Skip to main content

 

Libertus Machinus
 

 

สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีปัญหาด้านที่พักอาศัยมายาวนาน ซึ่งเราก็น่าจะสัมผัสได้จากข่าวเกี่ยวกับภาวะ "คนไร้บ้าน" ที่ขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ ในเมืองใหญ่ต่างๆ โดยทุกวันนี้เป็น "ปัญหา" ที่ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าเป็นปัญหา กมลา แฮร์ริสเห็นว่าเป็นปัญหา โดนัลด์ ทรัมป์ก็เช่นกัน

พูดง่ายๆ อเมริกันชนทั้งหมด มองว่า "ปัญหาที่อยู่อาศัย" คือสิ่งที่ต้องแก้ ฝ่ายซ้ายหรือขวาเห็นตรงกัน

แต่ทำไมแก้ไม่ได้? อันนี้ถ้าอยากเข้าใจ เราอาจต้องย้อนไปไกลหน่อย

ย้อนไปยุคราวหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อเมริกามีฉันทามติว่า คนอเมริกันต้องมีที่อยู่อาศัย ชีวิตที่ดีต้องมีบ้านมีรถ และนี่เป็นที่มาของภาพชีวิตชนชั้นกลางอเมริกันสไตล์ "อเมริกันดรีม" ที่ต้องมีบ้านเดี่ยวชานเมือง มีรถจอด มีสนามหญ้าสีเขียวหน้าบ้าน และในบ้านก็ต้องมีสามีภรรยาพร้อมลูก (อาจมีหมาตัวใหญ่ๆ สักตัวก็ได้) และนี่คือชีวิตสมบูรณ์ที่คนแค่ "ตั้งใจทำงาน" รับใช้ระบบทุนนิยมอเมริกันในช่วงสงครามเย็น ทุกคนก็สามารถไปถึงได้

ระบบแบบนี้เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจทุกระดับ มันกระตุ้นให้คนซื้อรถ กระตุ้นให้คนสร้างบ้าน กระตุ้นให้มีคนกู้เงินธนาคารและจ่ายดอกเบี้ยสม่ำเสมอ มันเป็นกลไกที่ทำให้เศรษฐกิจอเมริกันหมุนไปข้างหน้า

แต่ก็อย่างที่หลายคนรู้ ระบบแบบนี้พังพินาศไปในปี 2008 หลังจากเกิดภาวะ "หนี้เน่า" จากการปล่อยสินเชื่อคุณภาพต่ำของสถาบันการเงิน หรือ "ซับไพรม์" ทำเอาระบบเศรษฐกิจร่วงไปหมด

ปัจจุบัน ผ่านมาเกิน 15 ปี คนอเมริกันก็ยังหนีไม่พ้น "ปัญหา" อันเนื่องมาจากระบบอสังหา ซึ่งเราก็ต้องอธิบายหน่อย

วิกฤติในปี 2008 เป็นการปลุกให้คนอเมริกันตื่นขึ้นว่า จริงๆ ครอบครัวยากจนนั้น "ไม่มีปัญญาซื้อบ้าน" คือ บ้านตามอุดมคติอเมริกันดรีมเป็นสินทรัพย์ที่แพงเกินไปสำหรับครอบครัวแรงงานยากจนในยุคที่เสรีนิยมใหม่ครองโลก

หลายประเทศก็มีปัญหาแบบเดียวกัน เค้าก็แก้ปัญหาง่ายๆ ว่าถ้าคนไม่มีปัญญาซื้อบ้าน ก็สร้างคอนโดและอพาร์ตเมนต์มาขายคนสิ เมืองไทยก็เป็นแบบนี้ แต่ "ทางออก" นี้ไม่เกิดในอเมริกา และปัญหามันหมักหมมมายาวนานจนเมืองใหญ่ๆ เกิด "คนไร้บ้าน" เพ่นพ่านทั่วไปหมด

คำถามคือทำไม? คำตอบกลับไปที่อุดมการณ์แบบอเมริกาที่ส่งผลต่อการก่อตัวและขยาย "ชุมชน"

อเมริกาเป็นประเทศที่บ้าในการให้อำนาจ "ท้องถิ่น" มาก โดยทั่วไปอย่าว่าแต่รัฐบาลกลาง รัฐบาลระดับรัฐยังไม่มีสิทธิไปยุ่งกับอำนาจในการ "ออกใบอนุญาตสร้างบ้าน" ในระดับท้องถิ่นเลย

นี่แหละต้นตอของ "ปัญหา" คือ "ท้องถิ่น" ทั่วอเมริกา แทบไม่มีที่ไหนเลยอนุญาตให้มีการ "สร้างที่อยู่อาศัยราคาถูกสำหรับคนจน"

