Skip to main content

ถึงพรรคก้าวไกลจะเตรียมตัวมาดีเพียงใด ชัยชนะของพรรคในครั้งนี้จะเกิดขึ้นอย่าง “พลิกฟ้า” ไม่ได้เลย หากขาดสองปัจจัยหากขาดปัจจัยภายนอกอีกสองปัจจัยที่มาเสริมกันจนกลายเป็นแรงส่งให้พรรค “ก้าว” ไปได้ “ไกล” เสียยิ่งกว่าเดิม

สองปัจจัยที่โดยรวมอาจเรียกว่า “ความเบื่อหน่ายที่มีต่อการเมืองแบบเก่า”

ในช่วงระยะแปดปีภายใต้คณะรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารนั้น น่าจะนานเพียงพอที่จะทำให้ประชาชนตระหนักรู้ถึงความสำคัญของ “การเมือง” ที่มีต่อตนเองในชีวิตประจำวัน และรู้ดีว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องอ้าแขนโอบรัดประชาธิปไตยเข้ามาอีกครั้ง หลังจากที่มีความเคลือบแคลงและความขัดแย้งกินแหนงแคลงใจกันมาเป็นระยะเวลายาวนาน

ระบอบของคณะรัฐประหาร 2557 สร้างปัญหาที่ใหญ่ ลึก และยาวนานเกินกว่าที่จะเหลือความชอบธรรมในการเอ่ยอ้างว่าทำเพื่อชาติและเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย ความล้มเหลวในการบริหารงานของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทั้งในแง่ประสิทธิภาพและความน่าไว้เนื้อเชื่อใจ คือปัจจัยที่ผลักให้หลายกลุ่มที่เคยมองพรรคอนาคตใหม่และพรรคเพื่อไทยด้วยสายตาเคลือบแคลงค่อยๆ ย้ายฝั่งมาอยู่กับฝั่งประชาธิปไตยโดยไม่ทันรู้เนื้อรู้ตัว

หากกระนั้น ความเบื่อหน่ายนี้หาได้จำกัดเฉพาะแค่การเมืองแบบเก่าๆ ที่ยังแนบแน่นกับระบบราชการและทหาร แต่ยังรวมไปถึงการเมืองแบบเดิมๆ ที่ใช้แต่เพียงโวหารและมีแต่ความไม่ชัดเจน ความไม่แน่นอน รวมถึงระบอบการเมืองที่ไม่ได้ให้คุณค่าและความหมายต่อประชาชนในฐานะพลเมืองเจ้าของประเทศอีกด้วย

คงไม่เป็นการกล่าวเกินไปว่าความผิดพลาดของพรรคเพื่อไทยในการกำหนดตำแหน่งแห่งที่ และการวางนโยบายของพรรคคือปัจจัยเสริมอันสำคัญยิ่งที่ทำให้ก้าวไกลได้รับชัยชนะที่เหนือความคาดหมายเช่นนี้

ความผิดพลาดที่มาจากการพิจารณาภูมิทัศน์ที่เปลี่ยนไปในทางการเมืองน้อยหรือยังไม่เข้าใจพอ การใช้วิธีการสื่อสารทางการเมืองแบบเก่าที่ตอบโจทย์ใหม่ไม่ได้ ประกอบกับความมั่นอกมั่นใจในฐานเสียงเก่าจนลืมมองความต้องการที่แท้จริงของประชาชนไปอย่างสิ้นเชิง

ใช่ว่าสมาชิกบางส่วนของพรรคเพื่อไทยจะไม่ได้ตระหนักว่าพรรคเพื่อไทยมีปัญหาอะไรที่จะต้องแก้ไขหรือปรับปรุง ตั้งแต่การเลือกตั้งทั่วไปในสมัยก่อนหน้า ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรท่านหนึ่งของพรรคได้เคยให้สัมภาษณ์ในงานวิจัยชิ้นหนึ่งไว้ตั้งแต่การเลือกตั้งทั่วไปในปี 2562 ว่า การสื่อสารทางการเมืองของพรรคมีลักษณะที่เปลี่ยนไปโดยมีลักษณะที่คลุมเครือและไม่ชัดเจน เมื่อเทียบกับการเลือกตั้งในสองครั้งก่อน อีกทั้งการหาเสียงโดยการใช้นโยบายก็หาได้เป็นจุดเด่นที่พรรคเพื่อไทยมีใช้แต่เพียงพรรคเดียวอีกต่อไป

และปัญหานี้ของพรรคเพื่อไทยดูจะยิ่งหนักหน่วงยิ่งขึ้นในสมัยของการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2566

ไม่รวมการแสดงความเห็นต่อสาธารณะจาก “คนไกล” อย่างอดีตหัวหน้าพรรคอย่าง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่อาจทำให้คะแนนเสียงของพรรคร่วงหล่นไปในทุกครั้งที่มีการสื่อสารออกไปสู่ฐานเสียงเดิมของตน

