Skip to main content

 

Libertus Machinus
 


ทุกวันนี้ "สังคมผู้สูงอายุ" คือ ปัญหาใหญ่ของโลกตะวันตกและประเทศพัฒนาแล้วทั้งหมด พัฒนาการทางเศรษฐกิจและสังคมดูจะทำให้คนมีลูกน้อยขึ้นอย่างต่อเนื่อง อัตราการเกิดลดลงไม่หยุด ใช้มาตรการใดๆ ก็ไม่เป็นผล ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มวันหยุดให้พ่อแม่ เพิ่มสวัสดิการให้เด็กเล็ก หรือกระทั่งแจกเงิน เรียกได้ว่า ชาติตะวันตก “สาดอาวุธทางนโยบาย" ทุกอย่างที่นึกและจินตนาการออก เพื่อทำให้คนมีลูกกันมากขึ้น แต่ก็ไม่เป็น ผลจนทุกคน "สิ้นหวัง"

….ก่อนที่อัตราการเกิดจะกระเตื้องขึ้นในสหรัฐอเมริกาในที่สุด และก่อนหน้านั้นในเกาหลีใต้ก็มีรายงานเช่นกัน แต่คนไม่ได้สนใจมากนัก

ในเดือนกุมภาพันธ์ 2025 เกาหลีใต้ รายงานว่าอัตราการเกิดที่ลดลงติดกัน 9 ปีพลิกกลับเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรก ในเดือนเมษายน 2025 สถิติจากฝั่งอเมริกาก็ชี้ไปในทางเดียวกัน อัตราการเกิดที่ลดลงยาวนานพลิกกลับมาเพิ่มจริง หรือนี่จะเป็นกระแสโลก?

จริงๆ ข่าวทางฝั่งเกาหลีใต้เบามาก เพราะนี่คือชาติที่มีอัตราการเกิดต่ำที่สุดในโลก และอัตราการเกิดที่เพิ่มขึ้นก็น้อยมาก ห่างไกลระดับที่จะทำให้ประชากรไม่ลดลง มันเลยไม่เป็นเรื่องเป็นราวที่ "น่าดีใจ" เท่าไร แต่นักวิจัยเริ่มตั้งข้อสังเกตว่า ตัวเลขผู้หญิงที่มีลูกมากขึ้นจนทำให้อัตราการเกิดพลิกสูงขึ้น คือผู้หญิงอายุ 30 ปีขึ้นไป

สถิติทางฝั่งอเมริกาก็ยืนยันไปในทางเดียวกัน โดยในอเมริกา ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค ระบุเลยว่ากลุ่มผู้หญิงที่มีลูกกันมากขึ้นจนทำให้อัตราการเกิดพลิกกระเตื้องขึ้น คือ ผู้หญิงในวัย 40+ รองลงมา คือ กลุ่มผู้หญิงอายุ 30-40 และรองลงมา คือ กลุ่มผู้หญิงอายุ 20-30 ปี โดยตัวเลขรวมๆ อัตราการเกิดคนอเมริกันขึ้นมา 1% ถือว่าเยอะมากในยุคที่รัฐทั่วโลกสิ้นหวังกับการเพิ่มอัตราการเจริญพันธุ์ของประชาชน

และถ้านี่จะเป็น "บทเรียน" ที่ต้องถอด มันก็น่าสนใจมาก

ในอเมริกาเป็นเคสแรกๆ ในโลกที่เห็นว่า "ความหวัง" ในการเพิ่มประชากร มันไม่ใช่อยู่ใน "ผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์" แบบที่เข้าใจกันทั่วไป หรือพูดง่ายๆ ยุคนี้มันไปหวังให้ผู้หญิงอายุ 20-30 มีลูกเพิ่มขึ้นมันยากแล้ว ดังนั้นนโยบายรัฐ ที่พยายามมุ่งให้ผู้หญิงในวัยนี้มีลูกเพิ่มขึ้น เลยพังทั้งหมด

