Skip to main content

ผลการเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 พรรคที่ได้คะแนนเสียงข้างมากมาเป็นอันดับหนึ่งในการเลือกตั้งครั้งนี้ คือ พรรคก้าวไกล โดยได้คะแนนเสียงในระบบปาร์ตี้ลิสไปถึง 14 ล้านเสียง กวาด สส. รวมทั้งหมด 151 ที่นั่ง นับได้ว่าผลการเลือกตั้งคราวนี้หักปากกาเซียนทุกสำนักเลยก็ว่าได้ โดยพรรคที่ถูกคาดว่าจะเป็นผู้ชนะในการเลือกตั้งครั้งนี้อย่างพรรคเพื่อไทยกลับได้คะแนนเป็นลำดับที่สอง ได้คะแนนปาร์ตี้ลิสอยู่ที่ 10 ล้านเสียง มีจำนวน ส.ส. รวมทั้งหมด 141 เสียง

ในช่วงระหว่างที่รอคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ พรรคก้าวไกล ในฐานะพรรคที่ได้ที่นั่งเป็นลำดับหนึ่ง ได้แถลงจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับบรรดาพรรคฝ่ายค้านเก่า รวม 8 พรรค ได้แก่ พรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย พรรคประชาชาติ พรรคไทยสร้างไทย พรรคเสรีรวมไทย พรรคเพื่อไทรวมพลัง พรรคเป็นธรรม และพรรคพลังสังคมใหม่ รวม 312 เสียง โดยทั้ง 8 พรรคได้ลงนามใน MOU (บันทึกความเข้าใจร่วมกัน) ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของผู้สนับสนุนทั้งฝ่ายส้มและฝ่ายแดง ยังไม่รวมถึงกระแสตีกลับ เมื่อพรรคก้าวไกลเชิญพรรคชาติพัฒนากล้า และพรรคใหม่ มาร่วมรัฐบาลเพิ่ม ที่สุดท้ายพรรคก้าวไกลต้องออกแถลงการณ์ขอโทษพี่น้องประชาชน หันหัวเรือกลับ ไม่ร่วมรัฐบาลกับชาติพัฒนากล้า ส่วนพรรคใหม่เองได้ออกแถลงการณ์ขอไม่ร่วมรัฐบาลกับก้าวไกลด้วยตนเอง จากกระแสวิพากษ์วิจารณ์พรรคใหม่เรื่องจุดยืนที่เคยมีต่อมาตรา 112

แต่ศึกที่หนักหนาสำหรับก้าวไกลในการจัดตั้งรัฐบาล นอกจากการกระแสตีกลับจากประเด็นร่วมรัฐบาลกับชาติพัฒนากล้าและพรรคใหม่ เห็นจะเป็นการฝ่าฟันด่าน สว. ที่ก้าวไกลต้องการผู้ลงคะแนนสนับสนุนจากสองสภาให้ถึง 376 เสียง เพื่อหนุนให้ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งคะแนนที่สูงถึง 376 เสียงนั้นไม่ใช่กติกาแบบปกติ ทั้งยังเป็นชนวนสำคัญของรอยร้าวในพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะระหว่างพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย อาจกล่าวได้ว่าคะแนนเสียง 376 นั้น ถือเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ทั้งก้าวไกลและเพื่อไทยหวาดระแวงกันเอง ทั้งที่ปกติแล้วพรรคอันดับหนึ่งและอันดับสองจะไม่จับมือกันตั้งรัฐบาลเสียด้วยซ้ำ

แล้วที่มาของ 376 เสียงนั้นมาจากไหน? โดยเลข 376 นั้นมีที่มาจากรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ให้อำนาจสมาชิกวุฒิสภา ในการโหวตนายกรัฐมนตรี เท่ากับว่า จะเป็นนายกรัฐมนตรีได้ จำเป็นต้องได้คะแนนเสียงเกินครึ่งหนึ่งของสองสภา โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มีจำนวนทั้งหมด 500 และสมาชิวุฒิสภามีทั้งหมด 250 คน รวมเป็น 750 คน ดังนั้น ตัวเลข 376 คือ จำนวนขั้นต่ำที่สุดของเส้นทางสู่เก้าอี้นายกรัฐมนตรี

