ภาคภูมิ แสงกนกกุล
The Square (2017) เป็นหนังต่างประเทศนอกกระแสที่รายรับสวนทางกับการได้รางวัลปาล์มทองคำปี 2017 หนังเรื่องนี้เคยเข้าในไทยภายใต้ชื่อว่า “อาร์ต ตัวแม่งงงง” แล้วจากโรงไปอย่างเงียบๆ เนื้อเรื่องจะพูดถึงการจัดงานศิลปะของชนชั้นสูง แต่แท้จริงแล้วต้องการสะท้อนสภาพสังคมของยุโรปที่เริ่มมีนโยบายไปทางอำนาจนิยมมากขึ้น ความเชื่อใจของสังคมค่อยๆ ถดถอย ไม่ว่าจะเป็นประเทศสวีเดน รัฐสวัสดิการที่คนไทยเชื่อว่าใจดีที่สุดและคนสมัครสมานกลมเกลียว รวมถึง ฝรั่งเศส เยอรมนี และเดนมาร์ก ที่เป็นผู้ร่วมทุนรังสรรค์สร้างหนังเรื่องนี้
ความสมานฉันท์ (Solidarity)
“ความสมานฉันท์” เป็นแนวคิดพื้นฐานของรัฐสวัสดิการสังคมนิยมประชาธิปไตยของยุโรป แนวความคิดเริ่มต้นจากนักปรัชญาฝรั่งเศสในสมัยปลายศตวรรษที่ 18 ถึงต้นศตวรรษที่ 19 เช่น ออกุสต์ กงต์, เอมิล เดอร์ไคม์, เลออง บูรก์ชัวร์ เป็นต้น จุดประสงค์ของแนวคิดนี้เพื่อสร้างสังคมที่มีเยื่อใยสมานฉันท์ต่อกันระหว่างเพื่อนร่วมชาติอีกครั้ง หลังจากสายสัมพันธ์ต่างขาดสะบั้นจากทุนนิยมที่ทำลายสถาบันครอบครัวและสังคมไปหมดสิ้น สังคมเกิดสงครามชนชั้นระหว่างนายทุนและแรงงาน ความห่วงหาอาทรระหว่างพ่อแม่ลูกก็หายไป เด็กๆ กลายเป็นแรงงานเด็กไม่ได้รับการอบรมดูแล ความเชื่อศาสนาที่เคยเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของผู้คนก็เริ่มหมดความขลังในศรัทธา
วิกฤติดังกล่าวทำให้ไม่สามารถสร้างสายสัมพันธ์จากฐานรากของสถาบันครอบครัว ชุมชน และสังคม รัฐจึงต้องเริ่มการสร้างสายสัมพันธ์จากบนลงล่างแทนด้วยการใช้อำนาจทางกฎหมายบังคับให้
1) การศึกษาภาคบังคับถ้วนหน้า เพื่ออบรมบ่มนิสัยคุณธรรมแบบรัฐสมัยใหม่เพื่อให้คนอยู่ร่วมกันได้ มีสำนึกชาตินิยม และร่วมทุกข์ร่วมสุขกับเพื่อนร่วมชาติด้วยกัน เนื้อหาการศึกษาที่รัฐกำหนด คือ การสร้างพลเมืองตามสังคมประชาธิปไตยที่ให้ทุกคนรู้ว่าหน้าที่และความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคมโดยรวมควรเป็นอย่างไร
2) รัฐเข้ามาแทรกแซงประชาสังคม รัฐทำหน้าที่กระจายสวัสดิการให้อย่างทั่วถึง เพราะความขัดแย้ง ความรุนแรงและอาชญากรรมที่เกิดขึ้นในสังคมนั้นมาจากความไม่เป็นธรรมของการครอบครองทรัพยากร การเข้าไม่ถึงทรัพยากรพื้นฐาน โดยเชื่อว่าเมื่อมนุษย์ปากท้องอิ่มแล้ว ความสัมพันธ์ที่ดีทั้งต่อสมาชิกครอบครัวและเพื่อนร่วมชาติจะดีขึ้นตามมา
