Skip to main content

 

ภาพันธ์ รักษ์ศรีทอง

 


เป็นทิศทางที่ชัดเจนแล้วว่าหลังจากนี้ไป ‘ท้องถิ่น’ จะต้องเป็นเจ้าภาพในการดูแลระบบสุขภาพในพื้นที่ของตัวเองทั้งระบบ โดยนำร่องจากระบบสุขภาพระดับปฐมภูมิ ทำให้มีประกาศจากคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นรับการถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือ รพ.สต. จำนวน 4,276 แห่ง จากกระทรวงสาธารณสุขในปีนี้  

แม้หลายฝ่ายเห็นตรงกันว่า การที่ระบบสุขภาพถูกบริหารจัดการด้วยหน่วยงานที่ใกล้ชิดประชาชนและพื้นที่มากขึ้น มีความคล่องตัวด้านงบประมาณและการบริหารจัดการจะเป็นจุดแข็งที่ทำให้พี่น้องประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่ด้วยความใหม่ของภารกิจและโครงสร้างการทำงานที่ต้องเปลี่ยนแปลงเกือบทั้งหมด ทำให้เป็นที่กังวลว่าในช่วงเวลา ‘เปลี่ยนผ่าน’ ที่หลายอย่างยังไม่ลงตัว อาจทำให้คุณภาพการดูแลสุขภาพประชาชนชนลดลง ควรต้องมีระบบบางอย่างเข้าไปช่วยประคับประคองในช่วงนี้ 

จึงเป็นที่มาของงานวิจัยเรื่อง ‘การพัฒนามาตรฐานบริการของหน่วยบริการสุขภาพปฐมภูมิแบบมีส่วนร่วมสำหรับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล ในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น’ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)

ผู้ช่วยศาสตราจารย์พรฤดี นิธิรัตน์ วิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้า จันทบุรี หนึ่งในทีมวิจัย เปิดเผยว่า โครงการวิจัยนี้ เริ่มต้นมาจากการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. ที่ขณะนี้เป็นระยะเริ่มแรก ซึ่งเดิม รพ.สต. เป็นส่วนหนึ่งของระบบสุขภาพระดับปฐมภูมิ สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ที่ดูแลพี่น้องประชาชนมาอย่างยาวนาน เป็นส่วนหนึ่งของระบบสุขภาพไทยที่ต้องยอมรับว่ามีคุณภาพมาตรฐานในระดับต้นของโลก

“เมื่อถ่ายโอนสู่เจ้าภาพใหม่เป็นท้องถิ่นอาจมีภารกิจไม่เหมือนกัน แต่ถึงกระนั้นเรื่องคุณภาพของระบบสุขภาพระดับปฐมภูมิก็เป็นสิ่งที่ต้องรักษาไว้ให้ได้ เพราะการเน้นเรื่องการส่งเสริมป้องกัน การดูแลใกล้บ้านใกล้ใจ หรือการดูแลความเจ็บป่วยเริ่มแรกถือเป็นด่านแรกของเรื่องสุขภาพ ประเด็นก็คือในการถ่ายโอนช่วงเริ่มแรกต้องยอมรับว่า ยังมีความไม่พร้อมในหลายด้าน เพียงแต่ยังไม่มีข้อมูลเชิงประจักษ์เกี่ยวกับปัญหาที่มีรวมถึงแนวทางข้อเสนอแนะเพื่อไปบริหารจัดการสำหรับทุกฝ่าย  

