Skip to main content

นับตั้งแต่ 'วิโรจน์ ลักขณาอดิศร' ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เผยแพร่เอกสารที่ระบุว่าเป็น ร่าง พ.ร.ก. ซึ่งจะมีผล 'นิรโทษกรรม' บุคลากรสาธารณสุข กรณีรักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคโควิด-19 ก็มีเสียงคัดค้านดังขึ้นจากหลายฝ่าย ไม่เพียงแค่นักการเมืองทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล แต่รวมถึง 'ภาคีบุคลากรสาธารณสุข' ด้วยเช่นกัน

ผู้ไม่เห็นด้วยระบุว่า บางข้อความของร่าง พ.ร.ก.ดังกล่าว "มีปัญหา" เพราะระบุความคุ้มครอง "บุคคลหรือคณะบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งหรือมอบหมายจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดหาหรือบริหารวัคซีน" ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าเป็นการเปิดทางให้ผู้มีอำนาจในรัฐบาล "ไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ" จากการบริหารจัดการสถานการณ์โรคระบาดที่ผิดพลาด ทั้งยังมีผล 'คุ้มครองย้อนหลัง' ขัดต่อหลักความรับผิดชอบ (accountability) ในหลักธรรมาภิบาล 

จากกรณีที่เกิดขึ้น the Opener ได้รวบรวมกรณีศึกษาที่รัฐบาลต่างประเทศพยายามออกกฎหมายจำกัดความรับผิดที่เกี่ยวเนื่องกับสถานการณ์โควิด-19 แต่ถูกวิพากษ์วิจารณ์จนต้องทบทวนท่าที บ่งชี้ว่ารัฐบาลในหลายประเทศยังรับฟังความคิดเห็นของภาคส่วนต่างๆ ในสังคม แต่ก็มีบางรัฐบาลเช่นกันที่ผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมตัวเองจนสำเร็จ โดยใช้วิธีการที่ถูกวิจารณ์ว่า "ไม่ชอบมาพากล"

กฎหมายเอื้อประโยชน์ต่อผู้มีอำนาจมากกว่าผู้ปฏิบัติหน้าที่ 

ผู้ไม่เห็นด้วยกับ ก.ม.หรือร่าง ก.ม.ที่ระบุถึงการ "จำกัดความผิด" เกี่ยวกับความรับผิดชอบด้านบริหารจัดการสถานการณ์โรคโควิด-19 ในหลายประเทศ มีเหตุผลแตกต่างกันไป เช่น

1. โปแลนด์ 
สมาชิกรัฐสภาในสังกัดพรรคร่วมรัฐบาลโปแลนด์ ยื่นข้อเสนอให้ปรับแก้กฎหมายที่มีอยู่ โดยระบุให้ผู้มีอำนาจในรัฐบาลและผู้ปฏิบัติหน้าที่ทางการแพทย์ในสถานการณ์โควิด-19 ได้รับการคุ้มครอง ไม่ต้องถูกฟ้องร้องเอาผิด ทั้งทางแพ่งและทางอาญา โดยให้เหตุผลว่า โควิด-19 เป็นโรคอุบัติใหม่และเป็นภัยด้านสาธารณสุขระดับโลกที่ไม่มีใครมีความรู้มาก่อน รัฐบาลหรือผู้เกี่ยวข้องจึงควรได้รับการคุ้มครองจากการลงโทษ เพื่อให้การตัดสินใจและบริหารจัดการสถานการณ์เช่นนี้ดำเนินไปอย่างรวดเร็วทันต่อเหตุการณ์

แต่ผู้คัดค้านมองว่าทุกๆ รัฐบาลมีหน้าที่รับผิดชอบและบริหารจัดการสถานการณ์ต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพที่สุดเท่าที่จะทำได้โดยต้องคำนึงถึง 'ประโยชน์สาธารณะ' เป็นหลัก หากปฏิบัติตามหลักการข้อนี้ก็ถือว่ามีเหตุผลเพียงพอที่จะไม่ถูกดำเนินคดีอยู่แล้ว แต่การที่รัฐบาลพยายามผลักดันให้ปรับแก้ ก.ม.อาจทำให้ผู้เกี่ยวข้องกับการทุจริตโดย 'ตำแหน่งหน้าที่' ไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ 

ผู้คัดค้านได้ยกตัวอย่างกรณี รมว.สาธารณสุข ซึ่งอนุมัติให้กระทรวงจัดซื้อจัดหาหน้ากากอนามัยจากเพื่อนของตัวเอง แต่ภายหลังพบว่าหน้ากากดังกล่าวไม่ได้มาตรฐาน ไม่สามารถป้องกันเชื้อโรคได้ และอีกกรณีหนึ่ง คือเจ้าหน้าที่รัฐบาลสั่งซื้อเครื่องช่วยหายใจ 1,241 เครื่อง ในวงเงินกว่า 200 ล้านซวอตือ แต่ได้รับของมาแค่ 200 เครื่อง และไม่อาจทวงเงินคืนหรือเรียกร้องค่าเสียหายจากบริษัทเอกชนดังกล่าวได้ ซึ่งเข้าข่ายปฏิบัติหน้าที่หละหลวม แต่ถ้าปรับแก้ ก.ม.สำเร็จจะทำให้คนเหล่านี้ไม่ต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้น และส่งผลกระทบต่อประชาชนและบุคลากรการแพทย์หน้างาน

2. เอลซัลวาดอร์
รัฐสภาเอลซัลวาดอร์เห็นชอบกฎหมายฉบับใหม่ที่ให้เอกสิทธิ์คุ้มครองรัฐบาลในการบริหารจัดการสถานการณ์โรคโควิดเมื่อวันที่ 5 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยรัฐบาลไม่รับฟังเสียงคัดค้านของผู้ต่อต้าน ก.ม.นี้ ทั้งยังมีเสียงข้างมากในสภา จึงสามารถผ่าน ก.ม.ดังกล่าวออกมาได้ และก่อนหน้านั้น สมาชิกพรรครัฐบาลยังได้ร่วมกันลงคะแนนเสียงเห็นชอบให้ปลดอัยการสูงสุดของประเทศพ้นตำแหน่ง หลังจากที่อัยการคนดังกล่าวอนุมัติไต่สวนการทุจริตงบจัดซื้อจัดหาอุปกรณ์การแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับเครือข่ายของประธานาธิบดีนายิบ บูเคเล

ส่วนเว็บไซต์ด้านการสอบสวนคดีอาญาระบุว่าการสั่งปลดอัยการสูงสุดทำให้การไต่สวนคดีทุจริตด้านการบริหารจัดการโควิดที่เกี่ยวกับคนในรัฐบาลเอลซัลวาดอร์ต้องหยุดชะงักไป โดยรวมถึงคดีที่ รมว.สาธารณสุข และผู้จัดการกองทุนด้านสิ่งแวดล้อมแห่งชาติถูกกล่าวหาว่าเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้องและมีผลประโยชน์ทับซ้อน จากกรณีที่พวกเขาอนุมัติการซื้อถุงมือยางจากบริษัทที่เครือญาติของตนเองเป็นเจ้าของ และจัดซื้อจัดหาถุงมือยางรีไซเคิลในราคาสูงกว่าราคากลางของตลาดไปมาก แต่มีการอ้างเหตุผลว่าเป็นการจัดซื้อช่วงสถานการณ์ฉุกเฉิน สินค้าจึงแพงกว่าปกติ

3. สหรัฐอเมริกา
กรณีของรัฐบาลสหรัฐฯ ไม่ใช่เรื่องของการออกกฎหมายนิรโทษกรรมหรือให้เอกสิทธิ์คุ้มครองตัวเอง แต่สถาบันวิจัยด้านนโยบาย Brookings Institution ในสหรัฐฯ มองว่ามาตรการบางอย่างมีผลนิรโทษกรรมในทางอ้อม โดยยกตัวอย่างการผลักดัน 'พาสปอร์ตวัคซีน' ซึ่งนักวิจัยของสถาบันบรุ๊กกิงส์มองว่า เป็นการผลักภาระในการควบคุมและป้องกันโรคไปให้ประชาชนดูแลตัวเอง และไม่ใช่แค่เพียงรัฐบาลสหรัฐฯ เท่านั้น แต่รวมถึงรัฐบาลอื่นๆ ทั่วโลกที่พยายามผลักดันนโยบายเรื่องการจัดทำพาสปอร์ตวัคซีนด้วย

บทความของสถาบันบรุ๊กกิงส์ประเมินว่าผู้ที่ฉีดวัคซีนครบและมีพาสปอร์ตวัคซีนแล้วจะได้รับการผ่อนผันให้สามารถทำกิจกรรมหลายอย่าได้มากกว่าผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนครบจำนวน แต่ไม่อาจรับประกันได้เลยว่าผู้มีพาสปอร์ตวัคซีนเหล่านี้จะปฏิบัติตัวอย่างเคร่งครัดตามเงื่อนไขเรื่องการรักษาความปลอดภัยทางด้านสาธารณสุขในช่วงที่ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่กำลังแพร่ระบาดในหลายประเทศ ซึ่งจะทำให้ผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนได้รับความเสี่ยงเพิ่ม ทั้งยังทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้นในประชาคมโลก เพราะพลเมืองของประเทศร่ำรวยที่มีพาสปอร์ตวัคซีนจะได้รับเอกสิทธิ์บางอย่างให้สามารถเดินทางไปยังพื้นที่ต่างๆ ได้ แต่พลเมืองอีกหลายประเทศยังไม่ได้รับการจัดสรรวัคซีนโควิดอย่างทั่วถึงหรือเพียงพอ

กรณีร่าง พ.ร.ก.ของไทย แม้แต่เครือข่ายบุคลากรการแพทย์ก็ยังคัดค้าน 

กลุ่ม Nurse Connect ซึ่งเป็นการรวมตัวของพยาบาลจำนวนหนึ่งในประเทศไทย เป็นบุคลากรการแพทย์ที่ร่วมเผยแพร่เสียงทักท้วงที่มีต่อร่าง พ.ร.ก.จำกัดความรับผิดสำหรับบุคลากรสาธารณสุขในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-10) พ.ศ. .... ซึ่งกำลังเป็นกรณีถกเถียงในสังคมไทยอย่างมาก แม้ว่าในตอนแรก 'อนุทิน ชาญวีรกูล' รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของไทยจะให้สัมภาษณ์สื่อว่ายังไม่เห็นร่างดังกล่าวก็ตาม

ภายในเพจเฟซบุ๊กของกลุ่มเนิร์สคอนเน็กต์ได้เผยแพร่ลิงก์ไปยังเว็บไซต์ Change.org เพื่อให้ประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.ก.ดังกล่าวไปลงชื่อคัดค้าน และมีการอ้างถึงความเห็นของ 'ปาณิสรา' ตัวแทนของกลุ่มที่กล่าวในรายการข่าวค่ำ ช่อง Thai PBS เมื่อวันที่ 10 ส.ค.ที่ผ่านมาด้วยว่า

"คุณพูดวัตถุประสงค์เยอะแยะเลย พูดถึงความสำคัญของ พ.ร.ก.สำหรับบุคลากรที่ปฎิบัติหน้างาน แต่พอมาดูข้อปฏิบัติจริงกลับพบว่าไปคุ้มครองผู้บริหาร ไม่แปลกเลยว่าทำไมถึงมีคนตั้งคำถามว่านี่เป็นการสอดไส้หรือไม่ ก็ในเมื่อวัตถุประสงค์พูดอย่าง ทำจริงกลับมีอะไรอีกอย่างเพิ่มเข้ามา และยังไม่มีฝ่ายที่สนับสนุนและดัน พ.ร.ก.ฉบับนี้คนใดให้เหตุผลความชัดเจนตรงนี้ได้เลย มีเหตุผลอะไรที่ต้องคุ้มครองผู้ปฏิบัติงานระดับนโนบายก็พูดมา ไม่ใช่เอาเหตุผลของบุคลากรปฏิบัติงานมาอ้างค่ะ"

ท่าทีของเครือข่ายผู้ปฏิบัติงาน ต่างจากท่าทีของผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง โดย นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยผู้บริหารประกอบด้วย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข อธิบดีทุกกรม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา สถาบันวัคซีนแห่งชาติ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ องค์การเภสัชกรรม แพทยสภา สภาการพยาบาล ทันตแพทยสภา สภาเภสัชกรรม สภาเทคนิคการแพทย์ สภากายภาพบำบัด และแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ร่วมประกาศแถลงการณ์ขอให้มีการคุ้มครองผู้ปฏิบัติงานในสถานการณ์โควิด 19 โดยมีการจัดแถลงข่าวเมื่อ 11 ส.ค.ที่ผ่านมา

ส่วนข้อสงสัยที่คนในสังคมตั้งคำถามอย่างมากเรื่องนโยบายบริหารจัดการสถานการณ์โรคโควิด-19 ของรัฐบาลชุดปัจจุบัน มีทั้งกรณีที่รัฐล่าช้าในการจัดหาวัคซีนโควิด, การเลือกทำสัญญากับบริษัทวัคซีนเพียงไม่กี่รายและไม่ยอมเข้าร่วมในโครงการกระจายวัคซีนระหว่างประเทศ 'โคแวกซ์' ทั้งที่ปี 2563 มีเสียงทักท้วงจากทั้งฝ่ายค้านและภาคประชาสังคมให้เข้าร่วมแต่เนิ่นๆ, การจัดซื้อวัคซีนซิโนแวคอย่างต่อเนื่องแม้จะมีผลวิจัยบ่งชี้ว่าวัคซีนเชื้อตายตัวนี้มีประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์เดลตาได้น้อยกว่าวัคซีนชนิดสารพันธุกรรม mRNA 

นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการกระจายวัคซีนไฟเซอร์ที่ได้รับบริจาคมาจากรัฐบาลสหรัฐฯ ที่แม้รัฐบาลจะย้ำว่าดำเนินการอย่างโปร่งใส แต่ก็ยังมีหลายโรงพยาบาลต้องออกมาทักท้วงผ่านสื่อว่ายังไม่ได้รับวัคซีน หรือได้รับวัคซีนล่าช้า เช่นเดียวกับผู้ป่วยโควิดที่รอเตียงมีจำนวนมากจนกลุ่มอาสาสมัครต่างๆ ทั่วประเทศต้องเข้ามาช่วยจัดการแทนระบบสาธารณสุขของประเทศ แต่ยังไม่มีนโยบายที่ชัดเจนจากรัฐบาลว่าจะดำเนินการช่วยเหลือกลุ่มอาสาสมัครเหล่านี้อย่างไร