งานวิจัยในสหราชอาณาจักรพบว่า เด็กที่ครอบครัวทางบ้านร่ำรวย มีแนวโน้มที่จะมีรูปร่างสูงโปร่งและบอบบางกว่าเด็กที่บ้านฐานะยากจน แต่ขณะเดียวกันเด็กที่บ้านรวยกว่าก็มีความเสี่ยงของการมีกระดูกที่อ่อนแอและเปราะบางมากกว่า
นักวิจัยจาก มหาวิทยาลัยบริสตอล ในอังกฤษ ทำการสำรวจถึง ผลกระทบจากความไม่เท่าเทียมทางสังคมที่มีต่อสุขภาพของเด็ก โดยทำการทดสอบเด็กจำนวน 6,700 คน และพบว่า กลุ่มเด็กที่แม่จบการศึกษาระดับปริญญาตรี ลูกๆ ของพวกเธอจะมีส่วนสูงที่มากกว่าเด็กที่แม่ไม่ได้เรียนในระดับปริญญาโดยเฉลี่ย 1.5 ซม.และมีน้ำหนักตัวที่เบากว่าราว 1 กก.
ก่อนหน้านี้ นักวิทยาศาสตร์ของสหราชอาณาจักรพบว่า ร้อยละ 80 ของส่วนสูงเป็นอิทธิพลจากพันธุกรรม ขณะที่อีกร้อยละ 20 เป็นผลมาจากสภาพแวดล้อมที่เด็กเติบโตขึ้นมา ซึ่งรวมไปถึงเรื่องของโภชนาการ การเจ็บป่วย และปัญหาสุขภาพทางจิต
สอดคล้องกับผลการศึกษาในสหรัฐอเมริกาที่ตรวจสอบข้อมูลชาวอเมริกันจำนวน 13,000 คน ที่มีเชื้อสายลาตินและเชื้อสายสเปน ถึงส่วนสูง สถานะทางเศรษฐกิจและสังคม และพันธุกรรม พบว่า ร้อยละ 70 ถึง 80 ของส่วนสูงเป็นผลจากพันธุกรรมที่รับต่อมาจากพ่อแม่ ส่วนปัจจัยที่เป็นตัวกำหนดส่วนสูงจริงๆ คือ สภาวะแวดล้อมรอบตัว
ในการประชุมใหญ่ของสมาคมโรคหัวใจชาวอเมริกัน ผู้เชี่ยวชาญจากวิทยาลัยการแพทย์อัลเบิร์ตไอน์สไตน์ในนิวยอร์ก กล่าวว่า การเติบโตมาในครอบครัวที่มั่งคั่งร่ำรวยอาจเป็นปัจจัยที่อยู่เหนือปัจจัยด้านอื่นๆ ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ส่วนสูงสัมพันธ์กับสุขภาพของหัวใจ และความสามารถในการจดจำที่ดีกว่าในช่วงวัยเด็ก ซึ่งมีการศึกษาพบว่า การนอนหลับที่ดี ความเครียด และการเข้าถึงทางด้านสาธารณสุข ล้วนเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการเติบโตของเด็กทั้งสิ้น
มีงานวิจัยก่อนหน้านี้ในสหราชอาณาจักรที่พบว่า เด็กๆ จากพื้นที่ยากจนในอังกฤษจะมีส่วนสูงเฉลี่ยต่ำกว่าเด็กวัยเดียวกันที่อาศัยอยู่ในเขตที่คนมีฐานะร่ำรวยกว่า นอกจากนี้ ข้อมูลจำนวนมากยังเผยด้วยว่า เด็กจากประเทศที่เศรษฐกิจดี จะมีส่วนสูงเฉลี่ยมากกว่าเด็กที่อยู่ในประเทศยากจน
งานศึกษาของมหาวิทยาลัยบริสตอล เมื่อปี 2005 พบข้อสรุปว่า เด็กๆ ที่บ้านฐานะร่ำรวย แม้จะมีส่วนสูงมากกว่าและผอมเพรียวกว่าเด็กจากครอบครัวที่ฐานะไม่ดี แต่งานวิจัยก็พบด้วยว่า เด็กบ้านรวยจะมีกระดูกที่อ่อนแอกว่า ซึ่งเมื่อเข้าสู่วัยชราจะเกิดโอกาสที่กระดูกแตกหัก หรือเป็นโรคกระดูกพรุนได้มากกว่า
ดร.เอ็มมา คลาร์ก หัวหน้าทีมวิจัยกล่าวว่า “ข้อพิจารณาหลักของเราในโครงการนี้ คือ การสำรวจถึงความไม่เท่าเทียมทางสังคมว่าได้ส่งผลอย่างไรต่อความไม่เท่าเทียมทางด้านสุขภาพ”
คาโรไลน์ แฮนค็อก นักวิเคราะห์อาวุโสของหน่วยงานสาธารณสุขในอังกฤษ ซึ่งทำวิจัยและผลงานตีพิมพ์ในเอกสารว่าด้วยโรคในวัยเด็ก จากการติดตามส่วนสูงของเด็กชั้นประถมในอังกฤษที่มีอายุ 5 ปี 10 ปี และ 11 ปี
“แม้ว่าความแตกต่างกันในเรื่องส่วนสูงจะมีเพียงเล็กน้อย แต่นั่นก็ทำให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมด้านสุขภาพของประชากรที่กำลังดำเนินไป ซึ่งจำเป็นที่เราจะต้องหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาพูดกัน” คาโรไลน์กล่าว
อ้างอิง
Why rich people really do have taller children as Gary Barlow is dwarfed by son
Wealthy kids leaner and taller than poor