุกคนจะประสบความสำเร็จผลิตสินค้าเกษตรได้จำนวนมากแล้วขายได้กำไร แต่มีชาวนาจำนวนมากที่ประสบปัญหาการเพาะปลูกแล้วค่อยๆ สูญเสียพื้นที่การเกษตร บ้างก็ถูกเก็บค่าเช่าจากเจ้าของที่ดินมากจนทนไม่ไหว และต้องหนีออกจากชนบทเข้าสู่ตัวเมือง 
    
แต่การที่ชาวนาหนีจากชนบทเข้าสู่ตัวเมืองก็ไม่สามารถประกอบอาชีพการงานอิสระได้ในเขตเมือง เนื่องจากสมัยนั้น การประกอบอาชีพอะไรได้ก็ต้องเข้าไปเป็นสมาชิกสมาคมวิชาชีพและได้รับอนุญาตให้ทำงาน ดังนั้นชาวนาที่หนีจากชนบทเข้าตัวเมืองจึงกลายเป็นขอทานคนเร่ร่อนในเขตเมือง และต้องขอความช่วยเหลือจากการกุศลจากโบสถ์
    
ศตวรรษที่ 16 มีชาวนาจำนวนมากทะลักเข้าสู่เขตเมืองต่างๆ ในอังกฤษ รวมถึงรัฐอื่นๆ ในยุโรป ซึ่งคนเมืองในสมัยนั้นรู้สึกถึงความไม่ปลอดภัย บ้านเมืองสกปรก ไม่เป็นระเบียบ ส่วนศาสนจักรเองก็ไม่สามารถรับมือโดยใช้การกุศลเข้าช่วยเหลือพวกเร่ร่อนจำนวนมาก ความยากจนมิใช่ปัญหาส่วนตัวหรือบททดสอบของพระเจ้าเท่านั้น แต่มันกลายเป็นปัญหาสังคมที่ส่งผลกระทบต่อคนอื่นๆ รัฐที่แต่เดิมไม่มีหน้าที่รับผิดชอบจึงต้องเข้ามาแทรกแซงสังคมด้วยมาตรการต่างๆ  เช่น ในอังกฤษได้ออกกฎหมาย English Poor law ขึ้น หรือฝรั่งเศสที่มีการสร้างสังคมสงเคราะห์โดยรัฐเนื่องจากการปฏิวัติฝรั่งเศส และทำการยึดทรัพย์และความรับผิดชอบจากโบสถ์ให้เป็นหน้าที่ของรัฐ มาตรการเหล่านี้เป็นนวัตกรรมทางสังคมที่ได้เปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ-สังคม กล่าวคือ 1.ความยากจนมิใช่เรื่องส่วนตัวอีกต่อไป แต่เป็นปัญหาสังคมที่รัฐต้องเข้าไปแก้ไข 2.สิทธิคนจนที่แต่เดิมเป็นเรื่องข้อผูกมัดทางศีลธรรมที่คนจนจะได้รับการช่วยเหลือจากศาสนจักรก็กลายเป็น สิทธิทางกฎหมาย เป็นข้อผูกมัดทางกฎหมาย (juridical obligation) ที่คนจนสามารถขอความช่วยเหลือจากรัฐ 3. มีการเปลี่ยนแปลงแหล่งเงินจากเดิมศาสนจักรใช้การระดมทุนจากภาษีบุญและการบริจาค แล้วค่อยๆ นำไปสู่รัฐใช้เงินผสมจากภาษีท้องถิ่นและภาษีจากรัฐบาลกลาง 
    
