Skip to main content

เราอาจจะเคยได้ยินประโยคที่ว่า “เงินซื้อความสุขไม่ได้” หรือ “เงินทองเป็นของมายา” แถมด้วยงานวิจัยที่เผยแพร่กันมากเมื่อช่วงปี 2561 ที่ว่า เงินสร้างความสุขได้ถึงระดับหนึ่งเท่านั้น จากนั้นความสุขกลับไปเติบโตตามรายได้ที่เพิ่มขึ้น แต่การสำรวจล่าสุดพบว่า จริงๆ เงินกับความสุขสัมพันธ์กันเป็นเส้นตรง อาจจะไม่ได้มีจุดผกผันเลยก็เป็นได้ 

ช่วงปี 2561 หลายคนอาจเคยอ่านบทความเกี่ยวกับผลการศึกษาในสหรัฐอเมริกาที่กล่าวว่า เงินทำให้คุณมีความสุขมากขึ้นจนถึงจุดหนึ่ง คือจุดที่ได้เงินเดือนประมาณ 60,000-75,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 2.1 - 2.6 ล้านบาท (การสำรวจนี้อ้างอิงรายได้ของคนทำงานในสหรัฐอเมริกา) แต่พอเลยไปจาก 75,000 ดอลลาร์ ความสุขจะมีแนวโน้มลดลง ถ้าได้รายได้มากขึ้นกว่านั้นก็จะไม่มีผลกับอารมณ์ความรู้สึกเป็นสุข

เปลี่ยนวิธีวิจัย เก็บข้อมูลย้อนหลังเป็นแบบเรียลไทม์ ได้ผลลัพธ์ที่แตกต่าง

แมทธิว เอ. คิลลิงเวิร์ธ (Matthew A. Killingsworth) จาก Penn’s Wharton School รัฐเพนซิลเวเนีย ผู้ทำการศึกษาล่าสุดที่ตีพิมพ์ใน Proceedings of the National Academy of Sciences ตัดสินใจที่จะทำการวิจัยประเด็นนี้อีกครั้งโดยเปลี่ยนวิธีวิจัยด้วย เพื่อดูว่าผลการวิจัยยังเหมือนเดิมหรือไม่ 

งานวิจัยเดิมเป็นของ แองกัส ดีตัน (Angus Deaton) และแดเนียล คาห์เนมาน (Daniel Kahneman) ที่สำรวจชาวอเมริกัน 450,000 คนในปี 2551 และ 2552 เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างรายได้ครัวเรือน กับความสุข และความรู้สึกโดยรวมเกี่ยวกับการใช้ชีวิตด้วยการให้ตอบแบบสอบถามผ่านความรู้สึกนึกคิดที่ผ่านการคิดทบทวน

ส่วนงานวิจัยของคิลลิงเวิร์ธใช้การเก็บข้อมูลความรู้สึกแบบเรียลไทม์

ซึ่งการศึกษาใช้ข้อมูลรายได้และการจัดอันดับความสุขจากแอปฯ Track Your Happiness โดยผู้เข้าร่วมถูกขอให้ใส่คะแนนว่าพวกเขาจำความรู้สึกมีความสุขแค่ไหนในช่วงเวลาที่ผ่านมา 

เขาเขียนในผลการศึกษาใหม่ว่า เขาอยากให้ผู้ที่เข้าร่วมจำความรู้สึกของพวกเขาให้ได้อย่างแม่นยำในช่วงเวลาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา จากนั้นก็รวมความทรงจำทั้งหมดเข้าเป็นค่าประมาณ และผลศึกษานี้จะเชื่อมโยงกับความรู้สึกที่จำได้ ซึ่งรายได้อาจมีผลเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยกับความสุขที่แท้จริงของผู้ทำ เมื่อพวกเขาใช้ชีวิต ความรู้สึกที่จดจำได้อาจนำไปสู่ความลำเอียงที่หลอกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเกี่ยวพันกับรายได้ เพื่อแสดงให้เห็นว่า ความเป็นอยู่ที่ดีแบบจริงๆ เชื่อมโยงกับความมั่นคงของรายได้

วิจัยใหม่พบ เงินคือปัจจัยลดความทุกข์

ส่วนการศึกษาใหม่ คิลลิงเวิร์ธ ได้รับข้อมูลที่ขจัดความลำเอียงนี้ออกไป โดยการวิจัยใหม่ได้แจ้งให้ผู้ใช้ถามตลอดทั้งวันว่า "ตอนนี้คุณรู้สึกอย่างไร" โดยเสนอคำตอบจาก "แย่มาก" เป็น "ดีมาก" พวกเขายังถูกถามคำถาม “โดยรวมแล้ว คุณพอใจกับชีวิตของคุณแค่ไหน” ในระดับจาก "ไม่เลย" ถึง "สุดขีด"

และจากรวบรวมข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง 1,725,994 รายงาน เห็นว่า 33,391 คนในวัยทำงานที่อาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกาที่บอกว่าตัวเองมีความสุข จะพบว่า มีความสัมพันธ์ระหว่างรายได้และระดับความสุขค่อนข้างเป็นเส้นตรงทั้งในแง่ของประสบการณ์ความสุขที่พวกเขารู้สึกตลอดทั้งวัน และความพึงพอใจในชีวิต

การวิจัยชิ้นนี้เป็นการวิจัยเชิงปริมาณ แต่คิลลิงเวิร์ธ ได้ตอบคำถามด้วยว่า ทำไมความสัมพันธ์ระหว่างรายได้กับความสุขและความพึงพอใจในชีวิตจึงมีอยู่ ซึ่งคำอธิบายของเขาคือ มีความเป็นไปได้อย่างหนึ่งคือ ผู้คนใช้จ่ายเงินเพื่อลดความทุกข์ทรมานและเพิ่มความเพลิดเพลิน และเงินส่วนที่เพิ่มจะถูกนำไปใช้กับเป้าหมายเหล่านี้อย่างแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับรายได้ของคนๆ หนึ่ง

พร้อมเสริมว่า "เมื่อเทียบกับการเปลี่ยนแปลงของรายได้ที่สูงกว่า 80,000 ดอลลาร์ หรือราว 2.8 ล้านบาท ทำให้มีความรู้สึกด้านลบลดลง สอดคล้องกับความเป็นไปได้ที่การขยับจากรายได้ต่ำ ไปสู่การมีรายได้ปานกลางจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการบรรเทาสาเหตุของความทุกข์" เช่น ยิ่งคุณมีรายได้มากเท่าไร คุณก็ยิ่งสามารถใช้เพื่อทำให้ตัวเองรู้สึกแย่น้อยลงเท่านั้น หรือมีความสุขมากขึ้น

นี่ก็อาจจะไม่ใช่ข่าวดีนัก สำหรับคนที่ไม่ได้มีรายได้มากมาย เพราะการวิจัยชิ้นนี้ ไม่พบจุดตัดสำหรับความสัมพันธ์ระหว่างเงินและความสุขได้

ที่มา

Money matters to happiness—perhaps more than previously thought

Having more money definitely makes you happier – study