งานศึกษาชิ้นใหม่จากมหาวิทยาลัยเซอร์รีย์ ในสหราชอาณาจักรพบว่า คนประเภท “นกฮูกกลางคืน” ที่มีพฤติกรรมนอนดึก-ตื่นสาย มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดภาวะซีมเศร้า เมื่อเทียบกับคนที่เข้านอนและตื่นนอนตามเวลาปรกติ
นักวิจัยทำการศึกษาเกี่ยวกับนาฬิกาชีวิตในการตื่นและนอนหลับของนักศึกษาปริญญาตรี 546 คน พบว่า ในจำนวนของนักศึกษาที่เข้าร่วมการทดลอง มีเพียง 38 คนที่มีพฤติกรรมแบบ “เออรีเบิร์ด” หรือคนที่ตื่นแต่เช้า ขณะที่ 252 คน เป็นประเภทนกฮูกกลางคืน ที่เริ่มตื่นตัวช่วงตอนเย็นหรือค่ำ ขณะที่ 256 คน มีนาฬิกาชีวิตอยู่ระหว่างกลางของคนทั้งสองประเภท
“นาฬิกาชีวิตของคนประเภท นอนดึก-ตื่นสาย หรือ พวกที่เป็น นกฮูกกลางคืน ในทางชีวภาพมักจะตื่นตัวในช่วงเย็น นอนหลับตอนเช้าและตื่นตอนสาย ซึ่งนาฬิกาชีวิตขึ้นอยู่กับพันธุกรรม และพฤติกรรมแบบนกฮูกกลางคืน มีแนวโน้มว่าจะเป็นไปตามธรรมชาติในทางชีววิทยา” ไซมอน อีแวนส์ นักประสาทวิทยา กล่าว
นักวิจัยกล่าวว่า อายุเฉลี่ยของนักศึกษาที่เข้าร่วมการทดลองอยู่ที่ 20 ปี การมีนาฬิกาชีวิตที่ต่างกันจึงไม่ใช่เรื่องแปลก ซึ่งคนที่เข้าสู่ช่วงปลายของวัยรุ่นมีแนวโน้มที่จะมีพฤติกรรมนอนดึกตื่นสาย ขณะที่การตื่นแต่เช้าจะเกิดขึ้นกับช่วงชีวิตหลังจากนั้น
นักวิจัยให้ผู้เข้าร่วมการทดลองตอบคำถามเกี่ยวกับคุณภาพการนอนหลับ แนวโน้มด้านลบของความรู้สึกและความคิด ความเศร้า การมีสติ และการดื่มแอลกอฮอล์
นักวิจัยพบว่า การนอนดึกตื่นสายกับความเสี่ยงของการเกิดอาการซึมเศร้าขั้นรุนแรงนั้นเชื่อมโยงกัน คนที่เป็นนกฮูกกลางคืนมีโอกาสสูงกว่าอย่างมีนัยสำคัญที่จะมีอาการซึมเศร้า เมื่อเทียบกับคนที่เข้านอนและตื่นแบบปรกติ
ในทางกลับกัน อาการซึมเศร้า อาจเป็นแรงผลักดันให้ใช้ชีวิตในตอนกลางคืน และขาดแรงจูงใจที่จะลุกขึ้นจากเตียงในตอนเช้า รวมถึงยากที่จะนอนหลับอย่างผ่อนคลายในระหว่างที่ความคิดแง่ลบวนเวียนอยู่ในหัว ซึ่งการศึกษาพบว่า คนประเภทนกฮูกกลางคืน จะมีระดับของการหมกมุ่นในความคิดที่สูงกว่า
นักวิจัยระบุว่า อาจเป็นไปได้ว่า การทำงาน เรียนหนังสือ และการเข้าสังคม ทำให้บรรดานกฮูกกลางคืนต้องตื่นเช้า ซึ่งฝืนธรรมชาติการนอนของตัวเองและทำให้นอนไม่พอ ทำให้อยากนอนเร็วทั้งที่ร่างกายยังไม่ง่วง ซึ่งการสะสมของ "social jetlag" (อาการที่นาฬิกาชีวิตไม่ตรงกับตารางเวลาทางสังคม) และ "sleep debt" (การนอนหลับไม่พอเรื้อรัง) อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตได้ในระยะยาว
การดื่มแอลกอฮอล์ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อความเชื่อมโยงนี้เช่นกัน นักวิจัยพบว่า คนที่นอนดึกมักดื่มแอลกอฮอล์มากกว่าคนทั่วไป อย่างไรก็ตาม แม้ว่าแอลกอฮอล์จะเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้า แต่ในงานวิจัยนี้ กลุ่มนักศึกษาที่เป็นพวกนอนดึกมักดื่มในระดับปานกลาง หรือต่ำเกินกว่าที่จะส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตอย่างจริงจัง ซึ่งช่วยระดับความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้า
นักวิจัยเสนอว่า การฝึกสติในแบบต่างๆ อาจช่วยได้ รวมถึงการพยายามปรับปรุงคุณภาพการนอน และลดการดื่มแอลกอฮอล์ก็น่าจะเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ด้วย
ที่มา
Night Owls Face Higher Depression Risk. A New Study Explains The Link.