3) รัฐเข้ามาลดบทบาททางจิตวิญญาณของสถาบันศาสนา เพราะความรักศรัทธาของมนุษย์ที่มีต่อศาสนาเป็นเรื่องไม่แน่นอน คาดการณ์ได้ยาก เป็นเรื่องอารมณ์เหนือเหตุผล ความศรัทธาจนมืดบอดได้สร้างสงครามและความขัดแย้งในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ มนุษย์พร้อมจะโอบกอดคนศาสนาเดียวกันและเข่นฆ่าคนต่างศาสนา อีกทั้งการช่วยเหลือคนยากลำบากตามความเชื่อศาสนาเป็นสิ่งไม่เท่าเทียม ไม่ทั่วถึง และไม่แน่นอน เพราะขึ้นอยู่กับความเต็มใจและความเมตตาของผู้ให้ ผู้ให้ซึ่งมีเวลาน้อยในการตรวจสอบข้อเท็จจริงก็อาจทำให้ความช่วยเหลือเข้าไม่ถึงคนที่ลำบากจริงๆ แต่กลับเข้าไปสู่กระเป๋าของคนหากินกับความสงสาร ส่วนคนรับก็จะถูกกดสถานะให้ต่ำลง อ่อนแอและพึ่งพิงความช่วยเหลือคนอื่น
ความสมานฉันท์ไม่ได้มีเพื่อทุกคน
ความสมานฉันท์ช่วยสร้างความรู้สึกยึดโยงกันระหว่างสมาชิกเพื่อนร่วมชาติ อย่างไรก็ตาม สายใยดังกล่าวกับไม่ได้แผ่ขยายไปถึงคนอพยพและแรงงานต่างด้าวที่เข้มาในสหภาพยุโรปมากขึ้นจากผลกระทบของโลกาภิวัตน์ สหภาพยุโรปขาดแคลนแรงงานที่คนยุโรปไม่อยากทำแล้ว อาทิ งานใช้แรงงาน งานเก็บเบอรี่ งานก่อสร้าง งานบ้าน เป็นต้น อีกทั้งการไหลทะลักของชาวมุสลิมจากปัญหาสงครามซีเรีย ด้วยความแตกต่างทางวัฒนธรรม ความเชื่อ ภาพลักษณ์ และภาพจำของคนยุโรปต่อคนมุสลิมผูกติดกับการก่อการร้าย ทำให้พวกเขาปรับตัวเข้ากับสังคมใหม่ไม่ได้ คนยุโรปก็ไม่มีความไว้เนื้อเชื่อใจต่อพวกเขา ปัญหาดังกล่าวสร้างความวิตกจนถึงขั้นสหภาพยุโรปประชุมเพื่อหามาตรการรับมือร่วมกัน
รูเบน ออสต์ลันด์ ผู้กำกับหนังชาวสวีเดน เริ่มต้นเรื่องด้วยการตั้งคำถามถึงความสมานฉันท์ในสังคมสวีเดน พระเอกชื่อ คริสเตียน เป็นคิวเรเตอร์งานศิลปะ เป็นชนชั้นกลางสวีเดน ที่กำลังจัดงานนิทรรศชื่อ The Square เพื่อระดมทุนจากคนร่ำรวย คอนเซปต์งานเป็นพื้นที่จตุรัสจารึกข้อความว่า
“จตุรัสแห่งนี้เป็นพื้นที่อันศักดิ์สิทธิ์แห่งความไว้วางใจ และความห่วงใย ภายในพื้นที่นี้เราทุกคนต่างแบ่งปันสิทธิและหน้าที่อย่างเท่าเทียม”
ผิดแผกแตกต่างจากเรื่องจริงในสตอล์กโฮมที่เต็มไปด้วยคนเร่ร่อน ขอทานข้างถนน ซึ่งล้วนเป็นคนต่างด้าวอพยพ อย่างไรก็ตาม คนพวกนี้กลับไม่อยู่ในสายตาของชาวสวีเดน พวกเขาเดินผ่านไปโดยไม่คิดให้ทานช่วยเหลืออะไร ตรงกันข้ามเมื่อหญิงผมบลอนด์ผิวขาวชาวสวีเดนวิ่งเข้าหาตัวเอกขอความช่วยเหลือเพราะถูกผู้ชายไล่ทำร้าย ปรากฎว่าพระเอกก็ช่วยทันที แต่ความใจดีของเขากลับได้รับภัยพิบัติตามมา เนื่องจากหญิงคนนั้นและทีมงานเป็นแก๊งวิ่งราวแอบฉกกระเป๋าเงินและโทรศัพท์มือถือไป
ความเชื่อใจในสังคมสวีเดนเคยสูงมากชนิดกล่าวได้ว่า เมื่อคุณลืมกระเป๋าเงินและมือถือไว้ในที่สาธารณะ มันจะคงอยู่ที่เดิม ไม่มีใครขโมยไป แต่ในโลกของหนังปรากฏว่าความเชื่อใจของคริสเตียนหายวับไปทันที เมื่อเขาใช้แอพพลิเคชั่นตามรอยโทรศัพท์ไปแล้วพบว่ามันอยู่ในอพาร์ทเมนต์ย่านคนจนและคนอพยพ มิเชลลูกน้องเขาเสนอความคิดว่าคริสเตียนต้องแอบส่งจดหมายใส่ในตู้จดหมายทุกห้องเพื่อขู่ให้มีการนำกระเป๋าและโทรศัพท์มาคืน
หลังจากนั้นไม่กี่วันคริสเตียนก็อารามดีใจจากการได้กระเป๋าเงินและโทรศัพท์คืน แต่มาตรการเหวี่ยงแหที่เขาใช้ก็ส่งผลกระทบต่อคนอื่นที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ด้วย ปรากฏว่าเด็กชาวมุสลิมในแฟลตถูกพ่อแม่เข้าใจผิดว่าเป็นหัวขโมยและถูกทำโทษ เด็กคนนั้นจึงเดินทางมาหาคริสเตียนเพื่อเรียกร้องให้คริสเตียนไปเป็นพยานต่อพ่อแม่เด็กว่าตัวเด็กไม่ได้เป็นขโมย ซึ่งแน่นอนว่าคริสเตียนไม่คิดที่จะเสียเวลากับเรื่องนี้ที่ไม่ช่วยให้ชีวิตการงานเขาเจริญก้าวหน้า ซ้ำร้ายด้วยความไม่ตั้งใจคริสเตียนผลักเด็กตกลงบันไดได้รับบาดเจ็บ คริสเตียนไม่ได้เข้าไปช่วยพาเด็กส่งโรงพยาบาลตามความรู้สึกผิดชอบพื้นฐานของมนุษย์ แต่เลือกที่จะตรวจสอบว่ามีใคร หรือกล้องวงจรปิดที่บันทึกหลักฐานความผิดไว้หรือเปล่า
ด้วยความรู้สึกผิดในก้นบึ้งหัวใจคริสเตียนก็ทำคลิปวิดีโอขอโทษเด็กมุสลิมเผยแพร่ในโซเชียลมีเดียแทนที่จะไปขอโทษกับพ่อแม่เด็กตรงๆ แต่แรก เนื้อหาคลิปเหมือนจะขอโทษ แต่ปรากฏว่าคริสเตียนชักแม่น้ำทั้งห้า เรื่องการเมือง เศรษฐกิจ เพื่อแก้ต่างให้ตนเองพ้นผิดอยู่ดี ซึ่งมันสะท้อนภาพสังคมสวีเดนที่เหมารวมว่าคนอพยพทุกคนเป็นคนไม่ดีไม่น่าไว้วางใจ ทั้งๆ ที่พวกเขาก็เหมือนเราๆ ท่านๆ มีดีมีเลวปนๆ กันไป คนสวีเดนไม่อยากมีปฏิสัมพันธ์หรือเข้าช่วยเหลือคนอพยพจริงๆ แต่เลือกที่จะใช้โซเชียลมีเดียเพื่อสร้างความตระหนักรู้เพื่อชดเชยความรู้สึกผิด
ฟรีสปีชแบบคัดสรร
สังคมนิยมประชาธิปไตยให้ความสำคัญของฟรีสปีช คาดหวังว่าการระบาย การเรียนรู้และยอมรับความเห็นต่างจะช่วยให้สังคมสงบสุข ลดความรุนแรงที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม สังคมสวีเดนก็ไม่อนุญาตให้พูดทุกเรื่อง รัฐบาลเข้าควบคุมประเด็นล่อแหลมบางอย่างเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในสังคม บรรดาพวกฝ่ายขวาชาตินิยม พวกนีโอนาซีมักรู้สึกว่าถูกรัฐบาลเซนเซอร์ ผู้กำกับก็ตั้งคำถามถึงความสงบเงียบดังกล่าวเป็นเพียงฉาบหน้าที่ภายใต้ลึกลงไปยังมีการเคลื่อนไหวของความรุนแรง ความเกลียดชังระหว่างมวลชน ค่อยๆ สะสมยกระดับและปะทุมันออกมา
หนังฉายถึงงานสัมมนาที่หอศิลป์ พิธีกรสัมภาษณ์ศิลปินอยู่แต่ถูกขัดจังหวะเป็นระยะจากผู้มาชมที่ผรุสวาทคำหยาบคายเป็นระยะ โดยที่พวกเราในฐานะคนดูไม่เห็นหน้าคนก่อเรื่อง เพื่อพิทักษ์ฟรีสปีชแล้ว พิธีกรจึงกล่าวว่าผู้ที่ก่อกวนเป็นโรคชนิดหนึ่งจนทำให้เหตุการณ์ดังกล่าวผ่านไปด้วยดี การกระทำดังกล่าวสะท้อนรัฐสวีเดนเลือกปฏิบัติเซนเซอร์คำพูดของฝ่ายขวา ยัดเยียดความบ้า ความผิดปกติ มิใช่แค่คนอพยพที่สังคมทำเป็นมองไม่เห็น มันรวมถึงฝ่ายขวาด้วยเช่นกัน หนังตอกย้ำความลักลั่นย้อนแย้งอีกครั้ง เมื่อสังคมเสมือนจริงในโซเชียลมีเดียที่ทุกคนสามารถแสดงความเห็นได้เต็มที่ อวตารเป็นใครก็ได้ มันจึงเป็นพื้นที่แสดงความรุนแรงเกลียดชังที่ซ่อนอยู่ในสังคมสวีเดนออกมาเป็นตัวหนังสืออย่างเกรี้ยวกราด
ภาพสังคมที่สงบแต่ซุกซ่อนความรุนแรงถูกขับเน้นขึ้นอีกครั้งกับฉากงานกินเลี้ยงของกลุ่มชนชั้นนำที่ให้ทุนกับหอศิลป์ ทีมผู้จัดงานให้นักแสดงสวีเดนที่สวมบทบาทเป็นกอริลล่าเข้ามาทำลายความสงบสุขในงาน โดยความรุนแรงค่อยๆ เพิ่มระดับจากขู่ ทำร้ายร่างกายและความพยายามจะข่มขืน ในขณะเดียวกันความกลัวความเงียบของผู้คนในนั้นก็ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงกลายเป็นความรุนแรงตอบโต้ความรุนแรงเช่นกัน เศรษฐีชราคนหนึ่งทนไม่ไหวกับความรุนแรงจึงเข้าไปทำร้ายนักแสดงกอริลล่าจนเกิดอุปทานหมู่ ผู้คนในห้องส่งต่างเข้ารุมทำร้ายคนสวีเดนด้วยกัน (แต่ตอนนี้ถูกทำให้เป็นอื่นด้วยกอริลล่า) สะท้อนภาพของความไม่แน่นอนทางอารมณ์ของมวลชนสวีเดน ที่สามารถถูกกระตุ้นได้จากจิตวิทยาหมู่จนนำไปสู่การก่อม็อบและความรุนแรงตามมา
ความเสื่อมถอยของสถาบันครอบครัว
รัฐสวัสดิการกับการลดความสำคัญสถาบันครอบครัว (de-familialization) เป็นอีกประเด็นที่ผู้กำกับตั้งคำถาม รัฐสวีเดนเชื่อว่าเมื่อครอบครัวได้รับสวัสดิการคุณภาพดีแล้วจะก่อเกิดความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นตามมา ตัวหนังก็ตั้งคำถามถึงนโยบายสวัสดิการสังคมของสวีเดนที่เหมือนดูก้าวหน้า แต่กลับสร้างความอึดอัดและความเหมาะสม ปัจจุบันลูกจ้างในบริษัทสามารถนำลูกมาเลี้ยงในที่ทำงานได้ตามคติ Work Life balance แต่สภาพแวดล้อมในที่ทำงานมันเหมาะสมกับการเลี้ยงเด็กจริงๆ หรือ?
ประเทศสแกนดิเนเวียกลับกลายเป็นกลุ่มประเทศที่มีอัตราการหย่าร้างมากที่สุด อัตราการเกิดก็ลดน้อยถอยลงจนขาดแคลนแรงงาน และต้องรับแรงงานอพยพมาขูดรีด พร้อมๆ กับความไม่ไว้วางใจแรงงานอพยพ หนังได้ฉายภาพคริสเตียนเป็นพ่อเลี้ยงเดี่ยวมีลูกสาว 2 คน ไปมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับนักข่าวสาวอเมริกันที่มาสัมภาษณ์เขา เมื่อใดก็ตามที่เสร็จกิจกาม คริสเตียนก็ไม่ไว้ใจคู่นอนเขา คริสเตียนจะเป็นคนเก็บซากถุงยางอนามัยที่มีสเปิร์มเขาไปทิ้งด้วยตัวเองเสมอ เพราะระแวงว่าฝ่ายหญิงจะเอาไปผสมเทียม
ยิ่งไปกว่านั้นสายสัมพันธ์และความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างพ่อและลูกสาว 2 คนก็พังทลายลงไป เมื่อเด็กๆ ต่างรับรู้สิ่งแย่ๆ ที่พ่อได้กระทำลงไป รับรู้เรื่องพ่อทำร้ายเด็กมุสลิม และไม่ช่วยเหลือ ลูกสาวไม่เคยเข้าใจงาน The Square ที่พ่อคิวเรต เพราะพฤติกรรมที่เกิดขึ้นจริงช่างตรงกันข้ามกับจุดมุ่งหมายงานศิลปะ
ความรู้สึกถูกทำให้เป็นสินค้า
รัฐสวัสดิการเชื่อว่าการกระจายทรัพยากรและวัตถุพื้นฐานเพียงพอต่อทุกคนจะช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีขึ้น โลกวัตถุนิยมที่มนุษย์รับรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัสทั้งห้าจะเป็นตัวกำหนดความรู้สึก อารมณ์ ความคิดของมนุษย์ อย่างไรก็ตาม ระบบทุนนิยมก็ปรับเปลี่ยนไปตามเวลาและเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามากขึ้น ทุกวันนี้กลับกลายเป็นตรงกันข้าม เพราะความรู้สึก อารมณ์ สายสัมพันธ์กลับถูกแปรเปลี่ยนให้กลายเป็นสินค้า
บริษัทโฆษณามาเสนอไอเดียว่าควรทำคลิปไวรัลที่เต็มไปด้วยความรุนแรง เพื่อเป็นภาพเปรียบเทียบสุดโต่งกับงาน The Square ที่เต็มไปด้วยความสงบและความไว้เนื้อเชื่อใจ ทีมโฆษณาเลือกใช้เด็กหญิงสวีเดนตัวเล็กๆ ยากจนเดินเข้าไปในจตุรัส แล้วอยู่ดีๆ ก็มีระเบิดคร่าชีวิตเด็กน้อยไป เพื่อกระตุ้นอารมณ์ความตระหนักรู้ ดรามา ของชาวสวีเดน และสนับสนุนงาน The Square ซึ่งมันก็สำเร็จ มีผู้ติดตามคลิปไวรัลนี้จำนวนกว่า 3 แสนวิว ซึ่งมันสะท้อนในโลกความเป็นจริงว่า คนขาวจะรู้สึกร่วมกับความสูญเสียเฉพาะคนขาวด้วยกัน เช่น สงครามรัสเซีย-ยูเครนในปัจจุบัน คนสวีเดนก็พร้อมจะยื่นมือเข้าช่วยเหลือ แต่สงครามและความรุนแรงในซีเรียที่ส่งผลให้เกิดความสูญเสียพรัดพรากมากกว่า หรือสงครามในฉนวนกาซ่า สวีเดนและสหภาพยุโรปก็ท่องคาถา “ความเป็นกลาง” และไม่คิดที่จะยื่นมือเข้าช่วยเหลือ
ความเหน็ดเหนื่อยจากสายสัมพันธ์ที่ถูกบังคับสร้างจากกฎหมาย
เหตุใดตัวหนังเลือกใช้สี่เหลี่ยมจตุรัสเป็นแกนเรื่องและไม่ใช้รูปทรงเรขาคณิตอื่น เพราะว่าสี่เหลี่ยมจตุรัสเป็นรูปทรงที่ทุกๆ ด้านมีความเท่ากัน สะท้อนถึงสังคมอุดมคติของสวีเดนที่เป็นพื้นที่อันศักดิ์สิทธิ์ที่ทุกคนเท่าเทียมกัน แบ่งหน้าที่และสิทธิอย่างเท่าเทียม ในอีกความหมายหนึ่ง สี่เหลี่ยมสะท้อนถึงกฎระเบียบ (regulations) พื้นที่ในสี่เหลี่ยมคือภาพแทนของรัฐสวัสดิการสวีเดนที่มีกฎระเบียบต่างๆ เพื่อควบคุมพฤติกรรมของคน อบรมบ่มนิสัยคุณธรรมของประชาชน เพื่อให้สังคมเกิดความสงบสุข ความไว้วางใจและความสมานฉันท์ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า ถ้าระบบดีก็จะผลิตคนดีออกมาได้ราวกับออกมาในโรงงานอุตสาหกรรมแม่พิมพ์เดียวกัน
แต่มันเป็นเช่นนั้นจริงๆ หรือ? รัฐเป็นสถาบันเศรษฐกิจการเมืองที่มีอำนาจควบคุมสมองเราในชีวิตประจำวัน ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ที่อยู่ในจัตุรัสมันก็เหมือนรัฐเข้ามาบังคับให้ประชาชนทำโดยรีเฟลกซ์อัตโนมัติแบบไม่ต้องผ่านสมองส่วนหน้า แต่เมื่อใดก็ตาม เมื่อเราก้าวขาออกนอกจตุรัสเมื่อใด คนสวีเดนกลับเฉยเมยไม่มีความรู้สึกสายใยต่อกันช่วยเหลือกัน ซึ่งสะท้อนภาพของรัฐสวัสดิการสวีเดนในโลกความเป็นจริงที่ผู้คนต่างเหน็ดเหนื่อยกับการบังคับของสถาบัน ปฏิสัมพันธ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นมันมาจากบนลงล่าง จากกฎหมายบังคับให้เกิด หนังชวนให้คนดูตั้งคำถาม สายใยความสัมพันธ์ที่เกิดจากมนุษยธรรม ความเป็นมนุษย์นั้นเป็นสิ่งที่รัฐสวัสดิการสวีเดนสร้างขึ้นมาสำเร็จหรือไม่?
ผู้กำกับตอกย้ำประเด็นนี้ด้วยภาพเปรียบเทียบย้อนแย้ง ตัวเอกชื่อว่าคริสเตียนและเขาเชื่อว่าเขาเป็นคนที่มีมาตรฐานศีลธรรมดีงามตามคริสตชน แต่เหตุการณ์ที่ผ่านมาตัวหนังก็ให้ผู้ชมพิจารณาดูเองว่าเขามีคุณธรรมจริงๆ หรือ? ตรงกันข้าม คนต่างด้าว ต่างศาสนาก็สามารถมีน้ำใจ มีคุณธรรมได้เช่นกัน
ในหนังฉายให้เห็นว่า คริสเตียนพยายามขอความช่วยเหลือจากคนสวีเดนให้ช่วยตามหาลูกสาวที่พลัดหลงกันในห้างสรรพสินค้า แต่ไม่มีใครยื่นมือมาช่วยเหลือ สุดท้ายคริสเตียนจึงขอความช่วยเหลือจากขอทานต่างด้าว และเขาก็ให้ความช่วยเหลือโดยปราศจากเงื่อนไข ซึ่งสะท้อนว่าคนต่างด้าวที่ไม่เคยผ่านโรงงานผลิตคุณธรรมจากรัฐสวัสดิการสวีเดนก็สามารถเป็นคนมีคุณธรรมได้จากพื้นฐานความเป็นมนุษย์
เมื่อรัฐสวัสดิการใจดีที่สุดในโลกอย่างสวีเดนยังมีประเด็นปัญหาต่างๆให้ฉุกคิดมากมาย แล้วรัฐสวัสดิการแบบไหนจะเป็นทางออกของปัญหาปัจจุบัน? ผู้กำกับเองก็ไม่ได้เสนอทางออกใดๆ เขาต้องการเตือนสติให้คนดูตั้งคำถาม เพราะบางครั้งการตั้งคำถามที่ตรงจุดก็สำคัญไม่แพ้กับการหาทางออกเช่นกัน
อ่านบทความอื่นๆ ของผู้เขียน
การกุศลและรัฐสวัสดิการ
รัฐสวัสดิการเกิดขึ้นเพราะความรู้
รัฐสวัสดิการเกิดขึ้นเพราะความรู้ ตอนที่ 2
ความรักและรัฐสวัสดิการ