กล่าวในแง่นี้ พรรคเพื่อไทยและ พ.ต.ท. ทักษิณ อาจลืมไปแล้วว่าจุดเริ่มต้นของการสนับสนุนพรรคเพื่อไทยและ พ.ต.ท. ทักษิณอันยาวนาน ไม่ได้มาจากนโยบายที่แปลกใหม่และเห็นผลจับต้องอันเป็นรูปธรรมได้จากเมื่อยี่สิบปีก่อนแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังมาจากความรู้สึกและความหวังประชาชนที่รักประชาธิปไตยและทนเห็นความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นในสังคมไม่ได้

การเข้าสนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณและพรรคเพื่อไทย จึงไม่ได้มาจากความนิยมในส่วนตัว พ.ต.ท.ทักษิณน้อยไปกว่าการมองว่า พ.ต.ท.ทักษิณตกเป็นเหยื่อของความอยุติธรรมและการต่อต้านประชาธิปไตยในสังคมไทย และต้องการปกป้องเรียกร้องความยุติธรรมให้ พ.ต.ท.ทักษิณในฐานะของ “เหยื่อ” และ “พลเมือง” คนหนึ่งไปพร้อมๆ กับที่เรียกร้องการกลับคืนมาของประชาธิปไตยด้วยเช่นกัน

ผลจากสมมติฐานข้างต้น ทำให้ไม่น่าแปลกใจ หากว่าพรรคเพื่อไทยและ พ.ต.ท.ทักษิณในฐานะนายทุนพรรคจะถูกปฏิเสธจากฐานเสียงเดิมของตนในคราวนี้ ในเมื่อพรรคเพื่อไทยไม่แสดงออกให้เห็นว่าตนเป็นพรรคการเมืองที่สนับสนุนการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอย่างชัดแจ้ง

หาก “ความชัดเจน” คือจุดแข็งของพรรคก้าวไกลในการรณรงค์เลือกตั้งในครั้งนี้ “ความไม่ชัดเจน” ก็คือจุดอ่อนของพรรคเพื่อไทยในทางกลับกัน

และ“ความไม่ชัดเจน”นี้เองที่ “ชัดเจน” เพียงพอที่จะทำให้ผู้ลงคะแนนรู้สึกไม่เชื่อมั่น แม้ว่าพรรคเพื่อไทยเองจะย้ำหลายครั้งถึง “ความชัวร์” ในฐานะของเหตุผลที่จะเลือกพรรคเพื่อไทยอยู่หลายต่อหลายครั้งก็ตามที

การละเลยผู้ลงคะแนนในพื้นที่ การไม่ตอบสนองต่อประชาชน และคำตอบที่ไม่เต็มปากเต็มคำของแกนนำและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคต่อคำถามที่เกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรครัฐบาลเดิม และการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 อาจเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้สนับสนุนประชาธิปไตยอันเป็นฐานเสียงเดิมๆ ถอดใจกับการสนุนพรรคเพื่อไทยอย่างที่เคยกระทำมาโดยตลอด

หากแต่การประกาศ “ขอกลับบ้าน” ของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ที่สื่อนัยยะของการจับมือกับชนชั้นนำและขั้วอำนาจเดิม กลับเป็นสิ่งที่ผลักผู้สนับสนุนบางส่วนให้หันหลังเดินสู่พรรคก้าวไกล และตัดสายสัมพันธ์ที่เคยมีต่อพรรคเพื่อไทยให้ขาดสะบั้นไปไม่มีเหลือ

เพราะไม่ใช่แค่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่อยากกลับบ้านสู่อ้อมแขนของคนที่รักและครอบครัว แต่ยังเป็นผู้ชุมนุมอีกหลายสิบคนที่สูญเสียไปอย่างไม่มีวันได้กลับคืนมาอีกด้วย

ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจอะไรที่การประกาศ “กลับบ้าน” ทั้งสองครั้งของ พ.ต.ท. ทักษิณ จะไม่ได้ช่วยเพิ่มคะแนนเสียงอะไรให้กับพรรคเพื่อไทยนอกจากความผิดหวังในหัวใจของผู้รักประชาธิปไตยแต่เพียงเท่านั้น

ข้อมูลจาก Zocial eye ชี้ให้เห็นว่าการประกาศขอกลับบ้านของ พ.ต.ท.ทักษิณหาได้มีการตอบรับอะไรจากผู้ใช้โซเชียลมีเดียเป็นพิเศษสักเท่าไรนัก

พ.ต.ท. ทักษิณประกาศว่าตนขอ “กลับบ้าน” เป็นครั้งแรกในวันที่ 1 พฤษภาคม อันเป็นวันที่แพทองธาร ชินวัตร คลอดบุตรชาย วันนั้นกระแสในโซเชียลมีเดียที่มีต่อพรรคเพื่อไทยพุ่งขึ้นไปถึงเกือบเท่าตัวจากวันก่อนหน้า (จากการกล่าวถึง 10,379 ครั้งเป็น 21,564 ครั้ง) เมื่อเทียบกับช่วงหนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมา หากจากเนื้อหาที่เข้าแสดงความคิดเห็นทำให้ประมาณการได้ว่า กระแสนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากการแสดงความยินดีกับสมาชิกใหม่ในครอบครัวชินวัตร

แต่เมื่อพิจารณาในวันที่ 9 พฤษภาคมซึ่งมีการประกาศย้ำขอ “กลับบ้าน” อีกครั้ง ตัวเลขดังกล่าวแม้จะมีการเพิ่มขึ้น 2,749 ครั้งจากวันก่อนหน้า (11,335 เป็น 14,084) หากแต่ก็ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยตลอดสัปดาห์ที่อยู่ที่ 15,377 ครั้งไปถึงประมาณ 1,300 ครั้งเลยทีเดียว ยังไม่รวมว่าผลตอบรับ (sentiment) ดังกล่าวนี้ไม่ได้เป็นผลตอบรับในเชิงบวกเสียเท่าใดนัก

จึงต้องกล่าวว่า การสื่อสารที่ไม่ชัดเจน ขาดการวางแผนเตรียมการที่ดี และไม่มีความเป็นเอกภาพเช่นนี้ของพรรคเพื่อไทยคือจุดอ่อนที่สำคัญของพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งทั่วไปในครั้งนี้พอๆ กับที่ความมั่นอกมั่นใจใน “จุดขาย” และ “ผลิตภัณฑ์เดิมๆ” ของพรรคอย่างตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และนโยบายทางเศรษฐกิจของตนมากเกินไป จนเน้น “การขาย” มากกว่าการทำ “การตลาด” อย่างที่เคยทำมาในช่วงของการเป็นพรรคไทยรักไทยในสองสมัยแรกของการเลือกตั้ง

เพราะหากพรรคเพื่อไทยทำการศึกษาสภาพการณ์ที่เปลี่ยนไปทางการเมืองไทยอย่างจริงจัง อาจจะรู้แล้วว่ามนต์ขลังในชื่อทักษิณ ชินวัตร และการซื้อคะแนนเสียงด้วยนโยบายประชาชนนิยมนี้จืดจางไปเพียงใด

ฉันทามติในครั้งนี้จากประชาชนจึงไม่เป็นเพียงการสื่อสารกลับไปที่เหล่าชนชั้นนำ และผู้มีอำนาจรัฐบาลเดิมอย่างพรรคพลังประชารัฐและพรรครวมไทยสร้างชาติ แต่ยังเป็นการบอกกล่าวไปยังนักการเมืองหน้าเดิมๆอย่างพรรคเพื่อไทยว่าอำนาจอธิปไตยที่แท้นั้นหาได้อยู่ที่ใคร นอกเหนือไปจากประชาชนชาวไทย พอๆกับที่เป็นการเตือนสตินักการเมืองหน้าใหม่อย่างพรรคก้าวไกลให้ตระหนักอยู่ในใจเสมอนับจากวินาทีนี้ต่อไปด้วยเช่นกัน

เพราะแม้กลยุทธ์ทางการตลาดการเมืองอาจเป็นสิ่งที่ช่วยให้ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง แต่ก็หาได้ช่วยรักษาความนิยมและเสียงของประชาชนในทางการเมืองไว้ได้ ไม่เหมือนกับ “ผลงาน” ที่จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นและความไว้เนื้อเชื่อใจในระยะยาว

“อย่าทำเหมือนชีวิตของประชาชนเป็นของเล่น ... และอย่าเห็นเสียงประชาชนเป็นของตาย”

เสียงสะท้อนจากพลเมืองไทยผ่านผลการเลือกตั้งทั่วไปคงถอดข้อความออกมาได้ในความหมายเช่นนี้

 

หมายเหตุ: บทความชุด ศึกเลือกตั้ง 2566 เป็นความร่วมมือระหว่าง the Opener กับ Wisesight โดยใช้ข้อมูลจากเครื่องมือ ZOCIAL EYE นำมาวิเคราะห์โดย ผศ.ดร.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ และคณะ

เกี่ยวกับผู้เขียน: ดร. ณฐิญาณ์ งามขำ ผู้เชี่ยวชาญด้านปรัชญาการเมืองและการเมืองการปกครอง

 

บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ: เปิดฉากสงครามการตลาดในศึกเลือกตั้ง 2566

อัญชลี อ่อนศรีทอง: ปฏิบัติการปักหลักเสาไฟฟ้าภาคใต้ ทวงคืนบ้านเก่าประชาธิปัตย์

ภิรมณ เชิญขวัญ: ระบบเลือกตั้ง 66 พรรคไหนได้เปรียบ?

ณฐิญาณ์ งามขำ: มองโค้งสุดท้ายเลือกตั้งผ่านสื่อสังคมออนไลน์

ณฐิญาณ์ งามขำ: บทเรียนจากชัยชนะของพรรคก้าวไกล ตอนที่ 1 นโยบาย