Skip to main content

 

Libertus Machinus
 

 

ในไทย เรามักจะคุ้นว่าการทิ้งขยะไม่มีต้นทุน แต่ในความเป็นจริง โดยทั่วไปทุกเขตเทศบาลจะมีการคิดค่าทิ้งขยะทั้งสิ้น แต่ของไทยการจัดเก็บมักจะเป็นไปแบบไม่สม่ำเสมอ และค่าเก็บขยะก็น้อยมาก ขนาดเมืองใหญ่อย่าง กทม. ค่าทิ้งขยะเพียง 20 บาทต่อเดือนสำหรับบ้านเรือนทั่วไป ซึ่งถือว่าถูกมาก (ตัวอย่างประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์ ค่าเก็บขยะต่อเดือนของอพาร์ตเมนต์ประมาณ 250 บาท ส่วนบ้านประมาณ 900 บาท)

นี่เลยทำให้ หลายคนงงที่ เดือน ต.ค. 2025 ทาง กทม. จะปรับเพิ่มค่าทิ้งขยะเป็น 60 บาท "เว้นแต่" ทางครัวเรือนจะมีการ "แยกขยะ" ตามที่กำหนด ถึงจะเสียเงิน 20 บาทเท่าเดิม

แน่นอน นี่เป็นแนวทางที่จะทำให้ในระยะยาวสังคมไทยเป็น "สังคมแยกขยะ" ดังเช่นประเทศพัฒนาแล้วจำนวนมาก ซึ่งที่ต้องทำแบบนี้ อธิบายง่ายๆ ก็เพราะ "ขยะมันล้นโลก" แล้ว ข่าวเกี่ยวกับมลพิษไมโครพลาสติกที่ครอบคลุมตั้งแต่ขั้นบรรยากาศไปจนถึงห้วงทะเลลึกที่สุดมีตลอดเวลา ประเทศต่างๆ ในโลกก็พยายามทั้งรีไซเคิลและ "ลดปริมาณ" ขยะที่ต้องกำจัดให้ได้มากที่สุด ซึ่งหลายประเทศประสบความสำเร็จ มีบทเรียนมากมาย ไม่ว่าจะเป็นประเทศนอร์ดิกที่เอาขยะมาทำไฟฟ้าชีวมวลและลดขยะไปพร้อมกัน จนต้อง "นำเข้าขยะ" เพราะคนในประเทศผลิตขยะน้อยเกินไป หรือญี่ปุ่นที่แยกขยะในทุกระดับแบบมีประสิทธิภาพและชาญฉลาดจนทำให้เกิด "อุตสาหกรรมของมือสอง" ในประเทศ และทำให้ของที่ยังใช้ได้ถูกส่งออกมาให้คนใช้ต่อที่ประเทศอื่น

แต่ความยากเบื้องต้นคือ จะทำยังไงให้คนแยกขยะ? จะทำยังไงให้คนทิ้งขยะน้อยลง?

มีบทเรียนจากเมืองหนึ่งในอเมริกาที่น่าสนใจ เมืองที่ว่าคือ เมืองพลิมพ์ตัน รัฐแมสซาชูเซตส์

เมืองนี้ประชากร 3,000 คน ระบบทิ้งขยะเดิม คือ แต่ละบ้านต้องขับรถเอาขยะมาทิ้งเอง โดยเทศบาลจะขายสติกเกอร์ติดรถให้เข้า "ที่ทิ้งขยะ" ได้ 1 ปี สติกเกอร์ราคา 240 เหรียญ หรือประมาณ 7,800 บาท

ระบบนี้ดูจะไม่มีปัญหาอะไร นอกเสียจากว่า ค่ากำจัดขยะมันแพงกว่าเงินที่เก็บไต้จากสติกเกอร์ เพราะเมืองนี้ต้องจ้างคนคัดแยกขยะที่มาแบบรวมกัน แยกเสร็จก็ขนส่งขยะไปจำกัดตามประเภท และเมืองก็คือขาดทุนมาเรื่อยๆ จนทางเมืองตัดสินใจว่า ถ้าทิ้งขยะกันเท่าเดิม ต้องขึ้นราคาสติกเกอร์เท่านึง ถึงจะพอกับค่ากำจัดขยะ หรือขึ้นค่าทิ้งขยะเป็นปีละ 15,600 บาท

แน่นอน ถ้าทำแบบนั้นจริงชาวเมืองโวยแน่ๆ ทางเทศบาลก็เลยนึกไอเดียออกว่า ลองลดราคาค่าสติกเกอร์ดูให้เหลือแค่ประมาณ 2,100 บาทต่อปี แล้วคิดค่าทิ้งขยะตาม "ขนาดถุงขยะ" ที่ราคา 40-80 บาทโดยประมาณ โดยใช้ระบบให้คนไปซื้อถุงขยะเฉพาะเพื่อใส่ขยะ ที่ถุงเล็กราคา 40 บาท ถุงใหญ่ 80 บาท และทางเทศบาลก็จะรับแต่ขยะที่ใส่ถุงนี้มาเท่านั้น ไม่ใส่คือไม่รับ

ผลรวมๆ ด้านค่าใช้จ่าย อธิบายง่ายๆ ถ้าบ้านไหนมีแค่ขยะถุงเล็กแค่ถุงเดียวต่อสัปดาห์ ก็จะเสียค่าทิ้งขยะทั้งปีเบ็ดเสร็จ 4,200 บาท หรือจ่ายถูกกว่าเดิมอีก แต่กลับกัน ถ้าบ้านไหนขยะเยอะ ก็อาจต้องจ่ายเพิ่มขึ้น

แรกๆ คนโวยวายแน่นอน และมีการแอบทิ้งขยะนอกพื้นที่จัดเก็บนิดหน่อย แต่รวมๆ คือ 3 เดือนผ่านไปไม่มีคนแอบทิ้งขยะแล้ว และผ่านไป 1 ปี เมืองทั้งเมืองมีขยะลดลงประมาณครึ่งหนึ่ง และกลุ่มคนที่แฮปปี้ที่สุดไม่ใช่คน Gen Z ห่วงใยสิ่งแวดล้อม แต่เป็นคนแก่ๆ ที่แฮปปี้เพราะโดยทั่วไปคนแก่ๆ ผลิต "ขยะ" น้อย และระบบใหม่ ทำให้พวกเค้าเสียค่าทิ้งขยะน้อยลงต่อเดือนและต่อปี

ทั้งหมดนี้สอนอะไรเรา?

อย่างแรกเลย จริงๆ ระบบเก็บค่าทิ้งขยะตามปริมาณที่ทิ้งนี้ มีคำเรียกว่าระบบ "จ่ายเท่าที่ทิ้ง" (Pay As You Throw หรือ PAYT) โดยว่ากันว่า ออสเตรียเป็นชาติแรกที่เริ่มใช้ระบบนี้มาตั้งแต่ทศวรรษ 1940 แต่ระบบนี้มาเด่นมากๆ ในทศวรรษ 1970 ในตอนที่ญี่ปุ่นเริ่มใช้ระบบนี้ ส่วนพวกยุโรปมันเริ่มกลายเป็นระบบมาตรฐานมาตั้งแต่ทศวรรษ 2000 เป็นต้นมา ระบบนี้แบ่งเป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ

ประเภทแรก คือ เก็บตามปริมาณเป๊ะๆ ซึ่งวิธีการก็มักจะให้พลเมืองซื้อถุงขยะตามขนาดซึ่งราคาถุงโดยจะรวมค่ากำจัดขยะเอาไว้แล้ว บางประเทศจะแยกถุงตามชนิดขยะด้วย ถุงขนาดเท่ากันราคาก็อาจไม่เท่า เพราะขยะบางแบบต้นทุนการจำกัดสูงกว่า เป็นต้น

ประเภทสอง คือ มีการคิดเรตค่าเก็บขยะเดียวขั้นต่ำเรตเดียว แต่ถ้าทิ้งเกินกว่านั้นก็จะมีการเก็บเงินเพิ่ม

ประเภทสาม คือ ให้เลือกเก็บค่าธรรมเนียมเก็บขยะรายเดือนรายปีตาม "ขนาดถังขยะ" ที่ใช้ ถ้าบ้านไหนคิดว่าขยะน้อย ใช้ถังเล็ก ค่าเก็บขยะที่เจ้าหน้าที่มาเก็บรายปีก็จะถูกกว่าบ้านที่ถังขยะใหญ่กว่า เป็นต้น

ทั้งหมดนี้ เป็นตัวอย่างของรูปแบบใหญ่ๆ ในระบบ "จ่ายเท่าที่ทิ้ง" เท่านั้น มันยังมีแยกย่อยอีกมากมายได้ เช่นเคสของเมืองในแมสซาชูเซตส์ที่เล่ามา ก็ใช้ระบบคิดค่าธรรมเนียมตายตัวพื้นฐาน และเก็บค่าทิ้งขยะเพิ่มตามจำนวนขยะที่ทิ้ง โดย "ไม่ต้องแยกขยะ" เป็นต้น

กลับมาที่เมืองไทย ปัญหาที่เราอาจชวนคุยชวนคิดก็คือ สรุปว่าไทย ปัญหาคือคนไม่แยกขยะ หรือเราสร้างขยะมามากเกินไปกันแน่? แล้วมาตรการที่จะเริ่มใช้ตุลาคม 2025 จะเวิร์คหรือไม่? เพราะเอาจริงๆ ลองมองในระดับโลกแล้ว ปัญหาระดับพื้นฐานไม่ใช่ "คนไม่แยกขยะ" แต่มันเป็นเรื่องว่าคน "ผลิตขยะมามากเกินไป" โดยมาตรฐานที่ดูจะใช้ได้จริงในการ "ลดปริมาณขยะ" รวมๆ คือ คิดค่าทิ้งขยะให้แพง หรือ "ได้สัดส่วนกับค่ากำจัดขยะ" ค่าถุงขยะราคา 40 บาทนี่ไม่ได้แปลกเลย เพราะที่ประเทศค่าครองชีพสูงกว่าสหรัฐอเมริกาอย่างสวิตเซอร์แลนด์ ราคาถุงขยะก็เริ่มที่เท่านี้

ดังนั้น ถ้ามองในแง่นี้ ปัญหาของเมืองไทย อาจไม่ใช่เรื่องของคนไม่แยกขยะ เท่ากับว่าเราผลิตขยะมามากเกินไป และวิธีแก้ ในทางปฏิบัติก็คือต้อง "จ่ายเท่าที่ทิ้ง" โดยก็อาจทำเป็นระบบแบบที่เมืองในรัฐแมสซาชูเซตส์ใช้นั่นแหละ คือไม่ต้องสนใจเรื่องแยกขยะ แต่ไปเน้นเรื่องปริมาณขยะแทน

แต่ก็นั่นเอง ปัญหาในทางสังคมการเมืองก็คือ คนไทยน่าจะไม่คุ้นกับระบบแบบนี้ เพราะคนไทยชินกับการ "ทิ้งขยะฟรี" มาตลอด และถึงจ่ายเงิน ค่าทิ้งขยะเพียงเดือนละ 20 บาทก็น้อยมาก แบบเรียกได้ว่าถูกพอๆ กับ "ค่ารถเมล์"  ทั้งที่เงินเท่านี้ในหลายประเทศ ไม่ถือว่าไม่เพียงพอกับ "ต้นทุนการกำจัดขยะ" ถุงเล็กๆ ถุงเดียวด้วยซ้ำ

เรื่องพวกนี้อาจต้องคุยกันกว้างขวางขึ้นเพื่อหาข้อสรุป เพราะอย่างน้อยๆ คนไทยก็เคยชินกับการ "ไม่ต้องเสียค่าทิ้งขยะ" มาช้านาน ระดับที่พอโดนเก็บก็อาจคิดว่าเป็นมิจฉาชีพมาเก็บเงินด้วยซ้ำ เพราะไม่รู้ว่าการเป็นพลเมืองในเมืองหนึ่ง มันมีหน้าที่รองรับต้นทุนการกำจัดขยะที่ตัวเองก่อด้วย

กล่าวคือ ผู้คนทั่วโลกที่อยู่ในบ้านเมืองที่สะอาด ถูกสุขอนามัย พลเมืองทุกคนต้องแบกรับ "ต้นทุนการกำจัดขยะ" ของเมืองทั้งนั้น ซึ่งมาตรการที่แฟร์สุดกับทุกฝ่าย ในระยะยาวก็น่าจะเป็นระบบ "จ่ายเท่าที่ทิ้ง" ซึ่งเคสในอเมริกา เราก็จะเห็นเช่นกันว่าระบบนี้นอกจากแฟร์แล้ว ถ้าเก็บจริงตามต้นทุนค่ากำจัดขยะ มันก็จะลดขยะที่มนุษย์สร้างขึ้นลงได้ด้วย

 

อ้างอิง
What one town learned by charging residents for every bag of trash
กทม. ปรับขึ้นค่าเก็บขยะ 3 เท่า เริ่ม ต.ค. 68 
In Sweden, Trash Heats Homes, Powers Buses and Fuels Taxi Fleets
Swedish recycling so successful it is importing rubbish
Households to pay more for waste disposal from July 1 due to rising costs 
ทำไม ‘ถุงขยะ’ ที่สวิสราคาแรง เริ่มต้นใบละ 40 บ. พอๆ กับน้ำดื่ม 1.5 ลิตร
 

อ่านบทความอื่นๆ ของผู้เขียน