Skip to main content

วิริญจน์ หุตะสังกาศ

 

“เชียงใหม่” เป็นจังหวัดที่ทั้งชาวไทยจากจังหวัดอื่นและชาวต่างชาติหลายคนเลือกมาอาศัยอยู่
แต่คนเชียงใหม่หลายคนก็ต้องจากบ้านเกิดของตนไปเมืองอื่นเพื่อหางานที่ให้ค่าตอบแทนมากกว่า

ผู้เขียนไม่ได้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ จึงคงไม่สามารถชวนถกประเด็นนี้ได้ดีนัก
แต่ในฐานะของ “คนที่อยากให้เชียงใหม่เติบโต” จึงอยากพูดเรื่อง ศักยภาพของเชียงใหม่ในด้านการศึกษาและกิจกรรมสำหรับเด็ก ที่อาจเป็นความหวังในการพัฒนาเชียงใหม่ต่อไปในอนาคตได้

“เชียงใหม่” เป็นเมืองที่มีผู้สร้างสรรค์สื่อ กิจกรรม และหลักสูตรการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับเด็กๆ มากมาย

แต่กลุ่มคนที่ผู้เขียนอยากจะพูดถึงในบทความวันนี้ มีจุดเชื่อมโยงเดียวกันคือ “หนังสือภาพ”
จึงขอตั้งชื่อเล่นเครือข่ายนี้ว่า “ชุมชนหนังสือภาพ” ที่ประกอบด้วยผู้เขียน ผู้วาด และผู้นำไปใช้ มาจับมือกัน คอยแลกเปลี่ยนความคิด ร่วมกันจัดกิจกรรมเพื่อทุกคนที่สนใจหนังสือภาพในจังหวัดเชียงใหม่

วันนี้ผู้เขียนจึงอยากพาไปรู้จักผู้วิเศษด้านหนังสือภาพสามท่านที่เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเด็กๆในจังหวัดเชียงใหม่กัน

 

"ครูเม" ดร.กันต์ฌพัชญ์ อยู่อำไพ

“หนังสือภาพทำให้เด็กอ่านออก พูดเป็นคำ ใช้ศัพท์ยากได้เยอะ”

 

 

"ครูเม"  เป็นทั้งครูและผู้บริหารหลักสูตรปฐมวัยของ สวนเด็กบ้านเจ้า

จากอาจารย์มหาวิทยาลัยในเมืองกรุง ครูเมเลือกเดินทางมาเปิดโรงเรียนที่จังหวัดเชียงใหม่
พร้อมหลักสูตรที่ผ่านการออกแบบและทดลองด้วยความเชี่ยวชาญเป็นเวลาหลายปี

“ที่สวนเด็กบ้านเจ้าไม่มีทีวี ไม่มีจอ เรามีแค่หนังสือภาพ อุปกรณ์ทำงานศิลปะ และอุปกรณ์ทำกิจกรรมเท่านั้น”

เพราะหนังสือภาพมีราคาสูง ครูเมจึงให้นักเรียนตัวน้อยทุกคนยืมหนังสือกลับบ้านได้ไม่มีจำนวนจำกัด และทำบัญชีการยืมหนังสือของเด็ก ๆ แต่ละคนไว้ด้วย

 

 

ครูเมได้เล่าเรื่องน่ารักเรื่องหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงพลังของหนังสือนิทานว่า

“ตอนกำลังทำงานศิลปะ เด็กคนหนึ่งบอกเมว่า ‘หนูจะใช้พู่กันอันเล็กนะ มันทิดี๋ทิดั๋นดี ตอนแรกก็แก้การออกเสียงให้ แต่ก็แปลกใจว่าเขาจำคำนี้มาจากไหน

พอไปดูบัญชียืมหนังสือของเด็กคนนี้ ก็เห็นว่าเขายืมเรื่อง “ความลับของอลัน” ไปหลายรอบ ซึ่งเป็นนิทานเรื่องแรก ๆ ที่เขาอ่าน ในหนังสือเล่มนี้มีคำว่า “พิถีพิถัน” อยู่ด้วย”