การกุศลที่มีข้อดีในการสร้างสายสัมพันธ์ในสังคมให้แน่นแฟ้น แสดงความรักความห่วงใหญ่ของมนุษย์ แต่ก็มีข้อจำกัดมากขึ้นเนื่องจากเปลี่ยนไปตามระบบเศรษฐกิจสังคมที่ซับซ้อนมากขึ้น ความยากจนที่มีจำนวนมากขึ้นได้ส่งผลกระทบต่อการเติบโตเศรษฐกิจมหภาค และการกุศลเข้าช่วยเหลืออย่างไม่ครอบคลุมได้ทั้งหมด การกุศลที่ใช้อารมณ์การตัดสินใจส่วนบุคคลนั้นมีความไม่แน่นอน เพราะแต่ละคนอาจจะขาดข้อมูลในการตัดสินใจ เช่น ไม่ทราบว่าใครคือคนที่ต้องการความช่วยเหลือจริงๆ นอกจากนี้จุดประสงค์ของมันไม่ได้เพื่อการลดความเหลื่อมล้ำเป็นหลัก เพราะไม่มีการบังคับเก็บจากคนมั่งคั่งไปให้คนยากจน แต่ใช้วิธีการบริจาคสมัครใจ คนจนที่ใจบุญก็อาจบริจาคมากกว่าคนรวยที่ตระหนี่ก็ได้ อีกทั้งยังมีความยั่งยืนทางการคลังน้อยกว่าการให้สวัสดิการโดยรัฐ เพราะไม่มีการบังคับเก็บเงินบริจาคกองทุน และขึ้นอยู่ว่าสังคมนั้นมีเงินออมเท่าไหร่ ในขณะที่รัฐสามารถบังคับเก็บภาษีและมีแผนงบประมาณที่วางแผนรายรับรายจ่ายล่วงหน้า หรือสามารถกู้หนี้สาธารณะ สวัสดิการจากชุมชนและสังคมผ่านระบบการกุศลจึงค่อยๆลดสัดส่วนลง และสวัสดิการจากรัฐผ่านสังคมสงเคราะห์มีสัดส่วนมากขึ้นเรื่อยๆ 

อย่างไรก็ตามในปัจจุบัน สัดส่วนการบริจาคเมื่อเปรียบเทียบกับสวัสดิการโดยรัฐในแต่ละประเทศก็มีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น มีค่านิยม วัฒนธรรม ความเชื่อศาสนาต่อการกุศลอย่างไร สภาพเศรษฐกิจในขณะนั้นขยายตัวอย่างไร อัตราการเก็บภาษีซึ่งถ้าเก็บภาษีสูง ครัวเรือนก็จะเหลือเงินน้อยลงเพื่อการกุศล เป็นต้น จากรายงานของ Gross domestic philanthropy (2016) สหรัฐฯ อเมริกามีมูลค่าการกุศลสูงสุดในโลกราว 1.44%GDP ส่วนรัฐสวัสดิการสวีเดนถึงแม้รัฐจะใจดีให้สวัสดิการสูง ก็มีมูลค่าการกุศล 0.16%GDP 

การกุศลในโลกทุนนิยมปัจจุบัน


การกุศลสามารถเป็นการบริจาคด้วยเงิน สิ่งของ หรือการอาสามัครเข้าช่วยเหลือบริการก็ได้ อย่างไรก็ตามในระบบเศรษฐกิจที่ใช้เงินเป็นสื่อกลางหลัก การให้ด้วยเงินจึงมีความคล่องตัวกว่า สะดวกต่อผู้ให้ที่ไม่ต้องเสียเวลาซื้อของ ส่วนผู้รับก็สามารถใช้เงินเลือกซื้อของที่ตนเองต้องการ การบริจาคยังคงไม่หายไปจากโลกปัจจุบันเพราะยังมีข้อดีบางประการ เช่น ช่วยสร้างความสุขแก่ผู้ให้ เสริมสร้างค่านิยมสังคมเรื่องการช่วยเหลือซึ่งกันและกันสร้างเครือข่ายสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในสังคมด้วยกัน ในบางประเทศการบริจาคยังช่วยลดหย่อนภาษีได้ ยิ่งกว่านั้นยังมีความคล่องตัวเข้าถึงกลุ่มคนที่ต้องการความช่วยเหลือได้รวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่สวัสดิการจากรัฐเข้าถึงอย่างล่าช้าจากระบบราชการ นอกจากนี้ยังให้เสรีภาพในการเลือก ผู้บริจาคสามารถเลือกบริจาคองค์กรที่ทำกิจการที่ตนเองสนใจ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมทางสังคม หรือการเมือง ที่รัฐบาลละเลยไม่มีโครงการรัฐสวัสดิการ เช่น สามารถบริจาคช่วยเหลือผู้ลี้ภัยที่รัฐไม่มีสวัสดิการใดๆ ให้ 

การกุศลที่ระดมทุนมาจากคนไม่กี่คน จำนวนเงินที่รวบรวมไม่อาจเทียบได้กับงบประมาณของรัฐ ย่อมเป็นการยากที่จะเปลี่ยนแปลงสังคม แต่ก็สามารถช่วยแสดงความรักความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน ช่วยเหลือคนที่ลำบากได้ทันท่วงที เสมือนการเห็นคนจะจมน้ำต่อหน้า การรอเจ้าหน้าที่รัฐมาช่วยก็อาจจะไม่ทันการ จะเป็นการดีกว่าไหมที่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสังคมหรือสร้างรัฐสวัสดิการจะอยู่บนฐานของสังคมที่สมาชิกมีความเห็นอกเห็นใจกัน รัฐสวัสดิการและการกุศลไม่จำเป็นที่จะต้องแบ่งแยกเป็นขาวดำ แต่สามารถอยู่ด้วยกันได้ประคับประคองสนับสนุนกัน ปรับตัวให้เข้ากับระบบเศรษฐกิจสังคมในปัจจุบัน คุณอยากจะมีรัฐสวัสดิการที่ถึงแม้บังคับเก็บภาษีได้ก็จริง แต่จริงๆ แล้วคนในสังคมไม่มีความเห็นอกเห็นใจกัน ไม่อยากจ่ายภาษีเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน พร้อมจะหาช่องทางหลบเลี่ยงภาษี หรืออยากจะมีรัฐสวัสดิการที่คนเห็นอกเห็นใจกัน และพร้อมที่จะจ่ายภาษีให้รัฐอย่างเต็มที่ โดยมีการกุศลเป็นตัวช่วยสนับสนุน

บทบาทหน้าที่รัฐในการสนับสนุนการกุศลของภาคเอกชน คือ การเป็นผู้กำกับ (regulator) เพื่อป้องกันการหลอกลวงเงินบริจาค (charity scam) เพราะคนเห็นแก่ตัวและหากินจากความสงสารของผู้อื่นมีอยู่ทุกที่ทุกยุคสมัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันที่การระดมทุนแพร่ขยายอย่างง่ายดายและสะสมเงินบริจาคได้กองทุนมหาศาล การหลอกลวงเงินระดมทุนและไม่ได้นำไปใช้เพื่อสาธารณประโยชน์จึงพบได้บ่อยครั้ง และมีมูลค่าความเสียหายสูงขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงการจำกัดขนาดของกองทุนบริจาคไม่ให้มีขนาดใหญ่เทอะทะเกินไป สัดส่วนของการบริจาค/GDP ควรลดลงเรื่อยๆ เพื่อลดแรงจูงใจไม่ให้แสวงหาประโยชน์หรือกำไรจากกองทุนบริจาค อีกทั้งถ้ากองทุนบริจาคใหญ่มากเกินไปแล้ว ก็ทำให้ความคล่องตัวในการบริหารที่เป็นข้อดีของการกุศลลดลงตามมา 

รัฐสามารถออกกฎหมายบังคับให้องค์กรการกุศลทุกชนิด องค์กรไม่แสวงกำไรทุกแห่ง องค์กรทางศาสนา องค์กรหรือกิจกรรมที่มีการระดมทุนต้องทำบัญชีการเงิน แจ้งรายรับรายจ่ายอย่างโปร่งใส เพื่อให้ทราบว่าเงินบริจาคทั้งหมดถูกใช้เพื่อสังคมจริงๆ โดยที่รัฐไม่เลือกปฏิบัติสนับสนุนองค์กรไหน ความเชื่อศาสนาใด หรือกิจกรรมไหนเป็นพิเศษ รวมถึงไม่นำกำลังราชการของรัฐหรือภาษีของรัฐเข้าไปสนับสนุนองค์กรหรือกิจกรรมใดๆ เป็นพิเศษ มิเช่นนั้นแล้วมันอาจสร้างความสับสนแก่ประชาชนว่าตกลงเป็นกิจกรรมการกุศลของเอกชนหรือของรัฐกันแน่