Skip to main content

ปัจจุบัน ประเทศไทยอยู่ในอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์สันดาปภายในและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ในขณะที่โลกกำลังหาทางเปลี่ยนแปลงไปสู่การใช้พลังงานสะอาดและพลังงานทางเลือก ดังนั้น ไทยจึงจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมของตัวเองเพื่อยังก้าวสู่โลกยุค 4.0 ซึ่งจะทำได้นั้น ไทยจำเป็นต้องพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อเปลี่ยนจากผู้ซื้อเทคโนโลยีมาเป็นผู้สร้างเทคโนโลยี

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์. ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) อธิบายว่า ปัจจุบันสตาร์ทอัพสายเทคโนโลนีในไทยส่วนมากเป็นเทคสตาร์ทอัพที่อาจไม่ใช่คนสร้างเทคโนโลยีโดยตรง แต่เป็นคนนำเทคโนโลยีมาใช้ในการทำธุรกิจ เป็นพวกเศรษฐกิจแพลตฟอร์มทั้งหลาย แต่การเป็นดีปเทคสตาร์ทอัพนั้นจะต้องสร้างเทคโนโลยีขึ้นมาไม่ว่าจะเป็นด้านการแพทย์ ยา อวกาศ หรือสร้างปัญญาประดิษฐ์ 

เมื่อดีปเทคสตาร์ทอัพต้องสร้างเทคโนโลยี ทำให้ดีปเทคสตาร์ทอัพต้องใช้เวลาในการทำวิจัยและพัฒนานานกว่า 3-5 ปี อีกทั้งยังมีความเสี่ยงสูงและมีตลาดไม่ชัดเจน แต่ดีปเทคก็ยังมีความจำเป็นมากในการเปลี่ยนประเทศไปสู่ผู้ผลิตเทคโนโลยีขั้นสูง ถือเป็นการลงทุนระยะยาวสำหรับไทย ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการสนับสนุนเงินทุนและส่งเสริมศักยภาพบริษัทที่จะก้าวสู่การพัฒนาดีปเทคตั้งแต่วันนี้ เพื่อให้ไทยพร้อมเข้าสู้ตลาดดีปเทคในอีก 3-5 ปีข้างหน้า

ดร.พันธุ์อาจกล่าวว่า ดีปเทคนั้นเป็นตลาดที่จะเติบโตไปได้อีกมาก หากไทยสามารถเข้าไปช่วงชิงตลาดไปบางส่วน ก็จะทำให้ปรับตัวไปสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ได้ดี โดยเฉพาะการพัฒนา ARI Tech หรือเทคโนโลยีด้าน AI (ปัญญาประดิษฐ์) Robotic (หุ่นยนต์) และ Immersive (เช่น simmulation และ virtual reality) โดยมีการประเมินว่า ในปัจจุบัน เฉพาะตลาด AI มีมูลค่าราว 20,000 - 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่มีการคาดการณ์ว่า ตลาดนี้จะโตขึ้นไปได้อีกถึง 10 เท่า

ปัจจุบัน NIA มีนโยบายส่งเสริมดีปเทคในกลุ่มที่มีศักยภาพพัฒนา เช่น การวิจัยในมหาวิทยาลัยต่างๆ โดยปัจจุบัน มีอาจารย์และนักศึกษาบางส่วนเอางานวิจัยที่ทำมาตั้งเป็นบริษัทพัฒนาเทคโนโลยีแล้วด้วย ส่วนอีกกลุ่มก็คือสตาร์ทอัพที่เคยเป็นผู้ใช้เทคโนโลยีมาก่อน จนธุรกิจขยายตัวขึ้นมาอย่างรวดเร็ว และมองว่าควรหันมาสร้างเทคโนโลยีเอง NIA ก็จะส่งเสริมให้ทำงานกับศูนย์วิจัยและมหาวิทยาลัยต่างๆ โดยปัจจุบัน เล็งเห็นบริษัทที่มีศักยภาพจะพัฒนามาเป็นดีปเทคสตาร์ทอัพอยู่อย่างน้อย 100 บริษัทแล้ว

นอกจากนี้ ยังมีนโยบายส่งเสริมดีปเทคให้กระจายไปในภูมิภาคอื่น นอกเหนือจาก กทม. เช่นในเชียงใหม่ที่จะพื้นที่พัฒนาดีปเทคด้านการแพทย์ ขอนแก่นเป็นพื้นที่พัฒนาดีปเทคด้านอาหารและการเกษตร และเขต EEC ก็จะเป็นพื้นที่พัฒนา ARI Tech

ดร.พันธุ์อาจระบุว่า NIA พยายามทำให้คนได้รับรู้ว่า ไทย โดยเฉพาะพื้นที่ EEC มีศักยภาพอย่างมากในการบ่มเพาะดีปเทคสตาร์ทอัพ เพราะพื้นที่ EEC เป็นพื้นที่ที่มีการคมนาคมสะดวก ทำให้บริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ตั้งอยู่หลายแห่ง ซึ่งองค์กรขนาดใหญ่ที่มีองค์ความรู้ แหล่งทุนจะเอื้อให้พัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงได้ดีขึ้น นอกจากนี้ การพัฒนาดีปเทคยังจำเป็นต้องดึงดูดคนที่มีความสามารถจากต่างชาติเข้ามาร่วมด้วย ขณะเดียวกันก็ต้องส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่ในพื้นที่ได้พัฒนาสตาร์ทอัพด้วย เพื่อไม่ให้ทรัพยากรต่างๆ ในพื้นที่ EEC ถูกมองข้ามไปโดยเปล่าประโยชน์

นอกจากนี้ NIA ยังได้เสนอต่อรัฐบาลให้พิจารณาแก้ไขกฎหมายเรื่องความเป็นเจ้าของบริษัท จากปัจจุบันที่บริษัทที่มีเจ้าของเป็นคนไทยเท่านั้นจึงจะสามารถเข้าถึงแหล่งทุนจากภาครัฐได้ ให้เป็นเพียงบริษัทที่จดทะเบียนในไทยมีสิทธิเข้าถึงแหล่งเงินทุนด้านนวัตกรรมได้ เพราะแม้บริษัทนั้นๆ จะมีชาวต่างชาติถือหุ้นเกิน 50% แต่ก็ถือว่าบริษัทนั้นอยู่ในไทย องค์ความรู้ต่างๆ ก็อยู่ในไทย หากทำเช่นนี้ ก็จะดึงดูดให้ต่างชาติมาลงทุนในดีปเทคในไทยไปมากขึ้น แข่งกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์ อินโดนีเซียได้

ดร.พันธุ์อาจยังมองเห็นอุปสรรคอีกข้อสำหรับดีปเทคของไทยนั่นคือ ความรับรู้และความเชื่อมั่นในเทคโนโลยีไทย เพราะจริงๆ แล้ว ไทยมีระบบนิเวศที่ดีสำหรับการพัฒนาดีปเทค แต่ไทยมีข่าวเกี่ยวกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เป็นภาษาอังกฤษออกมาน้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้านมาก ซึ่งอาจทำให้ความรับรู้และความเชื่อมั่นในเทคโนโลยีไทยนั้นไม่มากเท่าสิงคโปร์หรืออินโดนีเซีย