Skip to main content

 

 

Libertus Machinus
 

ในยุคปัจจุบัน เราอาจเคยได้ยินว่าเด็กยุคใหม่เป็น "โรคสมาธิสั้น" หรือ Attention Deficit Hyperactivity Disorder กันมากขึ้น และหลายคนก็โทษ "เทคโนโลยี" ที่ทำให้คนรุ่นใหม่ๆ ไม่สามารถทำการจดจ่อกับอะไรเป็นเวลานานได้
    
อย่างไรก็ดี เราอยากชวนมาดู "ข้อถกเถียง" ทางสาธารณสุขใหม่ๆ ที่เกิดในอังกฤษและอเมริกาว่า หรือจริงๆ เราอาจไม่ควรมองว่า ภาวะสมาธิสั้นเป็นความเจ็บป่วยอีกต่อไป
    
เรื่องของเรื่องก็คือ ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา ทั้งในอังกฤษและอเมริกามีการวินิจฉัยว่า เด็กมีภาวะสมาธิสั้นกันมากขึ้นๆ แบบทะลุ 1% ของประชากรกันเป็นปกติ แต่ที่น่าสนใจคือ ตั้งแต่ราวปี 2020 มีการพบว่าจริงๆ ภาวะสมาธิสั้นมันปรากฎเพิ่มขึ้นในทุกกลุ่มช่วงอายุ และพบมากขึ้นเยอะในผู้หญิงและคนวัยกลางคน
 
ตรงนี้บางคนก็จะบอกว่า นี่อาจเป็นปัญหาทางจิตที่มีอยู่แล้ว แต่พอมีการ "วินิจฉัย" มากขึ้นก็เลยพบมากขึ้นเท่านั้นเอง

ก็อาจถูก เพราะจริงๆ ช่วงหลังๆ มีการเปลี่ยนการวินิจฉัยที่มีเทคนิคใหม่ๆ ซึ่งช่วยวินิจฉัยภาวะนี้่ในผู้หญิงมากขึ้น มันเลยทำให้พบภาวะนี้ในผู้หญิงเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดจนส่งผลให้สถิติคนมีภาวะนี้มีมากขึ้นมาก

แต่พอพบว่ามีภาวะสมาธิสั้นแบบนี้มากมาย ในทางสาธารณสุขเป็นปัญหามาก เพราะคนก็มีคำถามมายมายด้วยเช่นกันว่า ตัวเองเป็นมั้ย จนทำให้คิวรอตรวจภาวะสมาธิสั้นในระบบสาธารณสุขของอังกฤษยาวเป็น 10 ปีแล้วในปัจจุบัน (คิวตรวจยาว "สิบปี" ครับ อ่านไม่ผิดครับ) และนี่มันเลยทำให้ในทางสาธารณสุข เราอาจต้องคิดถึงภาวะสมาธิสั้นว่ามันคือ "ภาวะปกติ" ไม่ใช่ "โรค"

อันนี้ต้องเข้าใจก่อนว่ามันไม่ใช่แค่การเล่นคำ เพราะในทางการแพทย์ ในอดีตเชื่อว่า ภาวะสมาธิสั้นเกิดจากภาวะผิดปกติระดับโครงสร้างสมองเลย คือ เป็นภาวะธรรมชาติระดับกายภาพที่ต้องรักษาด้วยการกินยาเป็นหลัก แต่หลังๆ นักวิจัยก็เริ่มสงสัยว่าที่เห็นเป็น "อาการ" ของภาวะสมาธิสั้น จริงๆ มันอาจเป็นเรื่องปกติของมนุษย์ในยุคปัจจุบันที่เต็มไปด้วย "สิ่งรบกวน" และถ้ามีอาการอ่อนๆ มันไม่ควรจะรักษา และถ้ามีอาการมากหน่อย บางทีการควบคุมสภาพแวดล้อมก็ช่วยให้คุมภาวะนี้ได้โดยไม่ต้องกินยา และคนที่จะต้องกินยาควรจะมีแต่คนที่อาการหนักมากจริงๆ ระดับไม่สามารถจัดการด้วยวิธีอื่นได้เท่านั้น