จริงๆ แล้ว จะให้สว. ร่วมโหวตนายกฯ ด้วยก็คงจะไม่ใช่ปัญหาอะไร หาก สว. มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนทั้งหมด แต่ภายใต้ระบอบ คสช. นี้ สว. 250 คน มาจากการแต่งตั้งของ คสช. ทั้งหมด ดังนั้นดูเหมือนว่า ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจากพรรคก้าวไกลดูช่างไม่มีอะไรแน่นอนเหลือเกิน การจะให้ ส.ส. จากพรรคขั้วตรงข้าม ไม่ว่าจะเป็นภูมิใจไทย หรือประชาธิปัตย์ รวมไทยสร้างชาติ หรือพลังประชารัฐ มาโหวตให้ก้าวไกลนั้นก็มีโอกาสเป็นไปได้น้อย หรือจะหวังเสียงจาก สว.เองก็ดูจะลำบาก เท่ากับว่า ไม่มีอะไรการันตีเก้าอี้นายกรัฐมนตรีให้ก้าวไกลได้เลย ดังนั้น หากจะให้ก้าวไกลยอมยกเก้าอี้ประธานสภาฯให้กับเพื่อไทย แต่เมื่อถึงวันโหวตนายกฯ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคก้าวไกลพลาดท่า ได้เสียงไม่ถึง 376 เท่ากับว่าก้าวไกลจะพลาดทั้งตำแหน่งประมุขฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ ทั้งที่เป็นพรรคอันดับหนึ่ง ซึ่งพรรคเองก็คงไม่อยากให้ไปถึงจุดนั้น

ปัญหาจากกติกาทางการเมืองที่ไม่เป็นธรรมเช่นนี้ ย่อมทำให้การจัดวางตำแหน่งสำคัญๆ ในพรรคร่วมรัฐบาลเองมีปัญหา อาจกล่าวได้ว่าพรรคก้าวไกลในฐานะพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล รวมทั้งพรรคลำดับสองอย่างเพื่อไทย ต่างเผชิญกับ ‘ภาวะทางสองแพร่ง’ หรือที่เรียกว่า ‘dilemma’ ที่ไม่รู้ว่าจะจัดการอย่างไรดี โดยสามารถอธิบายจาก ‘ทฤษฎีเกม (game theory)’ ที่มองว่ามนุษย์นั้น มีเหตุมีผล (rational) และคิดคำนวณความคุ้มค่าเอาไว้เสมอ มนุษย์จะตัดสินใจทำบางอย่างลงไปเพราะเอาผลประโยชน์ที่ตนจะได้จากการตัดสินใจนั้นๆ เป็นที่ตั้ง

ตัวอย่างคลาสสิคจากทฤษฎีเกม อย่าง prisoner’s dilemma หรือ ความลำบากใจของนักโทษ ช่วยอธิบายให้เราเห็นภาพได้มากขึ้น โดยในสถานการณ์สมมุติคือ มีนักโทษสองคนเป็นเพื่อนกัน และกระทำความผิดร่วมกัน ต่อมาถูกจับพร้อมกันทั้งคู่ ต่างฝ่ายต่างต้องเลือกระหว่างรับสารภาพและให้ตำรวจสาวไปถึงตัวอีกคน หรือเลือกที่จะช่วยกันปกปิดความผิด โดยหากใครให้การสารภาพและสาวไปถึงผู้กระทำผิดอีกคนได้ ตนเองก็อาจจะได้รับการลดหย่อนโทษ เช่นติดคุกน้อยลง ส่วนเพื่อนที่ปากแข็งก็จะติดคุกนานขึ้น

ในสถานการณ์เช่นนี้ นักโทษทั้งสองคนต่างหวาดระแวงกันเองเพราะต่างกลัวเพื่อนตัวเองจะสารภาพผิด ในขณะที่ตนยังปากแข็ง หากเป็นเช่นนี้ ตนจะต้องติดคุกนานกว่าเพื่อน ทั้งๆ ที่ร่วมกันก่อเหตุแท้ๆ ทฤษฎีเกมกล่าวไว้ว่า สุดท้ายนักโทษทั้งสองคนจะเลือกช่วยกันปกปิดความผิด เพราะสมประโยชน์ร่วมกัน โดยยอมติดคุกเท่าๆ กัน และจำนวนปีไม่เยอะ แต่การช่วยกันปกปิดความผิดนี้ไม่ใช่เพราะทั้งคู่รักใคร่กลมเกลียวกันแต่อย่างใด แต่เพราะทั้งคู่ได้ประโยชน์ร่วมกัน (mutual interest) จากการช่วยกันปกปิดความผิด ดังนั้น ‘ความร่วมมือ’ (cooperation) ที่เกิดขึ้นไม่ใช่เพราะทั้งคู่เป็นคนดี อยากช่วยเหลือซึ่งกันและกัน หากแต่ตั้งอยู่บนผลประโยชน์ส่วนตัว (self- interest) ที่ไม่มีใครอยากติดคุกนานกว่าอีกคนต่างหาก

กลับมาที่สถานการณ์การเมืองไทย ที่รัฐธรรมนูญและกติกาทางการเมืองถูกออกแบบมาไม่เป็นธรรม รวมทั้งไม่มีความแน่นอนใดใดในการเอื้อให้การจัดตั้งรัฐบาลเป็นไปอย่างสะดวกและรวดเร็วที่สุดตามที่ควรจะเป็น สถานการณ์เช่นนี้จึงผลักให้พรรคการเมืองอันดับหนึ่งอย่างก้าวไกล และเพื่อไทยที่เป็นพรรคอันดับสองต้องหันมาจับมือกันตั้งรัฐบาล แต่ก็เป็นความร่วมมือกันบนฐานของความหวาดระแวงอยู่ตลอด โดยผลลัพธ์กติกาที่ไม่เป็นธรรมนอกจากจะผลักให้ทั้งสองพรรคที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองที่ต่างกันต้องมาจับมือกัน ยังทำให้ทั้งสองพรรคต้องมาหวาดระแวงเรื่องการจัดสรรผลประโยชน์ต่างๆในพรรคร่วมรัฐบาลอีก ยังไม่นับข่าวลือเรื่องการเปลี่ยนขั้วรัฐบาลว่าเพื่อไทยจะแอบไปจับกับพรรคอื่นแล้วโดดเดี่ยวก้าวไกล ซึ่งทำให้พรรคเพื่อไทยต้องออกมาย้ำแล้วย้ำอีกว่ายังไงก็จะสนับสนุนพรรคก้าวไกลที่เป็นพรรคอันดับหนึ่งให้จัดตั้งรัฐบาล

การร่วมมือกันระหว่างก้าวไกลกับเพื่อไทยในตอนนี้ย่อมส่งผลดีต่อตัวพรรคทั้งสองพรรค รวมทั้งส่งผลดีการพัฒนาประชาธิปไตยในไทยอีกด้วย ต่อให้จะ ‘รักกันแบบหยุมหัว’ ย่อมดีกว่าปล่อยมือกันแล้วดีลล้ม ไม่เช่นนั้นอาจจะได้ ‘สองลุง’ กลับมาแทน

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: ภิรมณ เชิญขวัญ อาจารย์ประจำสำนักวิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

หมายเหตุ: บทความชุด ศึกเลือกตั้ง 2566 เป็นความร่วมมือระหว่าง the Opener กับ Wisesight โดยใช้ข้อมูลจากเครื่องมือ ZOCIAL EYE นำมาวิเคราะห์โดย ผศ.ดร.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ และคณะ

 

บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ: เปิดฉากสงครามการตลาดในศึกเลือกตั้ง 2566

อัญชลี อ่อนศรีทอง: ปฏิบัติการปักหลักเสาไฟฟ้าภาคใต้ ทวงคืนบ้านเก่าประชาธิปัตย์

ภิรมณ เชิญขวัญ: ระบบเลือกตั้ง 66 พรรคไหนได้เปรียบ?

ณฐิญาณ์ งามขำ: มองโค้งสุดท้ายเลือกตั้งผ่านสื่อสังคมออนไลน์

ณฐิญาณ์ งามขำ: บทเรียนจากชัยชนะของพรรคก้าวไกล ตอนที่ 1 นโยบาย

ณฐิญาณ์ งามขำ: บทเรียนจากชัยชนะของพรรคก้าวไกล ตอนที่ 2 ความเบื่อหน่ายที่มีต่อการเมืองแบบเก่า