Skip to main content

วิริญจน์ หุตะสังกาศ

 

ผู้เขียนพบหนังสือภาพ "นกฮูกที่ไม่เคยบิน" ที่ร้านหนังสือแห่งหนึ่ง
อ่านไป 2-3 หน้าแล้วรู้เลยว่าเป็นหนังสือภาพที่ดีมาก ภาพประกอบระดับงานศิลป์ในแกเลอรี่ 
ที่สำคัญ คิดว่าคนเขียนเนื้อเรื่องต้องเป็นคนตลกแน่ๆ เพราะจังหวะในการเล่าชวนอมยิ้มได้ตลอด

ดีใจมากที่เจอหนังสือของคนไทยที่คุณภาพดีขนาดนี้ เลยพลิกหาชื่อสำนักพิมพ์
ชื่อสำนักพิมพ์ก็แปลกที่สุด! “Barefoot Banana” โลโก้เป็นรูปกล้วยใส่แว่นกันแดดนอนตะแคงข้าง
สำนักพิมพ์อะไรจะชื่อกล้วยเท้าเปล่า ลองติดต่อไปพูดคุยดีกว่า…

 

 

“ครูแจนแจน” ผู้เขียนเรื่อง “นกฮูกที่ไม่เคยบิน” และผู้บริหารสำนักพิมพ์ Barefoot Banana เล่าถึงที่มาของหนังสือภาพเล่มนี้ว่า

“เราเป็นผู้ใช้หนังสือเด็กมาตลอดเวลาที่ทำงานด้านการศึกษา เลยคิดว่าอยากทำหนังสือดี ๆ เป็นภาษาไทยบ้าง แต่ก็อยากให้เป็นหนังสือที่อ่านเพื่อความสนุก (reading for pleasure) ไม่ต้องมีข้อจำกัดว่าจะต้องสอนอะไรผู้อ่าน เพราะ ‘ความสุขและความสนุกในการอ่าน’ สำคัญที่สุดสำหรับการอ่านของเด็กปฐมวัย”

 

สิ่งที่ผู้เขียนประทับใจในสำนักพิมพ์ Barefoot Banana จึงไม่ได้มีแค่ความสนุกของหนังสือเท่านั้น ยังมีวิสัยทัศน์ของครูแจนแจนที่อยากให้เด็กไทยได้อ่านหนังสือที่คุณภาพทัดเทียมกับต่างประเทศ และพลังของครูแจนแจนที่พยายามผลักดันความสำคัญของหนังสือภาพที่ผู้ใหญ่บ้านเราได้มองเห็น

 

 

ครูแจนแจนได้จับมือกับศิลปินสองแขนง ทั้งนักวาดภาพประกอบ “ฮิโรกะ ลิมวิภูวัฒน์” และวิศวกรกระดาษผู้สร้างป๊อป-อัพ “Kias Matt”

สร้างสรรค์ “นกฮูกที่ไม่เคยบิน” เล่มนี้ขึ้นมา พร้อมกับตั้งสำนักพิมพ์เพื่อผลิตหนังสือภาพอื่น ๆ ด้วย

“ตอนนั้นอยากพิมพ์ “นกฮูกที่ไม่เคยบิน” ซึ่งเป็นหนังสือภาพที่กระบวนการผลิตค่อนข้างซับซ้อน เลยตั้งสำนักพิมพ์เองเลย แล้วแต่ก่อนที่จะตีพิมพ์หนังสือนกฮูกที่ไม่เคยบิน บังเอิญสถานทูตฟินแลนด์แนะนำให้รู้จักกับหนังสือชุด Herra Hakkarainen หรือ “คุณปุ๊บปั๊บ” ของ Mauri Kunnas นักเขียนชาวฟินแลนด์ ก็เลยตัดสินใจแปลและจัดพิมพ์เป็นหนังสือชุดแรกของสำนักพิมพ์ แล้ว “นกฮูก” ค่อยตามมาทีหลัง”

ดูเหมือนว่า “นกฮูกที่ไม่เคยบิน” จะเป็นหนังสือที่ชวนครูแจนแจนทดลองทำอะไรใหม่ ๆ ไม่น้อย
จากหนังสือภาพเล่มเดียว กลายเป็นสำนักพิมพ์หนึ่งแห่ง
 

และเมื่อครูแจนแจนอยากจัดนิทรรศการเล็ก ๆ ให้คุณนกฮูกที่ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ กรุงเทพฯ (TCDC Bangkok) ขอบเขตของงานก็ขยายขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็น “เทศกาลหนังสือภาพสำหรับเด็ก” ที่จัดไปเมื่อปลายปี 2566 นั่นเอง

