อเมริกาในยุค Trump 2.0 ทำให้คนที่อยู่ในอเมริกาโดนเนรเทศออกนอกประเทศจำนวนมหาศาล ที่โชคดีก็ได้กลับประเทศ ส่วนที่โชคไม่ดีอาจโดนส่งเข้าค่ายกักกัน หรือโดนส่งไปขังคุกที่เอลซัลวาดอร์
นี่เป็นเรื่องน่าเศร้าอยู่แล้วถ้ามองในสเกลปัจเจก แต่ถ้ามองในสเกลแบบคู่รักนี่อาจส่งผลกระทบลึกซึ้งในหลายมิติมากๆ และสาวคนหนึ่งก็เลยอยากเล่า "อุทาหรณ์" ของตัวเธอที่ต้องทำการตัดสินใจในยามที่คนรักโดนเนรเทศกลับประเทศ
ย้อนกลับไปตอนอายุ 20 ซิดนีย์ แชปแมน ยังเป็นนักศึกษาปริญญาตรี เธอมีคนรักเป็นคนเม็กซิโก หมั้นกันแล้ว และเตรียมจะแต่งงาน แต่คู่หมั้นของเธอก็โดนจับ และเนรเทศกลับเม็กซิโกแบบชั่วข้ามคืน
เธอต้องเลือกระหว่างเสียเขาตลอดไป หรือตามเขาไปเม็กซิโก
เธอเลือกจะตามเขาไปเม็กซิโก ซึ่งต้องปรับตัวให้เข้ากับสังคมใหม่ เท่านั้นไม่พอ เธอต้องดำเนินงานแต่งงานต่อที่เม็กซิโกด้วย แต่ทุกอย่างก็ผ่านมาอย่างราบรื่น เธอค่อยๆ เรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรม จนปรับตัวได้ แต่ระหว่างนั้น เนื่องจากเธอเรียนยังไม่จบ จึงยังต้องเทียวไปมาระหว่างสองประเทศอยู่เรื่อยๆ
สุดท้ายเธอก็เรียนจบและทำงานในอเมริกา สามีเธอเข้าอเมริกาได้แล้ว แต่อยู่นานๆ ไม่ได้ การพยายามขอสิทธิผู้พำนักถาวรเพราะคู่สมรสเป็นอเมริกันก็เป็นไปได้ยาก เพราะตามเอกสารสามีของเธอเคยมีประวัติการโดนเนรเทศ
นี่เลยทำให้แม้เป็นสามีภรรยากัน แต่ก็ยากจะอยู่ด้วยกันยาวๆ ต่อเนื่องได้อย่างสบายใจ ต้องเทียวไปเทียวมาข้ามประเทศตลอด เพื่อที่จะอยู่ด้วยกัน
นี่ทำให้ซิดนีย์รู้สึกถึงความลำบากของชีวิตและแอบนึกถึงการหย่าร้างหลายครั้ง ซึ่งตอนแรกเธอไม่คิดอะไร แต่พอมันเกิดบ่อยขึ้น เธอก็ไปหานักบำบัด ทำให้พบว่าเธออยากหย่าแน่ๆ แค่เธอรู้สึกว่าเธอไม่อยากให้ทุกคนเดือดร้อน
แต่สุดท้ายเธอก็ "เลือกตัวเธอเอง" เธอตกลงหย่าร้างสำเร็จ ซึ่งฝั่งสามีก็น่าจะไม่เห็นด้วยแน่ๆ เลยใช้เวลาหลายปีกว่าจะเคลียร์กันเสร็จ ทำให้ซิดนีย์ได้หย่าตอนอายุ 20 ปลายๆ ซึ่งเธอได้สักรูปดาวเหนือไว้ที่ข้อมือ เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจไปตลอดชีวิตถึงการตัดสินใจหย่าร้างครั้งนี้ โดยที่จนถึงปัจจุบัน เธอก็ยังไม่รู้สึกเสียใจเลย
คำถามคือ เรื่องนี้สอนอะไร?
แน่นอน เราอาจพูดเรื่องการด่วนตัดสินใจของหญิงสาวโดยที่ตัวเองยังไม่รู้ว่าตัวเองต้องการอะไรก็ได้ เพราะผู้หญิงที่แต่งงานตั้งแต่อายุน้อยๆ จำนวนมากก็ไม่ได้ต่างจากซิดนีย์ ซึ่งพอรู้ว่า "ตัวเองต้องการอะไร" หลังจากที่อายุมากขึ้น สุดท้ายก็หย่า แล้วไป "มีชีวิตใหม่อย่างที่ตัวเองต้องการ"
แต่ถ้าสรุปแบบนี้ มันก็จะไม่เห็นนัยยะของ "หายนะ" ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายคนเข้าเมืองของ Trump 2.0 เพราะสุดท้าย เวลาสื่อวาดภาพถึงผู้อพยพผิดกฎหมาย คนเหล่านี้ไม่ได้มาโดดๆ โดยไม่ได้มีความสัมพันธ์กับพลเมืองอเมริกัน จำนวนมากเป็นลูกน้อง จำนวนไม่น้อยเป็นเพื่อน และอีกจำนวนหนึ่งเลยคือคนรัก ซึ่งสิ่งที่มาตรการเนรเทศผู้อพยพแบบสายฟ้าแลบทำให้เกิดขึ้นก็คือ การทำให้ "ความสัมพันธ์" ที่ว่านี้ซึ่งเกิดบนแผ่นดินอเมริกาฉีกขาดไปทันทีด้วย
แน่นอนว่า สิ่งเหล่านี้เจ็บปวด แต่เรื่องราวของซิดนีย์ก็น่าจะเป็นบทเรียนอีกระดับหนึ่งว่า ถ้า "วู่วาม" พยายามรักษาความสัมพันธ์เอาไว้ ในสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปแบบที่ไม่ได้คิดหน้าคิดหลัง สิ่งที่เกิดขึ้นในท้ายที่สุดก็อาจไม่ได้ดีกับทุกฝ่ายก็ได้