Skip to main content

วิริญจน์ หุตะสังกาศ

 

ยังจำกันได้ไหมว่า "หนังสือภาพเล่มสุดท้ายที่คุณอ่านชื่ออะไร?” แล้ว “หนังสือภาพเป็นหนังสือสำหรับเด็กเท่านั้นหรือ?”

คำถามนี้ชวนคิดไปได้ว่า ผู้ใหญ่เองยังชอบดูภาพ ชอบไปชมงานศิลปะที่พิพิธภัณฑ์ ชอบการอ่านเรื่องผ่านภาพ เช่น Infographic ชอบอ่านมังงะ ชอบดูอนิเมะที่มีภาะลายเส้นสีสันสวยงาม 

ขณะเดียวกัน หนังสือภาพหลายเล่ม มีภาพวาดระดับที่เข้าขั้นผลงานศิลปะชั้นเลิศ กอรปกับการเล่าและถ่ายทอดเรื่องราวผ่านความคิดสร้างสรรค์ผสานกลมกลืนกับภาพวาดที่สวยงาม

เนื้อหาของหนังสือภาพก็มิได้จำกัดอยู่เพียงเรื่องราวสนุกสนานร่าเริงเท่านั้น ยังมีเรื่องของสิ่งแวดล้อม การลาจาก ความตาย ความรุนแรง ความสัมพันธ์ และประเด็นปัญหาต่าง ๆ ในสังคมอีกมากมาย

บทความนี้เชิญชวนคุณผู้อ่านไขความพิเศษของ “หนังสือภาพ” รวมถึงทบทวน ทำความรู้จักกับ “หนังสือภาพ” ที่มากกว่าภาพวาดน่ารักกับคำบรรยายสั้นๆ สำหรับเด็ก รวมถึงหยิบยกหนังสือภาพที่น่าสนใจมาเพิ่มสีสันและอรรถรสในการอ่านบทความ

 

เมื่อปลายปี 2566 สำนักพิมพ์ Barefoot Banana ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (TCDC)  

จัด "เทศกาลหนังสือภาพสำหรับเด็ก 2566" (Children’s Picture Book Festival 2023) มีผู้ปกครองและคุณครูพาเด็ก ๆ มาเยี่ยมชมมากมาย

ผู้ใหญ่บางคนได้เรียนรู้เรื่องการทำหนังสือภาพไปพร้อมกับเด็ก ๆ บางคนได้ระบายสีลงบนผนังนิทรรศการ 

บางคนได้เล่นของเล่นกับเด็ก ๆ และบางคนเปิดดูหนังสือภาพที่ "ผลิตขึ้นมาเพื่อเด็ก" ด้วยความอยากรู้อยากเห็นเองเป็นครั้งแรก

ผู้อ่านบทความนี้ส่วนมากคงเป็นผู้ใหญ่ ยังจำกันได้ไหมว่า "หนังสือภาพเล่มสุดท้ายที่อ่านชื่ออะไร" หากท่านใดมีน้องเล็กหรือลูกหลาน คงตอบได้โดยแทบไม่ต้องคิดแต่ท่านใดที่ไม่ได้ใกล้ชิดเด็ก ๆ หรือทำงานกับหนังสือ อาจต้องย้อนเวลากันสักนิด

 

ทำไมผู้ใหญ่ไม่อ่านหนังสือภาพ ?

หากย้อนเวลากลับไปในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ที่สำนักพิมพ์ตะวันตกเริ่มแบ่งช่วงอายุของผู้อ่านตามประเภทหนังสือ หนังสือสำหรับเด็กเล็กมักมีข้อความสั้น ๆ เพียง 1-2 ประโยคต่อภาพหนึ่งภาพ ภาพมักทำหน้าที่เล่าเรื่องเป็นหลัก แสดงให้เห็นหน้าตาของตัวละคร รายละเอียดของฉาก การกระทำต่าง ๆ ของตัวละคร ข้อความนั้นอาจเป็นเพียงคำพูดของตัวละครหรือคำบรรยายการกระทำสั้น ๆ เท่านั้น

หนังสือสำหรับเด็กที่โตขึ้นมาจะมีข้อความยาวขึ้นเรื่อย ๆ และภาพค่อย ๆ ลดบทบาทจากการเป็นผู้เล่าสู่การเป็น "ภาพประกอบ"

จนสุดท้ายภาพอาจหายไปเลยในนวนิยายสำหรับเด็กก่อนวัยรุ่น แปลว่ามนุษย์เชื่อมโยงหนังสือกับข้อความ ยิ่งอายุมากขึ้น รู้หนังสือมากขึ้น ก็ต้องอ่านข้อความมากขึ้น ภาพที่เคยช่วยเล่าเรื่องก็ไม่จำเป็นอีกต่อไป

