เข้าช่วงโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้ง ชื่อของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคก้าวไกลกลายเป็นกระแสที่มาแรงจนฉุดไม่อยู่ ผลโพล (poll) ของหลายสำนักชี้ให้เห็นถึงกระแสความนิยมของพรรคก้าวไกลในช่วงเดือนสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งอย่างเห็นได้ชัด ไม่เพียงผลจากโพลของสำนักต่างๆ แม้แต่ในโลกออนไลน์ กระแสของพรรคก้าวไกลก็มาแรงแซงพรรคที่อยู่ในกระแสในช่วงก่อนหน้าอย่างพรรครวมไทยสร้างชาติของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชาในช่วงเดือนสุดท้ายของการหาเสียงเช่นเดียวกัน
จากการรวบรวมข้อความที่มีการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับพรรคการเมือง ผู้สมัครหรือนักการเมืองคนสำคัญของพรรคการเมืองต่างๆในสื่อสังคมออนไลน์จากทุกช่องทางผ่านโปรแกรม Zocialeye พบว่าในรอบวันจันทร์ที่ 3 ถึง 10 เมษายนอันเป็นช่วงระยะเวลาหนึ่งสัปดาห์หลังจากการประกาศรับสมัครผู้ชิงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้น ในจำนวน 728,608 ข้อความ พรรคก้าวไกลเป็นพรรคที่ถูกเอ่ยถึง (mentioned) มากที่สุดโดยมีจำนวนที่เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้าจาก 82,685 ครั้งเป็น 145,131ครั้ง แซงจำนวนที่เอ่ยถึงพรรคที่อยู่ในกระแสมานานกว่าอย่างพรรครวมไทยสร้างชาติซึ่งแม้จะเพิ่มขึ้นเช่นกันจาก 89,635 เป็น 137,551 ครั้งไปถึงเกือบ 7,500 ครั้งเลยทีเดียว
จำนวนที่พรรคก้าวไกลถูกเอ่ยถึงนี้คิดเป็นร้อยละ 19.9 ของจำนวนข้อความที่ถูกเอ่ยถึงทั้งหมด ตามมาด้วยพรรครวมไทยสร้างชาติร้อยละ 18.87 และเพื่อไทยที่มักได้รับการเอ่ยถึงเป็นอันดับสองมาตลอด ร้อยละ 14.3
และการอยู่ในกระแสนี้ก็ยังคงเป็นอันดับหนึ่งอยู่ตลอดมาจนถึงเวลาปัจจุบัน และ ณ วันที่ 11 พฤษภาคม พรรคก้าวไกลมีจำนวนการปฏิสัมพันธ์ (engagement) เฉลี่ยในช่วงห้าสัปดาห์ที่ผ่านมาถึงต่อวันถึง 3,854,409 ครั้งทิ้งห่างพรรครวมไทยสร้างชาติและพรรคเพื่อไทยที่ตามมาเป็นอันดับสองและสามที่ 2,840,768 และ 1,086,860 ตามลำดับ โดยมีการถูกกล่าวถึง (mentioned) ถึง 13,863 ครั้งภายในช่วงเวลาแค่ครึ่งวันเท่านั้นโดยมีพรรครวมไทยสร้างชาติและพรรคเพื่อไทยตามมาอย่างห่างๆ ที่ 4,607 และ 2,591ครั้งตามลำดับ หรือคิดเป็นสามเท่าและห้าเท่าเลยทีเดียว
แน่นอนว่าในโลกออนไลน์กระแสของก้าวไกลดูจะเป็นสิ่งที่มองข้ามไม่ได้ แต่หากจะถามว่ากระแสดังกล่าวนี้แปรไปสู่คะแนนเสียงจริงได้หรือไม่ ในปริมาณเท่าใด นั่นเป็นสิ่งที่น่าสนใจไม่น้อยทีเดียว
ในปัจจุบันเราไม่อาจปฏิเสธได้ถึงความสำคัญของโลกออนไลน์ที่มีต่อโลกแห่งการเมืองและการสื่อสารทางการเมือง หลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในปี 2008 อินเตอร์เน็ตกลายเป็นเครื่องมือที่ขาดไม่ได้สำหรับผู้สมัครรับเลือกตั้งที่จะใช้ในการรณรงค์ทางการเมืองของตน
