Skip to main content

สหประชาชาชาติได้กำหนดให้ทุกวันที่ 1 ต.ค. เป็นวันผู้สูงอายุสากล เพื่อกระตุ้นให้เกิดความตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาพและมาตรฐานคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุทั่วโลก ซึ่งจากข้อมูลของสหประชาชาติได้คาดการณ์ว่าภายในปี 2593 จำนวนประชากรผู้สูงอายุทั่วโลกที่อายุ 65 ปีขึ้นไป จะเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าตัวเป็นกว่า 1,500 ล้านคน

กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติระบุว่า ประชากรทั่วโลกที่อายุ 60 ปีขึ้นไปคิดเป็นร้อยละ 12.3 และภายในปี 2593 หรืออีก 29 ปีข้างหน้า จะเพิ่มเป็นเกือบร้อยละ 22 ของประชากรโลก ทุกภูมิภาคจะได้เห็นขนาดประชากรสูงอายุที่เพิ่มขึ้นโดยเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการเพิ่มขึ้นของประชากรสูงวัยมากที่สุดจาก 261 ล้านคนในปี 2562 เป็น 573 ล้านคนในปี 2593

โดยในวันผู้สูงอายุสากลปีนี้ 'อันโตนิอู กุแตเรซ' เลขาธิการสหประชาชาติได้ออกแถลงการณ์ย้ำความสำคัญของการสร้างโอกาสอย่างเท่าเทียมให้ผู้สูงอายุได้เข้าถึงเทคโนโลยี โดยชี้ว่าผู้สูงอายุมักถูกทิ้งไว้ให้โดดเดี่ยวมากขึ้นในช่วงการระบาดของโควิด และยังเป็นกลุ่มเสี่ยงมากกว่าจากปัญหาการคุกคามทางไซเบอร์ที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นในขณะที่เรามองหามาตรการจัดการกับอาชญากรที่คุกคามผู้สูงอายุ อีกด้านหนึ่งก็จำเป็นต้องเสริมทักษะทางดิจิทัลให้ผู้สูงวัยในฐานะเป็นเครื่องมือป้องกันตนเองและยกระดับคุณภาพชีวิต



ไทยติดอันดับ 17 ประชากรสูงวัยมากที่สุดในโลก-'แก่ก่อนรวย' ปัญหากลืนไม่เข้าคายไม่ออก


ข้อมูลจากเว็บไซต์ Population Reference Bureau (PRB) องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรในสหรัฐอเมริกาจัดอันดับ 50 ประเทศที่มีจำนวนประชากรผู้สูงอายุมากที่สุดในโลกโดยอ้างอิงข้อมูลปี 2562 ของสหประชาชาติ พบว่า 5 อันดับประเทศที่มีจำนวนประชากรผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไปมากที่สุดในโลกได้แก่ จีน อินเดีย สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และรัสเซีย ตามลำดับ ส่วนไทยอยู่อันดับ 17 โดยมีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป ประมาณ 7.61 ล้านคน

อย่างไรก็ตาม เมื่อคิดเป็นสัดส่วนประชากรวัย 65 ปีขึ้นไปต่อจำนวนประชากรทั้งประเทศ พบว่า 5 อันดับแรกที่มีสัดส่วนประชากรสูงอายุมากที่สุดได้แก่ ญี่ปุ่น (28.2%) อิตาลี (22.8%) ฟินแลนด์ (21.9%) โปรตุเกส (21.8%) และ กรีซ (21.8%) ขณะที่สัดส่วนประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปของไทยคิดเป็นร้อยละ 11.5 จากประชากรทั้งหมด

สอดคล้องกับสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของไทย ซึ่งรายงานเมื่อปีที่ผ่านมาว่า สัดส่วนประชากรผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ในปี 2563 มีจำนวน 12 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 18 โดยอัตราส่วนของวัยแรงงานต่อผู้สูงอายุก็ลดลงอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ในปี 2563 มีวัยแรงงาน 3.6 คนต่อผู้สูงอายุ 1 คน