แต่ผู้ใหญ่ก็ยังชอบดูภาพ ยังชอบไปพิพิธภัณฑ์ศิลปะ ชอบอ่าน Infographic ที่ย่อยข้อมูลยาว ๆ มาเป็นภาพที่เข้าใจง่าย ชอบอ่านมังงะ ชอบดูอนิเมะ ทั้งหมดนี้ล้วนใช้ภาพในการช่วยเล่าเรื่องทั้งสิ้น

แล้วเหตุใดผู้ใหญ่จึงมองว่าหนังสือภาพเป็นหนังสือสำหรับเด็กเท่านั้น บทความนี้จะชวนท่านผู้อ่านมารู้จักหนังสือภาพกันเสียก่อน

หนังสือภาพ หมายถึง หนังสือที่ใช้ภาพเล่าเรื่องไปพร้อมกับข้อความ ไม่ใช่เป็นเพียงภาพประกอบเท่านั้น โดยทั่วไป สัดส่วนของภาพจะมากกว่าข้อความเสมอ หนังสือภาพนี้ภาษาอังกฤษเรียกว่า “picturebook” ภาษาเยอรมันเรียกว่า “Bilderbuch” 

ส่วนในภาษาฝรั่งเศสเรียกว่า "album" ซึ่งเป็นคำที่แปลได้หลายความหมาย ทั้งผลงานรวมเพลง สมุดเก็บภาพถ่าย หรือหนังสือภาพ

หนังสือภาพหลายเล่มมีภาพวาดที่เป็นงานศิลปะอย่างแท้จริง ผู้อ่านจะได้ชื่นชมความคิดสร้างสรรค์และความสามารถในการเล่าเรื่องด้วยภาพของนักวาด ไม่ต่างจากการชื่นชมงานศิลปะในพิพิธภัณฑ์เลย (ในต่างประเทศมีพิพิธภัณฑ์รวบรวมผลงานของนักวาด เช่น Musée Tomi Ungerer ในประเทศฝรั่งเศส Chihiro Art Museum ในประเทศญี่ปุ่น หรือ Quentin Blake Centre for Illustration ในประเทศอังกฤษ)

นอกจากนี้ เนื้อหาของหนังสือภาพก็มิได้จำกัดอยู่เพียงเรื่องราวสนุกสนานร่าเริงเท่านั้น ยังมีเรื่องของสิ่งแวดล้อม การลาจาก ความตาย ความรุนแรง ความสัมพันธ์ และประเด็นปัญหาต่าง ๆ ในสังคมอีกมากมาย

ฉะนั้น นอกจากเด็กซึ่งเป็นกลุ่มผู้อ่านหลักแล้ว ผู้แต่งหนังสือภาพหลายคนยังต้องการส่งสารไปแก่ผู้ใหญ่ที่มีหน้าที่เลือกหนังสือให้เด็ก เนื่องจากผู้ใหญ่กลุ่มนี้มักต้องอ่านและทำความรู้จักหนังสือเล่มนั้น ๆ ให้ดีเสียก่อนจะให้เด็กอ่านหรือนำไปอ่านกับเด็ก (เพราะเด็กคงไม่ไปซื้อหนังสือด้วยตนเอง)

 

‘หนังสือภาพ’ เป็นมากกว่าสื่อสำหรับเด็กเล็ก

จากเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น ผู้แต่งหลายคนจึงนำเสนอภาพของผู้ใหญ่ในอุดมคติของสังคมผ่านตัวละครพ่อแม่ ครู หรือผู้ใหญ่ที่มีบทบาทสำคัญในเนื้อเรื่องเช่นกัน

ดังนั้น การหยิบหนังสือมาอ่านในแต่ละช่วงวัยก็เกิดความรู้สึกที่แตกต่างกันออกไป ผู้เขียนขอยกหนังสือภาพเหล่านี้มาเป็นตัวอย่าง

 

1. สิ่งที่เราสร้าง ของโอลิเวอร์ เจฟเฟอร์ส (สำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์)

หนังสือภาพเล่มนี้ นำเสนอความรักของพ่อที่พร้อมจะปกป้องลูกและเฝ้าดูลูกเติบโต สร้างอนาคตไปด้วยกัน เป็นหนังสือที่ผู้ใหญ่ใช้อ่านออกเสียงให้เด็กฟังเพื่อแสดงความรักและความห่วงใย และอาจเป็นการย้อนเวลากลับไปมองตนเองเมื่อยังเด็กด้วย ว่าพ่อแม่ที่ตอนนี้อยู่ในวัยชราหรือจากไปแล้วเคยดูแลปกป้องเราดังในหนังสือหรือไม่ เป็นการย้ำเตือนให้คอยสานสร้างสายใยในครอบครัวให้แน่นแฟ้น

