Skip to main content

 

การใช้ “สัตว์บำบัด” ร่วมกับการรักษา “สุขภาพจิต” แบบปรกติทั่วไป กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นในสิงคโปร์ และได้รับการยอมรับว่า เป็นทางเลือกในการรักษาที่มีประสิทธิภาพ

ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา การนำสัตว์มาช่วยในการเยียวยารักษาผู้คนได้รับการยอมรับเพิ่มมากขึ้นในสิงคโปร์ว่า ส่งผลดีต่อทั้งเรื่องสภาพอารมณ์และสภาพจิตใจของมนุษย์ หลังจำนวนของผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตเพิ่มสูงมาก จนรัฐบาลต้องหยิบยกขึ้นมาเป็นวาระแห่งชาติ

ผลการสำรวจของสถาบันสุขภาพประชากรแห่งชาติของสิงคโปร์ เมื่อปี 2022 พบว่า ร้อยละ 17 ของชาวสิงคโปร์ ระบุว่า มีสุขภาพจิตที่ย่ำแย่ เช่นเดียวกับการสำรวจสุขภาพจิตเยาวชนของสิงคโปร์ในปี  2024 พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามราวร้อยละ 33 ระบุว่า เคยมีอาการซึมเศร้า วิตกกังวล หรือมีภาวะความเครียดสูง

ขณะที่งานวิจัยถึงความสามารถของสัตว์ในการเยียวยาจิตใจมนุษย์ที่เพิ่งเริ่มต้นมาเมื่อไม่นานมานี้ พบว่า การปฏิสัมพันธ์กับสัตว์บำบัดช่วยกระตุ้นให้ร่างกายมนุษย์ผลิตฮอร์โมนออกซิโทซิน ซึ่งเป็นสารสร้างความสุข กระตุ้นให้เกิดความผูกพันทางใจ ขณะเดียวกัน ทำให้ฮอร์โมนฮอร์ติซอล ซึ่งเกี่ยวกับความเครียดลดลง ส่งผลให้มีการปรับสมดุลทางอารมณ์ ช่วยให้ควบคุมและสงบสติอารมณ์ได้ดีขึ้น รวมถึงช่วยเรื่องความดันโลหิตและช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดอีกด้วย

การศึกษาหลายชิ้นเน้นถึงผลดีของการใช้สัตว์บำบัดว่า แสดงถึงประสิทธิภาพในการบรรเทาความทรมานจากอาการเครียดที่ผิดปรกติ และช่วยปรับปรุงการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมในระหว่างกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งสัตว์บำบัดช่วยทำให้รู้สึกสงบ และไม่ก่อให้เกิดบรรยากาศของการถูกชี้วัดตัดสิน และยังช่วยปลอบโยนในยามที่เกิดความรู้สึกผิด ความรู้สึกตัวเองไร้คุณค่า หรือเมื่อเกิดความวิตกกังวล

มีงานศึกษานำร่องในสิงคโปร์เมื่อปี 2015 พบว่า การนำสัตว์มาช่วยในการรักษาส่งผลต่อการลดลงของอาการซึมเศร้าในบุคคลได้อย่างมีนัยสำคัญ การศึกษาลักษณะเดียวกัน เสนอว่า ปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับสัตว์ช่วยให้ฮอร์โมนความเครียดอย่างคอร์ติซอลลดลดง และช่วยเพิ่มสารควบคุมอารมณ์อย่างโดปามีน ทำให้อารมณ์ความรู้สึกมั่นคงมากขึ้น

ในการนำสัตว์มาช่วยบำบัดอาการเกี่ยวกับสุขภาพจิตมีหลายแนวทาง แต่มุ่งไปสู่เป้าหมายเดียวกัน คือ ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น ซึ่งศูนย์กลางคือสัตว์ผู้ช่วยบำบัดที่ได้รับการฝึกฝนจากผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งต่างจากการสัตว์เลี้ยงทั่วไป และการรักษาจะโฟกัสที่ผลสัมฤทธิ์ เช่น การปรับปรุงการควบคุมอารมณ์ การเพิ่มทักษะทางด้านสังคม และการระงับความโกรธ

