Skip to main content

 

นักวิชาการมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ระบุ “สังคมสูงวัย” เต็มรูปแบบของไทยจะส่งผลกระทบกับโครงสร้างแรงงานและการเติบโตของเศรษฐกิจในอนาคต รวมถึงการเผชิญความท้าทายด้านการเงินและสวัสดิการที่เพิ่มขึ้นของภาครัฐและครัวเรือนในการดูแลผู้สูงอายุ  

รศ.ดร.อัจฉรา ชลายนนาวิน ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายสาธารณะและนโยบายสิ่งแวดล้อม คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่ “สังคมสูงวัยอย่างเต็มรูปแบบ" (Complete aged society) มีสัดส่วนประชากรที่อายุ 60 ปีขึ้นไปถึงร้อยละ 20-30 ของจำนวนประชากร โดยในทุก ๆ 100 คน เป็นผู้สูงอายุ 21 คน และในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า สัดส่วนของประชากรที่อายุ 60 ปีขึ้นไปจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างแรงงานและทิศทางการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวม เนื่องจากผู้สูงอายุส่วนใหญ่ไม่สามารถทำงานในภาคแรงงานได้เต็มที่ อีกทั้งภาระการดูแลสุขภาพและสวัสดิการต่าง ๆ จะเพิ่มขึ้น ส่งผลให้รัฐบาลต้องมีการปรับตัวในการจัดสรรงบประมาณสาธารณะเพื่อรองรับภาระที่เพิ่มขึ้นในอนาคต เช่น การเพิ่มโครงการประกันสุขภาพหรือการสนับสนุนด้านการเงินสำหรับผู้สูงอายุ

ปัญหาการขาดแคลนแรงงานวัยทำงานและการเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุที่ไม่มีบำนาญ เป็นความท้าทายเร่งด่วนที่ประเทศต้องเตรียมตัวรับมือ โดยผู้สูงอายุจำนวนมากยังต้องพึ่งพาการดูแลจากภาครัฐและลูกหลานในครอบครัว ขณะเดียวกัน แนวโน้มการอยู่อาศัยของผู้สูงอายุแบบลำพังยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสัดส่วนของผู้สูงอายุที่อยู่ลำพังในครัวเรือนเพิ่มขึ้นเกือบ 4 เท่าจากร้อยละ 3.6 ในปี 2537 มาเป็นร้อยละ 12.9 ในปี 2567 ตลอดจนปัญหาสุขภาวะทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นความเหงา ความเครียด  ภาวะซึมเศร้า ความเจ็บป่วยต่าง ๆ และความเสี่ยงจากการถูกหลอกลวงออนไลน์ที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน

เมื่อพิจารณาจากโครงสร้างประชากรตามเพศของไทย พบว่า ผู้สูงอายุเพศหญิงมีจำนวนมากกว่าผู้สูงอายุเพศชาย โดยคิดเป็นร้อยละ 57.9 และร้อยละ 42.1 ตามลำดับ ทั้งนี้ หากจำแนกตามช่วงวัย ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มผู้สูงอายุวัยต้น (60-69 ปี) ร้อยละ 59.3 รองลงมา คือ กลุ่มผู้สูงอายุวัยกลาง (70-79 ปี) ร้อยละ 29.8 และน้อยที่สุดคือ กลุ่มผู้สูงอายุวัยปลาย (80 ปีขึ้นไป) ร้อยละ 10.9

 

 

 

รศ.อัจฉรากล่าวว่า แนวโน้มดังกล่าวสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงทางประชากรที่กำลังเติบโตขึ้นอย่างชัดเจน ซึ่งมีผลกระทบสำคัญต่อโครงสร้างแรงงานและทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว หนึ่งในผลกระทบที่ชัดเจนคือ สัดส่วนประชากรวัยทำงานที่ลดลง พร้อมกับอัตราส่วนพึ่งพิงผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 10.7 ในปี 2537 เป็นร้อยละ 31.1 ในปี 2567 ซึ่งหมายความว่าประชากรในวัยทำงานทุก ๆ 100 คน จะต้องแบกรับภาระในการดูแลผู้สูงอายุถึง 31 คน สถานการณ์นี้จะทำให้แรงงานในประเทศต้องเผชิญกับภาระทางการเงินเพิ่มขึ้นในครัวเรือน โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุที่ไม่มีรายได้หรือบำนาญก็ยังจำเป็นต้องทำงานหารายได้เพื่อเลี้ยงชีพ ขณะเดียวกันยังต้องพึ่งพาจากภาครัฐและลูกหลานในการดูแล

“กรณีของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ มีระบบเก็บภาษีสำหรับบำเหน็จบำนาญแก่ประชาชนในอนาคต และมีการร่วมสมทบระหว่างรัฐและภาคเอกชน ซึ่งเป็นแบบอย่างที่ประเทศไทยควรศึกษาและนำมาใช้ในระบบสวัสดิการเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของสังคมสูงวัย” รศ.อัจฉรากล่าว

นอกจากนี้ การปรับตัวของภาคธุรกิจและการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิตยังเป็นอุปสรรค เนื่องจากผู้สูงอายุจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้  ขณะเดียวกัน ผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อยยังเข้าไม่ถึงสวัสดิการของรัฐอย่างทั่วถึง เพราะขาดแคลนอุปกรณ์ดิจิทัลพื้นฐาน เช่น สมาร์ทโฟนหรืออินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการลงทะเบียนและเข้าถึงบริการภาครัฐในยุคดิจิทัล ส่งผลให้กลุ่มผู้สูงอายุบางส่วนหลุดจากระบบและไม่ได้รับการสนับสนุนหรือการดูแลที่เหมาะสมจากภาครัฐ

 

 

 

รศ.อัจฉรา กล่าวว่า จำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นและจำนวนประชากรวัยทำงานลดลง ทำให้เกิดการขาดแคลนแรงงานทั้งในภาคการเกษตร บริการ และอุตสาหกรรมอื่น ๆ ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นและอาจส่งผลให้ไทยต้องพึ่งพาแรงงานข้ามชาติมากขึ้น ในขณะที่ค่าแรงของแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ  โดยแรงงานที่มาทำงานผิดกฎหมายอาจทำให้เกิดปัญหาด้านอาชญากรรมและความมั่นคงของประเทศ ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงในการควบคุมของภาครัฐ อีกทั้งการลดลงของประชากรวัยทำงานยังส่งผลกระทบต่อความสามารถในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในอนาคต  เนื่องจากปัจจุบันตลาดแรงงานมีความต้องการแรงงานที่มีทักษะหลากหลายและความสามารถในการปรับตัวให้ทันกับเทคโนโลยีใหม่ๆ การเพิ่มภาระในด้านการทำงานอาจส่งผลให้คุณภาพชีวิตในการทำงานถดถอย ซึ่งจะกระทบต่อการรักษาสมดุลระหว่างการทำงานและชีวิตส่วนตัว (work-life balance)

รศ.อัจฉราระบุว่า คนรุ่นใหม่อาจต้องแบกรับภาระดูแลผู้สูงอายุมากขึ้น จนเกิดความตึงเครียดระหว่างรุ่น ทั้งในเรื่องการแบ่งทรัพยากรและหน้าที่ดูแล การปรับตัวจึงเป็นสิ่งจำเป็น ควรเริ่มต้นจากการปลูกฝังความเข้าใจระหว่างรุ่นตั้งแต่ในโรงเรียน ไปจนถึงวัฒนธรรมการทำงาน เพื่อสร้างความยืดหยุ่นและลดความเครียดทางจิตใจที่อาจลุกลามจนเป็นโรคทางจิตเวช หรือรุนแรงถึงขั้นฆ่าตัวตาย  สังคมไทยจำเป็นต้องเร่งสร้าง "ภาวะลีซีเรียน" (Resilience) หรือความสามารถในการรับมือและฟื้นตัวจากความเปลี่ยนแปลง เพื่อให้ประชาชนมีทักษะจัดการอารมณ์และความเครียดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งปัจจุบันยังไม่ถูกบรรจุอย่างจริงจังในระบบการศึกษาและควรได้รับการผลักดันโดยเร่งด่วน