ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า จัดเฟซบุ๊กไลฟ์ทางเพจ Thanathorn Official เมื่อ 5 ส.ค.2564 ในหัวข้อ “ปัจจุบันและอนาคตประเทศไทยใต้โควิด” โดยได้คาดการณ์สถานการณ์โควิด-19 ในระยะตั้งแต่เดือน ส.ค.เป็นต้นไป และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศ
ธนาธรระบุว่า ตนมีความเชื่อเป็นอย่างยิ่ง ว่าการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน จะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย และรัฐต้องอธิบายให้ประชาชนเข้าใจและเท่าทันถึงสถานภาพของปัญหานั้น ๆ โดยมีสติแต่ไม่ตื่นตระหนก ซึ่งความจริงที่ต้องพูดให้ชัดในวันนี้ ก็คือสถานการณ์โควิดของประเทศไทยอาจจะเลวร้ายกว่านี้ในไตรมาสที่สามของปี 2564
ต้องลดอัตราติดเชื้อลงให้ได้ถึง 50% ก่อนต้น ก.ย. - หวั่นแนวโน้มติดเชื้อพุ่ง 5 หมื่น-ตาย 400 ต่อวัน
โดยธนาธรได้นำข้อมูลจาก Google Mobility Trend และ Facebook Movement Range Map ซึ่งเป็นข้อมูลที่ Facebook และ Google เปิดเผยแนวโน้มการเดินทางของประชากรจากสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ใช้แอปพลิเคชัน มาแสดงให้เห็นว่าประชาชนคนไทยเดินทางออกนอกบ้านมากขึ้นหรือน้อยลงเท่าไหร่
ซึ่งแสดงให้เห็นว่าหลังสถานการณ์โควิดและการล็อกดาวน์รอบแรก คนไทยเดินทางน้อยลงประมาณ 35% จากสถานการณ์ปกติ เมื่อมาถึงระลอกที่สองประชากรมีการเดินทางน้อยลงประมาณ 20% จากสถานการณ์ปกติ จนมาถึงล็อกดาวน์ครั้งปัจจุบัน ประชากรเดินทางลดลง 30% เมื่อเทียบกับสถานการณ์ปกติ
เมื่อนำข้อมูลดังกล่าวมาเปรี่ยบเทียบกับแบบจำลองอนาคต ที่จัดทำขึ้นโดยคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จะพบว่ามีความแปรผันสอดคล้องกันในระดับหนึ่ง ที่ชี้ให้เห็นว่าอัตราการแพร่ระบาดสามารถลดลงได้เมื่อประชากรจำกัดการเดินทางลง
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่ากังวล คือจากข้อมูลของแบบจำลองอนาคตนี้ หากเราสามารถลดการติดเชื้อได้เพียงแค่ 20% จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันอาจจะขึ้นไปถึง 50,000 คนในปลายเดือนกันยายน หากลดการแพร่ระบาดได้ 25% จำนวนผู้ติดเชื้ออาจเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ประมาณ 35,000 คนต่อวันในปลายเดือนกันยายน แต่ในอัตรานี้จำนวนผู้ติดเชื้อจะค่อย ๆ ลดลงในปลายเดือนสิงหาคม และอาจเพิ่มขึ้นอีกครั้งหลังจากการหยุดล็อกดาวน์ในเดือนกันยายน
แต่หากสามารถลดการแพร่เชื้อได้ 45-50% ขึ้นไป จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันอาจจะเหลือเพียงแค่ 4,000-5,000 คน และจะอยู่ในระดับคงที่หลังจากการล็อกดาวน์สิ้นสุดลง
ในแง่ของความต้องการเตียง แบบจำลองอนาคตนี้บ่งชี้ว่าปัจจุบัน มีจำนวนผู้ติดเชื้อที่ต้องการเตียงอยู่ที่ประมาณ 200,000 คน หากลดการแพร่ระบาดได้เพียง 20% จำนวนผู้ติดเชื้อที่ต้องการเตียงอาจจะเพิ่มขึ้นไปถึง 500,000 คนในเดือนกันยายน แต่หากลดการแพร่ระบาดได้ถึง 50% จำนวนผู้ติดเชื้อที่ต้องการเตียง อาจะจะลดลงเหลือ 84,500 คนได้
ในแง่ของจำนวนผู้เสียชีวิตก็ช่นกัน หากลดการแพร่เชื้อได้เพียง 20% ผู้เสียชีวิตรายวันอาจจะเพิ่มขึ้นถึงกว่า 400 คนต่อวันในเดือนกันยายน แต่หากลดการแพร่ระบาดลงได้ถึง 50% จำนวนผู้เสียชีวิตรายวันอาจจะอยู่ที่ระดับ 100 คนต่อวันในเดือนกันยายน
ธนาธรยังระบุด้วยว่าอย่างไรก็ตาม การลดการแพร่เชื้อไปถึงระดับ 50% อาจจะเป็นไปได้ยาก ระดับที่อาจจะมีความเป็นไปได้อยู่ที่ 30-35% ซึ่งก็จะไม่ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น หรือจะไม่ทำให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติได้ในเร็ววัน
เศรษฐกิจไทยระส่ำ เติบโตปี 64 อาจถึงขั้นติดลบ ขณะที่โลกโต 6%
ธนาธรระบุต่อไป ว่าทุกวันนี้สถาบันทางการเงินต่าง ๆ ที่ออกพยากรณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2564 ต่างมีการปรับลดตัวเลขการพยากรณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจทั้งหมด เช่น สถาบันวิจัยของธนาคารกสิกรไทย เคยพยากรณ์ในไตรมาสแรกว่าเศรษฐกิจไทยจะโตประมาณ 2.6% มาถึงไตรมาสสองลดการพยากรณ์ลงมาเหลือ 1.8% พอมาถึงเดือนกรกฎาคมก็ปรับลดการพยากรณ์เหลือเพียงแค่ 1%
ในขณะที่ กกร. หรือคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน เมื่อไตรมาสหนึ่งพยากรณ์ว่าเศรษฐกิจปี 2564 จะเติบโตขึ้น 2.5% พอมาถึงกลางปีก็ปรับเปลี่ยนลงเหลือประมาณ 1.3% และเมื่อมาถึงเดือนกรกฎาคมก็ปรับลดลงเหลือเพียง 0.8%
โดยที่การปรับพยากรณ์ลงนี้ ยังไม่ได้ใส่ปัจจัยการล็อกดาวน์ที่จะเกิดขึ้นในเดือนสิงหาคมนี้เข้าไปด้วย แปลว่าเศรษฐกิจไทยอาจเติบโตน้อยกว่าพยากรณ์ล่าสุดที่มีการปรับลดแล้วนี้อีก อาจไปถึงขั้นติดลบก็เป็นได้ เป็นอนาคตที่จะต้องบอกประชาชนอย่างตรงไปตรงมา ว่านี่คือสิ่งที่พวกเราจะต้องเผชิญ
ขณะเดียวกัน IMF หรือกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ได้ออกรายงานพยากรณ์เศรษฐกิจโลก “Fault Lines Widen in the Global Recovery” เมื่อเดือนกรกฎาคที่ผ่านมา ระบุโลกกำลังจะถูกแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มประเทศ คือประเทศกลุ่มที่ได้รับการฉีดวัคซีนเพียงพอแล้ว เศรษฐกิจจะกลับมาเติบโตเร็ว ขณะที่กลุ่มที่มีการฉีดวัคซีนไม่เพียงพอจะเติบโตทางเศรษฐกิจช้า