“อีกประเด็นหนึ่ง คือ รพ.สต.ไม่ว่าสังกัดหน่วยงานใดก็ต้องมีมาตรฐานในการดูและพี่น้องประชาชน เดิมอยู่กับสาธารณสุข เน้นการบริการในหน่วยรักษาก็จะมีมาตรฐานหนึ่ง แต่เมื่อสังกัดท้องถิ่นที่ต้องโฟกัสเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนมากขึ้น เกณฑ์มาตรฐานจึงจะต่างออกไป เพียงแต่เกณฑ์ที่ต้องเพิ่มเข้ามาตรงนี้ยังไม่มีใครรู้ว่าคืออะไร จึงเป็นที่มาของการวิจัยเพื่อค้นหา 2 คำตอบว่า รพ.สต.ควรถูกวัดด้วยเกณฑ์มาตรฐานอะไรจึงเหมาะสม และ อบจ.หรือหน่วยงานต่างๆ ควรมีแนวทางบริหารจัดการอย่างไรจึงจะช่วยรพ.สต. ให้ประสบความสำเร็จ มีมาตรฐานเหมือนที่เคยมีมาหรือดีขึ้นกว่าเดิม หวังว่าหลายฝ่ายจะได้ใช้ประโยชน์จากข้อค้นพบในงานวิจัยซึ่งจะมีการนำเสนอโดยละเอียดอีกครั้งในเดือนธันวาคมนี้”

 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์พรฤดี นิธิรัตน์


กระบวนการวิจัย


ผู้ช่วยศาสตราจารย์พรฤดี อธิบายว่า งานวิจัยนี้ใช้วิธีการสัมภาษณ์เชิงลึกจากตัวแทนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องกับระบบสุขภาพปฐมภูมิและ รพ.สต. ทั้งในอดีตและปัจจุบัน ได้แก่ ผู้อำนวยการ รพ.สต., ตัวแทนสาธารณสุข (สสอ.), ผู้นำชุมชน หรือ อสม., ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, เจ้าหน้าที่ รพ.สต., ผู้ใช้บริการ, ตัวแทนหน่วยงานผู้ที่เคยดูแล รพ.สต., และผู้ที่ดูแลหน่วยงานปฐมภูมิของ อบจ. ในปัจจุบันโดยการเลือกจาก 8 จังหวัดทั่วประเทศ ภาคเหนือ 2 จังหวัด ได้แก่ พิษณุโลกและแพร่, ภาคกลาง/ตะวันออก 2 จังหวัด ได้แก่ นนทบุรีและจันทบุรี, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา และมหาสารคาม และภาคใต้ 2 จังหวัด ได้แก่ สุราษฎร์ธานีและตรัง แต่ละภาคเป็นตัวแทนจังหวัดที่มีท้องถิ่นขนาดใหญ่และขนาดเล็ก จังหวัดที่ถ่ายโอนแล้วสามารถเดินต่อได้อย่างเข้มแข็ง และจังหวัดที่ยังต้องการการสนับสนุนเพิ่ม เพื่อให้สามารถรับทราบข้อมูลได้จากบริบทที่ต่างกัน ทั้งหมดสัมภาษณ์รวม 352 คน

 

“จากการเก็บข้อมูล สิ่งที่น่าดีใจ คือ คนที่ทำงานตรงนี้ไม่ว่า ผอ.รพ.สต. หรือเจ้าหน้าที่ยอมรับเกณฑ์มาตรฐานระบบสุขภาพปฐมภูมิที่ออกมาก่อนหน้านี้ เขาบอกว่าเพราะมันคือเกณฑ์มาตรฐาน ไม่สามารถไปลดเพื่อให้โรงพยาบาลผ่านหรือเพื่อทำงานให้ง่ายได้ขึ้น เป็นเรื่องที่ต้องชื่นชมในความเป็นวิชาชีพ ถ้าจะมีขอปรับบ้างก็เป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เช่น เรื่องจำนวนหมอ ซึ่งใน รพ.สต.ขนาดเล็ก ไม่มีหมอประจำ เขาก็เสนอว่าใช้ระบบ Telemed มาแทนได้หรือไม่ หรือเรื่องการใช้อุปกรณ์เครื่องมือบางอย่าง ถ้าไม่มีหมอก็ใช้ไม่ได้ ก็ไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องมือเหล่านั้นเป็นเกณฑ์วัดมาตรฐานได้หรือไม่ เป็นต้น”

 

