การเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 นี้ ดุเดือดและน่าจับตามองจนแทบกระพริบตาไม่ได้ ทุกพรรคล้วนแล้วแต่งัดนโยบายและกลยุทธิ์ต่างๆ ออกมาแข่งขันกันอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะพื้นที่ในภาคใต้ เรียกได้ว่า พรรคประชาธิปัตย์ กำลังทำงานอย่างหนัก เพื่อ “ยึดพื้นที่ภาคใต้คืน” จากการที่สูญเสียที่นั่งไปอย่างน่าใจหายในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดในปี 62 ท่ามกลางบรรยากาศที่ครุกรุ่น เพราะพรรคอื่น ๆ ต่างก็เร่งฝีเท้าทำคะแนนกันอย่างไม่มีใครยอมใคร
พรรคประชาธิปัตย์ในขณะนี้ เรียกได้ว่ากำลังเจอกับมรสุมอย่างน้อยสองลูก ลูกแรกคือ ปรากฏการณ์ “เลือด” สีฟ้า ของ สส. ที่ไหลออกอย่างต่อเนื่อง ลูกที่สองคือ ความท้าทายในการกู้ความเชื่อมั่นให้กับกับประชาชนที่ค่อยๆ ปันใจ ให้กับพรรคอื่นๆ ดังจะเห็นได้จากสัดส่วนคะแนนที่โดนแบ่งไปอย่างน่าสนใจ
โดยในการเลือกตั้งปี 54 ผลการเลือกตั้ง ส.ส แบบแบ่งเขตในภาคใต้ พบว่า พรรคประชาธิปัตย์ได้คุมบังเหียนภาคใต้ไว้อย่างสมบูรณ์ เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์เพราะชัยชนะเกือบทุกเขตใน 14 จังหวัดภาคใต้ เป็นของประชาธิปัตย์อย่างท่วมท้น ขาดก็แต่เพียงสตูล 1 เขตเท่านั้น ซึ่งปรากฎการณ์ชัยชนะของพรรคประชาธิปัตย์เช่นนี้ เป็นภาพคุ้นตาที่เห็นมาโดยตลอด เนื่องจากเป็นชัยชนะที่เกิดขึ้นมาบ่อยครั้ง และพรรคประชาธิปัตย์เองก็เป็นพรรคเก่าแก่ที่ครองใจคนใต้มาอย่างยาวนานหลายสิบปี
แต่ในการเลือกตั้งในปี 2562 คำกล่าวที่ว่า “ส่งเสาไฟก็ชนะ” ของพรรคประชาธิปัตย์ในภาคใต้นั้น ได้ถูกลบล้างลง เพราะพรรคประชาธิปัตย์สูญเสียที่นั่งไปมากมายให้กับพรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาชาติ ไม่เว้นแม้แต่พรรคภูมิใจไทย จะเหลือก็เพียงสนามสุราษฎร์ธานีเพียงจังหวัดเดียวเท่านั้น ที่พรรคประชาธิปัตย์ยังชนะทุกเขตเลือกตั้งทั้ง 6 เขต ส่วนจังหวัดอื่นๆ อย่างจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่มีทั้งหมด 8 เขต ก็ถูกเลื่อยขาเก้าอี้ไปถึง 4 ที่นั่ง โดยพรรคน้องใหม่อย่างพลังประชารัฐ
ส่วนในจังหวัดที่ได้ ส.ส.คนเดิม อย่างในจังหวัดที่มีเขตเดียวอย่าง พังงา ที่กันตวรรณ ตันเถียร ชนะการเลือกตั้งในการเลือกตั้งปี 54 ได้คะแนนไปถึง 108,559 คะแนน แต่ในปี 2562 แม้จะชนะเช่นเดิม แต่คะแนนกลับลดลงและกระจายไปยังพรรคอื่นอย่างพลังประชารัฐและพรรคอนาคตใหม่อย่างไม่ทิ้งห่างมากนัก
