Skip to main content

ข้อมูลล่าสุดของอังกฤษเผยว่า ชาวอังกฤษที่ร่ำรวยมีช่วงเวลาที่สุขภาพแข็งแรงดี ยาวนานกว่าคนที่ยากจนถึง 19 ปี ขณะที่ดัชนีชีวัดเผยว่า คนอังกฤษทำงานน้อยลงจากเดิม 6 เดือน เมื่อเทียบกับก่อนการระบาดใหญ่ของโควิด และมีความสุขน้อยลงด้วย

ศูนย์การมีชีวิตที่ยืนยาวนานาชาติของอังกฤษ (ILC) เผยว่า ช่วงปีการทำงานของชาวอังกฤษลดลงจาก 31.6 ปีมาเป็น 31.1 ปี ทำให้คนอังกฤษในปัจจุบันมีความสุขน้อยลง โดยคะแนนความสุขลดลง 0.5 คะแนน จาก 7.2 มาเป็น 6.7 จาก 10 คะแนนเต็ม เช่นเดียวกับคะแนนความยั่งยืนของประเทศที่ลดลงจากปี 2019 ที่ 81.3 มาเป็น 77.7 คะแนน

ILC เผยว่า ดัชนีชี้วัดที่ศูนย์ทำขึ้นอยู่บนฐานข้อมูลล่าสุดในปี 2022 เรื่องอายุขัย ช่วงปีที่สุขภาพแข็งแรง และใช้ข้อมูลรายได้ของปี 2019 และระบุว่า สถิติเหล่านี้ ไม่ได้เผยถึง ความไม่เท่าเทียมที่สำคัญระหว่าง “สุขภาพและรายได้” ของประชาชน ซึ่งคนในพื้นที่ยากจนที่สุดกับคนที่ร่ำรวยที่สุดของประเทศ มีความแตกต่างกันของช่วงปีที่มีสุขภาพดี ต่างกันมากถึง 19 ปี

ILC กล่าวว่า แม้อังกฤษจะทำได้ดีในเรื่องสิ่งแวดล้อมเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ และเลื่อนลำดับจากที่ 4 ในปี 2019 มาเป็นที่ 2 ในปี 2022 แต่ข้อมูลกลับชี้ว่าอังกฤษกำลังเดินผิดทิศ ทั้งนี้ การลดลงของจำนวนปีที่ทำงานและความสุขที่ลดลง เป็นเรื่องน่ากังวลและอาจส่งผลอย่างรุนแรงกับสุขภาพของประชาชนและเศรษฐกิจของประเทศ

เดวิด ซินแคลร์ ผู้บริหาร ILC กล่าวว่า “เราสามารถทำได้และควรจะทำให้ดีกว่านี้ เราจำเป็นต้องมีทางออกใหม่ในการหยิบเรื่องช่องว่างที่ห่างกันมากของคนรวยกับคนจนในการมีช่วงชีวิตที่มีสุขภาพดี และทำให้ประชาชนมีช่วงชีวิตที่สุขภาพดียาวนานขึ้น”

ขณะที่ สตีเฟน เบิร์ค ซีอีโอมูลนิธิฮอลล์มาร์ก ซึ่งร่วมจัดทำและพัฒนาดัชนีชี้วัดกล่าวว่า “ดัชนี้นี้ปลุกคนทั้งประเทศให้ตื่นขึ้น เราไม่อาจคิดเองเออเองไปว่า เราจะยังคงอายุยืนโดยที่สุขภาพดี ดัชนีชี้ให้เห็นปัญหาหลายอย่างในประเทศที่จำเป็นต้องพิจารณา หากต้องการขยับอันดับให้สูงขึ้น เริ่มจากเราจะทำงานได้นานกี่ปีไปจนถึงว่าเราจะมีความสุขอย่างไร สิ่งสำคัญก็คือ ทุกประเทศจำเป็นต้องลงทุนมากขึ้นในการป้องกันและลดความไม่เท่าเทียมของช่วงเวลาที่สุขภาพดีนี้ลง”

ILC เรียกร้องให้รัฐบาลใหม่ที่จะมาการเลือกตั้งในวันที่ 4 กรกฎาคมนี้ ให้ลงทุนเพิ่มอย่างน้อยร้อยละ 6 กับงบประมาณประจำปีด้านสาธารณสุข เพื่อการป้องกันการเจ็บป่วย และเริ่มการกำหนดราคาขั้นต่ำของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ภาษีน้ำตาล และทำการปฏิรูปอาหารที่มีไขมัน น้ำตาล และเกลือสูง


ที่มา
PEOPLE IN UK ‘WORK LESS AND ARE UNHAPPIER’, SHOWS RESEARCH