นอกจากหนูน้อยผู้ “ทิดี๋ทิดั๋น” แล้ว ยังมีเด็กอีกคนที่เข้าเรียนวันแรกยังพูดงึมงำไม่เป็นประโยค
จนได้อ่านหนังสือภาพมากขึ้นเรื่อย ๆ  อ่านทุกวัน จนพูดชัด พูดเป็นคำ จนผู้ปกครองยังตกใจ

ครูเมจึงได้ทำตารางคำศัพท์ต่าง ๆ ในหนังสือภาพแต่ละเล่มที่สวนเด็กบ้านเจ้า (ซึ่งมีมากกว่า 800 เล่มแล้ว) และพบว่าหนังสือเล่มบางเพียงเล่มเดียว อาจอัดแน่นด้วยคำศัพท์ถึง 200 คำ

“ในหนึ่งวัน คุณครูอ่านนิทานกันหลายช่วง หลายที่ค่ะ เราพยายามออกแบบการใช้เวลาในสวนเด็กบ้านเจ้าให้เกิดประโยชน์กับเด็กสูงสุดเท่าที่จะทำได้ เลยมีเวลาสำหรับการอ่านที่มากขึ้นตามมาด้วย”

 

 

พอเด็กๆ อ่านหนังสือกันเยอะ ครูเมก็ชวนเด็กๆ เลือกหนังสือนิทานมาเล่นละครกันทุกวันศุกร์ ทุกคนช่วยกันทำอุปกรณ์เล่านิทาน และก่อนเล่นจริงก็ต้องมาอ่านซ้ำ แถมเด็กๆ ยังได้ช่วยแกะกล่องหนังสือที่มาส่งทุกครั้ง ยิ่งทำให้เด็กๆ ผูกพันกับหนังสือมากขึ้นไปอีก

แม้สวน "เด็กบ้านเจ้า" จะเปิดทำการได้เพียงปีเดียว แต่ครูเมและเด็กๆ ก็มีแขกมาเยี่ยมมากมาย ทั้งจากโรงเรียน มหาวิทยาลัย และผู้ปกครอง

ผู้เขียนเคยได้รับเกียรติจากครูเมให้พาพี่ๆ นักศึกษาไปเล่นละครจากหนังสือภาพให้เด็กๆ ดู พี่ๆ ก็เลยได้นั่งอ่านหนังสือภาพ (ทั้งอ่านกันเอง และอ่านเล่นกับน้องๆ) จนจุใจ หนังสือภาพจึงเป็นสื่อที่ดีและสร้างความสุขให้ทั้งเด็กเล็กเด็กโต

 


"ครูแอม" วิรตี ทะพิงค์แก

“หนังสือภาพคือการส่งต่อวิธีคิดให้เด็กๆ ทำให้เขามีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล”
 

 

"ครูแอม" เป็นเจ้าของสำนักพิมพ์ Mountain Mind ที่ผลิตหนังสือภาพสำหรับเด็กเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม

ก่อนที่จะมาทำหนังสือเอง ครูแอมเคยทำงานสื่อมาก่อน จึงถนัดเรื่องการรวบรวมข้อมูล และถ่ายทอดออกมาให้ผู้อ่านผ่านภาษาที่ไพเราะและเหมาะสมได้

"ครูแอม" เริ่มสนใจหนังสือภาพจริงจังก็เมื่อตอนมีลูกนี่เอง ยิ่งได้เห็นหนังสือภาพของนานาชาติมากเท่าไร ก็ยิ่งรู้ว่าหนังสือภาพของไทยลืมอะไรไปบ้าง

