Skip to main content

วิริญจน์ หุตะสังกาศ
ภาคภูมิ แสงกนกกุล

 

 

ความยากจน เป็นเรื่อง ‘ใกล้ตัว’ คนบางกลุ่ม แต่มักจะ ‘ไกลตัว’ กลุ่มคนที่ได้อ่านหนังสือเด็ก

หากผู้อ่านได้ลองเปิดหนังสือภาพใกล้ตัว ก็จะเห็นภาพครอบครัวที่มีพ่อแม่ลูกพร้อมหน้า มีบ้านสวยงามอยู่ มีอาหารขึ้นโต๊ะยามถึงเวลาอาหาร มีข้าวของเครื่องใช้ครบครัน

ภาพเหล่านี้ คือ ภาพของชนชั้นกลางที่มีทุนทรัพย์มากพอที่จะซื้อหนังสือราคา 100-200 บาทให้ลูกอ่าน

ส่วนเด็กคนอื่น ๆ ที่ไม่ค่อยมีโอกาสได้อ่านหนังสือเหล่านี้ เขาก็ไม่มีพื้นที่บนหน้ากระดาษ หรือในนิเวศการอ่านในประเทศไทยเลย

แต่เมื่อเขาได้ปรากฏตัวอยู่บนหน้ากระดาษ เขาทำหน้าที่เป็น “หน้าต่าง” ที่เสนอภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ผู้อ่านชนชั้นกลางอาจไม่เคยได้สัมผัส และหล่อหลอมมนุษยธรรมในใจผู้อ่านได้ดี

ในความเป็นจริงแล้ว ความยากจนอยู่คู่วรรณกรรมเด็กมาช้านาน ในนิทานพื้นบ้านของหลาย ๆ วัฒนธรรมก็ล้วนกล่าวถึงความยากจนทั้งนั้น แต่การ “สร้างความตระหนัก” เรื่องความยากจนนั้นสันนิษฐานว่าเกิดขึ้นพร้อมกับการบันทึกนิทานเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่ออ่านให้เด็กฟัง หรือเพื่อให้เด็กอ่าน เช่น นิทาน Le Petit Poucet (1697) ของนักประพันธ์นิทานชาวฝรั่งเศส ชาร์ล แปร์โรต์ (Charles Perrault) ซึ่งมีโครงเรื่องคล้ายกับ Hänsel und Gretel ของเยอรมนี ได้เล่าเรื่องของครอบครัวของคนตัดฟืนที่ยากจนมากและลูกทั้งเจ็ดก็เป็นภาระของพ่อแม่ เพราะยังไม่สามารถช่วยทำงานได้ เมื่อไม่สามารถหาเลี้ยงลูกได้ พ่อจึงตัดสินใจนำลูกไปปล่อยในป่าเพื่อไม่ต้องเห็นลูก ๆ ตายต่อหน้า
 


(Le Petit Poucet, 1867, Bibliothèque nationale de France)

 

บทความนี้จึงจะขอยกตัวอย่างวรรณกรรมเด็กของฝรั่งเศสที่ขึ้นชื่อเรื่องของการเรียกร้อง “ความเท่าเทียม” ในสังคม จึงมีวรรณกรรมที่พูดถึงเรื่องของความยากจนในหลายแง่มุมตั้งแต่หลังการปฏิวัติปี 1789 เป็นต้นมา


จนจึงควรได้รับความเห็นใจ

 

หนังสือสอนพยัญชนะของฝรั่งเศส เรื่อง Alphabet Républicain (1793-1794) ได้เริ่มสอนเรื่อง "ความเห็นอกเห็นใจต่อผู้อื่น" โดยสอนให้เด็ก ๆ เห็นใจเกษตรกรในชนบทที่ทำงานหนักเพื่อให้ประชาชนในเมืองมีขนมปังรับประทาน ดังในข้อความ

“จงไปในทุ่ง แล้วเธอจะรู้ว่าขนมปังที่เธอกินต้องแลกมาด้วยความเหน็ดเหนื่อยและหยาดเหงื่อเท่าใด จงไปดูคนเหล่านั้นที่ทุ่มน้ำหนักลงบนคันไถแล้วพลิกดินจนเป็นร่องลึก [...] จงรักและเคารพชาวชนบทผู้แสนดีด้วยเช่นกัน เพราะพวกเขาเป็นผู้ที่สร้างประโยชน์มากที่สุดจากการเป็นดั่งพ่อผู้ผลิตอาหาร”

 

 

 

