ทีมนักวิจัยของไทย จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) พัฒนาหุ่นยนต์ต้นแบบเพื่อช่วยในการกายภาพบำบัดผู้ป่วยกล้ามเนื้ออ่อนแรง โดยนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และเกมมาช่วยในการฟื้นฟูร่างกายผู้ป่วย
ดร.ปฏิยุทธ พรามแก้ว จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ หัวหน้าโครงการ และทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ร่วมกับอาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง และมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ทำการวิจัยและพัฒนา “หุ่นยนต์ต้นแบบช่วยกายภาพบำบัดผู้ป่วยกล้ามเนื้ออ่อนแรงบริเวณขาโดยใช้ปัญญาประดิษฐ์และเกม” โดยพัฒนาอุปกรณ์ต้นแบบที่สามารถใช้งานได้จริง พร้อมระบบเกมที่ออกแบบขึ้นสำหรับกระตุ้นการขยับร่างกายผ่านเกม
งานวิจัยดังกล่าว ได้รับความร่วมมือจากแพทย์และบุคลากรในโรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน ในการนำข้อมูลเชิงลึกและความต้องการของผู้ป่วยมาเป็นโจทย์ในการพัฒนางานหุ่นยนต์ต้นแบบ
ดร.ปฏิยุทธกล่าวว่า หุ่นยนต์ต้นแบบประกอบด้วย อุปกรณ์กายภาพบำบัดที่ออกแบบตามหลักสรีรศาสตร์ โดยสามารถปรับน้ำหนัก แรงต้าน และตำแหน่งให้เหมาะสมกับสภาพร่างกายของผู้ป่วยแต่ละราย และระบบเกมแบบจำลองสถานการณ์ (Simulation Game) ที่ใช้การขยับกล้ามเนื้อขาเพื่อควบคุมการดำเนินภารกิจในเกม ซึ่งได้รับการออกแบบให้มีลักษณะเหมาะสมกับผู้สูงอายุและผู้ป่วยกลุ่มเป้าหมาย เช่น ขนาดตัวอักษร หน้าจอแสดงผล รูปแบบการโต้ตอบ การวางปุ่ม และระบบให้คะแนนที่ชัดเจนเพื่อให้เห็นพัฒนาการของผู้ใช้งาน โดยผสานกับการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการติดตาม วิเคราะห์ และปรับระดับความยากง่ายของกิจกรรมให้สอดคล้องกับพฤติกรรมการใช้งานจริงของผู้ป่วยแต่ละคน ที่ช่วยให้การฝึกมีประสิทธิภาพสูงขึ้น และสามารถประเมินผลได้แม่นยำขึ้น
ทางด้าน ผศ.ดร. ฐิตาภรณ์ หนึ่งในทีมวิจัยกล่าวว่า หุ่นยนต์ต้นแบบนอกจากสร้างผลลัพธ์ทางเทคโนโลยีแล้ว ยังส่งผลในเชิงสังคมและอุตสาหกรรมอย่างเป็นรูปธรรม เช่น ความสามารถในการต่อยอดสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ในราคาที่ประชาชนเข้าถึงได้ การนำไปประยุกต์ใช้ในโรงพยาบาล ศูนย์ฟื้นฟู ชุมชนผู้สูงอายุ รวมถึงการใช้งานภายในครัวเรือน ที่ช่วยขยายโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยีฟื้นฟูสุขภาพอย่างทั่วถึง เพิ่มอัตราการเข้าถึงบริการฟื้นฟูที่มีคุณภาพ ลดภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์ในระยะยาว และส่งเสริมให้ผู้ป่วยและครอบครัวมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูอย่างต่อเนื่อง โดยไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณสูง
ทีมวิจัยกล่าวว่า ในระยะต่อไปจะพัฒนาอุปกรณ์และระบบเกมให้สามารถปรับใช้กับผู้ป่วยกลุ่มอื่น ๆ เช่น ผู้ที่มีภาวะอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือผู้ป่วยที่ผ่านการผ่าตัดที่ต้องการฟื้นฟูการเคลื่อนไหว โดยจะประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อเร่งการผลิตต้นแบบให้สามารถใช้จริงได้ในวงกว้าง
ปัจจุบัน ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มตัว โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติและหน่วยงานด้านประชากรศาสตร์คาดการณ์ว่า ภายในปี 2583 ประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 32 ของประชากรทั้งหมด หรือประมาณ 20 ล้านคน ซึ่งนำมาสู่การเพิ่มขึ้นของโรคเรื้อรังและภาวะเสื่อมของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย โดยเฉพาะโรคที่เกี่ยวกับการทำงานของระบบประสาทและกล้ามเนื้อ เช่น โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (ALS - Amyotrophic Lateral Sclerosis) และโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงไมแอสทีเนียเกรวิส (MG - Myasthenia Gravis) ที่ส่งผลให้ผู้ป่วยสูญเสียความสามารถในการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง และไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ในที่สุด
การกายภาพบำบัดจึงเป็นส่วนสำคัญในการดูแลผู้ป่วย เพื่อยืดอายุการทำงานของกล้ามเนื้อและรักษาคุณภาพชีวิต อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยจำนวนมากไม่สามารถทำกายภาพได้ต่อเนื่อง เนื่องจากข้อจำกัดด้านร่างกาย สภาพจิตใจ และความเบื่อหน่ายต่อวิธีการเดิม ส่งผลให้ประสิทธิภาพการฟื้นฟูลดลงอย่างมาก
ผลงานวิจัยดังกล่าว ได้รับรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น รางวัลประกาศเกียรติคุณจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศและนิเทศศาสตร์ ประจำปี 2568 และเป็นหนึ่งในโครงการวิจัยที่สามารถนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้กับโจทย์ทางสุขภาพที่มีศักยภาพในการพัฒนาต่อยอด และตอบสนองต่อนโยบายด้านสาธารณสุขในสังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย
“หัวใจสำคัญของงานวิจัยนี้คือ การทำให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าเขาดูแลชีวิตของตัวเองได้ เราใช้เทคโนโลยีเข้ามาเพื่อเสริมทั้งร่างกายและจิตใจ ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกอยากลุกขึ้นมาสู้อีกครั้งด้วยความต้องการของตัวเอง” ดร.ปฏิยุทธกล่าว