Skip to main content

ในช่วงไม่กี่วันสุดท้ายของการเลือกตั้ง 2566 พรรคการเมืองทุกพรรคต่างเร่งจัดเวทีปราศรัยใหญ่ เดินหน้าลงพื้นที่หาเสียงอย่างเต็มที่

แต่กลไกที่สำคัญอย่างหนึ่งของการเลือกตั้งที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลยคือ “ระบบเลือกตั้ง” เราจะมาย้อนดูระบบเลือกตั้ง 62 พร้อมไฮไลท์สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปในการเลือกตั้งพฤษภา 66 ที่จะถึงนี้ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงในระบบเลือกตั้งเช่นนี้ จะส่งผลต่อคะแนนของพรรคการเมืองมากน้อยแค่ไหน อย่างไร?

ระบบเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2560 เป็นระบบการเลือกตั้งแบบ ‘จัดสรรปันส่วนผสม’ (Mixed-Member Apportionment: MMA) ซึ่งถูกใช้ครั้งแรกในการเลือกตั้งปี 2562 โดยกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญอธิบายว่าจุดประสงค์ของการเปลี่ยนมาใช้ระบบเลือกตั้งแบบนี้เพื่อแก้ไขปัญหาคะแนนเสียงตกน้ำ เพราะเมื่อประชาชนโหวตเลือก ผู้สมัครที่ได้คะแนนโหวตมากที่สุดจะได้รับเลือกเป็น ส.ส. แต่คะแนนเสียงที่ประชาชนโหวตผู้สมัครคนอื่นจะไม่ถูกนำมานับรวม เท่ากับว่าผลการลงคะแนนนั้นสูญเปล่า หรือเรียกว่าคะแนนเสียง “ตกน้ำ” นั่นเอง

ระบบเลือกตั้งจัดสรรปันส่วนผสมนี้หยิบยืมมาจากระบบเลือกตั้งของเยอรมนี ที่เป็นระบบเลือกตั้งผสมระหว่างเขตกับสัดส่วน (Mixed-Member Proportional: MMP Representation) โดยฐานคิดของระบบเลือกตั้ง MMP คือการใช้คะแนนส่วนที่เป็นปาร์ตี้ลิสต์ เป็นเพดานกำหนดจำนวน ส.ส. ที่พรรคการเมืองหนึ่งๆ พึงมี ตัวอย่างเช่น ในประเทศที่ใช้ระบบเลือกตั้งแบบ MMP สภาผู้แทนราษฎร์มีจำนวนทั้งหมด 100 คน พรรค A ได้คะแนนเสียงปาร์ตี้ลิสต์ 25% ของจำนวนคะแนนเสียงทั้งหมด เท่ากับพรรค A จะได้จำนวน ส.ส. ในสภาเท่ากับ 25 คน เมื่อไปดูคะแนนในระบบเขต พรรค A ได้ที่นั่งทั้งหมด 15 ที่นั่ง เท่ากับว่าพรรค A จะได้รับจัดสรรที่นั่งให้ในระบบบัญชีรายชื่อเท่ากับ 10 ที่นั่ง รวมเป็นมี สส.ทั้งหมด 25 ที่นั่งตามจำนวนสส.พึงมี

ทั้งนี้ ระบบเลือกตั้งจัดสรรปันส่วนผสมตามรัฐธรรมนูญ 2560 กลับมีวิธีคิดคะแนนที่ผิดแปลกไปจากมาตรฐานสากลอย่างน้อยสองประการ

ความแตกต่างอย่างชัดเจนประการแรกของระบบเลือกตั้งแบบ MMP และระบบเลือกตั้งจัดสรรปันส่วนผสมของไทย คือ จำนวนบัตรเลือกตั้ง โดยระบบเลือกตั้งแบบ MMP ของเยอรมันให้ประชาชนสามารถกากบาทได้ 2 ครั้ง คือ เลือก คน ในระบบเขต และเลือก พรรค ในระบบบัญชีรายชื่อ การแยกช่องการลงคะแนนเป็นสองช่องทำให้การแปรคะแนนเสียงเลือกตั้งไปเป็นที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรสะท้อนเจตจำนงค์ของประชนชนได้อย่างชัดเจน

ส่วนระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมของไทยนั้นนั้นมีบัตรเลือกตั้งเพียงแค่ 1 ใบ มีช่องกากบาทเพียงแค่ 1 ช่อง โดยอนุมาณเอาว่า การที่ประชาชนเลือกผู้สมัครแบบเขตจากพรรคใด เท่ากับว่าลงคะแนนในส่วนบัญชีรายชื่อให้พรรคนั้นด้วย โดยอ้างว่าการใช้บัตรเลือกตั้งเพียงใบเดียวจะเป็นการแก้ปัญหาคะแนนเสียง ตกน้ำ โดยคะแนนเสียงทุกคะแนนของประชาชนจะถูกนำมาคิดคำนวณ

ประการที่สอง ระบบเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2560 ยังไม่นับปัญหาการคิดคำนวณคะแนนบัญชีรายชื่อโดยไม่กำหนดเกณฑ์คะแนนขั้นต่ำ ทำให้ได้พรรคการเมืองขนาดเล็กที่ไม่มี ส.ส. ในระบบเขตเลย สามารถแทรกตัวเข้ามาในสภามากมาย ที่เรียกกันว่า ส.ส. ปัดเศษ

คำถามสำคัญคือ ระบบเลือกตั้งที่ถูกใช้มาก่อนหน้ารัฐธรรมนูญ 60 ทำให้คะแนนเสียง 'ตกน้ำ' จริงหรือ? ในความเป็นจริงแล้ว ก่อนหน้าการเลือกตั้งปี 2562 ระบบเลือกตั้งที่ถูกใช้มาโดยตลอดคือระบบเลือกตั้งผสมแบบคู่ขนาน (Mixed-Member Majoritarian: MMM Representation) โดยระบบเลือกตั้งแบบ MMM ถูกกำหนดให้ใช้ครั้งแรกในรัฐธรรมนูญ 2540 โดยเป็นการนำระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วน หรือ ปาร์ตี้ลิสต์ มาใช้ร่วมกับระบบเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเสียงข้างมากธรรมดา ซึ่งสิ่งสำคัญของระบบเลือกตั้งแบบ MMM ที่ป้องกันคะแนนเสียงตกน้ำ คือการนำระบบเลือกตั้งแบบปาร์ตี้ลิสต์ มาใช้ พร้อมกับเปิดช่องลงคะแนนให้ประชาชนสามารถเลือก คนที่ชอบ และ พรรคที่ใช่ ได้ถึงสองช่อง เนื่องจากประชาชน มีช่องลงคะแนนในระบบแบบบัญชีรายชื่อ เพื่อให้ประชาชนเลือกพรรคที่ตนเองต้องการอยู่แล้ว ไม่ได้สามารถเลือกผู้แทนได้แค่ในระบบเขตแบบในระบบเลือกตั้งเสียงข้างมากธรรมดา (First Past the Post)

ดังนั้น ปัญหาสำคัญของระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมของไทยในรัฐธรรมนูญ 60 คือการใช้บัตรเลือกตั้งเพียงใบเดียว (เลือก ส.ส. เขต) ซ้ำยังเอาคะแนนจากบัตรเลือกตั้ง ส.ส. เขต มาคิดคำนวณคะแนนแบบบัญชีรายชื่อ

อย่างไรก็ตาม ระบบเลือกตั้งจัดสรรปันส่วนผสม คงถูกใช้แค่ในการเลือกตั้งปี 2562 เพียงครั้งเดียวเท่านั้น เนื่องจากพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 ได้กำหนดให้กลับไปใช้ระบบเลือกตั้งผสมแบบคู่ขนาน (ระบบเลือกตั้งแบบ MMM) อีกครั้ง โดยใช้ระบบเลือกตั้งแบบหนึ่งเขตหนึ่งคนเสียงข้างมากธรรมดา ควบคู่กับระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วน โดยจำนวน ส.ส.จาก 500 คนแบ่งเป็นสส.จากระบบเขต 400 คน และ สส.แบบบัญชีรายชื่ออีก 100 คน บัตรเลือกตั้งกลับมาใช้แบบ 2 ใบ คือสามารถเลือก คน และ เลือก พรรค ได้ เท่ากับว่าการคิดคะแนนระหว่างระบบเขตและบัญชีรายชื่อจะไม่เชื่อมโยงกัน กล่าวคือ ไม่มีการเอาคะแนนในระบบบัญชีรายชื่อมาเป็นฐานกำหนดจำนวน ส.ส. พึงมีของแต่ละพรรคการเมือง