รู้จักเกณฑ์มาตรฐานระบบสุขภาพปฐมภูมิ
 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์พรฤดี ชี้ว่า ก่อนหน้านี้ระบบสุขภาพไทยยังไม่มีเกณฑ์มาตรฐานสำหรับโรงพยาบาลระดับปฐมภูมิ มีเพียงเกณฑ์สำหรับโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่ทำเรื่องการรักษาพยาบาลในระดับทุติยภูมิ และตติยภูมิ จึงใช้โอกาสที่กำลังจะถ่ายโอนภารกิจไปยังท้องถิ่น จัดทำเกณฑ์วัดมาตรฐานคุณภาพโรงพยาบาลระดับปฐมภูมิ หรือ รพ.สต. ขึ้นโดยสำนักสนับสนุนระบบสุขภาพปฐมภูมิ แต่มีเสียงสะท้อนว่า เกณฑ์ที่ออกมามีลักษณะเสมือนถอดมาจากมาตรฐานโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่บางด้านไม่สอดคล้องกับบริบทของ รพ.สต. ที่เน้นทำเรื่องส่งเสริมป้องกัน อย่างเรื่องการมีแพทย์และพยาบาลประจำ หรือการมีเครื่องมือบางอย่างที่ รพ.สต.บางแห่งไม่มีก็จะทำให้ไม่ผ่านเกณฑ์ตามนั้นได้

 

“จากการเก็บข้อมูล สิ่งที่น่าดีใจ คือ คนที่ทำงานตรงนี้ไม่ว่า ผอ.รพ.สต. หรือเจ้าหน้าที่ยอมรับเกณฑ์มาตรฐานระบบสุขภาพปฐมภูมิที่ออกมาก่อนหน้านี้ เขาบอกว่าเพราะมันคือเกณฑ์มาตรฐาน ไม่สามารถไปลดเพื่อให้โรงพยาบาลผ่านหรือเพื่อทำงานให้ง่ายได้ขึ้น เป็นเรื่องที่ต้องชื่นชมในความเป็นวิชาชีพ ถ้าจะมีขอปรับบ้างก็เป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เช่น เรื่องจำนวนหมอ..."

สำหรับงานวิจัยนี้ จึงได้นำเอาเกณฑ์ดังกล่าวที่ออกมาไปสอบถามกับพื้นที่จริง พบว่า ในส่วนเกณฑ์เดิมทางพื้นที่ค่อนข้างไม่มีปัญหาแต่ขอปรับบ้างในบางจุดที่ไม่สอดคล้อง แต่มีส่วนที่เป็นข้อค้นพบจากการวิจัยเกณฑ์มาตรฐานระบบสุขภาพปฐมเดิมขาดเรื่องที่ควรประเมินไป 2 เรื่อง เรื่องแรก คื อการมีส่วนร่วมของประชาชน เช่น การทำงานแบบสร้างเครือข่าย ซึ่งเป็นเรื่องที่ รพ.สต.ทำตรงนี้มาก แต่ไม่เคยถูกวัดและเป็นบทบาทที่สำคัญของระบบปฐมภูมิด้วย

เรื่องที่สอง คือ การส่งเสริมให้ประชาชนมีศักยภาพหรือมีความรู้ในการจัดการสุขภาพตนเองและคนในครอบครัว

“อีกหนึ่งเรื่องที่คิดว่าควรเพิ่มเข้าไปเหมือนกัน คือการมีส่วนร่วมของประชาชนในการประเมินคุณภาพ รพ.สต. แต่เน้นที่การประเมินคุณภาพการให้บริการ ไม่ใช่ประเมินมาตรฐานการให้บริการ เรื่องมาตรฐานต้องเป็นเรื่องของนักวิชาการ เช่น วัคซีนต้องแช่อุณภูมิไหน จัดเก็บอย่างไร แต่เรื่องบริการ คุณลักษณะเจ้าหน้าที่ อาคารสถานที่ เหล่านี้ประชาชนมีบทบาทร่วมได้ คนส่วนใหญ่ที่ไปสอบถามก็เห็นว่าควรให้น้ำหนักบทบาทนี้อยู่ที่ ร้อยละ 20”