 

 

2. นกฮูกที่ไม่เคยบิน ของ ครูแจนแจน และ ฮิโรกะ ลิมวิภูวัฒน์ (สำนักพิมพ์ Barefoot Banana)

ภาพประกอบของหนังสือภาพเล่มนี้คืองานศิลปะที่ผู้อ่านจะได้ไล่ดูทุกรายละเอียด ทว่าผู้แต่งได้บอกว่า "มีเกมแฝงไว้ในเรื่องที่มีเพียงเด็กเท่านั้นที่จะสังเกตเห็นและเล่นจนชนะได้"

ผู้เขียนได้ทดลองอ่านหนังสือเล่มนี้กับผู้อ่านวัยอนุบาลและวัยมหาวิทยาลัย ก็เห็นเป็นจริงตามนั้น ผู้อ่านวัยอนุบาลทุกคนชี้รายละเอียดที่แอบซ่อนไว้และหัวเราะคิกคักเมื่อพลิกหน้ากระดาษ แต่ผู้อ่านวัยมหาวิทยาลัยสนใจเพียงเนื้อหาและภาพวาดโดยองค์รวมเท่านั้น แต่เมื่อชี้ให้เห็น "เกม" ดังกล่าว ก็สนุกสนานไม่ต่างจากเด็กอนุบาล จะเห็นว่าผู้ใหญ่ก็สนุกกับหนังสือภาพได้เช่นกัน
 

 

 

 

3. จระเข้น้อยผู้ไม่ชอบน้ำ ของ เกมมา เมอริโน (สำนักพิมพ์ Little Heart)

หนังสือภาพเล่มนี้เหมาะสำหรับผู้ใหญ่ที่คุ้นเคยกับการอ่านการ์ตูน เพราะการเล่าเรื่อง มีการแบ่งช่องเพื่อวาดภาพที่ต่อเนื่องกัน คล้ายการ์ตูนสั้นจบในเล่ม อีกทั้งยังมีท่าทางของตัวละครที่ต้องตั้งใจสังเกต (จระเข้กลัวน้ำ เลยใช้นิ้วเท้าแหย่น้ำเพื่อลองเชิง) ทั้งนี้มีคำใบ้ตั้งแต่หน้าแรกว่าทำไมจระเข้น้อยไม่ชอบน้ำ สุดแล้วแต่ว่าผู้อ่านจะสังเกตหรือไม่

 

 

 

4. วันหนึ่ง หมาตัวหนึ่ง ของ กาบรีแยล แว็งซ็อง (มูลนิธิเอสซีจี)

เรามักคุ้นเคยกับภาพสีสันสดใสในหนังสือภาพ แต่ภาพในหนังสือเล่มนี้เป็นเพียงภาพร่างดินสอบนกระดาษขาว ไม่มีข้อความ แต่กลับสื่อความรู้สึกของสุนัขที่ถูกทอดทิ้งได้อย่างดีเยี่ยม ส่วนที่เว้นโล่งสื่อถึงความว่างเปล่าในชีวิตที่ไม่เหลือใคร และลายเส้นดินสอได้ทำหน้าที่เล่าเรื่องแทนข้อความไว้ทั้งหมด หนังสือเล่มนี้ถูกจัดเป็นหนึ่งในหนังสือภาพคลาสสิกของประเทศฝรั่งเศส

 

 

 

บทความสั้น ๆ นี้ เป็นเพียงการเชิญชวนให้ผู้อ่านชาวไทยทุกท่านเปิดใจ (กลับไป )อ่านหนังสือภาพ (อีก) สักครั้งหนึ่ง แล้วจะเห็นว่าหนังสือภาพมิใช่เพียงสื่อสำหรับเด็กเล็กที่ยังไม่รู้หนังสือเท่านั้น

แต่เป็นงานศิลปะที่ผ่านกระบวนการคิด ออกแบบ และทดลองมามากมาย เป็นการผสมผสานระหว่างศิลปะ การเล่าเรื่อง และจินตนาการที่ดึงดูดผู้อ่านทุกวัย

สำหรับผู้ใหญ่แล้ว หนังสือภาพที่เคยอ่านอาจทำให้เราหวนย้อนนึกถึงวันวาน หนังสือภาพเล่มใหม่อาจสร้างความตื่นเต้นกับภาพวาดและความหมายที่แฝงอยู่

ลองหยิบหนังสือภาพที่ร้านหนังสือสักเล่ม ลูบกระดาษแต่ละหน้า พลางมองรายละเอียดของภาพวาด ก่อนจะเริ่มอ่านข้อความดูนะคะ