Skip to main content

 

ประเด็นร้อนประเด็นหนึ่งที่มีการพูดถึงอยู่ในขณะนี้ คือ วิกฤตบุคลากรการแพทย์ของไทยแห่ลาออกจากโรงพยาบาลรัฐอย่างต่อเนื่องในช่วงตลอดหลายปีมานี้  และกลายปัญหาใหญ่ที่กำลังส่งผลต่อระบบสุขภาพและสาธารณสุขของไทย โดยล่าสุดเกิดขึ้นที่จังหวัดบึงกาฬ อุบลราชธานี และอีกหลายจังหวัดในภาคอีสาน อะไรเป็นสาเหตุให้บุคลากรด้านการแพทย์หลั่งไหลกันลาออก

ข้อมูลจาก กระทรวงสาธารณสุข เผยว่า ระหว่างปี 2556 ถึง 2565 หรือในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการบรรจุแพทย์รวม 19,355 คน ขณะที่มีการสูญเสียแพทย์จากระบบสาธารณสุขเฉลี่ยปีละ 655 คน ซึ่งมาจากการลาออกเฉลี่ยปีละ 455 คน และจากการเกษียณอายุเฉลี่ยปีละ 150 ถึง 200 คน ทำให้ 10 ปีที่ผ่านมา มีการสูญเสียแพทย์ไปจากระบบสาธารณสุขของรัฐไปราวกว่า 6,500 คน

ข้อมูลยังเผยถึงจำนวนของแพทย์ใช้ทุนที่ลาออกในระหว่างระยะที่ต้องทำงานใช้ทุนตามที่กำหนด โดยมีแพทย์ใช้ทุนปีลาออกตั้งแต่ปีแรก 226 คน เฉลี่ยปีละ 23 คน, แพทย์ใช้ทุนปีที่ 2 ลาออก 1,875 เฉลี่ยปีละ 188 คน, แพทย์ใช้ทุนปีที่ 3 ลาออก 858 คน เฉลี่ยปีละ 86 คน และแพทย์ลาออกหลังพ้นภาระใช้ทุน 1,578 คน หรือเฉลี่ยปีละ 158 คน

นอกจากแพทย์แล้ว ยังมีบุคลากรทางการแพทย์อื่นๆ ที่ลาออกในอัตราที่สูงด้วยเช่นกัน รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ประธานคณะกรรมการโรงพยาบาลในกลุ่มสถาบันแพทย์แห่งประเทศไทย (UHOSNET) เผยว่า ในบรรดาบุคลากรการแพทย์ที่ลาออกจำนวนมากนั้น มีกลุ่มวิชาชีพพยาบาล และเภสัชกรรวมอยู่ด้วย ซึ่งข้อมูลจากสภาการพยาบาลและกลุ่ม Nurses Connect เผยว่า ในปี 2565 มีพยาบาลลาออกมากถึงราว 7,000 คน โดยพยาบาลจบใหม่เข้าปฏิบัติงานปีแรก ลาออกถึงร้อยละ 48.86 ปีที่สองลาออกร้อยละ 25  

ขณะที่ สหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน ทำการสำรวจข้อมูลจากแพทย์ที่ทำงานในระบบสาธารณสุขของรัฐ จำนวน 573 คน ในช่วงมีนาคมที่ผ่านมา พบข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับการหน้าที่แพทย์ในระบบสาธารณสุขภาครัฐว่า ไม่ได้เกิดจากความพึงพอใจ แต่เป็นไปด้วยความจำเป็น โดยร้อยละ48 ระบุว่า เป็นอาชีพที่ความมั่นคง มีสวัสดิการ บำนาญ และความก้าวหน้า, ร้อยละ 30ระบุว่า ไม่มีทางเลือกที่ดีกว่า และร้อยละ 23ระบุว่า มีข้อผูกมัด เช่น สัญญาทุน หรือภาระงานที่ทำให้ยังลาออกไม่ได้ โดยในจำนวนนี้มี  67 คนที่ได้ลาออกแล้ว

ส่วนคำถามเรื่องการคิดที่จะลาออกจากงานในระบบภาครัฐ ร้อยละ 62 ระบุว่า อาจย้ายไปทำงานในโรงพยาบาลเอกชนในอนาคต และ ร้อยละ 18 ต้องการลาออกทันทีหากมีโอกาส และมีเพียงร้อยละ 9% ที่ระบุว่า ยังไม่มีแผนที่จะลาออก

สำหรับเหตุผลที่ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ภาครัฐของไทย เลือกที่จะลาออกกันเป็นจำนวนมาก พอจะสรุปให้เห็นถึงภาพโดยรวมว่ามีสาเหตุจาก


ภาระงานที่หนักเกินทน

 

การสำรวจของสหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน ระบุถึงสาเหตุหลักที่ทำให้แพทย์ลาออก หรือคิดที่จะลาออกว่า เกิดจากภาระงานหนักเกินไป โดยแพทย์หลายคนระบุว่า ต้องทำงานเกินขีดจำกัดเพราะมีแพทย์ไม่เพียงพอ ส่งผลให้เกิดความเครียด และหมดไฟ นอกจากนี้ ยังพบว่า ระบบไม่มีแรงจูงใจให้แพทย์ทำงานหนัก เพราะคนที่ทำงานมากกับคนที่ทำงานน้อย รับผลตอบแทนที่แทบไม่ต่างกัน

ขณะที่สหภาพพยาบาล และกลุ่ม Nurses Connect ระบุว่า ปัจจุบันพยาบาลต้องทำงานเกินกว่า 80 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และยังต้องเข้าเวรต่อเนื่องอีกเกินกว่า 24 ชม. ขณะที่สัดส่วนของพยาบาล 1 คน ต้องดูแลประชากรถึง 406 คน ส่วนแพทย์ฝึกหัดต้องทำงาน 80 ถึง 100 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และต้องอยู่เวรในโรงพยาบาลติดต่อกันอีก 1 ถึง 3 วัน

นอกจากนี้ ยังมีภาระงานอื่นในระบบราชการที่ไม่เกี่ยวกับการรักษาผู้ป่วย เช่น งานเอกสาร งานคุณภาพ งานบริหาร ซึ่งไม่สามารถปฏิเสธได้ ทำให้บั่นทอนประสิทธิภาพในการทำงานระยะสั้น และส่งผลต่อกำลังใจในการทำงานระยะยาว และกินเวลาส่วนตัวที่นอกเหนือจากเวลางานเพื่อทำงานที่ไม่เกี่ยวกับการแพทย์เหล่านี้


การกระจุกตัวของแพทย์ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ

 

ข้อมูลจาก แพทยสภา เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2566 ระบุว่า มีแพทย์ในระบบสาธารณสุขทั้งหมด 72,250 คน แต่เกือบครึ่งหนึ่งอยู่ในกรุงเทพฯ ซึ่งมีจำนวน 32,198 คน ขณะที่มีแพทย์ประจำในต่างจังหวัดเพียง 34,487 คน

กระทรวงสาธารณสุข รายงานสัดส่วนประชากรต่อบุคลากรการแพทย์ ปี 2564 พบว่า สัดส่วนของแพทย์ต่อประชากรในกรุงเทพมหานครอยู่ที่ 1 ต่อ 515 ขณะที่สัดส่วนของแพทย์ต่อประชากรในเขตสุขภาพที่ 1 (ภาคเหนือตอนบน) อยู่ที่ 1 ต่อ 1,686, เขตสุขภาพที่ 2 (ภาคเหนือตอนล่าง) สัดส่วนอยู่ที่ 1 ต่อ 2,105,  เขตสุขภาพที่ 3 (ภาคกลางตอนบน) สัดส่วนอยู่ที่ 1 ต่อ 2,514 เป็นต้น


ความเหลื่อมล้ำในที่ทำงาน

 

นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต เผยว่า ปัจจุบันมีปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำในสถานพยาบาล  ระหว่างแพทย์ใช้ทุนซึ่งทำงานหนักกับแพทย์ประจำทำงานน้อยกว่า เกิดเป็นความเหลื่อมล้ำในการทำงานและความรับผิดชอบ ซึ่งการถูกเอารัดเอาเปรียบนี้ส่งผลให้แพทย์จบใหม่เกิดความเครียด ความกดดัน จนอยากปฏิเสธการทำงาน


ค่าตอบแทนที่ไม่สอดคล้องกับภาระงานและสภาพเศรษฐกิจ

 

ผลสำรวจของสหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน ระบุถึงเหตุผลอีกประการหนึ่งที่นอกเหนือจากภาระงานแล้ว คือ เรื่องค่าตอบแทนต่ำเมื่อเทียบกับภาคเอกชน ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ตัดสินใจลาออก เช่น ค่าตอบแทนการทำงานของพยาบาล  8 ชั่วโมง อยู่ที่ 700 บาท หรือตกชั่วโมงละ 87.5 บาท ขณะที่บางแห่งได้รับค่าตอบแทนเพียง 650 บาท  ขณะที่โรงพยาบาลเอกชนจ่ายอัตราค่าเข้าเวร 12 ชั่วโมงที่ 1,200 บาท

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของการประเมินผลงานที่เป็นแบบให้โควตา โดยในแต่ละรอบของการประเมินจะมีการจำกัดจำนวนคนในการได้รับการเลื่อนขั้นหรือการขึ้นค่าตอบแทน ซึ่งการศึกษาของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) พบว่า บางกรณีมีการประเมินผลที่ไม่สอดคล้องกับผลงานและศักยภาพที่แท้จริงของคนทำงาน รวมถึงการที่มีหลักเกณฑ์การประเมินที่ไม่ชัดเจน

ขณะที่มีข้อเสนอในการแก้ปัญหาจาก ชมรมสาธารณสุขแห่งประเทศไทย เพื่อบรรเทาปัญหาแพทย์ลาออก และช่วยเรื่องการกระจายแพทย์ไปตามท้องถิ่นต่าง โดยสนับสนุนนโยบาย “แพทย์ประจำตำบล” ด้วยการมอบทุนการศึกษาเพื่อผลิตบุคลากรการแพทย์แก่คนในท้องถิ่น ซึ่งเมื่อเรียนจบจะกลับมาทำงานในภูมิลำเนา ซึ่งจะช่วยเรื่องการขาดแคลนแพทย์ขาดในชนบทได้  

 

อ้างอิง
สำนักข่าว Hfocus
สัดส่วนประชากรต่อบุคลากรการแพทย์ ปี 2564