Skip to main content

 

ผู้สูงอายุเกาหลีใต้วัยเกษียณที่หันมาทำอาชีพอิสระ หรือเป็นนายจ้างตัวเองกำลังเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว ในธุรกิจที่มีการแข่งขันดุเดือดและมีผลกำไรต่ำ ส่งผลให้เกิดความกังวลถึงความเปราะบางต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจของคนกลุ่มนี้

คนรุ่นเบบี้บูมเมอร์ของเกาหลีใต้ที่เกษียณอายุ และมีโอกาสน้อยในการได้รับกลับเข้าไปทำงานใหม่ พากันเข้าสู่การเป็นนายจ้างตัวเอง หรือเป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ไม่ต้องใช้ความรู้หรือทักษะสูง เช่น การเปิดร้านขายของชำ การทำงานขนส่ง และการขายอาหาร กำลังเพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างรวดเร็วและมีแนวโน้มที่จะเพิ่มเรื่อยๆ เมื่อการเกษียณอายุของคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์รุ่นที่ 2 กำลังใกล้เข้ามา

รายงานของธนาคารชาติของเกาหลีใต้ที่เพิ่งเผยแพร่เร็วๆ นี้ ระบุว่า ผู้สูงอายุที่ทำอาชีพอิสระกำลังล้นอุตสาหกรรมที่มีกำแพงทางด้านธุรกิจต่ำ (low-barrier industry) ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีคู่แข่งจำนวนมาก ผลกำไรน้อย อัตราส่วนของหนี้สูง และผลิตผลต่ำ และทำให้ผู้สูงอายุที่เป็นนายจ้างตัวเอง เป็นกลุ่มคนที่มีความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ ซึ่งกลายเป็นความกังวลของเกาหลีใต้

ในปี 2023 มีผู้สูงอายุเกาหลีใต้ร้อยละ 23.2 ที่ทำอาชีพอิสระ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของ OECD ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 16.6 ขณะที่การจ้างงานตัวเองมีแนวโน้มที่จะส่งผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจลดลง เมื่อการจ้างงานแบบปรกติเริ่มกลับมาขยายตัว

การหลั่งไหลเข้ามาเป็นแรงงานอิสระของคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์หลังเกษียณอายุนั้น เริ่มมีมาตั้งแต่ปี 2015 เมื่อคนรุ่นบูมเมอร์รุ่นแรกถึงวัยเกษียณที่อายุ 60 ปี  จำนวนผู้สูงอายุที่จ้างงานตัวเองเพิ่มขึ้นจาก 1.42 ล้านคนมาเป็น 2.1 ล้านคนในปี 2024 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.48 ล้านในปี 2032 เมื่อคนรุ่นบูมเมอร์รุ่นที่ 2 ถึงวัยเกษียณ

ธนาคารชาติของเกาหลีระบุว่า ในปี 2024 ประชากรเกาหลีใต้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปที่ทำงานเป็นนายจ้างตัวเองมีสัดส่วนร้อยละ 37.1 ของคนที่ทำอาชีพอิสระ ซึ่งเป็นงานที่ไม่มีความมั่นคงในทางเศรษฐกิจ โดยผู้ประกอบการสูงอายุมักสนใจงานที่เริ่มต้นได้ง่าย เช่น งานขนส่ง ร้านขายของชำ ขายอาหาร ซึ่งมีการแข่งขันดุเดือดและผลกำไรน้อย ผู้สูงอายุจำนวนมากขาดการเตรียมตัวและขาดทักษะ หรือขาดเงินทุนที่จะทำให้ธุรกิจมีความยั่งยืน

ผลการสำรวจของรัฐบาลเกาหลีใต้เมื่อปี 2022 พบว่า ผู้สูงอายุมีระยะเวลาเฉลี่ยในการเตรียมพร้อมธุรกิจเพียง 9 เดือน และราวร้อยละ 35 เริ่มอาชีพอิสระในช่วงวัย 60 โดยมีผลกำไรต่อปีต่ำกว่า 10 ล้านวอน หรือไม่ถึงปีละ 2.4 แสนบาท ขณะที่รายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปีของผู้สูงอายุกลุ่มนี้อยู่ที่ราว 30 ล้านวอน หรือราว 7แสนบาท ซึ่งต่ำกว่าคนทำงานแบบเดียวกันที่อายุน้อยกว่า

นับจากปี 2014 ถึง 2024 มีผู้สูงอายุในเกาหลีใต้มากกว่า 4.7 แสนคนที่มาเป็นนายจ้างตัวเอง ในภาคธุรกิจที่ต้องการความรู้เฉพาะทางเพียงเล็กน้อย

ธนาคารชาติของเกาหลีระบุว่า แนวโน้มของการเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุที่ประกอบอาชีพอิสระ จะทำให้เศรษฐกิจมหภาคของประเทศโดยรวมมีความสามารถในการฟื้นตัวน้อยลง ในปี 2024 ร้อยละ 65.7 ของผู้ประกอบอาชีพอิสระที่เป็นผู้สูงอายุอยู่ในภาคส่วนที่เปราะบางต่อการเสื่อมถอยทางเศรษฐกิจ

ในการแก้ปัญหาดังกล่าว ธนาคารชาติของเกาหลีใต้เรียกร้องให้มีการปฏิรูปโครงสร้างแรงงาน รวมถึงปรับปรุงระบบค่าแรงให้กับผู้เกษียณอายุที่กลับเข้าทำงานใหม่ และการสร้างงานในสเกลใหญ่ในภาคบริการเพื่อรองรับคนวัยเกษียณ  รวมทั้งให้มีนโยบายนำผู้สูงอายุกลับเข้าทำงานกับธุรกิจขนาดเล็กในส่วนภูมิภาค

“กุญแจสำคัญคือ การช่วยเหลือแรงงานสูงอายุให้ได้ทำงานที่มีรายได้มั่นคงในระยะยาว หากไม่มีการช่วยเหลือ คนที่ทำอาชีพอิสระจะยิ่งมีความเปราะบางในเรื่องเศรษฐกิจและสังคมที่ลึกลงไป และกัดกร่อนพื้นฐานของความเติบโตที่ยั่งยืนของประเทศ” ธนาคารชาติของเกาหลีระบุ

 

ที่มา
Elderly Self-Employment Surge Raises Alarm Over Korea’s Economic Stability