ความสำเร็จของโอบามาจากการใช้ช่องทางออนไลน์โดยเฉพาะทวิตเตอร์ในการรณรงค์เลือกตั้งของเขาในปีนั้นนำมาซึ่งบรรทัดฐานใหม่ของการสื่อสารทางการเมืองที่ช่องทางออนไลน์เริ่มเข้ามามีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อการรณรงค์หาเสียงโดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงฐานเสียงและผู้ลงคะแนนเสียงในกลุ่มคนรุ่นใหม่
กรณีการใช้สื่อสังคมออนไลน์ในทางการเมืองและการเลือกตั้งของประเทศสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) ในช่วงการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2012 ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของการใช้สื่อสังคมออนไลน์เพื่อเจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ของประเทศที่โดยทั่วไปแล้วมักไม่สนใจการเมืองและเข้าถึงได้ยากโดยสื่อโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ได้อย่างชัดเจนเช่นเดียวกัน1
แต่กระนั้น การมีบทบาทเพิ่มขึ้นของสื่อสังคมออนไลน์ในทางการเมืองอาจไม่ได้หมายความถึงการเปลี่ยนโฉมหน้าของการใช้สื่อเพื่อการสื่อสารทางการเมืองหรือประกันความสำเร็จของการเลือกตั้งเสมอไป มีการศึกษาจำนวนไม่น้อยที่ชี้ให้เห็นว่าแท้ที่จริงแล้วความสำเร็จในการได้รับการเลือกตั้งของผู้สมัครอาจไม่ได้มาจากการใช้สื่อสังคมออนไลน์มากไปกว่าความสามารถในการผสมผสานการรณรงค์ทางการเมืองในแบบดั้งเดิมและแบบ “ใหม่ๆ” เข้าด้วยกันอย่างมีประสิทธิภาพ งานวิจัยของ Andrew Chadwick, James Dennis และ Amy P. Smith (2016) ชี้ให้เห็นว่าความสำเร็จอย่างถล่มทลายของโอบามาในการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2008 ไม่ได้อยู่บนการใช้อินเตอร์เน็ตในตัวของมันเอง แต่อยู่ที่การผสมผสานระหว่างการรณรงค์ในแบบออนไลน์ การออกอากาศในสื่อวิทยุโทรทัศน์ การพบปะกับผู้ลงคะแนนในพื้นที่ การทำกิจกรรมแบบรากหญ้า การควบคุมชนชั้นนำ และการใช้ตรรกะในสื่อแบบใหม่และเก่าผ่านการวางแผนมาแล้วอย่างละเอียดละออ2
งานวิจัยของ Morten Skovsgaard and Arjen van Dalen ที่ศึกษาเกี่ยวกับการใช้สื่อสังคมออนไลน์ในประเทศเดนมาร์กในช่วงการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2011 ก็ดูจะให้ผลลัพธ์ไปในทำนองเดียวกันกับกรณีของสหรัฐอเมริกา เมื่อผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่าพรรคการเมืองโดยทั่วไปก็ไม่ได้มีความเชื่อมั่นว่าการใช้สื่อออนไลน์หรืออินเตอร์เนทเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการใช้สื่อสารกับผู้ลงคะแนน จึงมักเลือกที่จะใช้การสื่อสารออนไลน์ผ่านช่องทางเฟสบุ๊คเป็น “ตัวเสริม” ไปจากกิจกรรมรณรงค์ดั้งเดิมแบบอื่นๆ มากกว่า3 ซึ่งผลการศึกษานี้ก็สอดคล้องไปกับงานของ Kleis Nielsen (2012 ) ที่พบว่าผู้สมัครยังคงใช้วิธีการที่หลากหลายในการรณรงค์หาเสียง เช่นการใช้โฆษณา การเข้าร่วมดีเบทสด การพบปะกับผู้สมัครแบบเห็นหน้า และโซเชียลมีเดียไปพร้อมๆกัน
ไม่ใช่เพียงการมองจากมุมของผู้สมัครและพรรคการเมืองเองที่ดูเหมือนจะชี้ให้เห็นว่าการใช้โซเชียลมีเดียอาจไม่ได้เป็นตัวชี้ขาดในความสำเร็จของการรณรงค์เลือกตั้งอย่างที่ใครต่อใครคาดหวัง เพราะหากมองจากมุมของผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเองก็ดูเหมือนกับว่าความสัมพันธ์ระหว่างการใช้โซเชียลมีเดียและผลการเลือกตั้งก็ยังค่อยข้างต่ำและไม่ได้มีความชัดเจนสักเท่าไร
งานของ Hansen & Kosiara -Pedersen (2014) ชี้ให้เราเห็นว่าหากใช้รูปแบบของสื่ออื่นๆในการรณรงค์การเลือกตั้งในปริมาณและอัตราส่วนที่ไม่ต่างกันแล้ว โซสื่อสังคมออนไลน์กลับไม่ได้มีผลอะไรกับผลการเลือกตั้งเลย เช่นเดียวกับงานของ Lars Willnat and Young Min ที่แสดงให้เห็นว่ามันแทบไม่มีความสัมพันธ์กันเลยระหว่างการใช้สื่อสังคมออนไลน์ทางการเมืองและการไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ซึ่งเหตุผลนั้นอาจอยู่บนความจริงที่ว่าบางทีการใช้สื่อสังคมออนไลน์ในทางการเมืองอาจเป็นเพียงการ “เปิดพื้นที่” ให้กับการสื่อสารและ “การปฏิสัมพันธ์แบบโต้ตอบ” หากทว่าไม่ได้มีการโต้ตอบกันระหว่างผู้สมัครและผู้ลงคะแนนกันในความเป็นจริงสักเท่าไหร่เลย4
เมื่อกลับมาในกรณีของการเลือกตั้งทั่วไปที่กำลังจะมาถึงของประเทศไทยและการขึ้นมาเป็นกระแสความนิยมของพรรคก้าวไกลในโลกสื่อสังคมออนไลน์จึงมีหลากหลายประเด็นที่น่าสนใจในการนำมาวิเคราะห์ถึงการใช้การตลาดการเมืองและช่องทางออนไลน์ในการเคลื่อนไหวทางการเมืองและการเลือกตั้ง
แน่นอนว่ากลุ่มผู้เคลื่อนไหวอย่างกระตือรือร้นในอินเตอร์เนทอาจเป็นเพียงตัวแทนของคนกลุ่มเดียวและงานวิจัยหลายชิ้นอาจชี้ให้เห็นถึงความไม่ชัดเจนของความสำเร็จของโลกออนไลน์ที่มีต่อการเลือกตั้ง แต่กระนั้น ก็ไม่ใช่ว่ากระแสความนิยมของพรรคก้าวไกลจะไม่มีอะไรที่น่าจับตามองและน่าสนใจไปเลยเสียทีเดียว การลงพื้นที่หาเสียงอย่างหนักหน่วงของผู้สมัครพรรคก้าวไกล ไม่ว่าจะเป็นการพบปะ เปิดการปราศรัย การเข้าร่วมดีเบทแสดงวิสัยทัศน์ หรือแม้กระทั่งการยืนปราศรัยตามจุดที่มีการจราจรคับคั่งต่างก็ล้วนชี้ให้เห็นว่าพรรคตระหนักเป็นอย่างดีว่าสื่อสังคมออนไลน์ไม่ใช่ช่องทางสำคัญเพียงช่องทางเดียวที่จะนำไปสู่ความสำเร็จของการเลือกตั้งในเบื้องปลาย
ยิ่งในช่วงเกือบสองสัปดาห์ที่ผ่านมา การเข้าปฏิสัมพันธ์ของสมาชิกพรรคก้าวไกลในแพลทฟอร์ม Tik Tok กับบรรดาผู้สนับสนุนที่ต่างช่วยกันผลิตสื่อและแคมเปญให้กับพรรคภายใต้ความคิด “หัวคะแนนธรรมชาติ” ก็ดูเหมือนจะไปล้มล้างคำปรามาสของบรรดานักวิจัยชาวตะวันตกที่ชี้ให้เห็นว่าความคิดเห็นของผู้สนับสนุนในสื่อสังคมออนไลน์มักถูกละเลยไม่ได้รับความสนใจและมองว่าสื่อสังคมออนไลน์ถูกใช้เป็นเพียงพื้นที่แบบ “ปฏิสัมพันธ์เชิงควบคุม” ได้ไม่น้อยทีเดียว
บางทีความสำเร็จของพรรคก้าวไกลในโซเชียลมีเดียนี้อาจขยายไปสู่ผลการเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคมนี้โดยไม่ได้จำกัดอยู่ที่โลกเสมือนอย่างอินเตอร์เนทเพียงอย่างเดียวอย่างที่ใครๆต่างปรามาสไว้ก็ได้
กระพริบตาไม่ได้กับโค้งสุดท้ายในอีกไม่กี่วันที่เหลือ!!!!
หมายเหตุ: บทความชุด ศึกเลือกตั้ง 2566 เป็นความร่วมมือระหว่าง the Opener กับ Wisesight โดยใช้ข้อมูลจากเครื่องมือ ZOCIAL EYE นำมาวิเคราะห์โดย ผศ.ดร.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ และคณะ
เกี่ยวกับผู้เขียน: ดร. ณฐิญาณ์ งามขำ ผู้เชี่ยวชาญด้านปรัชญาการเมืองและการเมืองการปกครอง
1 Lars Willnat and Young Min. 2016. “The Emergence of Social Media Politics in South Korea: The Case of the 2012 Presidential Election. “Politics in the Age of Hybrid Media: Power, Systems, and Media Logics”, The Routledge Companion to Social Media and Politics. Edited by Axel Bruns, Gunn Enli, Eli Skogerbo, Anders Olof Larsson, and Christensen. New York and London.
2 Andrew Chadwick, James Dennis and Amy P. Smith. 2018. “Politics in the Age of Hybrid Media: Power, Systems, and Media Logics”, The Routledge Companion to Social Media and Politics. Edited by Axel Bruns, Gunn Enli, Eli Skogerbo, Anders Olof Larsson, and Christensen. New York and London.
3 Morten Skovsgaard and Arjen van Dalen. 2018. “Not Just a Face(book) in the Crowd: Candidates’ Use of Facebook during the Danish 2011 Parliamentary Election Campaign. “Politics in the Age of Hybrid Media: Power, Systems, and Media Logics”, The Routledge Companion to Social Media and Politics. Edited by Axel Bruns, Gunn Enli, Eli Skogerbo, Anders Olof Larsson, and Christensen. New York and London.
4 Darren G. Lilleker, Nigel Jackson, and Karolina Koc-Michalska, 2016. “Social Media in UK Election Campaigns 2008-2014: Experimentation, Innovation, and Convergence”, “Politics in the Age of Hybrid Media: Power, Systems, and Media Logics”, The Routledge Companion to Social Media and Politics. Edited by Axel Bruns, Gunn Enli, Eli Skogerbo, Anders Olof Larsson, and Christensen. New York and London.