อันนี้ต้องเข้าใจก่อนว่า สมมติเมืองไหนค่าเช่าแพง ที่อยู่อาศัยไม่พอ แต่มีพื้นที่เหลือ ในสามัญสำนึกคนปกติก็ต้องบอกให้มีการสร้างบ้านหรืออพาร์ตเมนต์เพิ่ม

แต่คนอเมริกันไม่คิดแบบนั้น คนอเมริกันจะคิดว่า ถ้าอนุญาตให้สร้างที่พักอาศัยราคาถูกในย่านที่อยู่อาศัยของตัวเอง มันคือการอนุญาตให้มี "สลัม" แถวบ้าน นั่นคือนอกจากจะทำให้บ้านตัวเองราคาตกเพราะ "สิ่งแวดล้อม" ไม่ดีแล้ว แต่จะทำให้ลูกคนจนได้โควต้านักเรียนในโรงเรียนเดียวกับลูกตัวเองด้วย ซึ่งนั่นคือสิ่งที่คนอเมริกันไม่ประสงค์

ดังนั้น จะไปสร้างที่อยู่ให้คนจนที่ไหนก็ได้ แต่ "อย่ามาสร้างหลังบ้านฉัน" หรือ Not In My Backyard อันเป็นวลีที่เรียกย่อว่า NIMBY หรือขบวนการต่อต้านการสร้างที่อยู่อาศัยใหม่

แต่ทุกวันนี้มันเกิดขบวนการ Yes In My Backyard หรือ YIMBY ซึ่งเรียกรวมๆ ก็คือ ขบวนการ "มาสร้างที่อยู่อาศัยแถวนี้เพิ่มเถอะ" ส่วนหนึ่งก็เกิดจากปัญหาคนไร้บ้าน อีกส่วนก็เกิดจากการที่แม้แต่คนที่ขวาจัดๆ ก็มองว่ากฎหมายโซนนิ่งที่มีมามันล้าสมัย

ต้องเข้าใจก่อนว่า ที่เราเห็นภาพชานเมืองอเมริกาที่บ้านเรียงกันเป็นแถบๆ มันไม่ใช่เพราะคนอยากอยู่บ้านเดี่ยว เท่ากับที่ระเบียบโซนนิ่งในท้องถิ่นมันห้ามสร้างอาคารชุดสำหรับพักอาศัย หรือพูดง่ายๆ กฎหมายท้องถิ่นอเมริกาแทบทั้งหมดห้ามสร้างคอนโดหรืออพาร์ตเมนต์ ถ้าทางสถาท้องถิ่นไม่ออกใบอนุญาตให้สร้าง ก็สร้างไม่ได้ จะสร้างใหม่ได้แต่ "บ้านเดี่ยว" ซึ่งปัญหาก็วนกลับมาที่เดิมว่าคนไม่มีเงินซื้อ

แล้วทำไมระบบมันเป็นแบบนี้ "ประชาธิปไตย" ไม่ช่วยอะไรเหรอ?

อยากให้นึกภาพ สภาท้องถิ่น คนมีอำนาจโหวตคือคนที่มีทะเบียนบ้านอยู่ในพื้นที่ ไม่ใช่คนจนๆ ที่มาเช่าพักอาศัยในพื้นที่ ดังนั้นเหล่าผู้อยู่อาศัยและเจ้าที่ดินที่มีอำนาจในการลงคะแนนเสียงเลือกผู้แทนในสภาท้องถิ่น โดยทั่วไปก็จะไม่ใช่ "ตัวแทน" คนจนที่มีปัญหาที่อยู่อาศัยอยู่แล้ว และคนที่มีบ้านพวกนี้ก็กังวลอยู่แค่ว่า บ้านตัวเองจะราคาตกมั้ย? และจะมี "คนจน" มาเป็นเพื่อนบ้านมั้ย? ซึ่งทั้งหมด มันก็ทำให้โครงการที่อยู่อาศัยสำหรับคนจนสร้างขึ้นไม่ได้ แม้ว่าอเมริกาจะมี "พื้นที่" มากมายเหลือเฟือ

ดังนั้น สิ่งที่ขบวนการ NIMBY ทำมาตลอดคือ การยืนยันกฎหมายอาคารและโซนนิ่งแบบเดิม เพื่อไม่ให้มี "สิ่งแปลกปลอม" มาสร้างในละแวกบ้านตัวเอง

แล้ว YIMBY ทำอะไร? คำตอบรวมๆ คือเป็นขบวนการที่สนับสนุนการแก้กฎหมายอาคารและโซนนิ่งเพื่อเปลี่ยนโฉมหน้าละแวกที่อยู่อาศัยน่ะแหละ

ประเด็นคือ YIMBY ก็มีทั้งขวาและซ้าย ฝั่งขวาคือต้องการแก้กฎหมายโซนนิ่งให้ "คนจน" หายไปจากพื้นที่ ซึ่งตรรกะคือพอในพื้นที่มีแต่คนรวย ภาษีท้องที่ก็จะสูงขึ้น ท้องถิ่นก็จะได้รับการพัฒนา ส่วนฝั่งซ้ายมองว่าควรให้สิทธิอำนาจในการกำหนดระเบียบอาคารและโซนนิ่งกับ "คนจนที่ไม่มีบ้านในพื้นที่" ด้วย โดยในทางเทคนิค พวกนี้มองว่ารัฐบาลระดับรัฐหรือกระทั่งรัฐบาลกลาง ควรจะมีอำนาจแทรกแซงกฎหมายอาคารระดับท้องถิ่น เพราะรัฐบาลระดับนี้โดยทั่วไปจะถือว่าเป็น "ตัวแทน" ของคนจนได้ดีกว่ารัฐบาลระดับท้องถิ่น

และนี่ก็นำมาสู่ปัญหาโลกแตกยุคปัจจุบันของอเมริกา คือ ทุกฝ่ายเห็นว่าที่พักอาศัยมีปัญหา ทุกฝ่ายยอมรับว่าต้องมีการ “สร้างที่อยู่อาศัยราคาจับต้องได้" ให้มากขึ้น ทุกฝ่ายเห็นร่วมกันว่ากฎหมายอาคารและโซนนิ่งในปัจจุบัน คือ อุปสรรคในกระบวนการดังกล่าว แต่ที่ตกลงกันไม่ได้ก็คือมันจะหน้าตายังไง บางฝ่ายก็มองว่าการสร้างอพาร์ตเมนต์ใหญ่ๆ ให้คนอยู่ได้เยอะๆ เป็นคำตอบที่ชัดเจนอยู่แล้วของปัญหาคนไร้บ้าน แต่บางฝ่ายก็มองว่าต้องสร้างอพาร์ตเมนต์คุณภาพดีๆ สไตล์เมืองใหญ่ๆ ยุโรป (แบบปารีส) เพื่อดึงดูดคนที่เข้ามาเป็น "ชนชั้นกลาง" ที่จะเป็นเพื่อนบ้านที่พึงประสงค์ และนั่นคือจะทำให้พื้นที่พัฒนาไปในทางที่ดี

นี่เลยนำเรามาสู่ทุกวันนี้ ที่ขนาดเรื่องที่ทุกฝ่ายเห็นร่วมกันว่าเป็นปัญหาที่ต่องรีบจัดการเร่งด่วน แนวทางการจัดการปัญหาของฝ่ายเดโมแครตและรีพับลิกันก็ยังไม่ตรงกันเลย

ซึ่งก็แน่นอน เรื่องทั้งหมดน่าจะค่อยๆ "คลี่คลาย" ต่างๆ กันไปในแต่ละพื้นที่ เพราะทุกคนเห็น "บทเรียน" จากเมืองหลวงของคนไร้บ้านอเมริกา อย่างซานฟรานซิสโกแล้ว เพราะสุดท้ายถ้าปล่อยให้ที่อยู่อาศัยแพงเกินไปเรื่อยๆ คนไร้บ้านก็จะท่วมเมือง สิ่งที่จะเกิดคือเมืองจะไม่น่าอยู่ คนจะหนีออก และทำให้ถึงที่อยู่อาศัยและค่าเช่าแพง แต่คนก็ไม่อยากอยู่ ซึ่งแบบนี้อาจดีกับ "เจ้าที่ดินที่ไม่อยู่แถวนั้น" แต่คนที่มีบ้านและอยู่อาศัยแถวนั้นไม่ชอบแน่ๆ

ไม่มีใครอยากให้ "ละแวกบ้าน" ตัวเองเป็นแบบนั้น ที่ดินราคาแพงแต่สภาพแวดล้อมไม่น่าอยู่ก็ไม่ไหว และสุดท้ายมันเลยวัดใจให้คนที่เป็นเจ้าของบ้านและอยู่ในพื้นที่มีการ "ประนีประนอม" ยอมให้มีการสร้างที่พักอาศัยราคาถูกลงเพื่อรองรับคนที่มากขึ้นได้ แต่จะถูกลงแค่ไหน แต่ละท้องถิ่นก็คงจะต้องไปเถียงกันเองยาวๆ

 

อ้างอิง
The housing movement is divided against itself
Cambridge's housing solution
  

อ่านบทความอื่นๆ ของผู้เขียน