ทั้งนี้ ข้อมูลจากสหประชาชาติระบุว่า การเป็นสังคมผู้สูงอายุของไทยถูกขับเคลื่อนจากปัจจัยอัตราการเกิดที่ต่ำ โดยคาดว่าอัตราการเจริญพันธุ์ของไทย หรือจำนวนบุตรโดยเฉลี่ยที่สตรีวัยเจริญพันธุ์คนหนึ่งจะมีได้ตลอดวัยเจริญพันธุ์อาจลดจาก 1.53 ระหว่างปี 2558-2563 ลงมาอยู่ที่ 1.42 ในช่วงปี 2568-2573 ใกล้เคียงกับประเทศร่ำรวยอย่างญี่ปุ่นและสิงคโปร์

การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่จำนวนประชากรสูงวัยเพิ่มขึ้น อัตราการเกิดต่ำ และจำนวนประชากรวัยแรงงานลดลงถือเป็นความท้าทายต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยถูกมองว่าจะทำให้เกิดแนวโน้ม 'แก่ก่อนรวย' ที่สัดส่วนประชากรผู้สูงอายุมากขึ้นจะกระทบต่อความสามารถของประเทศกำลังพัฒนาในการขยับตัวเองไปสู่กลุ่มประเทศรายได้สูง เนื่องจากการเป็นสังคมผู้สูงวัยส่งผลกระทบทั้งความสามารถในการผลิตของประชากร รูปแบบการบริโภคและการลงทุน ซึ่งธนาคารโลกก็เคยชี้ว่านี่เป็นแนวโน้มที่ประเทศไทยกำลังเผชิญด้วยเช่นกัน และได้เสนอให้มีการปฏิรูปนโยบายอย่างกว้างขวาง ตั้งแต่นโยบายที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจมีบุตรของครอบครัว การสนับสนุนด้านการดูแลเด็ก การปฏิรูปนโยบายด้านภาษีและแรงงาน ไปจนถึงนโยบายด้านการย้ายถิ่นเพื่อดึงดูดแรงงานหนุ่มสาว นอกจากนี้ยังจำเป็นต้องมีการปฏิรูปเพื่อทำให้แน่ใจว่าระบบประกันสังคม ระบบการดูแลสุขภาพและการดูแลระยะยาวจะครอบคลุมเป็นวงกว้าง และมีการคุมครองทางการเงินแก่ผู้สูงอายุที่เหมาะสม ไปพร้อมๆ กับการรับรองว่าการใช้จ่ายของภาครัฐยังมีความยั่งยืน


สธ. เตือนมีผู้สูงอายุพลัดตกหกล้ม 3 ล้านรายต่อปี
 

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น โดยเรื่องที่น่าเป็นห่วงของประชากรวัยนี้คือเรื่องการพลัดตกหกล้ม แต่ละปีประมาณ 3 ล้านรายหกล้ม บาดเจ็บ 6 แสนราย ต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาลมากกว่า 60,000 รายต่อปี หรือเฉลี่ยชั่วโมงละ 7 ราย และมีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยวันละ 4 ราย และเป็นเหตุให้ผู้สูงอายุเกิดความพิการ ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและทางจิตใจ ทำให้หวาดกลัวการหกล้ม

ทั้งนี้ สาเหตุที่สำคัญคือมีภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อยพบมากถึงร้อยละ 35 ทำให้การทรงตัวได้ไม่ดีเหมือนวัยอื่นๆ รวมทั้งการมีโรคประจำตัว

อ้างอิง 
Emerging Asia risks growing old before becoming rich

Thailand Economic Focus: Demographic change in Thailand: How planners can prepare for the future

Aging in Thailand – How to live long and prosper

https://www.prb.org/resources/countries-with-the-oldest-populations-in-the-world/

Elderly to make up 22 % of world population by 2050