Skip to main content

ทุกๆ ศาสนาที่สำคัญของอารยธรรมโลก ทั้งศาสนาพุทธ คริสต์ ฮินดู ยิว อิสลาม ขงจื้อ ต่างสอนเรื่องความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น เปรียบดังเป็นความดีสากลพื้นฐานของมนุษย์ที่ทุกอารยธรรมต้องมี ซึ่งช่วยพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างตนเองกับคนรอบข้าง ชุมชน และสังคม ความเห็นอกเห็นใจเป็นคุณธรรมพื้นฐานที่ขาดไม่ได้ในทุกสังคมของมนุษย์ แล้วพัฒนาเป็นลำดับขั้นจากความรู้สึกสงสาร เป็นความเข้าใจผู้อื่น ก่อเกิดจนเป็นพฤติกรรมความช่วยเหลือผู้อื่นตามมา เสียสละทั้งในรูปเงินทองทรัพย์สิน หรือแรงกาย กิจกรรมเพื่อช่วยเหลือคนที่มีความยากลำบาก

อย่างไรก็ตาม ความเห็นอกเห็นใจเพียงอย่างเดียวก็สร้างแรงผลักดันได้ไม่มากพอที่จะเคลื่อนเปลี่ยนผ่านเป็นรัฐสวัสดิการได้ เพราะเมื่อสังคมพัฒนาซับซ้อนมากขึ้น จำนวนคนมากขึ้น มันเป็นการยากที่เราจะรู้สึกเห็นอกเห็นใจกับคนทั้งประเทศได้โดยไม่รู้จักกันไม่ใช่เครือญาติกัน ข้อมูลที่น่าประหลาดใจจาก World Giving Index เผยแพร่ว่า ประเทศที่ผู้คนมีความเห็นอกเห็นใจสูงและมีการทำบุญสูงกลับเป็นประเทศรายได้น้อยอย่าง อินโดนีเซีย เคนยา และพม่า ซึ่งประเทศดังกล่าวงบประมาณของรัฐและบทบาทหน้าที่ของรัฐในด้านกระจายสวัสดิการสังคมกลับมีอย่างจำกัด หรือรัฐที่เคร่งศาสนาก็ไม่สามารถพัฒนาเป็นรัฐสวัสดิการแบบยุโรปได้

คุณธรรมคำสอนของศาสนาอย่างความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นที่ไม่ได้ปรับให้เข้ากับรัฐสมัยใหม่ก็มีผลร้ายต่อเสรีภาพส่วนบุคคลและสวัสดิการสังคมโดยรวมเช่นกัน เช่น การบูชายัญในสังคมบรรพกาลที่ผู้ถูกเลือกต้องสังเวยชีวิตตนเองเพื่อสวดอ้อนวอนอำนาจเหนือธรรมชาติช่วยปัดเป่าให้พ้นภัยพิบัติให้คนทั้งหมู่บ้าน หรือการฆ่าตัวตายเสียสละชีวิตเพื่อผู้อื่นที่ผู้ก่อการได้รับแรงกระตุ้นผลักดันจากความเชื่อศาสนา ความเชื่อลัทธิ ก็ไม่ได้รับประกันว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสังคมที่เหลื่อมล้ำได้สำเร็จ หรือนำไปสู่รัฐสวัสดิการแบบยุโรปได้

ถึงตรงนี้ผมขอย้ำกับผู้อ่านอีกครั้งว่า ความเห็นอกเห็นใจเป็นรากฐานความสำคัญของมนุษย์ ทุกสังคมจำเป็นต้องช่วยกันสร้างขึ้นมา แต่ถ้าเราอยากเปลี่ยนผ่านประเทศไทยเป็นรัฐสวัสดิการแล้ว “ความรู้” เป็นสิ่งจำเป็นสำคัญยิ่งยวดที่ขาดไม่ได้เช่นกัน

 

1. ความรู้ทางปรัชญา

รัฐสวัสดิการเป็นรัฐที่ต้องการความรู้ ถึงแม้ประเทศรายได้สูงในยุโรปต่างเปลี่ยนผ่านรัฐสวัสดิการแล้ว ต่างก็มีหน่วยวิจัย พัฒนาความรู้อย่างต่อเนื่อง ความรู้แขนงแรกที่รัฐสวัสดิการต้องการคือ “ความรู้ทางปรัชญา” ที่เกี่ยวข้องกับ “จริยธรรมรัฐสวัสดิการ”