 

 

“การทำสำนักพิมพ์เองไม่ค่อยมีกฏ มีกรอบมากำหนดรูปของแบบงาน ทำสร้างสรรค์สิ่งที่ต้องการได้ค่อนข้างเต็มที่ อย่างเทศกาลหนังสือภาพสำหรับเด็กก็เช่นกัน จากที่จะทำนิทรรศการให้ “นกฮูก” ก็กลายเป็นเทศกาลหนังสือภาพไปเลย ดีใจมาก ๆ ที่ได้ทำ เพราะได้เรียนรู้ว่าคนที่สนใจเรื่องหนังสือภาพมีเยอะกว่าที่คาดไว้มาก”

เมื่อถามถึงหนังสือเล่มใหม่ ๆ ที่จะพิมพ์เร็ว ๆ นี้ ครูแจนแจนก็ออกตัวว่า

“เราเป็นสำนักพิมพ์เล็ก ๆ เวลาตีพิมพ์หนังสือภาพที่ต้องเริ่มสร้างทุกองค์ประกอบของหนังสือด้วยตัวเอง ก็จะทำได้เต็มที่ปีละ 1 เล่ม ส่วนหนังสือแปลก็จะมีพิมพ์หนังสือในซีรีส์ “คุณปุ๊บปั๊บ” และหนังสือภาพของ Mo Willems เล่มอื่น ๆ”

และตอนนี้กล้วยเท้าเปล่าก็ไม่ต้องนอนตะแคงเหงาอยู่ใบเดียวแล้ว เพราะมีเพื่อนใหม่คือกล้วยไร้เปลือกใส่แว่นกันแดด (มีเปลือกบังบางส่วนอยู่บ้าง จะได้ไม่เป็นที่ฮือฮาจนเกินไป) จาก “Naked Publishing”

ครูแจนแจนเล่าถึงที่มาของกล้วยใบใหม่นี้ว่า 
“กล้วยเท้าเปล่าจะเน้นหนังสือสำหรับ 0-8 ขวบ แต่เราก็อยากทำหนังสือที่หลากหลายขึ้นสำหรับผู้อ่านวัยอื่น ๆ ด้วย เลยตั้งกล้วยเปล่าเปลือยขึ้นมา”
 

 

หนังสือเล่มแรกที่จะพิมพ์โดย Naked Publishing คือ “คู่มือสามัญประจำเดือน” (ของ Louise T. Sjørvad แปลจากภาษาเดนมาร์กโดย บุลวัชร เสรีชัยพร) ที่จะมาอธิบายให้ผู้อ่านเข้าใจเรื่องของประจำเดือนอย่างละเอียดผ่านภาพกราฟฟิคที่เข้าใจง่าย เหมาะกับผู้อ่านทุกเพศทุกวัย (เพราะเพศที่ไม่มีประจำเดือนก็ต้องมีความรู้เรื่องมนุษย์คนอื่น ๆ ไว้บ้าง) จะวางจำหน่ายเร็ว ๆ นี้

(หากเด็ก ๆ วัย 9-12 ขวบคนไหนอยากช่วยครูแจนแจนเป็นผู้ทดสอบหนังสือ สามารถติดต่อไปที่เพจ Barefoot Banana ได้เลยค่ะ)

 

 

สิ่งที่ผู้เขียนประทับใจในสำนักพิมพ์ Barefoot Banana จึงไม่ได้มีแค่ความสนุกของหนังสือเท่านั้น ยังมีวิสัยทัศน์ของครูแจนแจนที่อยากให้เด็กไทยได้อ่านหนังสือที่คุณภาพทัดเทียมกับต่างประเทศ และพลังของครูแจนแจนที่พยายามผลักดันความสำคัญของหนังสือภาพที่ผู้ใหญ่บ้านเราได้มองเห็น


ตัวอย่างหนังสือภาพเล่มอื่น ๆ ของสำนักพิมพ์ Barefoot Banana (ดูเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ของสำนักพิมพ์)

 

อ่านบทความอื่นๆ ของผู้เขียน

เข้าใจเมื่อจากลา : หนังสือภาพและความสูญเสีย

‘ชุมชนหนังสือภาพ’ แห่งเมืองเชียงใหม่

ในวันที่โลกโหดร้าย ยังมี 'หนังสือภาพ' เยียวยาหัวใจ

สิ่งแวดล้อมและหนังสือภาพ

หนังสือภาพสำหรับเด็ก : หนังสือภาพสำหรับทุกคน