เช่นเดียวกับ สาทิตย์ วงศ์หนองเตย (เขต 2 จ. ตรัง) ที่ในการเลือกตั้งปี 54 ชนะไปด้วยคะแนน 73,769 ทิ้งห่างอันดับสองอย่างท่วมท้น นั่นก็คือพรรคเพื่อไทยที่ได้คะแนนเพียง 6,291 คะแนนเท่านั้น แต่ในการเลือกตั้งปี 2562 สาทิตย์ วงศ์หนองเตย ชนะ โดยได้คะแนน 47,814 คะแนน ในขณะที่วิโรจน์ ทองโอเอี่ยม (พลังประชารัฐ) ได้คะแนนถึง 33,543 คะแนน แสดงให้เห็นว่าผู้สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์เปลี่ยนใจไปเทคะแนนเสียงให้พรรคอื่นไปมากมาย หากจะกล่าวว่านี่เป็นยุควิกฤติสำหรับพรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่ผิดนัก
การที่พรรคประชาธิปัตย์ประสบทั้งปัญหาและมรสุมเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย ตั้งแต่ความแตกแยกของคนในพรรค นำไปสู่ปัญหาการย้ายพรรค รวมไปถึงแนวนโยบายเดิมๆ ที่ยังไม่สามารถความพอใจให้กับประชาชนได้ ปัจจัยเหล่านี้ล้วนทำให้คะแนนเสียงถูกแบ่งไปยังพรรคอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นพลังประชารัฐ ภูมิใจไทย เพื่อไทย หรือแม้กระทั่งพรรคการเมืองหน้าใหม่อย่างอนาคตใหม่ก็มาเคาะประตูอยู่หน้าพรรคประชาธิปัตย์
ปัญหาที่รุมเร้าเช่นนี้ น่าจะสร้างความหนักใจให้กับพรรคไม่น้อย เพราะแม้ว่าพรรคจะสามารถยืนหยัดมาได้ตลอด 77 ปีและต่อสู้ทางการเมืองมาอย่างไม่ย่อท้อ แต่ศึกครานี้เหมือนว่าพรรคประชาธิปัตย์จะต้องทุ่มสุดตัวให้มากขึ้น และพยายามมากกว่าครั้งไหนๆ
สำหรับปัญหาภายในพรรค ช่วงหลังมานี้เรามักจะได้ยินกันมาอย่างหนาหูว่า พรรคประชาธิปัตย์มีปัญหาขัดแย้งภายในพรรค ซึ่งนอกจากจะทำให้เกิดความยุ่งยากกับการทำงานร่วมกันของคนในพรรคแล้ว ยังทำให้ภาพลักษณ์ของพรรคเกิดความเสียหาย และส่งผลเสียต่อความมั่นใจของประชาชนอีกด้วย ซึ่งปัญหาภายในพรรคนี้เอง ก็ได้ส่งต่อมาทำให้เกิดปัญหาการย้ายพรรคเกิดขึ้นในเวลาต่อมา แน่นอนว่าปัญหาการย้ายพรรคยังมีปัญหาเกี่ยวเนื่อง คือนอกจากจะสูญเสียไปซึ่งสมาชิกพรรคแล้ว ยังอาจจะทำให้คะแนนเสียงย้ายตามความนิยมของ ส.ส.ไปด้วย
จากการสำรวจของผู้เขียนพบว่า อดีต ส.ส.หรือสมาชิกของประชาธิปัตย์ ส่วนใหญ่จะย้ายไปสังกัดใน 3 พรรค ได้แก่ พลังประชารัฐ รวมไทยสร้างชาติ ภูมิใจไทย
เช่น ชุมพล กาญจนะ อดีต ส.ส. สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งยังเป็นอดีตกรรมการสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ก็ได้ย้ายไปยังพรรครวมไทยสร้างชาติแล้ว เช่นเดียวกับพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล อดีต ส.ส นครศรีธรรมราช ที่อยู่กับประชาธิปัตย์และมีคะแนนความนิยมที่ดีมาอย่างยาวนานก็ย้ายมาซบอกพรรครวมไทยสร้างชาติ