ข้อเสนอ 2 เกณฑ์มาตรฐานที่ควรเพิ่มเพราะไม่เคยถูกชี้วัด

1. การมีส่วนร่วมของประชาชน เช่น การทำงานแบบสร้างเครือข่าย 
2. การส่งเสริมให้ประชาชนมีศักยภาพหรือมีความรู้ในการจัดการสุขภาพตนเองและคนในครอบครัว

สำหรับระยะเวลาการประเมินมีข้อเสนอว่าควรทำ 3 ปีครั้ง แต่ทุกๆ ปีต้องส่งรายงานการทำงาน ส่วนทีมผู้ประเมินควรเป็นใครยังมีมุมมองแบ่งเป็นสองแนวทาง แนวทางแรกเสนอว่า ควรใช้ทีมประเมินร่วมจากโรงพยาบาล ท้องถิ่น อปท.และประชาชน อีกแนวทางมองว่าควรใช้หน่วยงานข้างนอกที่ไม่เกี่ยวข้องเป็นผู้ประเมิน เช่น บริษัทเอกชนหรือมหาวิทยาลัย เพราะการเป็นคนนอกไม่เคยมีความเกี่ยวข้องกันมาก่อนจะทำให้กล้าประเมินตรงไปตรงมามากกว่าการให้คนรู้จักกันประเมินกันเอง ในประเด็นนี้ยังไม่มีข้อสรุปชัดเจนในตอนนี้

ข้อค้นพบ ใครควรทำอย่างไรเพื่อสนับสนุน รพ.สต.ของท้องถิ่น
KEY : ต้องมี ‘ที่ปรึกษา’ อย่างเป็นทางการ 
ระดับนโยบาย 
- ทำ MOU ระดับนโยบายระหว่างกระทรวงสาธารณสุขกับกระทรวงมหาดไทย ให้ สสจ. เป็นพี่เลี้ยงให้ท้องถิ่น 
- พิจารณาแก้ไข ข้อกฎหมาย ระเบียบ ประกาศเพื่อให้เอื้อกับการทำงานของ รพ.สต.ในสังกัดท้องถิ่น

ท้องถิ่น 
- เติมกำลังคน   
- เติมองค์ความรู้ในทุกระดับ
- แก้ไขระเบียบการใช้งบประมาณ 
- เตรียมแผนการหาเวชภัณฑ์หากในอนาคตไม่มีโรงพยาบาลแม่ข่ายช่วย
- Fast Track ปรับกองสาธารณสุข อบจ. ให้มีโครงสร้างแบบเดียวกับ สสจ.เดิม 
- ฐานข้อมูล ควรใช้ฐานเดียวกันกับที่ สสจ.ทำไว้ซึ่งดีอยู่แล้ว ไม่ต้องทำใหม่


ข้อค้นพบจากวิจัย: เปลี่ยนผ่านอย่างไรให้มีคุณภาพ
 

อบจ.มีทั้งเรื่องที่พร้อมและไม่พร้อมสำหรับการถ่ายโอน เรื่องที่พร้อมคือ มีงบประมาณและมีกรอบอัตรากำลังรองรับ แต่ที่เหลือคือเรื่องไม่พร้อม ตั้งแต่ความเข้าใจเรื่องระบบสุขภาพปฐมภูมิในทุกระดับ ผู้บริหารท้องถิ่นบางแห่งยังมุ่งเน้นนโยบายการรักษา เช่น ต้องมีรถฉุกเฉิน ต้องมีเครื่องมือการแพทย์พร้อม อาจเพราะเห็นผลงานง่าย แต่เรื่องการส่งเสริมป้องกัน ถ้าไม่เข้าใจอาจละทิ้งสิ่งที่วางระบบไว้ดีแล้วได้

“ต้องยอมรับว่าจากการลงพื้นที่ ท้องถิ่นหลายแห่งขาดความเข้าใจในงานส่วนนี้ การบริการจัดการระบบสาธารณสุขก็เช่นกัน การตั้งกองสาธารณสุขของท้องถิ่นถือว่าใหม่มาก ทำให้ขาดบุคลากรที่มีความเข้าใจและชำนาญในงาน มีการเปิดกรอบอัตรารับคนก็จริงแต่ที่รับมาไม่รู้ว่าต้องทำงานสาธารณสุขอย่างไร ทำให้ รพ.สต. ไม่สามารถทำงานอย่างคล่องตัวได้ แตกต่างจากการทำงานในสังกัดเดิม ทุกอย่างไหลไปในระบบงานเดียวกัน หรือแม้แต่คนที่ถ่ายโอนมาให้ รพ.สต.ก็ไม่ได้มาทั้งหมด หลายแห่งมาครึ่งเดียว ที่เหลือขอกลับไปสังกัดโรงพยาบาล ทำให้คนที่ทำงานใน รพ.สต. ที่อยู่ต้องรับภาระมาก เพราะเขาต้องการรักษาคุณภาพมาตรฐานเท่าเดิม แต่จำนวนคนน้อยลง ความเข้าใจของส่วนงานที่เกี่ยวเนื่องกันน้อยลง”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์พรฤดี ชี้ว่า ในประเทศที่มีการกระจายอำนาจ โรงพยาบาลจังหวัดในแต่ละระดับยกเว้นโรงพยาบาลศูนย์ขนาดใหญ่ สังกัดท้องถิ่นหมด แต่ของเรายังไม่ไปแบบนั้นแม้มีระบุไว้ในกฎหมายกระจายอำนาจ แต่ให้แยกไปก่อนเฉพาะระดับปฐมภูมิ ทำให้เป็นระบบสุขภาพต่างสังกัด การส่งต่อจึงมีปัญหาความไม่ต่อเนื่องกันทุกด้าน แม้กระทั่งระบบสารสนเทศที่ทางสาธารณสุขจังหวัดทำไว้แล้ว แต่พอถ่ายโอนภารกิจ แยกสังกัดกันแล้วกลายเป็นต้องทำใหม่ ไม่รู้เป็นเพราะอะไร นอกจากทำให้ต้องใช้เวลาและกำลังคนในการรวมข้อมูลแล้ว ในอนาคตคือข้อมูลของแต่ละหน่วยงานก็จะไม่ตรงกันและอาจเป็นปัญหาได้

 

“เท่าที่ได้ฟังมันมีความดีงามอยู่ ประชาชนที่มารับบริการถึงตอนนี้ยังไม่มีใครบอกว่า รพ.สต.ในมือ อบจ.คุณภาพแย่ แม้จะมีการเปลี่ยนถ่ายสังกัด ”

 

สาเหตุที่ทำให้บุคลากรบางส่วนไม่โอนย้ายตาม คือ ความไม่มั่นใจเรื่องสวัสดิการ เช่น ได้ค่าเวรลดลง การเลื่อนขั้นที่ยังไม่ชัดเจนว่าจะเป็นอย่างไร ทุกอย่างยังคลุมเครือ การหาคนเข้ามาเติมระบบจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ท้องถิ่นต้องคิด เช่น ให้ทุนเด็กๆในท้องถิ่นไปเรียนพยาบาลเพื่อกลับมาทำงานในพื้นที่ไหม หรือใครที่เกษียณแต่ยังมีศักยภาพดึงกลับมาก่อนไหม อีกปัญหาใหญ่คือ หลายท้องถิ่นไม่ได้มองเรื่องการพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิเป็นเรื่องสำคัญ ทำให้บางแห่งลดการคัดกรองลง พอเห็นว่าไม่มีปัญหาแล้วก็ไม่ทำต่อ แต่บางเรื่องอ่อนลงไม่ได้ เช่น เรื่องวัคซีน สมมติว่าละเลยทำให้การควบคุมโปลิโอล้มเหลวและกลับมาอุบัติซ้ำทั้งที่เราเคยคุมได้แล้ว หรือเกิดการระบาดโควิดอีกรอบ แต่คราวนี้กลไกรับมือต่างๆ ไม่พร้อม เชื่อว่าจะมีการดึง รพ.สต.กลับแน่นอน ทั้งที่ไม่ควรเป็นแบบนั้น

