Skip to main content

ทันทีที่มีประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร และกำหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ศึกระหว่างพรรคการเมืองก็เริ่มขึ้น แต่การเลือกตั้งครั้งนี้มีความสำคัญมากด้วยเหตุผลอย่างน้อย 4 ประการ ได้แก่

ประการแรก การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งครั้งที่สองภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 และเป็นการเลือกตั้งที่ยังคงอำนาจของวุฒิสภาในการเลือกนายกรัฐมนตรีและแนวคิดการออกแบบรัฐธรรมนูญที่กลัวพรรคเสียงข้างมากพรรคเดียวจัดตั้งรัฐบาลได้ จึงได้กำหนดให้มีการคำนวณจำนวน ส.ส. พึงมี โดยอ้างว่าเพื่อป้องกันเผด็จการรัฐสภา แต่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญในสองประเด็นคือการเปลี่ยนจำนวนบัตรเลือกตั้งเดิมที่ให้เลือกได้เพียงใบเดียว มาเป็นเป็นบัตรสองใบ และมีการปรับเปลี่ยนสัดส่วนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในกลุ่มบัญชีรายชื่อจาก 150 คน เหลือเพียง 100 คน ขณะที่ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบเขตเลือกตั้งเพิ่มขึ้นจาก 350 เขต เป็น 400 เขต

ประการที่สอง การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งในบรรยากาศที่ต่างไปจากการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยังมีอำนาจการเมืองอยู่ โดยก่อนถึงวันเลือกตั้งได้มีการยุบพรรคไทยรักษาชาติ ซึ่งหลายคนเชื่อว่าเป็นพรรคเพื่อไทยสาขาที่สอง ตามแนวคิดกลยุทธ์แตกแบ๊งค์พัน เพื่อเลี่ยงประเด็นจำนวน ส.ส. พึงมี ทำให้ผลการเลือกตั้งคาดเดาได้ยาก แต่พรรคการเมืองหน้าใหม่อย่างอนาคตใหม่สามารถฝ่าด่านอรหันต์มาได้จำนวนที่นั่งถึง 80 ที่นั่ง เช่นเดียวกับการคำนวณจำนวน ส.ส. ในระบบบัญชีรายชื่อที่ช่วยให้พรรคขนาดเล็กสามารถมีที่นั่งในสภา โดยไม่มี ส.ส. ในระบบเขตแม้แต่คนเดียว ถึงขั้นมีการปรามาสว่าเป็น ส.ส. ปัดเศษ

ประการที่สาม การจัดการการเลือกตั้งครั้งนั้นวุ่นวายและสร้างความสับสน กว่าคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะประกาศรับรองผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ ก็ล่วงไปแล้วถึงวันที่ 7 พฤษภาคม 2562 (ยกเว้น เขต 8 จังหวัดเชียงใหม่ที่มีผู้สมัครถูกแจกบัตรส้ม ต้องเลือกตั้งใหม่) อีกทั้งจำนวนบัตรลงคะแนนกับผลการนับคะแนนแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญจน กกต. ต้องออกมาชี้แจงว่าเกิด “บัตรเขย่ง” จนต้องมีการนับคะแนนใหม่ในหลายเขตเลือกตั้ง และกรณีไม่ไปรับและมานับคะแนนจากการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรจากประเทศนิวซีแลนด์มานับรวม ทั้งๆ ที่บัตรเลือกตั้งมาถึงในเวลาที่กำหนด สะท้อนประสิทธิภาพและความสามารถในการจัดการของ กกต. ได้อย่างดี

ประการที่สี่ ผลการเลือกตั้งทำให้พรรคพลังประชารัฐเป็นฝ่ายได้เปรียบและชิงโอกาสในการตั้งรัฐบาล ทั้งๆ ที่ได้รับที่นั่งในสภาเพียง 115 ที่นั่ง ขณะที่พรรคเพื่อไทยได้รับเลือกตั้งมีที่นั่งในสภาสูงสุดคือ 136 ที่นั่ง โดยไม่มีจำนวนที่นั่งแบบบัญชีรายชื่อเลย อีกทั้งบทบาทของวุฒิสภา ซึ่งถูกแต่งตั้งโดย คสช. ก็ไม่ต่างไปจากฝักถั่ว ไม่มีใครกล้าแตกแถวทำให้สถานะของหัวหน้าคณะรัฐประหาร นายกรัฐมนตรี ควบรวมกันผ่านการรับรองรอบนี้เอง

ทั้งนี้ การลงคะแนนเสียงเลือกนายกรัฐมนตรีก็เป็นไปโดยมีการลงคะแนนบางส่วนโดยไม่เป็นไปตามมติของพรรคซึ่งสร้างความสงสัยไม่น้อย หลังจากนั้นก็ได้มีการยุบพรรคอนาคตใหม่ ทำให้เกิดการย้ายพรรคที่เรียกว่า “งูเห่า” ตามมา พรรคฝ่ายค้านจึงอ่อนกำลังลง

แต่ในรอบหลายปีที่ผ่านมาพรรคฝ่ายค้านได้สำแดงฝีมือในการติดตาม กดดัน อภิปรายตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชาอย่างเข้มข้นเช่นเดียวกัน