รัฐสวัสดิการไม่ได้หล่นลงมาจากฟ้า มิใช่ว่าพระเจ้าส่งเสียงลงมาให้ศาสดาพยากรณ์นำไปเผยแพร่แก่ประชาชนคล้อยตามอย่างไม่ต้องสงสัย รัฐสวัสดิการเป็นรัฐสมัยใหม่ที่ต้องการแยกศาสนาออกจากรัฐ และมนุษย์เท่านั้นที่ร่วมช่วยกันสร้างมันขึ้นมา จึงไม่น่าแปลกใจที่การเคลื่อนไหวรัฐสวัสดิการจึงต้องการพื้นที่ในการอภิปรายถกเถียงอย่างกว้างขวาง ต้องการรับฟังความเห็นที่แตกต่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเห็นของคนที่ต่อต้านไม่เห็นด้วย เพราะการอภิปรายจะช่วยตรวจทานความคิดความรู้ของเราอีกทีว่า สิ่งที่เราเชื่อเราเสนอมีข้อผิดพลาดใดบ้าง คนอื่นๆ ในสังคมมีข้อจำกัดอะไรบ้าง เห็นใจผู้อื่นและเข้าใจสภาพแวดล้อมของเขา เพื่อพยายามหาจุดร่วมประนีประนอมความคิดของเราและความเห็นที่แตกต่าง

คำถามที่สำคัญเมื่อเราอยากเปลี่ยนผ่านรัฐสวัสดิการ คือ “ทำไมรัฐต้องทำหน้าที่ในการกระจายสวัสดิการให้ประชาชน?” เพื่อจะอธิบายคำถามนี้ นักปรัชญาและนักวิชาการตั้งแต่ช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ต่างคิดต่อยอดสะสมสร้างเป็นทฤษฎีต่างๆ ส่งต่อมายังจวบจนปัจจุบัน และมีสำนักคิดที่หลากหลายกันไป

1.1 กลุ่มแนวความคิดเศรษฐศาสตร์การเมือง

ผมขอยกกลุ่มแนวความคิดเศรษฐศาสตร์การเมืองที่พยายามมุ่งอธิบายความจำเป็นแห่งรัฐ ว่าทำไมรัฐต้องดำรงอยู่ต่อไป และรัฐสร้างความชอบธรรมกับอำนาจการแทรกแซงสังคมอย่างไร

รัฐคือสถาบันที่ปกครองประชาชน และต้องมีอำนาจ/ความชอบธรรมในการปกครอง รัฐใช้เครื่องมือสวัสดิการในการเฝ้าระวัง ตรวจตรา บังคับ ปกครองประชาชน โดยประชาชนสูญเสียเสรีภาพ กรรมสิทธิบางส่วนเพื่อรับสวัสดิการ ความมั่นคงในชีวิตตอบแทนกลับมา เนื่องจากระบบทุนนิยมได้เปลี่ยนแปลงวิถีการผลิตขึ้นมาใหม่ การแบ่งงานกันทำทำให้แรงงานต้องเชื่อมโยงต่อกันมากขึ้น แรงงานผลิตชิ้นส่วนที่ไม่มีมูลค่าใดๆ แต่เมื่อชิ้นส่วนต่างๆ มาประกอบร่วมกันก็จะเกิดสินค้าใหม่ที่มีมูลค่าเพิ่มมหาศาล อีกทั้งระบบทุนนิยมต้องใช้การระดมทุนจำนวนมากเพื่อขยายการผลิตและหมุนเวียนระบบเศรษฐกิจ ซึ่งอำนาจรัฐก็ขึ้นอยู่กับอำนาจการผลิตในระบบเศรษฐกิจ รัฐเข้ามาแทรกแซงแรงงานให้มีผลิตภาพมากขึ้น เพราะรัฐก็จะได้ประโยชน์เองด้วย เมื่อแรงงานมีผลิตภาพสูงขึ้นก็จะช่วยให้รัฐเก็บภาษีได้มากขึ้นไว้ใช้จ่ายนโยบายสาธารณะต่างๆ

ประกันสังคมที่สร้างขึ้นมาจึงมีจุดประสงค์หลักเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับแรงงาน เพื่อแรงงานจะได้ไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลังจนผลิตภาพการผลิตตกหล่นไม่ต่อเนื่อง จะเห็นได้ว่าสิทธิประโยชน์ของประกันสังคมเริ่มแรกจึงให้กับแรงงานเป็นหลัก และเข้าไปจัดการความเสี่ยงที่แรงงานเผชิญ เช่น สิทธิประโยชน์รักษาพยาบาลอุบัติเหตุจากการทำงาน เงินชดเชยจากการหยุดงาน เงินชดเชยการตกงาน เป็นต้น โดยแรงงานก็ต้องยอมเสียกรรมสิทธิตนเองในรูปเบี้ยประกันสังคม และเนื่องจากเป็นประกันภาคบังคับ แรงงานจึงต้องเสียเสรีภาพบางส่วน ไม่สามารถเลือกประกันรูปแบบกรมธรรม์ที่ตนเองต้องการได้

สิทธิประโยชน์สามารถขยายได้มากขึ้น หรือครอบคลุมกลุ่มประชากรอื่นที่ไม่ใช่แรงงาน ขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐกิจ เช่น เมื่อระบบเศรษฐกิจเปลี่ยนผ่านจากการผลิตที่ใช้แรงงานไร้ฝีมือไปสู่ระบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ รัฐก็มีความจำเป็นที่ต้องขยายสิทธิการศึกษาไปยังระดับที่สูงขึ้น รัฐเข้ามากำหนดนโยบายการศึกษาให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ให้สิทธิประโยชน์แก่สาขาวิชาที่ช่วยเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ได้ โดยมิใช่ให้ประชาชนเลือกเรียนวิชาตามใจตนเองแต่ไม่เพิ่มผลิตภาพการผลิตของสังคมโดยรวม รัฐต้องเลือกจัดการใช้ทรัพยากรการศึกษาที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ยกระดับรายได้ประชาชาติ ถึงแม้ทางเลือกนั้นจะลิดรอนเสรีภาพประชาชนบางกลุ่มก็ตาม

ความเห็นอกเห็นใจตามแนวคิดทางศาสนาที่ไม่ปรับตามรัฐสมัยใหม่ย่อมมีข้อจำกัดในการส่งเสริมให้แรงงานเพิ่มความสามารถการผลิต และผลิตภาพระดับชาติได้ ตัวอย่างเช่น การบริจาคให้กับคนที่ยากลำบาก แน่นอนว่ามันเป็นกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมมนุษยธรรมในสังคม แต่เงินที่ผู้รับได้ไปแล้วมันก็อาจจะไม่ช่วยให้เขาหลุดพ้นความยากจนได้ ซึ่งแตกต่างจากการให้รัฐเป็นผู้จัดสวัสดิการ รัฐมีข้อมูลและวางแผนส่วนกลาง แทรกแซงระบบแรงงานได้

 

1.2 กลุ่มแนวคิดเรื่องสิทธิ

ข้อถกเถียงหลักของแนวคิดกลุ่มนี้คือ การเข้าถึงสวัสดิการเป็นสิทธิตามธรรมชาติ หรือเป็นสิทธิทางเศรษฐกิจสังคม รัฐสวัสดิการเป็นรัฐที่เปลี่ยนผ่านจากรัฐศักดินา รัฐสวัสดิการมีหน้าที่ในการคุ้มครองกรรมสิทธิส่วนบุคคล เสรีภาพ ความปลอดภัยของปัจเจกชน ซึ่งเป็นสิทธิตามธรรมชาติที่ติดตัวมาตั้งแต่กำเนิด รัฐไม่จำเป็นต้องมีการแทรกแซงใดๆ เพื่อเกิดสิทธินั้นๆ ขึ้นมา

อย่างไรก็ตาม ในโลกความเป็นจริงนั้น ธรรมชาติก็ไม่สามารถช่วยให้เกิดสิทธิตามธรรมชาติได้โดยอัตโนมัติ กลับต้องการแทรกแซงจากรัฐเพื่อให้ได้มาต่างหาก ตัวอย่างเช่น เสรีภาพ มนุษย์ควรมีเสรีภาพในการเลือกเส้นทาง จุดมุ่งหมายในชีวิตของตนเอง เดินทางได้เอง ตัดสินใจได้เอง แต่ทว่าข้อจำกัดการเข้าถึงวัตถุนิยมตามกลไกตลาดกลับเป็นตัวบั่นทอนเสรีภาพของมนุษย์ มนุษย์จะมีเสรีภาพไปโรงเรียนได้อย่างไร ถ้าเขามีอาการเจ็บป่วย และไม่ได้รับการรักษาพยาบาล คนพิการจะมีเสรีภาพในการเดินทางได้อย่างไร ถ้าไม่มีโครงสร้างพื้นฐานถนนหนทางที่ออกแบบโดยคำนึงถึงข้อจำกัดทางร่างกาย ดังนั้นสิทธิเศรษฐกิจสังคมจึงพัฒนาขึ้นมา และเปิดช่องทางให้รัฐเข้ามาแทรกแซงจัดการสวัสดิการให้ประชาชน ประกันสิทธิขั้นพื้นฐานให้ประชาชน

แต่ทว่ารัฐเป็นองคาพยพที่ไม่สร้างการผลิต การที่รัฐจะจัดสรรสวัสดิการให้ประชาชนได้นั้นก็ต้องอาศัยการเก็บภาษีจากประชาชน รัฐที่มีหน้าที่รักษากรรมสิทธิ์เอกชนกลับละเมิดหน้าที่ตัวเอง ลิดรอนกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลในรูปแบบเก็บภาษี เพื่อมาทำอีกหน้าที่หนึ่งคือ ประกันสิทธิสวัสดิการขั้นพื้นฐานประชาชน ความขัดแย้งของหน้าที่รัฐดังกล่าวจึงต้องหาเหตุผลสร้างความชอบธรรมให้รัฐ ซึ่งก็คือ “สัญญาประชาคม” รัฐละเมิดกรรมสิทธิ์เอกชนได้ เพราะประชาชนมอบอำนาจบางส่วนให้รัฐในรูปของกฎหมาย รัฐเก็บภาษีได้เฉพาะอำนาจตามที่กฎหมายกำหนด และต้องมีการแจ้งแก่ประชาชนด้วยว่า ภาษีที่เก็บได้จะถูกนำมาใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะ

ความเห็นอกเห็นใจตามความเชื่อของศาสนามีข้อจำกัดเรื่องความไม่แน่นอน เพราะผู้ให้มีแต่เฉพาะข้อผูกมัดทางศีลธรรมเท่านั้น ไม่ใช่ข้อบังคับทางกฎหมาย นอกจากนี้ผู้ให้ยังมีข้อจำกัดในการหาข้อมูลข่าวสารที่สมบูรณ์เพื่อประเมินว่าผู้รับเป็นผู้ที่มีความยากลำบากต้องได้รับการช่วยเหลือจริงๆ ซึ่งต่างจากรัฐเป็นผู้ประกันสิทธิขั้นพื้นฐาน ผู้รับมีความแน่นอนในการเรียกร้องสิทธิที่ปรากฏในสัญญาประชาคม

 

1.3 กลุ่มแนวคิดความยุติธรรมสังคม

ความเหลื่อมล้ำสังคมส่งผลกระทบต่อความเชื่อใจกันในสังคม กระตุ้นให้เกิดความเกลียดชังความแตกแยกในสังคมได้ ระบบทุนนิยมกลไกตลาดมีข้อดีในการยกระดับคุณภาพโดยเฉลี่ยของคนทั้งโลกให้สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ก็มีข้อเสียที่ส่วนเกินการผลิตที่เกิดขึ้นไม่ได้ถูกแบ่งให้ทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน กลไกตลาดได้ขยายความเหลื่อมล้ำระหว่างประชาชนมากขึ้นๆ

เมื่อกลไกตลาดไม่สามารถทำงานได้ดีแล้ว เราจำเป็นต้องอาศัยรัฐเข้ามากระจายสวัสดิการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำสังคมลง แนวความคิดดังกล่าวนักเศรษฐศาสตร์หลายท่านมีส่วนสำคัญในการพัฒนากรอบแนวคิด เช่น จอห์น สจ๊วต มิลล์ หรือ อาเธอร์ พิกู เป็นต้น รัฐต้องเข้ามาแทรกแซงเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันมากขึ้น เพราะมันส่งผลดีทั้งต่อปัจเจกชนและสังคมโดยรวม

ถึงแม้ทุกคนมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่าต้องใช้อำนาจรัฐเพื่อกระจายสวัสดิการอย่างยุติธรรม แต่ก็มีความคิดแตกต่างกันในหลายประเด็น เช่น รัฐควรจะมีขอบเขตหน้าที่ถึงระดับไหน? สวัสดิการใดบ้างที่รัฐต้องรับผิดชอบเข้ามากระจาย? ปัจเจกชนควรมีขอบเขตในการรับผิดชอบตนเองถึงระดับไหน? เป็นต้น

ประเด็นการถกเถียงความรู้เชิงปรัชญาที่เกริ่นในบทความนี้เป็นส่วนหนึ่งในความรู้อันหลากหลาย ซึ่งความรู้ทางปรัชญาหรือกระบวนการคิดถกเถียงด้านปรัชญาเป็นสิ่งที่ประชาชนทั่วไปทำได้และสังคมควรเปิดโอกาสให้ทุกๆ คนเข้ามาร่วมถกเถียงด้วย คำถามที่ว่า “ทำไมรัฐต้องให้สวัสดิการสังคม” เป็นคำถามพื้นฐานที่ทุกคนร่วมให้เหตุผลได้โดยไม่ขึ้นอยู่กับพื้นเพระดับการศึกษา สิ่งที่จำเป็นคือการประสานกันระหว่างความเห็นอกเห็นใจและกระบวนการความคิดความรู้เข้าด้วยกัน

นอกจากแขนงความรู้ทางปรัชญาแล้ว รัฐสวัสดิการต้องการความรู้แขนงอื่น ได้แก่ ความรู้วิทยาศาสตร์ และความรู้ทางเทคนิค ซึ่งผมจะอธิบายให้ท่านผู้อ่านอีกครั้งในบทความต่อไปครับ