ในทางปฏิบัติ การควบคุมสภาพแวดล้อมเพื่อช่วยคนสมาธิสั้น มันหมายถึงการเปลี่ยนสภาพแวดล้อมทั้งที่โรงเรียนและที่ทำงานบนฐานของ "ความเข้าใจ" ภาวะสมาธิสั้นมากขึ้น คือมันต้องเข้าใจว่าบางคนเสียสมาธิได้ง่ายกว่าคนปกติจริงๆ และการช่วยให้คนเหล่านี้มีชีวิตในสังคมก็คือความเข้าใจและใช้ศักยภาพพวกเขาในฐานะสมาชิกสังคมอย่างเหมาะสม

ในระดับโรงเรียน เด็กที่มีภาวะสมาธิสั้นก็อาจต้องการเพียงแค่การปิดหน้าต่างไม่ให้เสียงรบกวนจากนอกห้องมาทำให้ไม่มีสมาธิการเรียน หรืออาจต้องการลุกขึ้นไปทำอะไรบ้างก่อนถึงเวลาพักเท่านั้นเอง ซึ่งถ้าครูเข้าใจ เด็กพวกนี้ก็จะโตและจบการศึกษามาได้โดยไม่ต้องถูกจับไปกินยา และก็เช่นเดียวกัน ชีวิตทำงาน พนักงานสมาธิสั้นก็อาจจะทำงานได้ดีกว่าถ้าไม่ต้องเข้าออฟฟิศ และทำงานจากบ้านซึ่งเค้าคุมสภาพแวดล้อมไม่ให้ตัวเองเสียสมาธิได้ เป็นต้น

เรื่องพวกนี้อาจเป็นเรื่องใหม่ แต่ในเชิงสังคมส่วนหนึ่งมันเกิดจากภาวะ "ตระหนักปัญหาสุขภาพจิต" แบบล้นเกิน หรือการพยายามจะหาว่าตัวเองมีปัญหาสุขภาพจิตอะไรบ้างของคนปัจจุบัน และนำมาสู่ตัวเลขในทางสถิติที่คนมีปัญหาสุขภาพจิตอย่างมหาศาล ซึ่งจำนวนระดับนี้ ระบบสาธารณสุขไม่สามารถจัดการได้ มันต้องต้องมาคุยกันว่ามีอาการอะไรที่คนเป็นเยอะจน "สังคมควรจะปรับตัวให้คนพวกนี้อยู่ได้" ไม่ใช่คิดว่าต้องส่งไป "รักษา" เหมือนในอดีต

ภาวะสมาธิสั้นก็อาจเป็นจุดเริ่มที่สำคัญของกระบวนการ "เปลี่ยนความเจ็บป่วยให้เป็นภาวะปกติ" ที่สังคมต้องอยู่กับมันได้ โดย "ปัญหาสุขภาพจิต" อื่นๆ ที่คนเป็นกันแบบแพร่หลายมากๆ ก็อาจค่อยๆ ถูกถอดออกจากการเป็น "โรค" ที่ต้อง "รักษา" และให้สังคม "ปรับตัว" เพื่อให้คนมีภาวะพวกนี้อยู่ในสังคมได้แบบที่ไม่ลำบากนัก และทั้งหมดก็เพื่อให้ระบบสาธารณสุขสามารถดำเนินต่อไปได้ เพราะไม่ว่าจะเป็นการ "เจ็บป่วย" จริงหรือไม่ ถ้าวันดีคืนดีคนจำนวนมหาศาลถูกวินิจฉัยว่าเจ็บป่วย และทุกคนเข้ารักษาพร้อมๆ กัน ยังไงระบบสาธารณสุขก็พัง

 

อ้างอิง
Researchers are questioning if ADHD should be seen as a disorder
ADHD should not be treated as a disorder

อ่านบทความอื่นๆ ของผู้เขียน