Skip to main content

 

ราคาอาหารในเกาหลีใต้ที่แพงขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ชาวเกาหลีต้องปรับพฤติกรรมการกินเพื่อลดค่าใช้จ่ายเรื่องอาหารลง และเปลี่ยนมากินอาหารตามร้านบุฟเฟต์ราคาประหยัด รวมถึงการกินดื่มที่บ้าน และเปลี่ยนมาซื้อข้าวของเครื่องใช้ประจำวันหรืออาหารสดที่ลดราคา

แถวของพนักงานบริษัทที่ยืนต่อคิวยาวออกมานอกร้านบุฟเฟต์อาหารเกาหลีราคาประหยัดในเขตจองโน ใจกลางกรุงโซล เป็นรูปธรรมของปรากฏการณ์ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน ซึ่งร้านอาหารสุดคุ้มลักษณะแบบนี้ จะให้บริการอาหารแบบไม่อั้น ทั้งข้าว ซุป และเครื่องเคียงอีกหลายอย่าง ในราคาเพียงคนละ 6,500 วอน หรือตกราว 150 บาท

“ผมมากินที่ร้านนี้อาทิตย์ละ 3 ครั้ง ราคาก็พอๆ กับโรงอาหารที่บริษัท แต่ที่นี่อาหารอร่อยกว่า” ฮวัง พนักงานบริษัทแห่งหนึ่งที่มาต่อแถวกล่าว

ขณะที่ คิม ในวัย 65 ปีกล่าวว่า ร้านอาหารและคาเฟ่ส่วนใหญ่ในตอนนี้ จะต้องจ่ายคนละมากกว่า 10,000 วอน ซึ่งถือว่าแพง ทำให้เขาต้องมองหาร้านอาหารราคาถูกแบบนี้

เดือนมีนาคมที่ผ่านมา ราคาอาหารปรุงสำเร็จเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.6 สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 2.1 และเป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายปี 2023 ทำให้การกินข้าวนอกบ้านแพงขึ้นร้อยละ 3 เมื่อเทียบกับ 1 - 2 เดือนก่อน

ราคาอาหารกลางวันยอดนิยม อย่าง บิบิมบับ หรือข้าวยำแบบเกาหลี เฉลี่ยอยู่ที่ 11,308 วอน หรือตกราว 265 บาท ราคาของบะหมี่เย็น หรือเนงเหมี่ยน ราคาเฉลี่ยที่ 12,115 วอน หรือราว 280 บาท ขณะที่เดือนมีนาคม ราคากาแฟเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.3 ขนมปังแพงขึ้นร้อยละ 6.3 แฮมและเบคอนแพงขึ้นร้อยละ 6

ราคาอาหารที่แพงขึ้น ยังทำให้ร้านบุฟเฟต์ราคาประหยัดกลับมาเป็นที่นิยม โดยร้านบุฟเฟต์อาหารเกาหลีราคาต่อหัวอยู่ที่ 7,000 – 8,000 วอน แต่ถ้าเป็นร้านบุฟเฟต์ฮอทพอทราคาต่อหัวจะอยู่ที่ 10,000 วอน บุฟเฟต์บาร์บีคิวหัวละ 20,000 วอน ซึ่งยอดขายของร้านบุฟเฟต์เหล่าเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วราวร้อยละ 40

นอกจากนี้ พฤติกรรมการจับจ่ายข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันก็เปลี่ยนไปด้วย คนเกาหลีมีความต้องซื้อสินค้าลดราคาและสินค้าเลหลังเพิ่มมากขึ้น ยอดขายผักสดที่ไม่สวยในแฟลตฟอร์มส่งอาหารสด Market Kurly เพิ่มขึ้น 2 เท่าเมื่อปีที่แล้ว ขณะที่ซูเปอร์มาร์เก็ตอย่าง Lotte Mart มียอดขายเนื้อปลาซาลมอนลดครึ่งราคาสูงขึ้นจากเดิมถึง 4 เท่า

ขณะที่เครื่องดื่มอย่าง เบียร์ยี่ห้อ Hite ที่นิยมขายในร้านอาหารและบาร์ ก็มียอดขายเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 60 จากลูกค้าปลีก เช่นเดียวกับยอดขายที่เพิ่มขึ้นในซูเปอร์มาร์เก็ต มีร้านอาหารบางแห่งยอมลดราคาเบียร์และโซจูลงจาก 6,000 วอน เหลือ 2,000 วอน หรือจากราว 140 บาทเหลือ 46 บาท

ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า เหตุการณ์ไฟป่าครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นล่าสุด จะส่งผลให้ราคาอาหารแพงมากขึ้น ดังเช่นสวนแอปเปิ้ลราวร้อยละ 9 จากทั่วประเทศที่ถูกไฟป่าเผาผลาญจนได้รับความเสียหาย

“เพราะว่าคนเราต้องกินอาหารทุกวัน การที่อาหารมีราคาสูงขึ้นเล็กน้อย ก็ส่งผลกระทบกับงบใช้จ่ายของครัวเรือน หน่วยงานรัฐจะต้องจับตาใกล้ชิดเกี่ยวกับราคาสินค้าที่เปลี่ยนแปลง และมีมาตรการทำให้ราคาข้าวของคงที่”  ลี อึนฮี ศาสตราจารย์สาขาการศึกษาผู้บริโภค จากมหาวิทยาลัยอินฮากล่าว


ที่มา
More Koreans choose frugal dining options amid tough economy