Skip to main content

ภาคภูมิ แสงกนกกุล

 


ครบรอบปีรายงาน World Happiness Report อีกครั้ง แล้วก็อีกเช่นเคย ประเทศกลุ่มสแกนดิเนเวียครองตำแหน่งหัวตาราง ฟินแลนด์ที่หนึ่ง เดนมาร์คที่สอง ไอซ์แลนด์ที่สาม สวีเดนที่สี่ นอร์เวย์ที่เจ็ด รายงานดังกล่าวกระตุ้นให้กระบวนการสังคมในไทยเรียกร้องการสร้างรัฐสวัสดิการตามแบบสแกนดิเนเวียเสมือนเป็นทางออกสุดท้ายของสังคม

อย่างไรก็ตาม “รัฐสวัสดิการสามารถสร้างความสุขได้จริงๆ หรือ” เมื่อปัญหาภาวะซึมเศร้า การหย่าร้าง การฆ่าตัวตายของกลุ่มสแกนดิเนเวียก็สูงกว่าประเทศรายได้สูงอื่นๆ บทความนี้จึงขอเชิญชวนผู้อ่านร่วมทบทวนประเด็นนี้ด้วยกัน


เศรษฐศาสตร์และความสุขจากวัตถุ

 

หลายท่านที่เคยเรียนเศรษฐศาสตร์เบื้องต้นน่าจะคุ้นชินว่า เศรษฐศาสตร์เป็นวิชาว่าด้วยการจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของมนุษย์ที่ไม่จำกัด แต่ความจริงแล้วเศรษฐศาสตร์มีนิยามอื่นๆ ที่หลากหลายกว่านั้น

Alfred Marshall (1842-1924) บิดาแห่งเศรษฐศาสตร์นีโอคลาสสิคมองว่า เศรษฐศาสตร์ไม่ควรเป็นศาสตร์แห่งความหดหู่ แต่ควรเป็นวิชาที่ว่าด้วยทำอย่างไรให้มนุษย์มีคุณภาพชีวิต สวัสดิการ รวมถึงความสุขที่พัฒนามากขึ้น เศรษฐศาสตร์จึงเป็นวิชาทางสังคมศาสตร์ที่มุ่งศึกษาปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ การกระทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจระหว่างมนุษย์ด้วยกันในสังคม เพื่อนำมาซึ่งการครอบครองและการใช้วัตถุที่จำเป็นต่อการเพิ่มสวัสดิภาพของมนุษย์

จากนิยามข้างต้น มีข้อสังเกตได้แก่ ประการแรก ปฏิสัมพันธ์ที่สนใจศึกษาจะตีกรอบที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจ การบริโภค การซื้อขายแลกเปลี่ยน การผลิตเท่านั้น โดยการใช้กลไกตลาดเป็นกลไกที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ประการสอง คุณภาพชีวิต สวัสดิการ ความสุข ก็คืออรรถประโยชน์ซึ่งมีสมมติฐานว่าสามารถวัดได้ เปรียบเทียบได้ อรรถประโยชน์คนหนึ่งนำมารวมกับอรรถประโยชน์คนอื่นได้ และอรรถประโยชน์เกิดขึ้นจากการบริโภคหรือครอบครองวัตถุ

คุณูปการของมาร์แชลส่งผลให้วิชาเศรษฐศาสตร์กลายเป็นศาสตร์ที่ผลิตทฤษฎีออกมาเป็นจำนวนมาก และต่อยอดศึกษาในหลายประเด็น หนึ่งในนั้นได้แก่ A.C. Pigou (1877-1959) ศิษย์เอกของมาร์แชล ต่อยอดความคิดและสร้างวิชาเศรษฐศาสตร์สวัสดิการขึ้นมา พิกูก็เชื่อว่ากลไกตลาดเป็นกลไกที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการจัดสรรทรัพยากร แต่ว่ากลไกตลาดก็ล้มเหลวได้เช่นกัน รัฐจึงควรเข้ามามีบทบาทด้านการจัดสรรทรัพยากรด้วยเพื่อแก้ไขกลไกตลาดล้มเหลว และช่วยเพิ่มให้เกิดอรรถประโยชน์สูงสุดทั้งต่อตนเองและผู้อื่น

แนวความคิดของพิกูมีข้อเสนอ ได้แก่ ประการแรก พฤติกรรมทางเศรษฐกิจไม่ใช่ส่งต่อผู้กระทำเท่านั้น แต่สามารถส่งผลกระทบภายนอกต่อผู้อื่น เช่น การผลิตสินค้าและปล่อยน้ำเสียลงธรรมชาติ การบริโภคที่สร้างขยะเกลื่อนกลาดเป็นต้น ดังนั้น อรรถประโยชน์ที่วัดได้ควรจะมีทั้งมุมมองของปัจเจก และอรรถประโยชน์ของสังคม

ประการสอง มนุษย์ไม่ควรมีจุดประสงค์เพื่อแสวงหาอรรถประโยชน์สูงสุดเท่านั้น แต่ต้องช่วยกันให้สังคมมีอรรถประโยชน์สูงสุดด้วย ประการสาม ในบางกรณีผลประโยชน์ของปัจเจกจะขัดกับผลประโยชน์ของคนอื่นและสังคม ดังนั้น จึงต้องอาศัยอำนาจจากสัญญาประชาคมเพื่อเข้ามาตัดสินการจัดสรรทรัพยากรร่วมกัน ซึ่งการวิเคราะห์ดังกล่าวเหมาะสมกับระดับนโยบายใดนโยบายหนึ่ง หรือการกระจายสินค้าบริการใดบริการหนึ่ง  

 

 ภาพจาก pixel.com โดย Oleksandr P


การวิเคราะห์เปรียบเทียบระบอบรัฐสวัสดิการ  

 

The Three World of Welfare Capitalism ของ G. Esping-Andersen (1947-) ส่งผลให้การวิเคราะห์เปรียบเทียบระบอบรัฐสวัสดิการ (Comparative welfare state analysis) เป็นที่นิยม เขาศึกษาแต่ละประเทศแล้วนำมาจัดกลุ่มเป็นระบอบสวัสดิการ (welfare regime) ตามลักษณะคล้ายคลึงกัน โดยใช้สถิติมหภาคเป็นตัวชี้วัด

แนวการวิเคราะห์ของเขาทำให้การศึกษารัฐสวัสดิการมีการศึกษาเชิงประจักษ์และใช้เทคนิคการวิเคราะห์เชิงปริมาณมากขึ้น รวมถึงศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรต้นและตัวแปรตาม (dependent variable analysis) เพื่อศึกษาหาตัวแปรใดเป็นสาเหตุของการเกิดรัฐสวัสดิการ เช่น สัดส่วนการใช้จ่ายภาครัฐด้านสวัสดิการสังคมที่สูงส่งผลต่อรูปแบบรัฐสวัสดิการสังคมประชาธิปไตยหรือไม่? รวมถึงรัฐสวัสดิการรูปแบบที่แตกต่างกันจะส่งผลที่ตามมาทางด้านเศรษฐกิจสังคมการเมืองอย่างไร? เช่น รัฐสวัสดิการสังคมนิยมประชาธิปไตยส่งผลให้การเจริญเติบโตเศรษฐกิจเป็นอย่างไร? ส่งผลต่อความสุขประชาชนอย่างไร?    


ข้อจำกัดของการวิเคราะห์ความสุขและรัฐสวัสดิการ

 

ความสัมพันธ์ระหว่าง “รัฐสวัสดิการและความสุข” เป็นหัวข้อที่มีการทำวิจัยเชิงประจักษ์และเชิงปริมาณจำนวนมาก อย่างไรก็ตามผลที่ตามมากลับไม่เสถียร มีทั้งผลที่บ่งชี้ว่ารัฐสวัสดิการสังคมนิยมประชาธิปไตยส่งผลให้เกิดความสุข และผลที่ไม่พบความสัมพันธ์กันระหว่างสองตัวแปร ทั้งนี้ข้อจำกัดเป็นไปได้ทั้งเรื่องรัฐสวัสดิการและข้อจำกัดจากการศึกษาความสุข

ข้อจำกัดจากการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่าง 'รัฐสวัสดิการและความสุข' นั้น ยังขาดแคลนทั้งกรอบแนวคิด และทฤษฎีที่มากเพียงพอจะอธิบายได้ 

เนื่องจาก ประการแรก กรอบแนวคิดรัฐสวัสดิการมีทั้งกรอบแนวคิดแบบแคบและแบบกว้าง สมมติว่าเมื่ออยากศึกษาเรื่องความสุขและรัฐสวัสดิการแล้ว เราควรจะรวมนโยบายสวัสดิการสังคมใดบ้างเข้ามาศึกษา เช่น นโยบายสุขภาพ นโยบายเงินช่วยเหลือจากรัฐ นโยบายแรงงาน เป็นต้น

ประการสอง เมื่อขยายนิยามรัฐสวัสดิการมากขึ้นย่อมหมายถึงต้องการข้อมูลสถิติและตัวชี้วัดมากขึ้นตามมา ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบระหว่างประเทศแล้ว มักจะพบข้อมูลบางชุดที่ขาดหายไป เปรียบเทียบกันยาก นอกจากนี้เมื่อศึกษาระดับมหภาคมากขึ้น ย่อมมีข้อด้อยในการศึกษาระดับปัจเจกบุคคลย่อมลดลตามมา เช่น ถ้าศึกษาความสุขระดับมวลรวมประชาชาติ มันก็ยากที่จะศึกษาความสุขของกลุ่มประชากรย่อย หรือคนใดคนหนึ่ง