แต่ทั้งนี้ ระบบเลือกตั้งผสมแบบ MMM ที่จะใช้ในการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม ที่จะถึงนี้ กลับไม่ได้มีการกำหนดเกณฑ์คะแนนขั้นต่ำในการจัดสรร ส.ส. บัญชีรายชื่อ ถึงแม้จะมีการลดจำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อเหลือเพียง 100 คน แต่การกำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งในการป้องกันไม่ให้มีจำนวนพรรคการเมืองมากจนเกินไปในสภา จนอาจทำให้เกิดการต่อรองซื้อขายเสียงในการเลือกตัวนายกรัฐมนตรี หรือตำแหน่งอื่นๆ หรือการมีจำนวนพรรคการเมืองหลายพรรค ทำให้เกิดรัฐบาลผสมหลายพรรคซึ่งอาจจะกระทบกับเสถียรภาพของรัฐบาลในระยะยาวก็ได้

ในด้านผลกระทบต่อคะแนนเสียงของแต่ละพรรคการเมือง ระบบเลือกตั้ง MMM ที่จะใช้ในการเลือกตั้ง 66 ที่จะถึง นี้อาจเอื้อประโยชน์ให้กับพรรคใหญ่ โดยไม่ว่าจะจากลักษณะของระบบเลือกตั้งแบบหนึ่งเขตหนึ่งคนเสียงข้างมากธรรมดาแล้ว การเพิ่มจำนวน ส.ส.เขตจาก 350 คน เป็น 400 เขต ย่อมส่งผลให้การแข่งขันในแต่ละเขตเข้มข้นขึ้น ซึ่งส่วนมากพรรคที่สามารถชนะในการเลือกตั้งแบบเขตมักเป็นพรรคการเมืองขนาดใหญ่ รวมทั้งไม่มีการนำคะแนนจากบัญชีรายชื่อมาเป็นฐานกำหนดจำนวนเพดาน ส.ส. ที่แต่ละพรรคการเมืองพึงมี เท่ากับว่าพรรคการเมืองสามารถมี ส.ส. ได้ตามการลงคะแนนที่คิดแยกกันในระบบเขตและบัญชีรายชื่อ

อย่างไรก็ตาม การไม่กำหนดเกณฑ์คะแนนขั้นต่ำในระบบบัญชีรายชื่อยังถือว่าเป็นการเปิดโอกาสให้พรรคเล็กๆสามารถมีที่นั่งสภาฯได้ โดยเราอาจจะยังเห็นภาพพรรคการเมืองขนาดเล็กที่ได้รับคะแนนเสียงเพียงน้อยนิด เช่น ไม่ถึง 1% หรือ 5% เข้ามาในสภาเช่นเดิมเหมือนในการเลือกตั้งปี 2562 ที่ผ่านมา

ส่วนพรรคที่อาจจะเสียเปรียบในการเลือกตั้งครั้งนี้ คือ พรรคที่ได้คะแนนเสียงในการเลือกตั้งแบบเขตพอประมาณ เช่น ได้คะแนนเป็นลำดับ 2 หรือ 3 แต่ไม่มากพอที่จะชนะการเลือกตั้งในเขตได้ ซึ่งพรรคแบบนี้จะได้เปรียบในระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมที่มีการคิดคะแนนเชื่อมโยงกันระหว่างระบบเขตและบัญชีรายชื่อ เพราะจะได้รับการจัดสรรที่นั่งในระบบบัญชีรายชื่อมากกว่าพรรคใหญ่ เช่น พรรคเพื่อไทย ในการเลือกตั้งปี 2562 ได้จำนวนที่นั่งในบัญชีรายชื่อเท่ากับ 0 ที่นั่ง

อย่างไรก็ตาม เมื่อเปลี่ยนมาใช้ระบบเลือกตั้งแบบ MMM ที่มีการคิดคะแนนแยกกันระหว่างเขตและบัญชีรายชื่อ พรรคขนาดกลางเช่นนี้ย่อมเสียเปรียบจากกติกาการเลือกตั้งที่เปลี่ยนไป การเปลี่ยนแปลงของกติกาการเลือกตั้งเช่นนี้ย่อมส่งผลต่อการปรับตัว และกลยุทธ์ในการหาเสียงของพรรคการเมือง ทั้งนี้ผลการเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ที่จะถึงนี้ อย่างมีนัยสำคัญ และยังเป็นสิ่งที่จะต้องติดตามกันต่อไป

 

บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ: เปิดฉากสงครามการตลาดในศึกเลือกตั้ง 2566

อัญชลี อ่อนศรีทอง: ปฏิบัติการปักหลักเสาไฟฟ้าภาคใต้ ทวงคืนบ้านเก่าประชาธิปัตย์

 

หมายเหตุ: บทความชุด ศึกเลือกตั้ง 2566 เป็นความร่วมมือระหว่าง the Opener กับ Wisesight

เกี่ยวกับผู้เขียน: ภิรมณ เชิญขวัญ อาจารย์ประจำสำนักวิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์