“เท่าที่ได้ฟังมันมีความดีงามอยู่ ประชาชนที่มารับบริการถึงตอนนี้ยังไม่มีใครบอกว่า รพ.สต.ในมือ อบจ.คุณภาพแย่ เขาไม่รู้สึก แม้จะมีการเปลี่ยนถ่ายสังกัด แต่สำหรับเจ้าหน้าที่ แม้เขายืนยันว่าไม่ลดมาตรฐานลง เขาก็ต้องใช้ความพยายามมาขึ้นในการควบคุมคุณภาพ ถึงวันหนึ่งอาจไม่ไหวได้ถ้าไม่มีการจัดการตรงนี้ ”

สำหรับข้อเสนอแนะที่ได้รับมาระหว่างงานวิจัย พบว่า กุญแจสำคัญจากท้องถิ่นที่ประสบความสำเร็จในการถ่ายโอนราบรื่นไร้รอยต่อ คือ การที่ท้องถิ่นนั้นยังมี สสจ. ทำหน้าที่เป็น ‘ที่ปรึกษา’ ดังนั้น ข้อเสนอที่สำคัญจากงานวิจัยนี้ สำหรับผู้เกี่ยวข้องระดับนโยบายทั้งกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงมหาดไทย คือ ต้องมีการทำบันทึกข้อตกลง (MOU) ให้ สสจ. ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้ท้องถิ่นก่อน เพื่อให้มีการให้คำปรึกษาและวางแผนอย่างเป็นระบบในช่วงเปลี่ยนผ่าน ท้องถิ่นที่มีที่ปรึกษาดี มีการวางแผนงานร่วมกันอย่างชัดเจน ใช้เวลาไม่เกิน 2 ปี จะสามารถทำแผนของตัวเองในการขับเคลื่อนระบบสุขภาพระดับปฐมภูมิในท้องถิ่นได้

 

“ไม่มีใครบอกเลยว่าระบบสุขภาพในมือท้องถิ่นไม่มีอนาคต ถามใครทุกคนบอกว่ามี แต่มันยังไม่ใช่ภายใต้ระบบที่เป็นอยู่ตอนนี้ ถามว่าทิศทางดีไหม ทุกคนบอกว่าดี ในฐานะนักวิชาการสาธารณสุขที่ทำเรื่องนี้มานานพอสมควร การถ่ายโอนระบบสุขภาพให้ท้องถิ่นดูแลเป็นเรื่องดี ต่างประเทศก็อยู่กับท้องถิ่น เพียงแต่ตอนนี้อาจยังเป็นเรื่องที่ใหม่มากสำหรับท้องถิ่น"

 

