การศึกษาของมูลนิธิลอยด์รีจิสเตอร์ร่วมกับ Gallup ทำการสำรวจความมั่นคงทางการเงินของคนจำนวน 125,000 คนจาก 121 ประเทศ ระหว่าง เม.ย.2021 ถึง มี.ค.2022 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 โดยทำการสำรวจถึงความสามารถของผู้คนจะเอาตัวรอดในเรื่องปัจจัย 4 ภายใต้ภาวะที่ไม่มีรายได้เลย โดยจำแนกออกเป็นกลุ่มคนที่สามารถอยู่รอดได้เกิน 1 เดือน คนที่อยู่รอดได้ไม่ถึง 1 เดือน และคนที่อยู่รอดได้ไม่เกิน 1 สัปดาห์
การศึกษาพบว่า คนที่สามารถดูแลตัวเองได้ในเรื่องปัจจัย 4 ได้ยาวนานที่สุด อยู่ในประเทศที่เศรษฐกิจมีการพัฒนาแล้ว ส่วนคนที่ดูแลตัวเองในเรื่องปัจจัย 4 ได้เพียงระยะสั้น อยู่ในประเทศที่เศรษฐกิจกำลังพัฒนา โดยยังให้ความสำคัญกับความมั่นคงด้านการเงินในระดับที่น้อย
การระบาดใหญ่ของโควิด เป็นตัวอย่างล่าสุดที่ทำให้คนทั่วโลกสูญเสียรายได้ ธุรกิจจำนวนมากปิดตัวลงตั้งแต่ปีแรกของการระบาด ทำให้เกิดการเลิกจ้างเพิ่มสูงขึ้นในหลายประเทศ นอกจากนี้ รายงานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) คาดการณ์ว่า การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศจะทำให้คนกว่า 80 ล้านคนต้องสูญเสียงานประจำไปภายในปี 2030 โดยที่แรงงานภาคการเกษตรจะได้รับผลกระทบมากที่สุด
การศึกษานี้พบว่า มีคนทั่วโลกถึง 2.7 พันล้านคนที่สามารถดูแลเรื่องปัจจัย 4 ของตัวเองได้นานไม่ถึง 1 เดือนหรือน้อยกว่านั้นโดยที่ไม่มีรายได้เลย ในจำนวนนั้นมี 946 ล้านคนที่เอาตัวรอดได้นานที่สุดเพียง 1 สัปดาห์
การสำรวจชี้ว่า ภูมิภาคที่มีความอ่อนแอด้านการเงินสูงสุด คือ เอเชียใต้ และแอฟริกาเหนือ โดยร้อยละ 57 ของประชากรในเอเชียใต้ และร้อยละ 49 ของประชากรในแอฟริกาเหนือ สามารถดูแลเรื่องปัจจัย 4 ได้ไม่ถึง 1 เดือน ขณะที่ประชากรราว 1 ใน 4 ของทั้งสองทวีปสามารถดูแลเรื่องปัจจัย 4 ได้นานน้อยกว่า 1 สัปดาห์
ขณะที่ประชากรในประเทศที่พัฒนาแล้ว ร้อยละ 51 ของอเมริกาเหนือ และออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สามารถดูแลเรื่องปัจจัย 4 ของตัวเองได้นาน 4 เดือนโดยที่ไม่มีรายได้ ตามมาด้วยยุโรปเหนือและตะวันตก ร้อยละ 48 และยุโรปใต้ร้อยละ 42
ผลสำรวจยังเผยด้วยว่า คนทั่วโลกรู้สึกถึงความปลอดภัยในชีวิตน้อยลงเมื่อเทียบกับ 5 ปีก่อนหน้า โดยเฉพาะในอเมริกาเหนือ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีผู้เสียชีวิตจากโควิดสายพันธุ์เดลต้าเป็นจำนวนมาก ขณะที่ละตินอเมริกาและทางใต้ของแอฟริกา ผู้คนรู้สึกหวาดกลัวต่ออาชญากรรมที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สาเหตุที่ทำให้คนที่รู้สึกว่าชีวิตมีความปลอดภัยน้อยลง ครึ่งหนึ่งระบุว่า มาจากสงครามและการก่อการร้าย ปัญหาการเมืองและการคอรัปชัน รวมถึงอาชญากรรมและความรุนแรง มีเพียง 1 ใน 3 ที่ระบุว่า เกิดจากการระบาดของโควิด