Skip to main content

หนังสือพิมพ์ เซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์ (SMCP) สื่อฮ่องกง เผยแพร่บทความแสดงความคิดเห็น Thailand needs a better Covid-19 strategy if it wants tourists to return ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ชี้ว่า รัฐบาลไทยควรปรับมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อให้สอดคล้องแผนกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการท่องเที่ยว นั่นก็คือ "การเร่งฉีดวัคซีน"

รายงานดังกล่าวพูดถึงคำสั่งควบคุมการเดินทางเข้าและออกจากจังหวัดภูเก็ตที่ประกาศเมื่อวันที่ 3 ส.ค.ที่ผ่านมา รวมถึงมาตรการควบคุมโควิดในพื้นที่ศูนย์กลางเศรษฐกิจอย่างกรุงเทพฯ และปริมณฑล ทำให้เกิดความไม่แน่ใจว่า โครงการ 'ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์' และ 'สมุยพลัส' จะสามารถสร้างความเชื่อมั่นในกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติให้เดินทางมายังประเทศไทยได้ตามที่ตั้งเป้าเอาไว้หรือไม่

บทความในสื่อฮ่องกงระบุอีกว่า รัฐบาลไทยกำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักเรื่องการรับมือโรคระบาด เนื่องจากการกระจายวัคซีนไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ทั้งยังมีสัดส่วนผู้ปฏิเสธหรือผู้ไม่เชื่อมั่นในการฉีดวัคซีนสูงอันดับต้นๆ เมื่อเทียบกับอีกหลายประเทศทั่วโลก โดยยกรายงานในเว็บไซต์ YouGov ที่เผยแพร่เมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา และอ้างอิงผลสำรวจของสวนดุสิตโพล บ่งชี้ว่าผู้ต้องการฉีดวัคซีนลดลงจากเมื่อต้นปีซึ่งผู้ตอบแบบสอบถาม 83% ตอบว่าจะฉีดวัคซีน เหลือเพียง 57% จากผลสำรวจในเดือน พ.ค.

นอกจากนี้ยังย้ำด้วยว่า หากไทยยังจะพึ่งพาการท่องเที่ยวเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ การเร่งฉีดวัคซีนให้กลุ่มประชากรมากที่สุดเท่าที่จะทำได้เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะถ้าไม่ฉีดวัคซีนให้คนจำนวนมาก จะไม่อาจสร้างความเชื่อมั่นได้ว่าไทยมีการกระตุ้นภูมิคุ้มกันหมู่ให้เกิดขึ้นในสังคมได้ มิฉะนั้นการเร่งเปิดโครงการแซนด์บ็อกซ์ในพื้นที่อื่นๆ อาจจะยิ่งกระทบต่อความพยายามควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของรัฐบาลไทยเสียเอง

เทียบความเชื่อมั่นวัคซีน กรณีไทย - สิงคโปร์ 

บทความของ SCMP รายงานว่า การวิตกกังวลเรื่องวัคซีนของชาวไทยมีข้อมูลสนับสนุนเช่นกัน โดยระบุว่า วัคซีนหลักที่รัฐบาลไทยใช้มีอยู่ 2 ตัว คือ ซิโนแวคกับแอสตร้าเซนเนก้า และในกรณีของซิโนแวค พบบุคลากรการแพทย์ซึ่งฉีดวัคซีนนี้ครบ 2 เข็มแล้วอยู่ในกลุ่มผู้ติดติดเชื้อรายใหม่กว่า 600 คน และในจำนวนนี้รวมถึงผู้เสียชีวิตหลายราย 

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไทยยังเดินหน้าซื้อวัคซีนซิโนแวคอย่างต่อเนื่อง และเสนอการฉีดวัคซีนไขว้ชนิดระหว่างซิโนแวคกับแอสตร้าเซนเนก้าที่มีกระบวนการผลิตต่างกัน ยิ่งส่งผลให้คนในสังคมไม่มั่นใจในการบริหารจัดการวัคซีนของรัฐบาลยิ่งกว่าเดิม

เมื่อเทียบกับกรณีสิงคโปร์ ซึ่งมีสถิติผู้ตอบแบบสอบถามว่าไม่เชื่อมั่นในวัคซีนค่อนข้างสูงในปีที่แล้ว เมื่อเทียบกับจำนวนประชากร จะพบความแตกต่างเรื่องการจัดการวัคซีน เพราะ 7 ก.ค.ที่ผ่านมา รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขของสิงคโปร์อธิบายเหตุผลที่ไม่รวมผู้ฉีดวัคซีนซิโนแวค 2 เข็มในกลุ่มผู้ที่ได้รับการผ่อนผันให้ดำเนินกิจกรรมต่างๆ ได้ เพราะรัฐบาลสิงคโปร์จะไม่รับรองการฉีดวัคซีนที่ยังไม่มีข้อมูลยืนยันประสิทธิภาพที่เป็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เพียงพอ 

ทั้งนี้ สิงคโปร์เปิดให้ฉีดวัคซีนซิโนแวแก่ผู้ที่แพ้วัคซีนตัวอื่นๆ ที่มีให้ฉีดฟรีในสิงคโปร์ ซึ่งรวมถึงไฟเซอร์และโมเดอร์นา ที่มีผลการศึกษาบ่งชี้ว่าสามารถป้องกันไวรัสโคโรนาสายพันธุ์เดลตาที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในหลายประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด