ตลอด 3 ทศวรรษที่ผ่านมา จำนวนคนที่ถือศาสนาในอเมริกาลดลงต่อเนื่องทุกปี เริ่มจากทศวรรษที่ 1990 ชาวอเมริกันที่บอกว่า ตัวเองเป็น “คริสเตียน” หรือเป็นศาสนิกอื่นๆ เริ่มลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น คนที่ระบุว่าตัวเอง “ไม่มีศาสนา” เริ่มเพิ่มสูงขึ้น แต่ปรากฏการณ์หนึ่งที่น่าสนใจหลังโควิด คือ การที่คนรุ่นใหม่ หรือ “คนเจนซี” ในสหรัฐหวนกลับไปหาศรัทธาทางศาสนาและพระเจ้าเพิ่มมากขึ้น
ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา แนวโน้มของคนที่ไม่ถือศาสนามีทีท่าว่าจะเปลี่ยนไป เมื่อมีการสำรวจพบว่า จำนวนของชาวอเมริกันที่ระบุว่าไม่มีศาสนาเริ่มคงที่ที่ร้อยละ 30 โดยเฉพาะในกลุ่มคนเจนซี
การระบาดใหญ่ของโควิด-19 อาจทำให้คนรุ่นใหม่ของอเมริกาเริ่มค้นหาความหมายบางอย่าง เช่น การยึดเหนี่ยวความเชื่อทางศาสนาเอาไว้ในอัตราที่สูงกว่าคนรุ่นก่อนหน้า ซึ่งนับจากปี 2008 ถึง 2013 จำนวนของคนไม่ถือศาสนาเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 40 และชะลอตัวลงระหว่างปี 2013 ถึง 2018 และมาหยุดนิ่งในปี 2020
ไรอัน เบิร์ก รองศาสตราจารย์รัฐศาสตร์และนักวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งติดตามแนวโน้มของคนเจนซีในช่วง 2 ถึง 3 ปีที่ผ่านมา พบว่า คนรุ่นใหม่มีอัตราของการเลิกนับถือศาสนาต่ำกว่าคนรุ่นที่อายุมากกว่า
นักเศรษฐศาสตร์วิเคราะห์ผลการสำรวจทั่วประเทศของศูนย์วิจัยความคิดเห็นแห่งชาติของสหรัฐ พบว่า คนเจนซีดูเหมือนจะเป็นคนรุ่นเดียวที่ไม่สูญเสียการยึดเหนี่ยวในศาสนา ซึ่งยังไม่มีคำอธิบายที่เป็นปึกแผ่นต่อแนวโน้มนี้ มีข้อเสนอแนะว่าอาจเป็นเพราะเหตุผลเชิงโครงสร้างบางประการที่ทำให้คนเจนซีฟื้นความศรัทธาต่อศาสนา และมีบางอย่างในช่วงหลังโควิดที่นำพาคนรุ่นใหม่กลับคืนสู่ความเป็นคริสเตียน
มีการนำเสนอคำอธิบายที่น่าจะเป็นไปได้ต่อปรากฏการณ์คนเจนซีหันหน้าเข้าหาศาสนาด้วยคำอธิบายต่างๆ
คำอธิบายแรก ศาสนาตอบรับความเหงาในช่วงการระบาดใหญ่ของโควิด
โดยทั่วไป คนเจนซี และคนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่รู้สึกเหงาและแปลกแยกจากสังคม มากกว่า 2 ใน 3 หรือ 3 ใน 4 ของคนเจนซี ระบุว่ารู้สึกแปลกแยก โดดเดี่ยว หรือไม่เชื่อมต่อกับโลก ทั้งเรื่องการเข้าสังคม ออกเดต แต่งงาน หรือค้นหาชุมชนที่ตัวเองจะรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนนั้นๆ
ขณะเดียวกันก็อธิบายว่า ความรู้สึกเหงาและแปลกแยกที่เพิ่มขึ้นในคนเจนซี มีสาเหตุมาจากโซเชียลมีเดีย และการใช้สมาร์ทโฟนในช่วงล็อกดาวน์ ซึ่งส่งผลให้คนวัยรุ่นเจนซีจำนวนมากเกิดวิกฤตสุขภาพจิต และคนเจนซีจำนวนหนึ่งที่รู้สึกแปลกแยกอาจค้นพบชุมชนและความเป็นเพื่อนจากองค์กรศาสนาผ่านโบสถ์ต่างๆ ซึ่งเป็นการย้ำถึงคำอธิบายและผลการสำรวจที่ว่า คนเจนซีกลับไปโบสถ์เพราะได้รับ “การปลอบประโลมใจ” คนรุ่นใหม่หน้าใหม่ที่เข้าร่วมกับโบสถ์รู้สึกถึงการสูญเสียที่ลดลง และได้รับการโอบรับ
คำอธิบายที่สอง การสูญเสียความเชื่อถือต่อสถาบันต่างๆ ของสังคม