ประการสาม รัฐสวัสดิการมีพลวัตรสูงมาก ถึงแม้ในภาพใหญ่จะไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงมากนัก แต่เมื่อใช้แว่นขยายส่องดูระดับจุลภาค เราจะเห็นการเคลื่อนไหวของผู้คนในการทำธุรกรรม ดังนั้นถึงแม้ว่ามีการจัดกลุ่มรัฐสวัสดิการสังคมนิยมประชาธิปไตยไว้ด้วยกันแล้ว แต่ทว่าภายในกลุ่มก็มีความแตกต่างที่การศึกษาไม่ได้นำมาพิจารณาร่วมด้วย

ประการสี่ ยังขาดแคลนทฤษฎีเพื่ออธิบายกลไกการเชื่อมโยงระหว่าง นโยบายสวัสดิการ และความสุข เช่น นโยบายเงินโอนจากภาครัฐ กลไกที่เกิดความสุขอาจจะเป็นแบบทางตรง 

นโยบาย -> ความสุข ก็ได้ หรืออาจจะเกิดทางอ้อม นโยบาย -> สินค้าอุปโภคบริโภค -> ความสุข ก็ได้ หรืออาจจะมีความซับซ้อนมากกว่านั้น เมื่อรวมนโยบายอื่นๆ เข้าร่วมการพิจารณาด้วยกัน หรือความสัมพันธ์อาจเป็นรูปแบบ รัฐสวัสดิการ < -- > ความสุข ก็เป็นได้

 

ภาพจาก pixel.com โดย Paul Theodor Oja

 

ส่วนข้อจำกัดจากการศึกษาความสุขก็มีเช่นกัน ได้แก่ ประการแรก ความยากลำบากในการวัดความสุข ความสุขสามารถวัดได้ทั้งจากอัตตวิสัย และภววิสัย เช่น วัดจากความรู้สึกของปัจเจก หรือวัดจากวัตถุ สวัสดิการที่เข้าถึง ซึ่งการวัดแบบอัตตวิสัยจะมีความยากและคลาดเคลื่อนได้ง่ายกว่า เช่น คนที่พอเพียงรู้สึกครอบครองเงินร้อยบาทก็มีความสุขได้ แต่คนละโมบครอบครองเงินล้านก็ไม่มีความสุขเป็นต้น

ประการสอง เศรษฐศาสตร์ให้ความสำคัญกับความสุขที่เกิดจากวัตถุเป็นหลัก แต่ในโลกความเป็นจริง ความสุขของมนุษย์เกิดจากมิติที่ไม่ใช่วัตถุเช่นกัน มีมิติทางด้านวัฒนธรรม ความเชื่อ เป็นต้น เช่น คนในประเทศภูฏานมีความสุขมวลรวมโดยที่รายได้ประชาชาติยังอยู่ในระดับยากจน เป็นต้น

ประการสาม ความสุขเกิดจากการเปรียบเทียบ เช่น การเปรียบเทียบการครอบครองวัตถุของตนกับเพื่อนบ้าน กับค่าเฉลี่ยของประเทศ ความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในสังคม ประเทศที่เหลื่อมล้ำน้อยอาจมีความสุขมากกว่า ทั้งๆ ที่ความเจริญหรือการเข้าถึงสวัสดิการอาจจะไม่ดีก็เป็นได้  

ประการสี่ ประสบการณ์มีผลต่อความสุข เช่น การมีบ้าน มีรถ เครื่องอำนวยความสะดวก เมื่อ 50 ปีที่แล้วอาจจะเป็นของฟุ่มเฟือยสร้างความสุขได้ แต่ปัจจุบันกลายเป็นสิ่งของพื้นฐาน เมื่อใช้ประโยชน์บ่อยๆ ความสุขที่ได้จากของพวกนี้ก็กลายเป็นความเคยชินก็เป็นได้ 
    
จากข้อจำกัดดังกล่าวทำให้การออกแบบการศึกษาเชิงประจักษ์ต้องอาศัยข้อมูลจำนวนมาก แต่โอกาสเกิดความคลาดเคลื่อนก็มีสูงเช่นกัน และทำให้ประเด็น “รัฐสวัสดิการสร้างความสุขได้” ยังเป็นเรื่องที่ต้องมีการถกเถียงในแวดวงวิชาการปัจจุบัน ไม่สามารถฟันธงได้ร้อยเปอร์เซนต์ว่า “รัฐสวัสดิการสังคมนิยมประชาธิปไตยต้องทำให้เกิดความสุขอย่างแน่นอน” หรือ “ถ้าก็อปปี้นโยบายสวัสดิการสังคมจากกลุ่มสแกนดิเนเวียแล้วต้องเกิดรัฐสวัสดิการสแกนดิเนเวียแน่นอน”  


ว่าด้วย World Happiness Report

 

ตัวชี้วัดที่ทีมผู้วิจัยเลือกใช้ในการวัดความสุขของประเทศต่างๆ ประกอบด้วย รายได้ประชาชาติ อายุขัยเฉลี่ย การช่วยเหลือทางสังคม เสรีภาพในการตัดสินใจ ความใจดี และมุมมองการรับรู้ปัญหาคอรัปชั่น ซึ่งกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียได้คะแนนด้านความเชื่อใจต่อรัฐบาล ความเชื่อใจต่อคนในสังคม ประชาชนเชื่อมั่นในประสิทธิภาพของรัฐบาลในการทำนโยบายสวัสดิการสังคม และการมีเสรีภาพในการตัดสินใจก็สูงเช่นเดียวกัน อีกทั้งประชากรสูงวัยในสแกนดิเนเวียมีความสุขมากกว่า แต่กลุ่มเด็กและวัยรุ่นกลับมีปัญหาสุขภาพจิตมากกว่า ซึ่งเป็นประเด็นที่กระทรวงสาธารณสุขของกลุ่มสแกนดิเนเวียเฝ้าระวังและหามาตรการแก้ไข

อย่างไรก็ตาม มันก็มีคำถามตามมาว่า ลักษณะสังคมดังกล่าวมันเกิดจากรัฐสวัสดิการสแกนดิเนเวีย หรือว่าเป็นลักษณะเฉพาะตัวของสังคมสแกนดิเนเวียที่ค่อยๆ สั่งสมกันมาหลายศตวรรษกันแน่? และถ้าประเทศไทยอยากเป็นรัฐสวัสดิการสแกนดิเนเวีย อยากให้ประชาชนมีความสุขอย่างเขาแล้ว การผลักดันนโยบายสวัสดิการสังคมจะเพียงพอหรือ? ในเมื่อสังคมของไทยแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับสแกนดิเนเวีย เรายังมีความเชื่อใจในสังคมต่ำ ความเชื่อใจในรัฐบาลต่ำ ปัญหาคอรัปชั่น ปัญหารัฐบาลอำนาจนิยมบีบคั้นทางเลือกของประชาชน  


สรุป

 

การนำประเด็นความสุขเพื่อเคลื่อนไหวผลักดันรัฐสวัสดิการยังคงเปิดกว้างเสมอ แต่ด้วยข้อจำกัดของกรอบแนวคิด ทฤษฎี การเก็บข้อมูล และทางเทคนิค ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐสวัสดิการและความสุขยังต้องการเปิดเวทีถกเถียงอภิปราย การนำเรื่องความสุขเพื่อสร้างความชอบธรรมของการสร้างรัฐสวัสดิการในไทยจึงนำมาซึ่งผู้เห็นต่างและโต้แย้ง การโต้แย้งเองก็ไม่ได้หมายความว่าผู้คิดมีจิตอกุศลต้องการทำลายรัฐสวัสดิการเสมอไป ถ้ารัฐสวัสดิการเสมือนบ้านหลังหนึ่งที่ทุกคนอาศัยด้วยกัน การเปิดรับฟังความคิดเห็นแตกต่างและการเรียนรู้ข้อจำกัดซึ่งกันและกันเพื่อหาทางออกร่วมกันเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ และช่วยให้เกิดความรู้พอกพูนใหม่ได้

นอกจากนี้ รัฐจัดสรรสวัสดิการทางวัตถุได้เท่านั้น แต่ความสุขมีมิติอื่นนอกเหนือจากวัตถุ ความสุขเป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล และต้องอาศัยความพยายามส่วนบุคคลเพื่อสร้างมันขึ้นมา ถึงแม้ว่าความสัมพันธ์ดังกล่าวอาจจะไม่ราบรื่น ดีกันทะเลาะกัน เห็นต่างกัน มีสุขมีทุกข์ปะปนกัน มันก็เป็นความสัมพันธ์ที่มนุษย์มีเลือดเนื้อจริงๆ แตกต่างจากความสุขที่รัฐบังคับให้เกิดขึ้นมา

 

อ่านบทความอื่นๆ ของผู้เขียน
The Square สะท้อนภาพยุโรปเลี้ยวขวา และความเสื่อมถอยของสมานฉันท์ทางสังคม
การกุศลและรัฐสวัสดิการ
รัฐสวัสดิการเกิดขึ้นเพราะความรู้
รัฐสวัสดิการเกิดขึ้นเพราะความรู้ ตอนที่ 2
ความรักและรัฐสวัสดิการ