“การขึ้นกับ อบจ. เป็นจุดแข็งของ รพ.สต. แต่ต้องทำงานเชื่อมกับโครงสร้างของ สธ.ให้ได้ ตอนนี้ระบบงานยังไม่ชัดเจน จึงทำให้คนทำงานทำงานยาก ปัจจุบันมีคณะกรรมสุขภาพระดับพื้นที่ที่มีนายก อบจ. เป็นประธาน มี สสจ. ในนั้นด้วย มี รพ.สต. เป็นตัวแทนบอกปัญหาเพื่อขับเคลื่อนนโยบาย ทุกคนบอกโครงสร้างนี้ดีมาก แต่ปัญหาในเชิงปฏิบัติคือ บางที่ตั้งมาปีนึงแล้ว คณะกรรมการชุดนี้ยังไม่เคยประชุมเลย ดังนั้น ฝ่ายนโยบายต้องช่วยกำกับทำให้เกิดรูปธรรมด้วย”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์พรฤดี อธิบายเพิ่มเติมว่า เดิม รพ.สต.มีโรงพยาบาลแม่ข่ายทำหน้าที่สนับสนุนให้คำปรึกษา มีหมอช่วยให้คำแนะนำต่างๆในการดูแลปัญหาสุขภาพในพื้นที่ ทำให้บุคลากรของ รพ.สต.มีความมั่นใจในการคัดกรองผู้ป่วยในพื้นที่ให้ไม่ต้องไปโรงพยาบาลทั้งหมด แต่หากทั้งสองหน่วยทำงานแยกส่วน ระบบสุขภาพระดับปฐมภูมิตอนนี้ไม่มีที่ปรึกษา เพราะโรงพยาบาลแม่ข่ายเดิมอยู่คนละกระทรวงแล้ว ในอนาคตผู้ป่วยก็อาจถูกส่งต่อไปโรงพยาบาลหมดเพราะคนทำงานขาดความมั่นใจในการดูแลผู้ป่วยเบื้องต้นเนื่องจากขาดระบบรองรับและไม่รู้จะปรึกษาใคร ตรงนี้ยังเป็นความลักลั่นของการกระจายอำนาจ ตามกฎหมายบอกว่าต้องไปทั้งหมด ในต่างประเทศโรงพยาบาลขึ้นกับท้องถิ่นหมด ถ้าเป็นแบบนั้นก็อาจจะไปได้อีกแบบคือทำงานเชื่อมโยงกัน แต่ของเราไปแค่ รพ.สต.ส่วนเดียว ทำให้เคว้งคว้างมาก ช่วงเปลี่ยนผ่านแบบนี้จึงมีความสำคัญมาก ต้องช่วยกันวางระบบรองรับ จากงานวิจัยนี้บ่งชี้ว่า การมีที่ปรึกษาที่ดีและเป็นทางการมีความสำคัญ จึงเป็นเรื่องที่ฝ่ายนโยบายควรต้องจัดการในเรื่องนี้ให้เกิดขึ้นโดยด่วน

“ไม่มีใครบอกเลยว่าระบบสุขภาพในมือท้องถิ่นไม่มีอนาคต ถามใครทุกคนบอกว่ามี แต่มันยังไม่ใช่ภายใต้ระบบที่เป็นอยู่ตอนนี้ ถามว่าทิศทางดีไหม ทุกคนบอกว่าดี ในฐานะนักวิชาการสาธารณสุขที่ทำเรื่องนี้มานานพอสมควร การถ่ายโอนระบบสุขภาพให้ท้องถิ่นดูแลเป็นเรื่องดี ต่างประเทศก็อยู่กับท้องถิ่น เพียงแต่ตอนนี้อาจยังเป็นเรื่องที่ใหม่มากสำหรับท้องถิ่น อาจยังขาดความเข้าใจ ถ้าสามารถนำคนที่มีความเข้าใจ รู้วิธีการ สามารถวางระบบมาตรฐานให้มีความเข้มงวดเหมือนที่เคยทำมา ซึ่งเอาจริงๆหาได้ไม่ยาก บางคนเพิ่งเกษียณก็ยังมีศักยภาพ ไปชวนเขาก็มา ไม่ใช่รอให้ผลออกมาว่าถ่ายโอนไม่สำเร็จ ผลสุขภาพประชาชนแย่ลง แบบนั้นโดนดึงกลับแน่ แต่ถ้าได้ที่ปรึกษาดีเชื่อว่าไปได้ งานวิจัยนี้เองก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่เอาไปใช้ประโยชน์ได้ นอกจากเรื่องมาตรฐานที่เหมาะสมแล้ว สิ่งที่กำลังทำอยู่ก็คือข้อเสนอสำหรับทุกฝ่ายเพื่อให้เดินหน้าไปต่ออย่างเข้มแข็งได้”
 

หมายเหตุ: 
ข้อเขียนชิ้นนี้ เป็นส่วนหนึ่งของ งานวิจัยการพัฒนามาตรฐานบริการของหน่วยบริการสุขภาพปฐมภูมิแบบมีส่วนร่วมสําหรับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจําตําบล ในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)
 

ซีรีย์ชุด รายงานพิเศษงานวิจัยการพัฒนามาตรฐานบริการของหน่วยบริการสุขภาพปฐมภูมิแบบมีส่วนร่วมสําหรับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจําตําบล