Skip to main content

 

รายงานเรื่อง SHAPING A COOLER BANGKOK Tackling Urban Heat for a More Livable Cityที่จัดทำโดยกรุงเทพมหานครร่วมกับธนาคารโลก ระบุว่า กรุงเทพฯ จะมีอากาศร้อนมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะส่งผลให้มีจำนวนวันที่อากาศร้อนจัดเพิ่มมากขึ้น รวมถึงมีผู้เสียชีวิตจากอากาศร้อนแตะ 4 พันราย และสร้างความสูญเสียต่อเศรษฐกิจมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท

รายงานดังกล่าวระบุว่า ปี 2024 ที่ผ่านมา อุณหภูมิของโลกสูงขึ้นจนทำสถิติหลายครั้ง และในปี 2050 หรือ 25 ปีจากนี้ กรุงเทพฯ มีแนวโน้มที่อากาศจะร้อนขึ้นเรื่อยๆ และจะเห็นผลกระทบที่เกิดกับสุขภาพของประชาชน รวมถึงผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ  

รายงานระบุว่า ในปี 2019 มีการประเมินว่า เฉพาะในกรุงเทพฯ ผู้เสียชีวิตอันเนื่องจากอากาศร้อนสุดขีดอยู่ระหว่าง 421 ถึง 1,174 คน และหากอุณหภูมิสูงขึ้นเฉลี่ยอีก 1°C คาดว่าจะมีผู้เสียชีวิตเนื่องจากความร้อนสูงถึง 2,333 คน และสร้างความสูญเสียทางสังคมคิดเป็นมูลค่าราว 5.2 หมื่นล้านบาทต่อปี รวมถึงส่งผลให้ประสิทธิภาพในการทำงานของแรงงานลดลงร้อยละ 3.3 ถึง 3.4 คิดเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจราว 4.47 หมื่นล้านบาท และหากอุณหภูมิเพิ่มขึ้นถึง 2°C คาดว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจากอากาศร้อนจะเพิ่มขึ้นเป็น  2,363 ถึง 3,814 คน

รายงานชี้ว่า อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น 1°C จะทำให้ปริมาณการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าของครัวเรือนโดยรวมเพิ่มขึ้นราว 1.73 หมื่นล้านบาทต่อปี และทำให้สัดส่วนของค่าใช้จ่ายที่เป็นค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 30 ของรายได้ รวมถึงมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่บรรยากาศโลกที่เพิ่มขึ้นอีกปีละมากกว่า 2 ล้านเมตริกตัน

รายงานเผยว่า ระหว่างปี 1960 ถึงปี 2000 อุณหภูมิเฉลี่ยต่อปีของกรุงเทพฯ อยู่ที่ประมาณ 28-30°C แต่ภายในสิ้นศตวรรษนี้ (ปี 2100) อุณหภูมิอาจเพิ่มขึ้นอีก 2.5°C ภายใต้ภาวะที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่ในระดับปานกลาง หรืออาจสูงขึ้นถึง 4.5°C หากการปล่อยก๊าซอยู่ในระดับสูง และจะทำให้จำนวนวันที่มีอุณหภูมิสูงเกิน 35°C เพิ่มขึ้นจากเดิม 100 วันต่อปี เป็น 153 วันต่อปี

ผลกระทบอีกอย่างหนึ่งที่ตามมาคือ กรุงเทพฯ จะมีคลื่นความร้อน (heatwaves) ที่ยาวนานและถี่ขึ้น เมืองจะกักเก็บความร้อนไว้มากและนานขึ้น ทำให้อากาศร้อนอบอ้าวในตอนกลางคืน

รายงานเผยว่า จากการวิเคราะห์ด้วยโมเดลทำนายสภาพอากาศ วิเคราะห์การกระจายตัวของความร้อนในแต่ละย่านของกรุงเทพฯ ทั้งในช่วงกลางวันและกลางคืน พบว่า อุณหภูมิในแต่ละย่านมีความแตกต่างกัน ในพื้นที่ที่อาคารหนาแน่นมาก อากาศในตอนกลางคืนจะร้อนกว่าพื้นที่ชนบทรอบนอกที่มีต้นไม้และพื้นที่สีเขียวถึง 6°C

กรุงเทพฯ ย่านใจกลางเมืองที่เผชิญกับความร้อน เป็นผลจากการมีต้นไม้และพื้นที่สีเขียวอยู่น้อย และเต็มไปด้วยอาคารสูงที่ติดกระจก และพื้นคอนกรีต ซึ่งดูดซับความร้อนจากแสงอาทิตย์ และทำให้อุณหภูมิสูงต่อเนื่องไปจนถึงช่วงค่ำ ย่านใจกลางเมือง อย่างเช่น ปทุมวัน บางรัก ราชเทวี เป็นบริเวณที่อากาศร้อนที่สุด เมื่อเทียบกับย่านที่อยู่ฝั่งตะวันออกและทางเหนือของกรุงเทพฯ ที่มีพื้นที่เปิดโล่งมากกว่า อากาศจะร้อนน้อยกว่า

รายงานระบุถึงผลกระทบต่อสุขภาพว่า ความร้อนส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อการเสียชีวิต และเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตจากฮีทสโตรก ขณะที่ส่งผลทางอ้อมทำให้ผู้ป่วยโรคเส้นเลือดหัวใจมีอาการรุนแรงขึ้น

คนสูงอายุในกรุงเทพฯ ซึ่งมีอยู่ราวร้อยละ 9.3 ของประชากร และเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ซึ่งมีอยู่ร้อยละ 8.2 เป็นกลุ่มที่เปราะบางต่อความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาสุขภาพที่มีสาเหตุจากสภาพอากาศร้อนจัด นอกจากนี้ กลุ่มคนรายได้น้อยที่อาศัยอยู่ในบ้านที่การระบายอากาศได้ไม่ดี และไม่มีพื้นที่สีเขียว จะยิ่งเผชิญความเสี่ยงด้านสุขภาพจากอากาศร้อนที่สูงขึ้น

รายงานระบุว่า คนที่ทำงานกลางแจ้ง เช่น คนงานก่อสร้าง หาบเร่แผงลอย และคนขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง จะได้รับผลกระทบรุนแรงกว่า ขณะที่คนทำงานในออฟฟิศจะมีปัญหาเรื่องสมาธิและประสิทธิภาพการทำงานลดลงเนื่องจากอากาศร้อน ขณะที่อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการค้าและบริการ ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ใหญ่ของการจ้างงานในกรุงเทพฯ จะได้รับผลกระทบอย่างมากจากอุณหภูมิที่สูงขึ้น ทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจเป็นมูลค่าที่สูงเกินกว่าความเสียหายทางเศรษฐกิจจากปัญหามลพิษทางอากาศและการจราจร

นอกจากนี้ สภาพอากาศร้อนจัดยังส่งผลกระทบต่อนักเรียน ทำให้การเรียนของเด็กนักเรียนจะตกลงเนื่องจากอากาศในห้องเรียนที่ร้อนอบอ้าว

ในรายงานกล่าวถึงมาตรการในการบรรเทาความร้อนของกรุงเทพมหานคร โดยระบุว่าโครงการและโครงสร้างพื้นฐานตัวอย่างที่เป็นความพยายามของกรุงเทพมหานครในการรับมือกับเมืองที่ร้อน เช่น สบายสแควร์ ที่พักรอรถประจำทางซึ่งใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการทำความเย็นให้กับประชาชนขณะรอรถ หรือการปลูกต้นไม้ 1 ล้านต้นที่สำเร็จลุล่วงไปตามที่กำหนด การร่วมมือกับภาคเอกชนในการเริ่มสร้างป่าในเมือง เพื่อเพิ่มร่มเงาและอากาศบริสุทธิ์ในย่านต่างๆ โดยโครงการขนาดใหญ่อยู่ที่วันแบงค็อก และสามย่านสมาร์ทซิตี้

รายงานระบุว่า ทางผู้บริหารกรุงเทพมหานครตั้งเป้าในการเพิ่มพื้นที่สีเขียว เช่น สวน 15 นาที การอบรมเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเพื่อเตรียมพร้อม และการเพิ่มพื้นที่สีเขียวหน้าอาคารต่างๆ และในช่วงเดือนที่อากาศร้อนที่สุด รวมถึงการตรวจวัดระดับความร้อนและระบบแจ้งเตือน รวมถึงวิธีปฏิบัติตัวเพื่อลดผลกระทบจากอากาศร้อนให้แก่ประชาชน

ในรายงานการศึกษาเสนอว่า ความท้าทายจากอากาศร้อนของกรุงเทพฯ ที่เพิ่มขึ้น จำเป็นต้องใช้แนวทางการประสานงานะหว่างหน่วยงานของรัฐและเอกชน ต้องมีการบริหารจัดการที่เข้มแข็งในระยะยาว และให้ความสำคัญกับชุมชนที่มีความเสี่ยงจากอากาศร้อน รวมถึงบูรณาการเรื่องความร้อนเข้าไปในการวางผังเมือง รวมถึงการสร้างสภาพแวดล้อมที่ลดความเสี่ยงต่อความร้อน โดยให้ความสำคัญกับบริเวณที่อากาศร้อนจัด เช่น การเพิ่มต้นไม้ การเพิ่มโครงสร้างที่ให้ร่มเงา โดยเฉพาะในย่านของคนรายได้น้อย และย่านที่ประชากรหนาแน่น

รายงานยังเสนอด้วยว่า การเพิ่มจำนวนต้นไม้ สร้างพื้นที่ชุ่มน้ำในเมือง และสวนน้ำดาดฟ้าบนอาคาร สามารถช่วยลดอุณหภูมิของอากาศได้อย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงช่วยปรับปรุงคุณภาพอากาศ และบรรเทาปัญหาน้ำท่วม การเพิ่มประสิทธิภาพให้กับระบบสวนสาธารณะในกรุงเทพฯ การดูแลรักษาคูคลอง และการใช้มาตรการจูงใจด้านภาษีแก่ภาคเอกชนในการช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อทำให้เมืองเย็นลงในระยะยาว การปรับปรุงผังเมืองและกำหนดให้อาคารต้องมีพื้นที่สีเขียวบนดาดฟ้า

สำหรับกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงเนื่องจากอากาศร้อน ควรให้ความช่วยเหลือกลุ่มคนที่เปราะบาง เช่น ผู้สูงอายุ เด็ก คนที่ทำงานกลางแจ้ง และกลุ่มคนที่รายได้น้อย  ควรสร้างความตระหนักต่อประชาชนเรื่องอันตรายจากอากาศร้อนผ่านสื่อต่างๆ รวมถึงโซเชียลมีเดีย ถึงกระดานข่าว โดยทำเป็นหลายภาษาสำหรับประชากรที่เป็นแรงงานข้ามชาติ รวมถึงการส่งข้อความเตือนทาง sms สถานีวิทยุ และเสียงตามสายของชุมชน เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มคนเสี่ยงซึ่งอาจไม่มีโทรศัพท์มือถือ

นอกจากนี้ ยังเสนอให้มีศูนย์พักร้อนและจุดพักดื่มน้ำในที่สาธารณะต่างๆ เช่น โรงเรียน ห้องสมุด ห้องประชุมของชุมชน ให้มีเครื่องปรับอากาศในช่วงเวลาที่อากาศร้อนจัด มีจุดบริการน้ำดื่มในพื้นที่สาธารณะต่างๆ เช่น จุดต่อรถโดยสารประจำทาง เพื่อป้องกันประชาชนจากภาวะขาดน้ำ

ในด้านหน่วยงานรัฐ รายงานเสนอว่า ควรมีการประสานงานและการทำงานร่วมกันในการตั้งหน่วยต่อสู้ความร้อน หรือตั้งผู้บัญชาการต่อต้านอากาศร้อน เพื่อช่วยเรื่องการทำงานร่วมกันของหน่วยงานหลักๆ เช่น สาธารณสุข สิ่งแวดล้อม ผังเมือง และการบริการสาธารณะ เพื่อให้มั่นใจว่านโยบายจะสามารถนำไปใช้ปฏิบัติได้จริง รวมถึงมีการเข้มงวดด้านกฎหมายคุ้มครองแรงงานที่ทำงานกลางแจ้ง และจัดทำแนวทางสำหรับกลุ่มคนเปราะบางที่สามารถนำไปแปลงเป็นนโยบายเพื่อเพิ่มความปลอดภัยในสถานที่ทำงาน รวมถึงการออกแบบเมืองที่เหมาะสม  

รายงานยังเสนอด้วยว่า ควรมีการบริหารจัดการที่ยั่งยืนและกลไกการระดมเงิน โดยบรรจุเรื่องแผนการจัดการอากาศร้อนไว้ในงบประมาณของกรุงเทพมหานคร และพัฒนาแผนงานเพื่อมุ่งไปสู่ความสำเร็จในระยะยาว มีการตั้งกองทุนการปรับตัวจากสภาพภูมิอากาศ ที่สนับสนุนโดยเงินบริจาคของประชาชน ภาคเอกชน และเงินสนับสนุนจากภาครัฐที่เกี่ยวกับการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ


อ้างอิง
SHAPING A COOLER BANGKOK: Tackling Urban Heat for a More Livable City