วิริญจน์ หุตะสังกาศ
"ตาบอกว่า โลกนี้คือของขวัญ ถ้าเราใจดีกับดิน น้ำ ป่า ท้องฟ้า ภูเขา โลกจะใจดีกับเราด้วยเช่นกัน"
เมื่อเปิดหนังสือภาพเรื่อง วันนี้หนูกินอะไรดีนะ ของครูแอม-วิรตี ทะพิงค์แก ก็จะพบประโยคดังกล่าว
ประโยคนี้อ่านแล้วอาจดูเหมือนเป็นประโยคบอกเล่าธรรมดา แต่จริง ๆ แล้วเป็นประโยคชวนคิด ชวนให้ตั้งคำถาม เพราะประโยคนี้มีสิ่งที่ดูจะ "เป็นไปไม่ได้" ตั้งมากมาย
ทำไมโลกนี้จึงเป็นของขวัญ เราเกิดมาก็อยู่บนโลกใบนี้แล้วนี่นา
ทำไมเราต้องใจดีกับดิน น้ำ ป่า ท้องฟ้า ภูเขา ในเมื่อสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่คนสักหน่อย
หรือต่อให้อยากใจดีด้วย ต้องทำยังไงกันนะ
ผู้อ่านที่เป็นผู้ใหญ่อาจตอบได้ทันทีว่า "ก็เป็นประโยคชวนอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมยังไงล่ะ"
นั่นเป็นเพราะผู้ใหญ่มีประสบการณ์ ได้อ่าน ดู ฟัง สื่อต่าง ๆ ที่ชวนในมนุษย์มาสนใจสภาพของโลกตลอดช่วงเวลา 30 กว่าปีที่ผ่านมา
แต่อีกคำถามหนึ่งที่แฝงไว้สำหรับผู้ใหญ่ที่อ่านประโยคนี้คือ
"แล้วที่ผ่านมา คุณใจดีกับดิน น้ำ ป่า ท้องฟ้า ภูเขา จริง ๆ หรือ"
ดังที่เคยกล่าวไว้ในบทความ "หนังสือภาพสำหรับเด็ก : หนังสือภาพสำหรับทุกคน" ว่าหนังสือภาพทุกเล่มสื่อสารกับมนุษย์ทุกวัยได้
เพราะฉะนั้น ในขณะที่เด็กกำลังซึมซับความรู้ใหม่ ผู้ใหญ่ก็ได้ไตร่ตรองถึงอดีตและปัจจุบันของตนไปด้วย
บทความนี้จึงอยากจะชวนทั้งเด็กและผู้ใหญ่มาอ่านหนังสือภาพเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เด็ก ๆ จะได้ทำความรู้จักองค์ประกอบต่าง ๆ ของธรรมชาติรอบตัว และค้นหาคำตอบว่า "โลกให้อะไรแก่เรา และทำไมเราต้องใจดีกับโลก"
ส่วนผู้ใหญ่ก็จะได้ทบทวนว่า "เราใจดีกับโลกบ้างหรือยังนะ"
1. วันนี้หนูกินอะไรดีนะ ของ วิรตี ทะพิงค์แก และ จุฑามาศ ประมูลมาก (สำนักพิมพ์ Mountain Mind)
หนังสือภาพเล่มแรกที่จะพูดถึง คือเล่มที่ทำให้เกิดบทความนี้
ถ้อยคำในหนังสือเล่มนี้เรียบง่ายแต่ทรงพลัง เพราะเป็นการเตือนใจผู้อ่านว่า "หากเราไม่ดูแลโลก เราจะไม่มีอาหารกิน"
แต่ข้อความที่ปรากฏอยู่บนหน้ากระดาษเป็นการบรรยายโดยปราศจากอคติว่า โลกทำให้เรามีพืชพันธุ์ธัญญาหาร มีกุ้งหอยปูปลาและเนื้อสัตว์ต่าง ๆ ภูเขาและลำธารทำให้เราสรรค์สร้างอาหารนานาชนิด
ภาพวาดทุกหน้าเก็บรายละเอียดสิ่งที่ธรรมชาติมอบให้มนุษย์ได้อย่างครบถ้วน ชวนให้ลากนิ้วไปตามภาพต้นไม้ ผัก ผลไม้ สัตว์ต่าง ๆ เพื่อทายว่า "นี่คืออะไรนะ"
2. แค็ก! แค็ก! มังกรไฟ ของ พี่หนูหริ่ง และ Viwenny (โครงการวาดหวังหนังสือ)
ทุกครั้งที่เกิดปัญหา PM 2.5 คนกลุ่มแรกที่จะตกเป็นเหยื่อของสังคมคือ "เกษตรกรบนดอย"
แต่อาจลืมคิดไปว่า "คนในเมือง" ก็มีส่วนมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการใช้ถ่านไม้ในครัวเรือนหรือร้านอาหารปิ้งย่างทั้งหลาย การใช้รถยนต์ การโดยสารเครื่องบิน ล้วนทำให้เกิด PM 2.5 ทั้งสิ้น
หนังสือภาพเล่มนี้ไม่ได้กล่าวโทษใคร แต่นำเสนอชีวิตของประชาชนบนดอยที่ต้องสูดดมควันจากไฟป่าไม่ต่างจากคนในเมืองเลย
ไฟป่าในเรื่องนี้ถูกจับแปลงร่างให้เป็นมังกรที่จะมาทำลายหมู่บ้าน ทุกคนในหมู่บ้าน ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ จึงต้องช่วยกันหาทางปราบเจ้ามังกรไฟ
นอกจากนี้ ยังให้ความรู้เรื่องสัตว์ต่าง ๆ ที่ตายเพราะไฟป่า สาเหตุของการเกิดไฟป่า และผลกระทบของฝุ่น PM 2.5 ต่อสุขภาพของมนุษย์อีกด้วย
หนังสือภาพเล่มนี้ บางหน้ามีข้อความค่อนข้างเยอะ (เช่นหน้าที่ตัวละครช่วยกันแสดงความเห็นเรื่องการดับไฟป่า) คล้ายสารคดีสำหรับเด็ก แต่บางหน้าก็กลับมาเป็นการเล่านิทาน จึงเหมาะกับการนำมาเล่นละครให้เด็ก ๆ ดู
3. คุณลุงชอบปลูกต้นไม้ ของ เกริก ยุ้นพันธ์ (สำนักพิมพ์ขวัญเจ้าเอย)
'
ข้อความในหนังสือภาพเล่มนี้จะไม่ได้กล่าวถึงความสำคัญของธรรมชาติโดยตรง
แต่ความ "ชอบปลูกต้นไม้" ของตัวละครคุณลุง และคำศัพท์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการปลูกต้นไม้ที่ปรากฏตลอดทั้งเรื่องอาจทำให้ผู้อ่านตั้งคำถามว่า "ต่อกิ่ง ทาบกิ่ง ปักชำ มันทำยังไงนะ" "ปลูกต้นไม้ทุกวันมีความสุขจริงหรือ"
เด็ก ๆ อาจจะถามผู้ใหญ่ ส่วนผู้ใหญ่ที่ไม่ชำนาญเรื่องต้นไม้นักก็อาจต้องทบทวนวิชาเกษตรสมัยประถมศึกษากันบ้าง
และเมื่อผู้อ่านพินิจภาพวาดของครูเกริกดี ๆ แล้วก็จะเข้าใจว่าต้นไม้ให้อะไรมนุษย์มากมาย ทั้งดอกไม้และผลไม้ กิ่งก้านก็มีไว้แขวนชิงช้าให้เล่น แถมยังเป็นบ้านของสรรพสัตว์ (และรุกขเทวดา) อีกด้วย
ผู้ใหญ่และเด็กสามารถเล่นเกมตามหาสัตว์ต่าง ๆ ในแต่ละหน้าได้ด้วยนะ
หนังสือทั้งสามเล่มนี้เป็นตัวอย่างของการย่อส่วนข้อมูลอันมหาศาลมานำเสนอด้วยวิธีที่ผู้อ่านจะเข้าใจได้ง่ายที่สุด
หนังสือภาพจึงเป็นเครื่องมือที่ใช้ง่ายและทรงพลังมากในการส่งเสริมความรู้ด้านสิ่งแวดล้อม ปลูกฝังความเห็นอกเห็นใจ ความเข้าใจ และความรับผิดชอบต่อโลกของเราให้เด็ก ๆ ได้ตั้งแต่อายุยังน้อย
เด็กที่อ่านหนังสือภาพเหล่านี้ (และเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับธรรมชาติและระบบนิเวศ) จะค่อย ๆ ซึมซับความสำคัญของดิน น้ำ ป่า ท้องฟ้า ภูเขา ว่าถ้าขาดสิ่งเหล่านี้ไป มนุษย์และสัตว์ต่าง ๆ จะดำรงชีวิตอยู่ไม่ได้
และจะถูกปลูกฝังทัศนคติที่ดีต่อธรรมชาติว่าเราต้องใจดีกับโลกด้วยวิธีการต่าง ๆ ที่หนังสือภาพได้นำเสนอ เช่น การกินอาหารตามฤดูกาล การป้องกันไฟป่า การปลูกต้นไม้ เป็นต้น
แนะนำหนังสือภาพที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเรื่องอื่น ๆ
- ใครเขมือบก๊อบแก๊บ (สำนักพิมพ์ Happy Kids)
- ป่า ดอย บ้านของเรา (มูลนิธิส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่าน)
- Wetland แดนมหัศจรรย์ (มูลนิธิโลกสีเขียว)
- บ้านฉันมหัศจรรย์ (สำนักพิมพ์ห้องเรียน)
อ่านบทความอื่นๆ ของผู้เขียน
หนังสือภาพสำหรับเด็ก : หนังสือภาพสำหรับทุกคน