นอกจากนี้ พรรคประชาธิปัตย์ยังถูกมองว่านโยบายเป็นไปในลักษณะกลางๆ ไม่มีความแปลกใหม่ หรือเป็นที่ดึงดูดใจมากนัก ซึ่งหากมองย้อนไปในครั้งการหาเสียงเลือกตั้ง ปี 2562 พรรคประชาธิปัตย์ มุ่งหาเสียงผ่านกรอบความคิดว่า “แก้จน สร้างคน สร้างชาติ”
ขณะที่การหาเสียงในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2566 พรรคประชาธิปัตย์เน้นนโยบาย “สร้างเงิน สร้างงาน สร้างชาติ” จะเห็นได้ว่ามีความคล้ายคลึงกัน โดยจะเน้นหนักไปที่นโยบายประกันรายได้เกษตรกร ซึ่งก็ถือได้ว่าเป็นโยบายที่เอาใจฐานเสียงพี่น้องภาคใต้ ที่ส่วนใหญ่จะทำการเกษตรเป็นหลัก นอกจากนี้แล้วจะเป็นนโยบายกลางๆ ยังไม่มีนโยบายที่ดึงดูดคนกลุ่มใดๆ กลุ่มหนึ่ง หรือน่าสนใจเป็นพิเศษ
ในการปราศรัยลงพื้นที่ส่วนใหญ่ หากสังเกตจะพบว่า ลักษณะคำที่ใช้ในการหาเสียงของสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าจะเป็น ชวน หลีกภัย หรือ จุรินทร์ ลักษณะวิศิษณ์ และ และสมาชิกพรรคคนอื่นๆ จะเป็นไปในรูปแบบของการกล่าวถึง “บุญเก่า” เป็น การกล่าวถึงนโยบายต่างๆ ที่คิดว่าประสบความสำเร็จ เป็นนโยบายมหาชน และมักจะเป็นคำกล่าวในลักษณะการขอโอกาส โดยหวังให้ประชาชนคืนดีและกลับมาให้โอกาสอีกครั้ง ตัวอย่างเช่น การปราศรัยของชัยชนะ เดชเดโช พรรคประชาธิปัตย์ นครศรีธรรมราช (เขต 5) ได้ขึ้นปราศรัย บริเวณสถานีรถไฟ นครศรีธรรมราช โดยกล่าวว่า ตนมาตาม “แฟนที่หนีไปกับทหารเมื่อ 4 ปีที่แล้วกลับบ้าน” (ข้อมูลจากยูทูปช่องมีดี เมื่อวันที่ 7 เมษายน 66 )
ยุทธศาสตร์ในการเดินเกมของประชาธิปัตย์ในช่วงโค้งสุดนี้ คือการลงพื้นที่หาเสียงแบบทุ่มสุดตัว อย่าง ชวน หลีกภัย อดีตหัวหน้าพรรค ก็ได้ลงพื้นที่อย่างต่อเนื่องทั้งในกรุงเทพ และภาคใต้ นอกจากนี้ยังมีการปรับภาพลักษณ์ของพรรค ให้มีความทันสมัย เห็นได้จากการเปิดตัว “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ด้วยเพล “เช้าวันใหม่” และสโลแกนของพรรคที่ว่า “ประชาธิปัตย์ อุดมการณ์ทันสมัย ทำได้ไว ทำได้จริง” กล่าวได้ว่า ประชาธิปัตย์ต้องการปรับภาพลักษณ์ของพรรคให้มีความทันสมัยมากขึ้น เพื่อลบคำครหาที่ว่า พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคเก่าแก่แต่ไม่มีการพัฒนา ซึ่งนับว่าตรงกับความท้าทายที่ประชาธิปัตย์กำลังเผชิญอยู่
หากพิจารณาภาพรวมจากข้อมูลในในสื่อสังคมออนไลน์ (social media) ระหว่างวันที่ 13 มีนาคม ถึง 28 เมษายน 2566 ที่ทางบริษัทข้อมูล Wisesight รวบรวมจากทุกสื่อสังคมออนไลน์ในปริมาณกว่า 3.759 ล้านข้อความ มีชื่อพรรคประชาธิปัตย์ถูกกล่าวถึงในสื่อสังคมออนไลน์เพียงร้อยละ 4 (ลดลงจากช่วงก่อนหน้า ระหว่าง 25 มกราคม-12 มีนาคม 2566 ที่ถูกกล่าวถึงร้อยละ 6) ในขณะที่พรรคก้าวไกล มีการกล่าวถึง ร้อยละ 34 (จากเดิมถูกกล่าวถึงร้อยละ 26) ส่วนพรรครวมไทยสร้างชาติร้อยละ 29 (ลดจากเดิมร้อยละ 35) ขณะที่พรรคเพื่อไทยถูกกล่าวถึงร้อยละ 16 (จากเดิมร้อยละ 22)
แม้ว่าจะไม่สามารถระบุได้ชัดกว่านี้ว่า แต่ละพรรคจะถูกกล่าวถึงในแง่บวกหรือแง่ลบ เป็นคุณหรือโทษและจะสัมพันธ์เพียงใดกับผลการเลือกตั้ง แต่ตัวเลขนี้ก็ชี้ชัดว่าพรรคประชาธิปัตย์ได้รับความสนใจในโลกโซเชียลมีเดียน้อยเมื่อเทียบกับพรรคอื่นๆ
แม้ว่าบางคนจะเห็นว่าสื่อสังคมออนไลน์เป็นเพียงห้องเสียงสะท้อน (echo chamber) แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ในปัจจุบันสื่อโซเชียลมีเดียมีได้เข้ามามีบทบาทสำคัญมากในการระดมความเห็นพ้องต้องกันและเรียกหาการสนับสนุนทางการเมืองที่พรรคการเมืองไม่ควรมองข้าม
อย่างไรก็ตามแม้พรรคประชาธิปัตย์จะเป็นพรรคการเมืองเก่าแก่ ผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านมรสุมมาแล้วหลายยุคหลายสมัย เผชิญความท้าทายที่หนักหนามามากมาย แต่ก็ไม่ถึงแก่การล่มสลาย แต่ความท้าทายในรอบนี้ก็คือ พรรคประชาธิปัตย์จะแก้เกมอย่างไร ให้พรรคประชาธิปัตย์สามารถกลับมาเป็นเสาหลักของภาคใต้
และการเลือกตั้งรอบนี้ ประชาธิปัตย์ภายใต้จุรินทร์ ลักษณะวิศิษฎ์ จะสามารถทวงคือความเป็นเจ้าของเสาไฟฟ้าแบบที่เคยเป็นมาได้หรือไม่
เกี่ยวกับผู้เขียน: อัญชลี อ่อนศรีทอง
นิสิตหลักสูตรรัฐศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
หมายเหตุ: บทความชุด ศึกเลือกตั้ง 2566 เป็นความร่วมมือระหว่าง the Opener กับ Wisesight โดยใช้ข้อมูลจากเครื่องมือ ZOCIAL EYE นำมาวิเคราะห์โดย ผศ.ดร.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ และคณะ
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ: เปิดฉากสงครามการตลาดในศึกเลือกตั้ง 2566
อ้างอิง
ข้อมูลผลการเลือกตั้งปี 2554 ที่มา: https://www.ect.go.th/ect_th/download/article/article_20170405163102.pdf
ข้อมูลผลการเลือกตั้งปี 2562 ที่มา :
https://www.ect.go.th/ect_th/download/article/article_20201002121233.pdf
คลิปปราศรัย ชัยชนะ เดชเดโช ที่มา : https://youtu.be/1EGA-bUBtL8
ข้อมูลสถิติการกล่าวถึงพรรคประชาธิปัตย์ในโลกออนไลน์ ที่มา : จากเครื่องมือ ZocialEye บริษัท Wisesight