“เด็กผู้ชายชอบรถค่ะ รถตักดิน รถถัง รถคันใหญ่ๆ เครื่องบินก็ชอบ แต่หนังสือภาพภาษาไทยไม่มีพูดถึงเลย”
“หนังสือของฝรั่งนี่มีปุ่มให้กดเพลง เราไม่เคยเห็นมาก่อน”
“นิทานหลายเล่ม เราอ่านแล้วก็ตกใจ มันลึกซึ้งมาก เป็นปรัชญา อ่านได้ทั้งลูกและแม่เลย”

นี่คือจุดเริ่มต้นที่ครูแอมเริ่มสังเกตว่า หนังสือภาพของไทยยังขาดความหลากหลายทั้งในด้านเนื้อหาและรูปแบบ

เมื่อครูแอมได้รับโจทย์จากแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่านว่า จะมีการตีพิมพ์หนังสือภาพชุด ‘อ่านดอยสุเทพ’ สนับสนุนโดย ​สสส.

จึงจับมือกับ ‘ครูโก้-จันทิมา กิติศรี’ จัดทำหนังสือภาพเรื่อง “ป่า ดอย บ้านของเรา” ที่เล่าถึงความสัมพันธ์ของระบบนิเวศบนดอยสุเทพและคนเชียงใหม่ เป็นหนังสือสำหรับเด็กเล็ก ครูแอมจึงต้องทำการบ้านหนักมากในการสรุปข้อมูลมหาศาลให้ออกมาอยู่ในรูปแบบของหนังสือภาพเล่มบาง

จากนั้นมาครูแอมก็ได้เขียนหนังสือภาพเองอีกหลายเล่ม เช่น “วันนี้หนูกินอะไรดีนะ” ที่กล่าวถึงความสำคัญของธรรมชาติรอบตัวที่ทำให้มนุษย์ดำรงชีวิตอยู่ได้  

"บ้านของเราช่างสวยงามเหลือเกิน" เล่าเรื่องการดูแลรักษาโลก บ้านของเราเพียงหลังเดียว ให้อยู่กับเราไปนานๆ เพราะมนุษย์ลืมไปว่าต้องพึ่งพาธรรมชาติอยู่มาก เลยทำร้ายและทำลายโลกเพียงเพื่อความสะดวกสบายของตน
 


ทุกวันนี้ ครูแอมก็ยังจัดกิจกรรมเกี่ยวกับหนังสือภาพ การเล่านิทาน และสิ่งแวดล้อม ให้ทั้งเด็กๆ และผู้ใหญ่ และยังเป็นกำลังสำคัญในการจูงมือผู้คนมาเสริมพลังให้ชุมชนหนังสือภาพในเชียงใหม่อีกด้วย


"ครูโก้" จันทิมา กิติศรี

“หนังสือนิทานคือการหยอดเมล็ดที่มีคุณภาพให้สังคมในวันข้างหน้า”

 

 

"ครูโก้" แห่ง Happy Tree House เป็นทั้งนักดนตรี ครู และนักวาด ซึ่งบทบาทเหล่านี้ของครูโก้เกี่ยวพันกับหนังสือภาพทั้งหมดเลย

ศิลปะในการเล่านิทานของครูโก้นั้นวิเศษและพิเศษกว่าใคร เพราะครูโก้ใช้ดนตรีและจังหวะมาสร้างเพลงประกอบนิทาน 
และยังเคยแปลงหนังสือภาพคลาสสิกอย่าง ‘The Giving Tree’ (ความรักของต้นไม้) ของ Shel Siverstein เป็นบทเพลงอีกด้วย

ในมุมของนักวาดเรื่อง “ป่า ดอย บ้านของเรา” ครูโก้ต้องทำการบ้านหนักไม่แพ้ผู้เขียน เนื่องจากไม่ได้เป็นนักวาดมืออาชีพ แต่เป็นผู้ที่เข้าใจจิตวิญญาณของเด็ก จึงสามารถถ่ายทอดเนื้อหาวิชาการเกี่ยวกับระบบนิเวศของดอยสุเทพออกมาเป็นภาพที่เด็กๆสนุกไปด้วย