เมื่อมีการยุบสภาเพื่อจัดการเลือกตั้งใหม่จึงเป็นการเปิดฉากให้การต่อสู้รอบใหม่เกิดขึ้นมาอีกครั้ง ในเงื่อนไขที่ต่างกันอย่างเห็นได้ชัด โดยคราวนี้ มีนัยที่แตกต่างจากเดินใน 4 ประการ ดังนี้

ประการแรก ในรอบหลายปีที่ผ่านมา สถานะของพลเอกประยุทธ์ ไม่ได้มีบารมีเหมือนเดิม ภาพลักษณ์และผลงานที่ประจักษ์ออกมาทำให้พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณและเครือข่ายต้องผนึกกำลังในพรรคพลังประชารัฐ ส่วนพลเอกประยุทธ์แตกแบ๊งค์พันออกมาเป็นพรรครวมไทยสร้างชาติ บารมีของทั้งสองคนลดลงอย่างเห็นได้ชัด หลายคนตั้งข้อสังเกตว่าแม้กระทั่งเสียงในวุฒิสภาก็อาจจะไม่สามารถควบคุมเป็นฝักถั่วได้อีกแล้ว

ประการที่สอง การปรับสัดส่วนของ ส.ส. เขตและบัญชีรายชื่อ ทำให้สนามการเลือกตั้งแบบเขตเป็นการรบระยะประชิด หนึ่งต่อหนึ่ง แต่ก็ไม่สามารถประมาทพรรคก้าวไกล หรืออนาคตใหม่เดิมได้ ส่วนพรรคเพื่อไทยมีแรงหนุนและดึงดูดอดีต ส.ส. จากทุกฝ่าย ขณะที่พันธมิตรเดิมของพลังประชารัฐอ่อนแรงลง ส่วนพรรคประชาธิปัตย์และพรรครวมพลังประชาชาติไทยนั้น หลุดออกจากสมการโดยสิ้นเชิง คงเหลือเพียงพรรคภูมิใจไทยที่ยังคงกุมสภาพและดึงดูดอดีต ส.ส. ได้

ส่วนในระบบบัญชีรายชื่อที่ลดลง ทำให้โอกาสของพรรคก้าวไกลลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แม้ว่าจะเคยมีเสียงถึง 80 ที่นั่ง แต่ปรากฏการณ์งูเห่าและแปรพักตร์ ทำให้ขนาดลดลง จนต้องพึ่งพาผู้สมัครหน้าใหม่ แต่ฐานของ First voter ก็ไม่ได้กว้างใหญ่เหมือนครั้งก่อน และพรรคเก่าๆ ต่างได้รับบทเรียนถ้วนหน้าจึงทำให้สนามการต่อสู้ครั้งนี้เป็นการรบระยะประชิดตัวมากกว่าเดิม

ประการที่สาม การทวงคืนบรรลังก์ของพรรคเพื่อไทยผ่านการรณรงค์ให้แลนด์สไลด์ (landslide) หรือให้มีชัยชนะท่วมท้นนั้นต้องอาศัยจำนวน ส.ส. ทั้งสองระบบ ทำให้เป็นภัยคุกคามรอบวง ปฏิกิริยาที่พรรคเพื่อไทยจะแตกต่างไปจากเดิม ทำให้พรรคเพื่อไทยไม่อาจคาดหวังระบบบัญชีรายชื่อได้มาก เพราะเกณฑ์ ส.ส. พึงมี ที่จะกำกับไม่ให้พรรคเพื่อไทยได้เสียงอันดับหนึ่งแบบท่วมท้น

ประกอบกับความหวาดระแวงและไม่ไว้วางใจระหว่างพรรคฝ่ายค้าน โดยเฉพาะ พรรคก้าวไกลกับพรรคเพื่อไทยที่เชื่อว่ามีฐานเสียงจำนวนหนึ่งทับซ้อนเหลื่อมกันอยู่ ทำให้พรรคและผู้สนับสนุนต่างออกมาแสดงจุดยืนอย่างแข็งขัน และระดมความนิยมผ่านปรากฏการณ์ “นางแบก” และ “ติ่งส้ม”

ประการที่สี่ พรรครัฐบาลเดิมกำลังต่อรองท่ามกลางความสิ้นหวังว่าจะรวมตัวกันได้อีกครั้งหนึ่งหลังเลือกตั้ง แต่แนวโน้มและโอกาสของพรรคพลังประชารัฐ หรือพรรครวมไทยสร้างชาติที่จะได้คะแนนเสียงหลักร้อย ดูจะไม่ประจักษ์ชัด

ท่ามกลางปี่กลองและเพลงเชิด ศึกเลือกตั้ง 2566 จึงหนักหนาและตื่นเต้นกว่าที่คิดไว้

 

หมายเหตุ: บทความชุด ศึกเลือกตั้ง 2566 เป็นความร่วมมือระหว่าง the Opener กับ Wisesight โดยใช้ข้อมูลจากเครื่องมือ ZOCIAL EYE นำมาวิเคราะห์โดย ผศ.ดร.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ และคณะ

เกี่ยวกับผู้เขียน: บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ภาควิชาการปกครอง อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย