Skip to main content

 

Libertus Machinus
 

ทุกวันนี้คนยุโรปนั่งเครื่องบินกันน้อยมาก สถิติบอกชัดเจนว่าคนยุโรปเลือกจะขึ้นเครื่องบินน้อยลงตามอายุ และไม่ใช่แค่เรื่องเงินๆ ทองๆ แต่เป็นเรื่อง "อุดมการณ์" เพราะโลกของฝ่าย "ซ้ายจัด" ในยุโรป คือ โลกของคนที่จริงจังในการลดภาวะโลกร้อน การเป็น "วีแกน" หรือการหยุดกินเนื้อสัตว์ เพราะการเลี้ยงสัตว์ทำให้โลกร้อนเป็นเรื่องปกติ และก็ไม่แปลกที่คนพวกนี้จะหยุดขึ้นเครื่องบินและหันมาใช้รถไฟกัน

ปรากฎการณ์นี้เป็นสิ่งที่เราน่าจะเคยผ่านตา และเป็นเรื่องปกติในยุโรปปัจจุบัน โดยเฉพาะในรั้วมหาวิทยาลัยที่ทุกวันนี้งานสัมมนาวิชาการมักจะจัดให้คนสามารถนั่งรถไฟมานั่งสัมมนาได้ และอาหารในงานก็มักจะปราศจากเนื้อสัตว์เป็นพื้นฐานเพราะคนที่มาเป็น "วีแกน" กันหมด แม้แต่งานสัมมนาวิชาการธรรมดา ไม่ใช่การสัมมนาเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนและสิ่งแวดล้อมใดๆ

คำถามที่น่าสนใจคือ เรื่องพวกนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร? เราจะเน้นว่าความคิดเรื่องการ "ไม่ขึ้นเครื่องบิน" เพื่อสู้โลกร้อนว่ามันมาจากไหนยังไง?

จริงๆ ย้อนไปสัก 10 ปีก่อน การพูดคุยเรื่องภาวะโลกร้อนจำกัดอยู่ในวงวิชาการ และก็แน่นอนคนจำนวนมากที่เชื่อว่ามีปัญหานี้อยู่ ก็ไม่ได้จริงจังในการแก้ไข เพราะไม่มีใครบอกว่าต้องแก้ยังไง ถึงประมาณต้นทศวรรษ 2010 ก็เริ่มมีนักวิชาการออกมาพูดจริงจังว่า ถ้าจะลดโลกร้อน การหยุดขึ้นเครื่องบินและใช้รถไฟแทนก็เป็นสิ่งที่ควรทำ

ตรงนี้อาจต้องเข้าใจก่อนว่าทำไมคนฝั่งยุโรปถึงขึ้นเครื่องบินกันเยอะ

มาตรฐานสหภาพยุโรป วันหยุดพักร้อนรายปีขั้นต่ำของคนยุโรปคือ 20 วัน ดังนั้น การที่คนยุโรปหยุดงานไปสักเดือนหนึ่งจึงเป็นเรื่องปกติมาก และการหยุดงานได้นานขนาดนั้น ทั่วๆ ไปเค้าก็ไม่ได้เที่ยวแค่แถวบ้าน เค้าก็จะไปไหนไกลๆ และ "ฝรั่ง" ที่มาเมืองไทยกันแบบอยู่เป็นเดือน บางทีก็ใช้วันหยุดพักร้อนแบบนี้กัน

แต่แน่นอน ไม่ใช่ว่าคนยุโรปที่จะมาพักร้อนกันไกลๆ ส่วนใหญ่ก็พักร้อนกันในยุโรปน่ะแหละ ไปประเทศอื่นเพื่อพักผ่อนกัน และทางเลือกแรกๆ ในการเดินทางก็คือการขึ้นเครื่องบิน

เที่ยวแค่ในยุโรป ทำไมขึ้นเครื่องบิน ไม่ขึ้นรถไฟ? คำตอบก็คือ เพราะค่าตั๋วมันถูกกว่า อุตสาหกรรมการบินในยุโรปไม่ต้องจ่ายภาษีน้ำมันเชื้อเพลิง ทำให้มีข้อได้เปรียบทางต้นทุนมาก และมันเป็นเรื่องปกติมากที่ค่าตั๋วเครื่องบินโลว์คอสต์ไปเมืองหลวงประเทศข้างๆ จะถูกกว่าค่าตั๋วรถไฟ และนั่นก็ทำให้เราคงไม่ต้องอธิบายว่าทำไมคนเลือกขึ้นเครื่องบิน เพราะมัน "เป็นไปตามกลไกตลาด" ที่คนจะเลือกบริการที่ราคาถูกกว่า

ภาวะแบบนี้เป็นเรื่องปกติแบบคนไม่ตั้งแง่อะไร แต่ในปี 2014 การสำรวจคนเลือกพรรคกรีนในเยอรมนีก็ได้สร้างความอับอายให้กับพรรคกรีน เพราะคนที่เลือกพรรคนี้คือกลุ่มคนที่ใช้เครื่องบินมากกว่าคนที่สนับสนุนพรรคการเมืองใดๆ ในเยอรมนี และนั่นก็แทบจะเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้คนที่รณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม เริ่มมารณรงค์จริงจังให้คนเห็นว่า การ "เลือกขึ้นเครื่องบิน" คือปัญหา

ศูนย์กลางของการรณรงค์นี้คือ สวีเดน และคนที่ทำให้โลกจริงจังกับแนวคิดนี้ก็คือ Greta Thunberg นักกิจกรรมสิ่งแวดล้อมเด็ก (ในตอนนั้น) ซึ่งหลักๆ เธอช่วยให้โลกรู้ว่าจริงๆ แล้ว การขึ้นเครื่องบินทำให้โลกร้อนอย่างมีนัยยะสำคัญมากๆ และกิจกรรมที่เป็น "สัญลักษณ์" ของแนวคิดนี้ที่ Greta ทำคือ การล่องเรือข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกเพื่อไปสัมมนา Climate Action Summit 2019 ที่ชิลี

และปีนั้นเองที่โลกภาษาอังกฤษรู้จักขบวนการ Flight Shame ที่แปลตรงๆ จากภาษาสวีดิชว่า Flygskam

หลักๆ พวกสวีเดนได้สร้างคอนเซ็ปต์มาต่อต้านการขึ้นเครื่องบินว่า Flygskam เพื่อทำให้คนมีความละอายในการขึ้นเครื่องบิน โดยคำที่คู่กันคือ Tågskryt ที่น่าจะแปลว่า "ภูมิใจที่ขึ้นรถไฟ" โดยคำพวกนี้มักจะปรากฏตามแฮชแท็กในโซเชียลมีเดีย

ซึ่งนั่นคือปี 2019 ที่ Greta ขึ้นพูดที่ Climate Action Summit 2019 และกล่าววลี "How Dare You?” อันลือลั่นเป็นมีมและเป็นประโยคประจำตัวเธอหลังจากนั้น

ก็แน่นอน ตลอดปี 2019 บรรยากาศการพูดถึงเรื่องโลกร้อนจริงจังมาก และโลกภาษาอังกฤษก็ตระหนักรู้กันในที่สุดว่าจริงๆ ตัวการร้ายที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนก็คือ อุตสาหกรรมการบินนี่เอง

อย่างไรก็ดี COVID-19 ที่ระบาดในปี 2020 ทำให้ผู้คนลืมทุกอย่าง และก็เรียกว่าคนไม่กลับมาพูดเรื่องโลกร้อนกันจนสถานการณ์คลี่คลายน่ะแหละ

แล้วทุกอย่างก็กลับเป็นเหมือนเดิมเหรอ? คำตอบคือ ไม่ใช่ เพราะช่วงโควิดหลายๆ ชาติก็มีบทสนทนาเรื่องโลกร้อนและการลดการปล่อยคาร์บอนหนักขึ้น เช่น ฝรั่งเศสก็ทำการแบนเที่ยวบินระยะสั้น (ตามนิยามทั่วไปคือไม่เกิน 6 ชั่วโมง) ถ้ามีทางเลือกการเดินทางทางรถไฟระหว่างต้นทางกับปลายทาง และในปี 2025 ก็คาดว่าการยุติ  "เว้นเก็บภาษีเชื้อเพลิงเครื่องบิน" ที่มีมาตลอด 20 ปีในสหภาพยุโรป ก็น่าจะทำให้อุตสาหกรรมการบินในยุโรปต้องขึ้นค่าตั๋วเครื่องบิน และทำให้รถไฟไม่ใช่วิธีเดินทางที่แพงกว่าอีกต่อไป

แน่นอน หลายคนก็อาจรู้สึกว่ารถไฟกับเครื่องบินมันแทนกันไม่ได้ เพราะเครื่องบินยังไงก็เร็วกว่า แต่ในความเป็นจริง ถ้าไปดูดีเบตเรื่องนี้ เค้าก็จะบอกว่าปกติพวก "สายการบินโลว์คอสต์" นั้นต้องไปขึ้นสนามบินรองๆ ที่ห่างจากตัวเมือง ซึ่งต้องนั่งรถไปนอกเมือง รอเช็คอิน รอโหลดกระเป๋าพร้อมจ่ายเงินค่าโหลดกระเป๋า ขึ้นบิน รอรับประเป๋า ออกจากสนามบินปลายทางที่อยู่นอกเมืองเหมือนกันและนั่งรถเข้าเมือง

ทั้งหมดนี้จริงๆ ถ้ารวม "ค่ารถ" เข้าออกสนามบินนอกเมือง "ค่าโหลดกระเป๋า" รวมถึงเวลาทีต้องเสียในกระบวนการต่างๆ มีความเป็นไปได้สูงว่าเที่ยวบิน 1 ชั่วโมง นั้น "เวลาเดินทาง" จริงๆ จากบ้านไปใจกลางเมืองอีกประเทศนั้นอาจเป็น 3 ชั่วโมง และนั่นคือจะพอๆ กับการนั่งรถไฟจากใจกลางเมืองหนึ่งไปยังใจกลางอีกเมืองโดยตรง ซึ่งการนั่งรถไฟไม่ต้องเสียค่าโหลดกระเป๋าด้วย ทำให้ไปๆ มาๆ ค่าเดินทางทางรถไฟอาจถูกกว่า

แต่เหนือสิ่งอื่นใดเราก็ต้องเข้าใจบริบทของยุโรปด้วย ที่คนยุโรปนิยม "เดินทางพักร้อน" กันทุกปีเพราะหยุดงานได้เป็นเดือน

คนยุโรปที่หยุดงานได้เป็นเดือน การนั่งรถไฟเดินทางแบบ 1-2 วันมันไม่ใช่ปัญหา เพราะ "เวลา" มีเยอะ แต่กลับกันถ้าไม่ใช่ยุโรป ถ้าเป็นประเทศที่คนไม่สามารถจะหยุดงานนานๆ ได้ สมมติหยุดได้แค่ 5 วันก็ต้องใช้ให้คุ้มค่าที่สุด และก็คงจะไม่มีใครอยาก "ใช้เวลาเดินทาง" ด้วยรถไฟไป 4 วันแล้วเที่ยวได้วันเดียว

แต่นั่นเอง เหตุผลหนึ่งที่บทสนทนาเรื่อง "จะขึ้นหรือไม่ขึ้นเครื่องบินดี" นั้น เป็นเพราะประเทศส่วนใหญ่ในโลก แม้ว่าการลางานเป็นเดือนแบบยุโรปจะเป็นเรื่องผิดปกติ แต่การ "ลางาน" ไปเที่ยวได้ 2 สัปดาห์นั้นก็เป็นเรื่องปกติในแถบทุกภูมิภาค และจริงๆ มีแต่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของเรานี่แหละที่วันลาพักร้อนตามกฎหมายไม่ถึง 10 วันกันเป็นมาตรฐาน

ในแง่นี้ "การต่อสู้" ที่สมเหตุสมผลของสังคมไทย เลยอาจไม่ใช่การทำให้คนละอายในการขึ้นเครื่องบินและขึ้นรถไฟกันมากขึ้น แต่อาจเป็นการขยายวันลาพักร้อนให้มีมากขึ้น แบบให้การลา 2 สัปดาห์เป็นเรื่องปกติดังเช่นกับประเทศอื่นๆ เพราะขนาดประเทศแอฟริกาที่เศรษฐกิจไม่เจริญ เค้าก็ลากัน 2 สัปดาห์ได้ปกติ และนั่นคือสิทธิที่พึงมีพื้นๆ ของแรงงานในศตวรรษที่ 21 ที่คนไทยไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเป็นเรื่องปกติ


อ้างอิง
Flygskam
France’s short-haul flight ban one year on: Has it encouraged more people to take the train?
EU countries mull 20-year tax holiday for jet fuel, document shows
Flight shame

อ่านบทความอื่นๆ ของผู้เขียน