ต่อมา แนวคิดเรื่องการเห็นอกเห็นใจในวรรณกรรมเด็กไม่ได้จำกัดอยุ่เพียงผู้ทำประโยชน์เท่านั้น คนทุกคน สัตว์ทุกตัว ที่ได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมล้วนได้รับความสงสารจากผู้อ่าน เช่นในนวนิยายเรื่อง La gare de Rachid (2000) ราชิดเดินทางมาจากแอลจีเรีย และได้งานในตำแหน่งพนักงานทำความสะอาดในสถานีรถไฟกรุงปารีส เขาถูกเลิกจ้างกะทันหันเพราะสถานีรถไฟได้นำเครื่องทำความสะอาดมาใช้แทนแรงงานมนุษย์

เมื่อถูกเลิกจ้างก็ยังพยายามดื้อรั้นขอทำงานต่อแม้ไม่ได้รับค่าจ้าง จนเมื่อเงินชดเชยเริ่มพร่องลงก็ต้องมาอาศัยอยู่ในตู้รถไฟที่ปลดระวางแล้ว เก็บอาหารเหลือของคนอื่นมากิน เมื่อฤดูหนาวมาเยือน เขาป่วยหนักเพราะอากาศหนาวและในตู้รถไฟไม่มีเครื่องทำความร้อน ผ่ายผอม และเสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยวในสุสานรถไฟแห่งนั้น


จนจึงต้องได้รับความช่วยเหลือ

 

นวนิยายสำหรับเยาวชนเรื่อง Les petites filles modèles (1858) โซฟีได้รับความช่วยเหลือจากตระกูลเดอเฟลอร์วิลผู้เวทนาเธอ โซฟีในช่วงต้นเรื่องเป็นเด็กเห็นแก่ตัว เนื่องจากสภาพความเป็นอยู่ทำให้เธอต้องนึกถึงตนเองก่อนผู้อื่นเสมอ ซึ่งตรงข้ามกับบุตรสาวตระกูลเดอเฟลอร์วิลผู้มั่งคั่งและได้รับการอบรมจากมารดามาอย่างดีว่าต้อง "ช่วยเหลือคนยากจนและทำงานเพื่อพวกเขา" และต้องเผยแพร่ความคิดเช่นนี้ให้แก่เด็กคนอื่น ๆ อีกด้วย

ในฉากที่เด็กหญิงทั้งสองจะกวนแยมเชอร์รีเพื่อมอบให้หญิงยากจนที่ป่วย และยังต้องเลี้ยงดูลูกถึงหกคน โดยไม่คำนึงว่าแยมนี้จะมีราคาสูงเกินกว่าจะมอบให้คนในชนชั้นที่แตกต่างหรือไม่ โซฟีคัดค้านว่าไม่จำเป็นต้องมอบผลไม้รสเลิศอย่างเชอร์รีให้คนจนก็ได้ แต่ต่อมา เธอก็ได้ซึมซับแนวคิดเรื่องความเอื้อเฟื้อเมื่อได้มาอยู่ที่บ้านเดอเฟลอร์วิล เธอพร้อมแบ่งเงินส่วนตัวให้แก่ครอบครัวที่สูญเสียบิดาผู้หาเลี้ยงครอบครัวไป จึงได้รับคำชมว่า "เห็นไหม โซฟี เมื่อปีที่แล้ว เธอคงยังไม่มีความคิดดี ๆ แบบนี้แน่" และกลายเป็นเด็กหญิงแสนดีและมีเมตตา

ต่อมา เมื่อรัฐบาลฝรั่งเศสร่วมมือกับองค์กรไม่แสวงผลกำไรสร้างระบบเงินช่วยเหลือคนรายได้ต่ำ ภาพคนจนที่เราจะเห็นในวรรณกรรมเด็กมักได้รับความช่วยเหลือจากทั้งรัฐ องค์กรเอกชน และคนรอบข้าง เช่น ตัวละครแม่เลี้ยงเดี่ยวในเรื่อง Les rois du monde (2006) มีลูก 4 คน แต่ไม่เคยได้ไปเที่ยวพร้อมหน้าพร้อมตา จึงขอเงินช่วยเหลือจากองค์กรที่มีการระดมทุนรับบริจาค เพื่อช่วยเหลือครอบครัวรายได้น้อยให้มีสิทธิ์ไปเที่ยวพักผ่อน เมื่อแม่และลูกทั้งสี่คนพร้อมสัมภาระมากมายรีบขึ้นรถไฟ ผู้ชายคนหนึ่งจึงมาช่วยยกรถเข็นเด็กและกระเป๋าใบใหญ่ให้ และเมื่อแม่และพี่ ๆ หาผ้าอ้อมสำหรับน้องคนสุดท้องไม่เจอ ผู้โดยสารคนหนึ่งจึงแบ่งผ้าอ้อมให้ใช้
 

 

(เด็กหญิงตระกูลเดอเฟลอร์วิลและโซฟี ช่วยเหลือเด็กหญิงผู้ยากจน
Comtesse de Ségur, Les Petites Filles modèles, Librairie Hachette, Paris, 1927.)


จนจึงทำผิดกฎหมาย

 

ในเรื่อง Dadou, gosse de Paris (1936) ดาดูและแม่ต้องช่วยกันทำงานเพื่อจ่ายค่าเช่าบ้านและอาหาร แม่ทำงานรับจ้างทั่วไป (พนักงานร้านอาหาร แม่บ้านทำความสะอาด) และเร่ขายของโดยไม่มีใบอนุญาต อาชีพเดียวที่ดาดูจะช่วยแม่ได้ คือการขายของ แต่เขาคิดว่าตลาดที่แม่ขายของอยู่นั้นมีลูกค้าน้อยเกินไปและกำลังซื้อน้อยกว่าตลาดเนยยี (Neuilly) ซึ่งตั้งอยู่ในย่านที่ประชากรรายได้สูง แต่ตลาดขนาดใหญ่ที่ลูกค้ามีกำลังซื้อมากก็มักมีตำรวจควบคุมอยู่เสมอ ดาดูจึงเสี่ยงถูกจับทุกครั้งที่เขาไปขายของ แม่ไม่อยากให้ดาดูไปตลาดเนยยี แต่ดาดูดึงดันที่จะทำตามสิ่งที่ตนคิดว่าจะเกิดประโยชน์กับครอบครัวมากที่สุด

คล้ายกับหนังสือภาพเรื่อง Jouer aux fantômes (2016) ที่แม่ลูกคู่หนึ่งต้องหาห้องเช่าว่าง ๆ อาศัยอยู่ในช่วงฤดูหนาว นอนหนึ่งคืนก็ต้องเปลี่ยนที่ และมีข้อแม้ว่าในทุกห้องที่ไป เราต้อง "เล่นเป็นผี" คือไม่ส่งเสียงดัง ไม่เปิดไฟ ตอนเช้าก็ต้องรีบออกจากห้องก่อนแสงอาทิตย์จะส่องเข้ามา

แม่ต้องทำงานทั้งวัน เป็นแม่บ้านทำความสะอาดให้บ้านและสำนักงานหลาย ๆ แห่ง ส่วนลูกชายนั้น เมื่อเลิกเรียนแล้วก็ไม่มีที่ไป เลยไปนั่งอ่านหนังสือและทำการบ้านรอแม่ที่ห้องสมุดประชาชนทุกวัน หนังสือจบลงด้วยภาพแม่ขโมยกุญแจห้องว่างจากสำนักงานอสังหาฯ ที่ตนทำความสะอาด

ทั้งสองเรื่องนี้ใช้วิธีกล่าวถึงข้อดีของตัวละครว่าทำงานหนักเท่าใดก็ไม่ได้ค่าจ้างเพียงพอ เพื่อสร้างความชอบธรรมให้การทำผิดกฎหมายของตัวละคร และชวนผู้อ่านตั้งคำถามเกี่ยวกับทางเลือกอันจำกัดของคนยากจนที่ไม่อาจเลือกในสิ่งที่ต้องการหรือถูกต้องได้เสมอไป
 
 


 

(ตัวอย่างภาพจากเรื่อง Jouer aux fantômes)


จะเห็นว่าวรรณกรรมเด็กของฝรั่งเศสนั้นไม่นิยมนำเสนอภาพตอนจบในอุดมคตินัก แต่เน้นนำเสนอปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในสังคม เพราะปัญหาความยากจนที่ถูกแก้ไขไปได้มักถูกแทนที่ด้วยปัญหาใหม่เสมอ และวรรณกรรมเยาวชนก็มีหน้าที่นำเสนอให้ผู้อ่านในยุคสมัยของตนรู้เท่าทันปัญหา เพื่อช่วยกันแก้ไขในอนาคตอันใกล้ รวมถึงทำให้ผู้อ่านเข้าใจสังคมในมิติต่าง ๆ ได้ดีขึ้น เช่น กฎหมายอาจไม่ยุติธรรมกับทุกคนเสมอไป คนจนอาจเอาเปรียบผู้อื่นได้ และหนทางแก้ปัญหาที่จะเป็นคุณประโยชน์ต่อทุกฝ่าย (รัฐบาล สังคม และคนยากจน) อาจยังไม่มีอยู่จริง

 

อ่านบทความอื่นๆ ของผู้เขียน
วิริญจน์ หุตะสังกาศ
ภาคภูมิ แสงกนกกุล