โดย IMF ได้พยากรณ์ว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2564 จะโตประมาณ 6% จากปีที่แล้ว -3.2% โดยประเทศที่พัฒนาแล้วจะเติบโต 5.6% ประเทศที่กำลังพัฒนาจะเติบโต 6.3% ส่วนประเทศไทยพยากรณ์ล่าสุดเติบโตอยู่ที่ 1%
“เมื่อเทียบกับที่ IMF พยากรณ์ ว่าประเทศที่กำลังพัฒนาทั้งโลกจะเติบโต 6.3% จะเห็นได้ว่าจากผลกระทบของสถานการณ์วิกฤตโควิดที่ผ่านมา กำลังจะซ้ำเติมการพัฒนาของประเทศไทย ให้ช้ากว่าโลกและช้ากว่าประเทศที่กำลังพัฒนาอื่น ๆ ปัญหานี้ไม่ใช่ปัญหาใหม่ ก่อนสถานการณ์โควิดประเทศไทยก็เติบโตช้ากว่าโลกและช้ากว่าเพื่อนบ้านอยู่แล้ว พอมาเจอสถานการณ์โควิดประเทศไทยก็จะเติบโตช้ากว่าโลกและช้ากว่าเพื่อนบ้านไปอีก หมายความว่าอินโดนีเซีย เวียดนาม ฯลฯ กำลังจะไล่ตามเราเข้ามาใกล้ขึ้นทุกวัน ๆ หมายความว่ามาเลเซีย สิงคโปร์ ไต้หวัน เกาหลีใต้ ฯลฯ กำลังจะเดินออกห่างจากเราไปไกลขึ้นทุกวัน ๆ” ธนาธรกล่าว
วัคซีนกำลังจะหมดประเทศ ถ้าล็อตใหม่ไม่เข้าเร็วๆ นี้ อาจเหลือฉีดได้อีกแค่ 3-4 วัน
ธนาธรกล่าวต่อไปว่า ดังนั้น สถานการณ์วันนี้จึงขึ้นอยู่กับวัคซีน ว่าจะฉีดให้ครบจำนวนที่เพียงพอได้เมื่อไหร่ ซึ่งจากข้อมูล ณ วันที่ 2 ส.ค. มีประชากรไทยที่ฉีดวัคซีนครบสองโดสแล้วเป็นจำนวน 3.9 ล้านคน หรือ 6% ของจำนวนประชากร คนที่ได้รับวัคซีนแล้วอย่างน้อยหนึ่งโดสมีจำนวน 21.5% ของจำนวนประชากร หรือ 14.2 ล้านคน ซึ่งหากเราต้องการไปถึงเป้าหมาย 100 ล้านโดสภายในสิ้นปี 2564 จะต้องฉีดให้ได้ 5.47 แสนโดสต่อวัน ในทุกวันที่เหลือนับตั้งแต่วันนี้
ปัญหาก็คือวัคซีนที่ได้รับจัดสรรอยู่ในประเทศไทยมีทั้งหมด 18.9 ล้านโดส ฉีดไปแล้ว 18.1 ล้านโดส หมายความว่าประเทศไทยเหลือวัคซีนอยู่อีกเพียงประมาณ 8 แสนโดส ถ้าฉีดในอัตราปัจจุบัน คือประมาณ 2 แสนกว่าโดสต่อวัน เราจะสามารถฉีดได้อีกเพียง 3-4 วันเท่านั้น
“ถ้าไม่มีวัคซีนล็อตใหม่เข้ามา เราก็จะไม่สามารถเพิ่มศักยภาพการฉีดวัคซีนอย่างเต็มที่ให้กับประชากรของเราได้เลย ซึ่งการฉีดวัคซีนได้ช้าก็จะส่งผลให้เราต้องอยู่กับความเสี่ยงที่จะเกิดคลัสเตอร์ใหม่ ๆ และการแพร่ระบาดรอบใหม่อยู่ตลอดเวลา ถึงแม้ว่าเราจะควบคุมการแพร่ระบาดรอบนี้ไปได้“ นายธนาธรกล่าว
ตกงาน-รายได้หด-หนี้สินเพิ่ม แนวโน้มวิบากกรรมประชาชนต้องเผชิญหากคุมระบาดไม่ได้
ธนาธรกล่าวต่อไปว่า ดังนั้น หากเราไม่สามารถลด % การแพร่ระบาดของไวรัสได้ สิ่งที่เราจะต้องเจอก็คือการเติบโตทางเศรษฐกิจที่อาจจะติดลบ และส่งผลกับรายได้ของประชาชน ที่ไม่ว่าจะเป็นภาคการท่องเที่ยว ที่เดิมสร้างรายได้ให้กับประเทศไทยถึง 2 แสนล้านบาทต่อเดือน แต่ปัจจุบันลดลงมาเหลือเพียง 4 พันล้านบาทต่อเดือนเท่านั้น
ส่วนภาคการเกษตร ตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ราคาข้าวหอมมะลิลดลง 6.7% จาก 10,862 บาทต่อตัน เหลือเพียง 10,134 บาทต่อตัน ในขณะที่ข้าวเจ้าความชื้น 15% ราคาลดลงในรอบสองเดือนที่ผ่านมา 7.4% จาก 8,474 บาทต่อตัน เหลือเพียง 7,844 บาทต่อตัน โดยสถานการณ์มีแนวโน้มจะเป็นเช่นนี้ต่อไปในฤดูเก็บเกี่ยวที่กำลังจะมาถึงอีก 2-3 เดือนข้างหน้า และราคาอาจจะต่ำลงกว่านี้อีก
ส่วนภาคแรงงานในระบบ นับตั้งแต่เดือนมกราคม 2563 มา ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ลดจำนวนลงไป 5% จากเดิม 11.67 ล้านคน หายไป 6 แสนคน เท่ากับว่ามีคนตกงานไปแล้วถึง 6 แสนคนเป็นอย่างต่ำที่สุด เพราะจำนวนนี้ยังไม่ได้นับรวมถึงแรงงานนอกระบบ ที่รายได้ลดลง ถูกเลิกจ้าง หรือต้องปิดกิจการไปด้วย แต่ไม่มีตัวเลขสถิติ
ปัญหาการตกงานและรายได้ที่ลดลง นำมาซึ่งหนี้สินของครัวเรือนที่มากขึ้น ซึ่งหากลองเข้าไปดูใน Google Trend ในสถานการณ์ปกติ จะมีคนค้นหาคำว่า “เงินกู้” “เงินด่วน” อยู่ที่ 35% โดยเฉลี่ยทุกเดือน แต่เมื่อเกิดการล็อกดาวน์ครั้งแรก มีผู้ค้นหาคำว่า “เงินกู้” “เงินด่วน” เพิ่มขึ้นถึง 100% แม้จะลดลงมาในปัจจุบันเป็น 68% แต่วันนี้ตัวเลขหนี้สินของครัวเรือนขึ้นไปสูงถึง 90% ของจีดีพี ซึ่งมากที่สุดเป็นประวัติการณ์แล้ว
เยียวยาไม่ถ้วนหน้า-วัคซีนก็ไม่มา ประชาชนอยู่บ้านไม่ได้เพราะจะอดตาย ระบาดก็ไม่มีวันลด
ธนาธรยังกล่าวด้วยว่า ดังนั้น การจำกัดการแพร่เชื้อจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อประชากรมีการฉีดวัคซีนสองเข็มเป็นจำนวนมากแล้วเท่านั้น แต่ก็เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าวันนี้เราไม่สามารถหาวัคซีนที่มีคุณภาพดีและมีปริมาณที่เพียงพอมาฉีดให้กับประชาชนได้
แต่เมื่อหาวัคซีนยังไม่ได้ สิ่งที่รัฐบาลต้องทำก็คือการเยียวยาอย่างสมเหตุสมผล เพื่อให้ประชาชนเกิดความไว้เนื้อเชื่อใจ ให้ความร่วมมือกับมาตรการล็อกดาวน์ มิเช่นนั้นการควบคุมการแพร่ระบาดก็จะไม่มีวันเป็นไปได้ ในสถานการณ์ที่ประชาชนต้องประสบกับความยากลำบากทางเศรษฐกิจในวันนี้ และในอนาคตที่จะหนักยิ่งกว่านี้
“การล็อกดาวน์ในเดือนสิงหาคมนี้ จำเป็นต้องมีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อไม่ให้สถานการณ์เลวร้ายลง ซึ่งจะทำได้ก็ต่อเมื่อรัฐบาลเยียวยาประชาชนอย่างสมเหตุสมผลได้สัดส่วน ให้ประชาชนมั่นใจว่าเขาจะไม่อดตาย พวกเขาจะได้รับการดูแลอย่างเป็นธรรมเมื่อเทียบกับเวลาที่เขาเสียไป ถึงแม้จะต้องใช้เงินมากแต่อย่างไรก็ถูกกว่าการปล่อยให้โรคระบาดถึงจุดเลวร้ายที่สุด ที่มีผู้ติดเชื้อ 50,000 คนต่อวัน” นายธนาธรกล่าวทิ้งท้าย