- ปธน.ฝรั่งเศสมองว่า การแบ่งวัคซีนที่มีอยู่ให้ประเทศกำลังพัฒนา เร็วกว่าการเร่งผลิตวัคซีนใหม่และการบริจาคเงิน
- มาครงเรียกร้องให้ประเทศพัฒนาแล้วเร่งส่งวัคซีน 5% ให้ประเทศกำลังพัฒนา
- ปัจจุบัน วัคซีนส่วนใหญ่ยังอยู่ที่ประเทศที่มีรายได้สูง ทำให้จีนและรัสเซียขยายอิทธิพลผ่านวัคซีนที่ให้ประเทศกำลังพัฒนา
เอ็มมานูเอล มาครงประธานาธิบดีฝรั่งเศสให้สัมภาษณ์กับเดอะไฟแนนเชียลไทม์สว่า ความล้มเหลวในการแบ่งปันวัคซีนจะนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำของโลก พร้อมเรียกร้องให้ยุโรปและสหรัฐฯ เร่งส่งวัคซีนป้องกันโควิด-19 อย่างน้อย 5% ที่ตัวเองมีไปให้ประเทศกำลังพัฒนา
มาครงกล่าวว่า “เราไม่ได้กำลังพูดถึงการผลิตวัคซีนหลายพันล้านโดสทันที หรือเงินหลายล้านล้านยูโร” แต่การแบ่งวัคซีนไปให้ประเทศกำลังเร็วกว่าการเร่งผลิตใหม่หรือการทุ่มเงินบริจาคให้ประเทศเหล่านั้นไปหาซื้อวัคซีนเอง
มาครงย้ำว่า การแบ่งวัคซีนให้ประเทศกำลังพัฒนาไม่ทำให้แคมเปญการฉีกวัคซีนภายในประเทศเปลี่ยนไป แต่การแบ่งส่วนเล็กๆ จากประเทศร่ำรวยหลักสิบล้านโดส ส่งไปโดยเร็ว ทำให้ประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ได้เห็นว่าวัคซีนไปถึงแล้ว
มาครงกล่าวว่า อังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนีสนับสนุนโครงการแบ่งปันวัคซีนยุโรป และเขาหวังว่าสหรัฐฯ จะสนับสนุนโครงการนี้เช่นกัน เพราะช่วงที่ไม่มีการแบ่งปันวัคซีนจากประเทศพัฒนาแล้ว จีนและรัสเซียพยายามจะอุดช่องโหว่นี้ “ปูทางไปสู่สงครามชิงอิทธิพลด้านวัคซีน”
ปัจจุบัน วัคซีนส่วนใหญ่ยังอยู่ที่ประเทศที่มีรายได้สูง โดยทำเนียบขาวเปิดเผยว่า โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศจะสนับสนุนเงิน 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (120,000 ล้านบาท) ให้โครงการแบ่งปันวัคซีนระดับโลกอย่าง โคแวกซ์ ส่วนบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษก็มีแนวโน้มว่าจะบริจาควัคซีนให้โคแวกซ์เพิ่ม
จากข้อมูลของมหาวิทยาลัยจอห์นสฮอปคินส์ จนถึงวันนี้ มีคนติดโควิด-19 ไปแล้วอย่างน้อย 110 ล้านคนทั่วโลก และมีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ไปมากกว่า 2.4 ล้านคน
::: ความเหลื่อมล้ำด้านวัคซีน :::
อันตอนิอู กูแตร์รีช เลขาธิการสหประชาชาติกล่าวว่า การฉีดวัคซีนให้ประชากรโลกเป็นความหวัง ความเท่าเทียมทางวัคซีนถือเป็นบททดสอบทางศีลธรรมครั้งใหญ่ที่สุดของเวทีโลก โดยเขาได้ประณามการแจกจ่ายวัคซีนโควิด-19 ทั่วโลกที่ “ไม่เท่าเทียมและไม่ยุติธรรมอย่างมาก” มีเพียง 10 ประเทศจากทั่วโลกที่ได้ฉีดวัคซีน 75% ขณะที่อีก 130 ประเทศยังไม่ได้วัคซีนเลยแม้แต่โดสเดียว
ประเทศร่ำรวยถูกวิจารณ์ว่า กักตุนวัคซีนมากจนไม่เหลือให้ประเทศที่จนกว่า บางประเทศร่ำรวย เช่น อังกฤษและแคนาดากักตุนวัคซีนมากพอจะฉีดประชากรทั้งหมดของตัวเองได้มากกว่า 1 ครั้ง
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณาสุขกล่าวว่า หากไม่มีการจัดสรรวัคซีนได้อย่างเท่าเทียมกว่านี้ ก็อาจต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะควบคุมโรคระบาดได้ในระดับโลก