ความสนใจในศาสนาและความเชื่อทางจิตวิญญาณในหมู่คนรุ่นเจนซีที่เพิ่มขึ้น อาจเป็นส่วนหนึ่งของกระแส “ต่อต้านวัฒนธรรมกระแสหลัก” หรือ “ต่อต้านสิ่งที่เป็นสถานะเดิม” ซึ่งเกิดขึ้นในประเทศประชาธิปไตยตะวันตกหลายแห่งนับตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19
แม้ว่าจะฟังดูแปลกที่ศาสนาจะกลายเป็นสิ่ง "ต่อต้านกระแสหลัก" แต่สำหรับคนหนุ่มสาวอเมริกันรุ่นใหม่ ศาสนาไม่ได้เป็นกระแสหลักเหมือนในรุ่นพ่อแม่ เพราะรุ่นพ่อแม่มีแนวโน้มของการไม่นับถือศาสนา
ดังนั้น จึงไม่แปลกที่การไม่สังกัดศาสนา อาจมาถึงจุดอิ่มตัวในช่วงโควิด โดยเฉพาะเมื่อคนรุ่นใหม่ในสังคมตะวันตก เริ่มตั้งคำถามกับแนวคิดเก่า ๆ ทั้งในเรื่องการเมืองและสถาบันทางโลก
บางการสำรวจพบว่า ในหมู่คนรุ่นใหม่ "การไม่เชื่อในศาสนา" เช่น การไม่เชื่อในพระเจ้า หรือการไม่ถือศาสนา กลายเป็นแนวคิดกระแสหลักสำหรับพวกเขา โดยเฉพาะในหมู่คนรุ่นมิลเลนเนียลซึ่งมีแนวโน้มเสรีนิยมและไม่ยึดติดศาสนาสูงที่สุด
แต่ในปัจจุบัน บางประเทศ อย่างเช่น อังกฤษ และสหรัฐ พบว่าคนเจนซีเริ่มมีแนวโน้ม “ย้อนกระแส” โดยหันกลับมาสนใจศาสนาอีกครั้ง ในอังกฤษความนิยมในคาทอลิก เริ่มเพิ่มขึ้นแทนที่นิกายแองกลิกันซึ่งเคยเป็นกระแสหลัก ส่วนในสหรัฐ ศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิก และคริสตจักรที่ไม่สังกัดนิกายมีผู้สนใจเพิ่มขึ้น ขณะที่คนที่เลิกเชื่อในศาสนายังคงมีอยู่แต่ไม่เพิ่มขึ้นมากเหมือนช่วงหลายปีก่อนหน้า
การที่คนรุ่นใหม่มีแนวโน้มหันเข้าหาศาสนา ส่งผลให้มีทัศนะทางการเมืองเอนเอียงไปทางขวามากขึ้นหรือไม่?
ในบทความของ Vox ระบุว่า ในสหรัฐ ผู้ชายเจนซีมีแนวโน้มจะหันหน้าเข้าหาศาสนามากขึ้น ขณะที่ผู้หญิงเจนซีที่ยังนับถือศาสนา มักจะหันไปหาศาสนาที่มีแนวคิดเสรีและเปิดกว้างทางการเมืองมากกว่า
ผู้ชายเจนซีมีอัตราการไปโบสถ์สูงกว่าผู้หญิงเจเนอเรชันเดียวกัน ซึ่งตรงข้ามกับคนรุ่นก่อน ขณะเดียวกันผู้หญิงเจนซีจำนวนมากกำลังออกจากโบสถ์ เนื่องจากไม่พอใจจุดยืนของศาสนจักรในเรื่องบทบาททางเพศ, ความหลากหลายทางเพศ และบทบาทของผู้หญิงในศาสนา
ข้อมูลจากการสำรวจพบว่า ราว 2 ใน 3 ของผู้หญิงเจนซีเชื่อว่า ศาสนจักรส่วนใหญ่ปฏิบัติต่อผู้ชายและผู้หญิงไม่เท่าเทียมกัน และการที่ศาสนจักรมีทัศนคติที่เป็นลบต่อกลุ่ม LGBTQ ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักผู้หญิงออกจากศาสนา ซึ่งปัจจุบัน มีผู้หญิงเจนซีในสหรัฐถึง 3 ใน 10 ที่ระบุว่าตนเองเป็น LGBTQ
ในขณะเดียวกัน มีการแทรกแนวคิดทางศาสนาแฝงอยู่ในคอนเทนต์ออนไลน์ของฝ่ายขวาสุดโต่ง และในพื้นที่ออนไลน์เรียกว่า “manosphere” ซึ่งเป็นพื้นที่ออนไลน์ที่เป็นโลกของผู้ชาย ซึ่งนำไปสู่การรวมกลุ่มของผู้ชายรุ่นใหม่ที่หันมาใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือเสริมสร้างตัวตน ทำให้ทัศนะทางการเมืองเอนเอียงไปทางขวามากขึ้น ดังที่ปรากฏชัดในผลการเลือกตั้งสหรัฐเมื่อปลายปี 2024
การวิจัยทางสังคมระบุว่า ปัจจัยสำคัญที่สุดที่กำหนดว่าคนจะนับถือศาสนาต่อไปหรือไม่ คือ ศาสนาที่พ่อแม่ของพวกเขานับถือ บทความสรุปว่า ถ้าคนเจนซีที่กลับมาสนใจศาสนา ยังคงรักษาความเชื่อของตัวเองไว้และถ่ายทอดให้ลูกๆ ต่อไป กระแสการลดลงของการถือศาสนาในอเมริกาอาจไม่รุนแรงอย่างที่หลายคนเคยคาดคิด
ที่มา
Gen Z is finding religion. Why?