อันนี้ไม่แปลก เพราะด้วยภาวะธรรมชาติของมนุษย์ผู้หญิง วัยที่นิยมมีลูกตั้งแต่ในอดีตถึงปัจจุบันคือวัยนี้ เพราะมันเป็นวัยที่มีลูกแบบธรรมชาติได้ง่ายและมีได้อย่างปลอดภัย ซึ่งโดยทั่วไป เค้าก็จะถือว่าถ้าผู้หญิงอายุเกิน 30 ปีขึ้นไปจะเริ่มมีลูกยากขึ้นและอันตรายมากขึ้น โดยทั่วไปจะถือว่า 35 ปีจะเริ่มมีลูกยากแล้ว และหลัง 40 ปีผู้หญิงปัจจุบันจำนวนมากก็จะมองว่าตัวเองสภาพร่างกายไม่พร้อมจะมีลูกอย่างปลอดภัยแล้ว และเรื่องราวของผู้หญิงวัยนี้ที่มีลูกได้อย่างยากเย็นก็หาอ่านหาฟังได้ไม่ยาก

แต่อีกด้าน ถ้ามองว่าผู้หญิงปัจจุบันไม่ต้องการแค่ความพร้อมทางกายภาพ แต่ต้องการความพร้อมทางการเงิน เอาจริงๆ วัย 40 ก็อาจไม่ใช่วัยที่อายุสูงเกินไปที่จะมีลูก

ในอดีต การมีลูกตามธรรมชาติเป็นทางเดียวที่จะผลิตมนุษย์ได้ แต่ทุกวันนี้มีทั้งเทคโนโลยีแช่แข็งไข่ การทำเด็กหลอดแก้ว ไปจนถึงการอุ้มบุญ มันทำให้การ "มีลูก" สำหรับผู้หญิงที่มีลูกตามธรรมชาติได้ยาก มันไม่ยากอีกต่อไป และผู้หญิงพร้อมครอบครัวจำนวนไม่น้อยก็พร้อมจะจ่ายเงินที่จะ "มีลูก" ในแบบเหล่านี้ในวัยเกิน 40 ปี

ทั้งหมดนี้ อาจทำให้รัฐต้องคิดใหม่ เพราะกลุ่มประชากรที่ดูจะ "ต้องการมีลูก" เพิ่มขึ้นไม่ใช่กลุ่มประชากรเดิมอีก ผู้หญิงอายุเกิน 40 ปีเริ่มมองว่าเป็นวัยที่เหมาะแก่การ "มีลูก" เพราะมีฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมดีพอที่จะ "เลี้ยงลูก"

ในทางปฏิบัติ นโยบายรัฐเพื่อจะสนับสนุนให้คนวัยนี้มีลูกมากขึ้นโดยเฉพาะทำได้เยอะ แต่จุดเน้นย่อมไม่เหมือนการพยายามทำให้ผู้หญิงอายุ 20-30 ปีมีลูกแน่นอน เพราะถ้าต้องการกระตุ้นให้ผู้หญิงวัย 40 ปีขึ้นไปมีลูกมากขึ้น อาจเป็นการให้เงินอุดหนุนการแช่แข็งไข่ รวมไปถึงการทำเด็กหลอดแก้ว ซึ่งนี่เป็นแค่ตัวอย่าง ประเด็นคือนโยบายที่จะกระต้นให้ผู้หญิงวัยนี้มีลูก มันต้องเน้นไปที่การบรรเทาภาวะ "มีบุตรยาก" ไปเลย หรือรัฐต้องช่วยในการขยาย "กรอบเวลา" ในการมีลูกให้ผู้หญิง และต้องยอมรับว่ามันไม่มีใครอยากจะมีลูกกันตอนอายุน้อยๆ อีกแล้ว คนอยากมีลูกตอนอายุเยอะๆ ก็ต้องช่วยเค้า รัฐไม่ได้มีทางเลือกขนาดนั้น

เพราะสุดท้าย "ความล้มเหลว" ของนโยบายส่งเสริมการมีลูกที่ผ่านๆ มา แกนกลางมันอาจเป็นการที่รัฐ "ไม่ยอมรับ" ภาวะที่จริงๆ คนไม่ได้ "ไม่อยากมีลูก" แต่แค่ "พร้อมจะมีลูกช้าลง" และพยายามต่อต้านภาวะนี้ ทั้งที่จริงๆ มันอาจเป็นภาวะที่ยอมรับว่าต้องเกิด และควรจะออกแบบนโยบายสนับสนุนการมีลูกให้สอดคล้องกับภาวะแบบนี้มากกว่า

 

อ้างอิง
The birth rate went up in 2024 after a historic drop, driven by moms over 40
South Korea birthrate rises for first time in nine years amid surge in marriages

อ่านบทความอื่นๆ ของผู้เขียน