โดยทั่วไป การใช้สัตว์บำบัดมักทำควบคู่ไปกับการรักษาแบบปรกติ อย่างเช่น การบำบัดด้วยการพูดคุย การใช้สัตว์ช่วยบำบัด โฟกัสไปที่พัฒนาการด้านอารมณ์และสังคมของเด็กและบุคคลที่มีความจำเป็นพิเศษ ซึ่งจะช่วยสร้างการเรียนรู้สภาพแวดล้อมที่เกื้อหนุนในการสร้างความยืดหยุ่นทางอารมณ์ และช่วยปรับเรื่องของการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม

คนไข้รายหนึ่งอายุ 18 ปี เป็นโรคซึมเศร้าและกลัวการเข้าสังคม เธอเริ่มต้นจากการไม่เข้าร่วมกิจกรรมกลุ่ม เมื่อเธอเข้าร่วมการบำบัดด้วยสุนัข เธอรู้สึกหวาดกลัวอย่างมากในครั้งแรก เมื่อเวลาผ่านไป เธอเริ่มปฏิสัมพันธ์กับสุนัขได้ง่ายขึ้น หรือแม้แต่การเริ่มต้นบทสนทนากับคนอื่น จากการที่สุนัขให้ความรู้สึกที่ปลอดภัย สร้างสภาพแวดล้อมที่ปราศจากการชี้วัดตัดสิน ช่วยให้เธอรู้สึกสบายใจและเปิดรับการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น

ปัจจุบัน ปัญหาสุขภาพจิตได้กลายมาเป็น “วาระแห่งชาติ” ของสิงคโปร์ไปแล้ว แต่การรักษาด้วยวิธีสัตว์บำบัดยังพบกับความท้าทายหลายอย่าง รวมถึงความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับแนวคิดการรักษานี้

ความท้าทายหลัก คือ จำนวนสัตว์ที่ผ่านการฝึกฝนเพื่อให้ช่วยบำบัดมีไม่พอ และเรื่องคุณสมบัติความเป็นมืออาชีพ ซึ่งทำให้ยากที่จะจับคู่ได้อย่างถูกต้องระหว่างสัตว์บำบัดกับผู้ที่เข้ารับการรักษา

นอกจากนี้ ยังมีความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับการรักษาด้วยสัตว์บำบัดว่า สามารถแทนที่นักบำบัดที่เป็นมนุษย์ได้ ซึ่งในความเป็นจริงเป็นการเข้ามาเติมเต็ม แต่ไม่ใช่การมาแทนที่นักบำบัดอย่างนักจิตวิทยา ขณะที่สัตว์เลี้ยงที่บ้านอาจมอบความสบายใจให้ แต่ก็ไม่ใช่สัตว์ที่ถูกฝึกมาเพื่อให้ทำหน้าที่เฉพาะในการเยียวยารักษาความป่วยด้านจิตใจ

ส่วนความท้าทายอื่นๆ เช่น จากความเชื่อทางวัฒนธรรมและความชอบส่วนตัวของแต่ละคน ที่ทำให้บางคนรู้สึกไม่สบายใจที่จะอยู่ใกล้สัตว์ ขณะที่บางคนเป็นโรคกลัวสัตว์ หรือมีอาการแพ้ ซึ่งในประเด็นความท้าทายเหล่านี้ การให้การศึกษาและการรณรงค์ให้ความรู้สามารถช่วยลดมุมมองและความวิตกกังวลเหล่านี้ลงได้

ความท้าทายอีกประการหนึ่ง คือ การถูกมองว่า สัตว์บำบัดยังไม่ใช่วิธีการรักษาแบบปรกติทั่วไป และยังไม่มีงานวิจัยมากพอจะรองรับถึงความสามารถของการรักษาด้วยวิธีนี้ โดยบางคนมองว่า เป็นเพียงแค่การให้เล่นกับสัตว์เท่านั้น  

แม้ว่าจะมีความท้าทายหลายอย่าง แต่การรักษาโดยใช้สัตว์ช่วยบำบัด ยังคงได้รับการส่งเสริมให้เพิ่มเข้ามาในส่วนของการรักษาผู้ที่มีปัญหาทางด้านสุขภาพจิต และเมื่อมองไปในอนาคต การนำสัตว์เข้าช่วยรักษาความเจ็บป่วยทางจิตใจ ถือเป็นการวางศิลาฤกษ์ของการรักษาอาการป่วยด้านจิตในสิงคโปร์เอาไว้แล้ว

 

อ้างอิง
Views From The Couch: Animal-assisted interventions play growing role in mental health care
ธุรกิจดูแลจิตใจ: สัตว์บำบัดและการบำบัดทางเลือกในสิงคโปร์