“ครูโก้อ่านนิทานมาเยอะ เลยจับจุดได้ว่าหนังสือเล่มนี้ต้องการให้ความรู้ แต่ก็ต้องทำให้สนุก เรารู้ว่าเด็กๆ ชอบให้ทุกสิ่งมีชีวิต ก็เลยเติมลูกตาให้ก้อนเมฆ ให้ภูเขา ปลวกนี่ทำยังไงให้ดูน่ารัก ก็จับใส่หมวกซะเลย”

เวลาจะทำหนังสือให้เด็กอ่าน ครูโก้บอกว่า “เราต้องคิดอย่างเด็กคิด มองอย่างเด็กมอง”

เด็กๆ ชอบรูปภาพน่ารัก สีสันสวยงาม ก็ต้องสร้างสรรค์ภาพที่สวยงามและมีรสนิยม

ครูโก้มองว่า หนังสือภาพเป็นงานศิลปะ นอกจากเนื้อหาจะสร้างความคิดที่ดีให้เด็กได้แล้ว รูปภาพก็ยังสร้างรสนิยมในการเสพงานศิลป์ในอนาคตให้เด็กด้วย ซึ่งเป็นทักษะที่เด็กไทยยังต้องพัฒนาอีกมาก

 

 

นอกจากนี้ ครูโก้ยังสอนเด็กๆ ที่มีความต้องการพิเศษด้วยศิลปะและดนตรีบำบัด แล้วก็ใช้หนังสือภาพในการช่วยเสริมสร้างคำศัพท์ด้วย

เด็กหลายคนอ่านออกเสียงได้แต่ไม่รู้ความหมาย ครูโก้ก็ชวนอ่านหนังสือภาพ จัดบรรยากาศช่วงอ่านหนังสือให้สบาย เด็กๆ ก็ติดใจการอ่าน อ่านเล่มเดิมซ้ำบ้าง เปลี่ยนเล่มใหม่บ้าง พออ่านมากเข้า เด็กๆ เหล่านี้ก็จำคำศัพท์และประโยคจากหนังสือนิทานมาใช้ในชีวิตจริง

ในช่วงสิบปีให้หลังมานี้ ครูโก้ได้ทำงานกับกลุ่มคนที่เห็นความสำคัญของสื่อสำหรับเด็กมากขึ้น และสัมผัสได้ถึงความหวังจากเครือข่ายนี้ 
แม้ว่ากลุ่มคนที่มาจับมือกันนั้น จะเป็นเพียงคนตัวเล็กๆ ก็ตาม

…………………......................................................

 

ตอนที่ผู้เขียนได้พูดคุยกับทั้งสามท่านนี้ ก็รู้สึกถึงพลังที่ส่งผ่านถ้อยคำและน้ำเสียง เป็นความมุ่งมั่นที่จะทำให้มนุษย์ตัวเล็ก ๆ ให้มีความสุขและเติบโตไปเป็นกำลังสำคัญของสังคม

"เมืองเชียงใหม่" ในขณะนี้มีต้นไม้มากมาย แต่รากนั้นไม่รู้ว่าเปราะบางเพียงใด จะโอนอ่อนไปตามกระแสลมใดบ้างไม่มีทางรู้ได้ 
คุณครูทั้งสามท่านในบทความนี้ อาจทำได้แค่หว่านเมล็ดและรดน้ำจนต้นกล้าโผล่พ้นพื้นดิน

สังคมมีหน้าที่รับบัวรดน้ำนั้นมา วิ่งไปหยิบเสียมมาพรวดดิน ใส่ปุ๋ยให้ต้นไม้เหล่านี้งอกงามและมีรากที่แข็งแรง

 

 

อ่านบทความอื่นๆ ของผู้เขียน

หนังสือภาพสำหรับเด็ก : หนังสือภาพสำหรับทุกคน

สิ่งแวดล้อมและหนังสือภาพ

ในวันที่โลกโหดร้าย ยังมี 'หนังสือภาพ' เยียวยาหัวใจ